25 ก.ค. 2021 เวลา 01:18 • ไลฟ์สไตล์
พระปิดตาหลวงปู่จัน วัดโมลี จ.นนทบุรี
วัดโมลี สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2369 ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเจ้าอาวาสรูปแรกมีนามว่า “เถื่อน” ต่อมาได้ลาสิกขา จนเมื่อ หลวงปู่จัน เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 3 วัดโมลีจึงมีชื่อเสียงกระฉ่อน ด้วยวัตถุมงคลชิ้นเอกของท่าน คือ “พระปิดตามหาอุด เนื้อแร่บางไผ่” อันงดงามด้วยพุทธศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ และเพียบพร้อมทางพุทธคุณเป็นเลิศ ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในชุดเบญจภาคีพระปิดตาเนื้อโลหะ ที่ปัจจุบันมีค่านิยมสูงมากและหาของแท้ได้ยากนัก
หลวงปู่จัน ท่านเป็นชาวเขมรโดยกำเนิด เกิดประมาณปี พ.ศ.2355 หลังจากอุปสมบทศึกษาธรรมวินัยและวิทยาการต่างๆ จึงได้ออกธุดงค์แสวงบุญมาจากเมืองเขมร จนมาถึง อ.บางบัวทอง เมื่อครั้งที่หลวงปู่จันธุดงค์มาใหม่ๆ ชาวบ้านแถบนั้นต่างพากันรํ่าลือว่า มีพระชาวเขมร 2 องค์ เก่งยิ่งนัก สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ ทั้งมีจริยวัตรงดงามเป็นที่น่าเลื่อมใส เมื่อวัดโมลีขาดเจ้าอาวาสลงจึงพร้อมใจนิมนต์พระชาวเขมรมาเป็นเจ้าอาวาสรูปต่อไป ซึ่งพระเขมรรูปหนึ่งชื่อ “พระภิกษุจัน” จึงต้องยอมรับตำแหน่งอันสำคัญนี้
ท่านเป็นพระเกจิที่มีวิชาอาคมแก่กล้า สามารถล่องหนย่นระยะทางได้ มีวิชาสัก ลงกระหม่อม อาบว่านยา ทำนํ้ามนต์ ฯลฯ ได้ประสิทธิ์ให้แก่บรรดาสานุศิษย์ ซึ่งต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าขลังสุดๆ ท่านมรณภาพในปี พ.ศ.2437 สิริอายุ 82 ปี เป็นเจ้าอาวาสยาวนานถึง 42 ปี
พิมพ์หมวกแก๊ปหน้า
เนื้อหามวลสาร หลวงปู่จันชอบเล่นแร่แปรธาตุ เพื่อหาธาตุโลหะอันศักดิ์สิทธิ์ จนกระทั่งได้ค้นพบ “แร่บางไผ่” แร่เหล็กชนิดหนึ่ง จึงได้นำมาสร้างเป็น “พระปิดตามหาอุด” เมื่อประมาณปี พ.ศ.2425 ซึ่งมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว และมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร โดยท่านจะให้พระและลูกศิษย์ของท่านปั้นหุ่นเทียนเป็นรูปองค์พระเป็นองค์ๆ ไป และวางเส้นยันต์ที่ปั้นเป็นเส้นกลมๆ แบบเส้นขนมจีน ตามที่ท่านกำหนด เส้นสายต่างๆ ตลอดจนขนาดจึงไม่เท่ากัน แต่จะมีความละม้ายคล้ายคลึงกัน
2
จุดอ่อนประการสำคัญ คือ ความเปราะบาง ซึ่งถ้าตกจะกะเทาะแตกได้ และยังเป็นแร่ที่สนิมกินตัวเอง ถ้าไม่ชโลมนํ้ามันจันทน์ให้ดี ก็จะเกิดสนิมกินตัวจนหมดสิ้นได้เช่นกัน
พิมพ์หมวกแก๊ปหน้า
พุทธลักษณะเป็นพระปิดตาแบบลอยองค์ งดงามด้วยเส้นสาย ที่เป็นเส้นกลมคล้ายเส้นขนมจีน วางอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย พระหัตถ์ทั้งสองข้างยกขึ้นปิดพระพักตร์ และพระหัตถ์อีกคู่หนึ่งล้วงลงมาปิดทวาร ชนิดที่ยกพระหัตถ์ขึ้นปิดพระพักตร์เท่านั้นก็มีบ้าง บริเวณพระอุระมียันต์กำกับเป็นเส้นกลมแบบเส้นขนมจีน เอกลักษณ์ประการสำคัญ คือ ปรากฏยันต์ “นะ” เป็นรูปคล้ายตัว “S” หรือเลข “8” วิ่งม้วนหางขึ้นไปเป็นอุณาโลม เรียกกันว่า “ยันต์นะมหาอุด”
ด้านหลังเต็มไปด้วยเส้นสายของยันต์อักขระเป็นเส้นนูนหนาวิ่งไปอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ตั้งแต่พระเศียรจรดส่วนด้านล่างองค์พระ เป็นยันต์ “เฑาะว์ขัดสมาธิ” อยู่ตรงกลาง ยันต์แถวล่างคือ “นะ มะ พะ ทะ” อันเป็นหัวใจของธาตุทั้งสี่ คือ ดิน นํ้า ลม ไฟ บางองค์อาจพบทำปิดหน้าปิดหลัง เป็นแบบ “พิมพ์สองหน้า” หรือ “พิมพ์สามหน้า” ก็มี และบางองค์ไม่ปรากฏเส้นยันต์เลยก็มีเช่นกัน
พิมพ์หมวกแก๊ปหลัง
พระปิดตาแร่บางไผ่ หลวงปู่จัน แบ่งแยกเป็นพิมพ์ต่างๆ มากมาย มีอาทิ พิมพ์เศียรตัด, พิมพ์หมวกแก๊ป, พิมพ์เศียรเงาะ, พิมพ์ทองหยอด, พิมพ์ฐานสูง, พิมพ์สามหน้า, พิมพ์สองหน้า, พิมพ์เศียรโต ฯลฯ ซึ่งมักจะไม่ซํ้าแบบกันอันเนื่องมาจากการปั้นหุ่นเทียนทีละองค์
พุทธคุณเป็นเลิศในด้านมหาอุด คงกระพันชาตรี และ แคล้วคลาดครับผม
สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
โฆษณา