25 ก.ค. 2021 เวลา 00:38 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สรุป!! เรื่อง "Warrant"
Warrant คือ ใบแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ มักจะเรียก warrant ว่า “หุ้นลูก” ส่วนหุ้นสามัญ เรียก “หุ้นแม่” ถ้าได้มาสามารถใช้สิทธิ์แปลงเป็นหุ้นแม่ได้ แต่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อขอเปลี่ยนจาก warrant เป็นหุ้นแม่ ซึ่งก็คือ ราคาใช้สิทธิ(Exercise Price)
1
ถ้าบริษัทแม่ที่มีหุ้นสามัญนั้นอยู่เป็นผู้ออก จะเรียก วอร์แรนท์ (warrant) แต่ถ้าเป็นวอร์แรนท์ให้สิทธิซื้อหุ้นของบริษัทอื่น เช่น ที่ออกโดยบริษัทโบรกเกอร์ จะเรียกว่า ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrant หรือ DW) DW มักจะไว้ทำกำไรในระยะสั้น ส่วน Warrant เหมาะกับคนที่ต้องการนำ W ไปเปลี่ยนเป็นหุ้นที่อ้างอิง
ในที่นี้จะเล่าในส่วน Warrrant (W) นะ
Warrant ถึงจะเรียกว่า “หุ้นลูก” แต่มันไม่ใช่หุ้นจริงๆ นะ เป็นแค่ใบแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ ถ้าปล่อยจนหมดอายุที่บริษัทกำหนดไว้ ค่าของมันจะเป็น 0 โดย warrant อาจได้มาฟรี จากบริษัทแจกให้ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนหุ้นเดิมที่ถือ หรือสามารถไปซื้อมาจากกระดานหุ้น
ตัวเลขหลัง W ก็จะเป็นไปตามชุดที่ออก เช่น บริษัท บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) มีชื่อหุ้น MINT เมื่อออกวอร์แรนท์ ก็จะชื่อว่า MINT-W1 เมื่อออกชุดต่อไป จะเป็น MINT-W2 ไปเรื่อยๆ เรียงกันไป ซึ่งตอนนี้สำหรับ MINT มีถึง MINT-W9
ซึ่งเมื่อเราได้วอร์แรนท์มา เราก็มีทางเลือก คือ นำไปขายต่อในกระดานหุ้น ซึ่งสามารถซื้อขายได้เหมือนหุ้นทั่วไป หรือ จะนำไปใช้สิทธิแปลงเป็นหุ้นสามัญ ซึ่งสิ่งที่ต้องดูก่อนที่จะนำ warrant ไปเปลี่ยนเป็นหุ้นสามัญ คือ
- ราคาต้นทุนของเราเทียบกับราคาหุ้นแม่ในตลาด
- มูลค่าของกิจการ
1
เช่น บริษัท A ออก warrant ชุดแรก โดยแจกให้ผู้ถือหุ้นเดิม ในอัตรา 4:1 โดย 1 warrant แลกได้ 1 หุ้นสามัญ ซึ่งราคาใชสิทธิ คือ 40 บ. วัน XW (Exclude Warrant) 27 ก.ค. 64
มานะมีหุ้นบริษัท A เดิม 400 หุ้น ถ้ามานะถือจนถึงวัน XW ก็จะได้ A-w1 มา 100 warrant
ราคาหุ้นที่มานะต้องจ่ายเพื่อซื้อหุ้นบริษัท A ครั้งนี้ = เงินค่า warrant + เงินที่ใช้สิทธิแลกหุ้นแม่
เงินค่า warrant ซึ่งมานะได้มาฟรี = 0 บ. ที่ต้องเขียนไว้เพราะบางคนไปซื้อ warrant มาจากกระดานหุ้น ส่วนอัตราการแปลงสิทธิ์ 1:1 คือ 1 warrant แลกได้ 1 หุ้นแม่ โดยราคาที่ต้องใช้เปลี่ยนเป็นหุ้นแม่คือ 40 บ. ดังนั้นถ้ามานะเอา warrant ไปแลกครั้งนี้ จะเท่ากับซื้อหุ้น A ที่ราคา 40 บ.
คราวนี้เราก็เอาราคา 40 บาท มาเทียบดูราคาหุ้น A ในตลาดขณะนั้น และดูว่ามูลค่าของกิจการเหมาะสมกับราคานี้ไหม
ถ้าราคาหุ้นแม่ในตลาดถูกกว่าราคานี้ หรือมูลค่ากิจการไม่คู่ควรกับราคานี้ ก็ไม่น่าแลก ถ้าไม่แลก ก็สามารถนำ warrant นั้นขายในกระดานหุ้นได้
ส่วนถ้าดูแล้วเหมาะสม จะใช้สิทธิเพื่อแปลงเป็นหุ้นแม่ บริษัทที่ออกไม่ได้ให้สามารถแปลงได้ทุกวันนะ จะมีกำหนดไว้ในรายละเอียด เช่น ให้ใช้สิทธิเปลี่ยนเป้นหุ้นแม่ได้ทุก 3 เดือน ซึ่งในช่วงที่เปิดให้ใช้สิทธิแต่ละครั้งก็จะประมาณ 1 สัปดาห์ ถ้าต้องการแปลงสิทธิ แนะนำให้ติดต่อกับโบรกเกอร์หรือมาร์ที่เราเปิดบัญชีหุ้นเขาอยู่นะ เพราะมีเอกสารหลายอย่างที่ต้องกรอก
ข้อควรระวัง
1. วอแรนท์ ไม่ใช่หุ้นจริงๆ มันมีวันหมดอายุ และเมื่อหมดอายุ ค่าของมันคือ ศูนย์ ดังนั้นเมื่อได้วอร์แรนท์มาควรตัดสินใจว่า จะทำอย่างไรกับวอร์แรนท์ที่มี
2. เนื่องจากวอร์แรนท์ไม่ใช่หุ้นจริงๆ ดังนั้นระหว่างที่ถือไม่ได้รับผลตอบแทนในเรื่องของหุ้นปันผลนะ
3. ถ้าต้องการแปลงสิทธิ ก็ควรติดตามดูว่า บริษัทเปิดให้แลกได้ช่วงไหน
เราสามารถหาข้อมูลวอแรนท์ตัวนั้นๆ ได้จากในเว็บไซต์ของ set เมื่อเข้าไปหน้าแรก จะเห็น “หาชื่อย่อ” ตรงมุมบนขวา ให้พิมพ์ชื่อวอร์แรนท์ที่เราสนใจลงไป เช่น MINT-W7 เท่านี้เราก็จะได้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับวอร์แรนท์นี้นะ
#warrant
#w
#วอแรนท์
#วอร์แรนท์
#หุ้นลูก
#หมอยุ่งอยากมีเวลา
โฆษณา