25 ก.ค. 2021 เวลา 03:47 • สุขภาพ
ทางที่ต้องเลือก
ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังยืนอยู่บนทางแพร่ง
มีอย่างน้อย 3 เส้นทางที่รออยู่ข้างหน้า
1
ทางที่ต้องเลือก
📌 ทางแรก เส้นทางแห่งอินเดีย เส้นทางแห่งหายนะ ที่มีความเสียหายจำนวนมากรออยู่
กลางมีนาคมที่ผ่านมา อินเดียต้องเผชิญกับการระบาดของ "โควิดสายพันธ์เดลต้า" ทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง จากจำนวนคนที่ป่วยเป็นโควิดและเสียชีวิตในรอบดังกล่าว
จากตัวเลขของทางการ มีคนป่วยไม่น้อยกว่า 19 ล้านคน และเสียชีวิตไม่น้อยกว่า 2.5 แสนคน วันที่มีคนป่วยมากสุดคือวันละ 4 แสนกว่าคน เสียชีวิตวันละ 5,000 คน
ทั้งหมด นำมาซึ่งภาพที่น่าสลดใจ การเผาศพหมู่จำนวนมาก ศพที่ลอยมาตามแม่น้ำ คนตายในบ้าน ในที่ต่างๆ อ๊อกซิเจนที่ขาดแคลน คนที่แย่งกันเข้าโรงพยาบาล คนป่วยที่เรียงราย บ้างต้องนอน 2 คน 1 เตียง
1
ความจริงจำนวนผู้ที่ป่วยน่าจะมากกว่านั้นมาก เพราะล่าสุดมีผลการศึกษาว่า ณ มิถุนายนที่ผ่านมา คนอินเดีย 67% มีภูมิต้านทานโควิดอยู่ในตัวแล้ว เพิ่มขึ้นจากประมาณ 24% เมื่อปลายปีที่แล้ว
นอกจากนี้ การศึกษาจากหลายแหล่งชี้ว่า อาจมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1 ล้านคนในช่วงดังกล่าว
4 เดือนให้หลัง การระบาดของโควิดลดลงมาก เหลือวันละ 4 หมื่นคน เสียชีวิตวันละ 500 คน
จากไฟที่โหมแรง ค่อยๆ มอดลง เมื่อมองย้อนกลับไป ปัจจัยที่ช่วยให้การระบาดของโควิดสายพันธ์เดลต้าชะลอลง น่าจะมาจากการที่คนอินเดียจำนวนมากได้ป่วยเป็นโควิดแล้ว จนทั้งมีภูมิต้านทานโควิดในตัวประมาณ 67% แม้ว่าประเทศอินเดียจะฉีดวัคซีนครบโดสไปเพียง 6% และยังไม่ครบอีก 18%
1
📌 ทางสอง เส้นทางแห่งอังกฤษ เส้นทางของความท้าทายและความพยายาม (ที่จะสู้ด้วยวัคซีน)
ช่วงปลายปีที่แล้ว ประเทศอังกฤษต้องเผชิญกับการระบาดใหญ่ระลอกสาม จาก “โควิดสายพันธ์แอลฟา” ที่ได้กลายพันธ์ในอังกฤษเอง ส่งผลให้รัฐบาลต้องประกาศปิดเมืองเพื่อต่อสู้กับการระบาดรอบดังกล่าว แม้ว่าในช่วงแรกๆ รัฐบาลจะพยายามยื้อที่จะไม่ lockdown จนไม่สามารถชะลอต่อไปได้
ช่วงดังกล่าว เริ่มจากประมาณต้นธันวาคม 63 ที่มีผู้ป่วยเพิ่มประมาณวันละ 15,000 คน ซึ่งสถานการณ์ได้ทรุดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ในช่วงต้นมกราคมมีผู้ป่วยเพิ่มสูงสุดประมาณ 67,000 คนต่อวัน
คนที่เสียชีวิตต่อวัน ในช่วงที่ร้ายแรงที่สุดอยู่ที่ 1,800 คน (20 มกราคม 64)
ระลอกที่สาม มีผู้ป่วยรายใหม่ในอังกฤษรวมแล้ว ประมาณ 2.5 ล้านคน เสียชีวิตประมาณ 6 หมื่นคน
1
(ทั้งนี้ ถ้าเราลองเทียบสัดส่วนเป็นขนาดประชากรของอินเดีย ถ้าอังกฤษมีประชากร 1.4 พันล้านคน มากเหมือนอินเดีย คือ 20 เท่า คงจะมีคนป่วย 51 ล้าน เสียชีวิต 1.2 ล้านคน ในรอบดังกล่าว ซึ่งรุนแรงเช่นกัน)
4 เดือนให้หลัง การระบาดระลอกที่สามของอังกฤษก็ได้ซาลงอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน โดยผู้ป่วยรายใหม่ลดลงเหลือเพียงประมาณวันละ 4,000 คน เสียชีวิตประมาณวันละ 50 คน
การจบรอบของการระบาดระลอกที่สามในอังกฤษ เป็นผลมาจากการเร่งฉีดวัคซีนตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 63 เป็นต้นมา จนกระทั่งเมื่อต้นเดือนเมษายน 64 อังกฤษสามารถฉีดไปได้ประมาณ 46.3% ของประชากร แยกเป็นฉีดครบโดส 7.3% และฉีดเข็มเดียว 39% (คิดเป็นจำนวนประมาณ 36 ล้านกว่าเข็มที่ฉีดไป) เมื่อรวมกับคนที่ป่วยโควิดไปแล้ว ณ ขณะนั้นอีก 4.3 ล้านคน ทำให้ประชากรประมาณมากกว่าครึ่ง ที่เริ่มมีภูมิต้านทานโควิดในตัว
1
ปัจจุบัน เป็นที่น่าสังเกตว่า อังกฤษกำลังมีการระบาดระลอกใหม่จาก "สายพันธ์เดลต้า" ซึ่งล่าสุดทำให้มีผู้ป่วยรายใหม่ต่อวัน กลับขึ้นไปที่ประมาณ 4-5 หมื่นคนต่อวันอีกครั้ง แต่คนที่เสียชีวิตกลับน้อยกว่าเดิมมาก โดยล่าสุดอยู่ที่ประมาณวันละ 60 คน จากผลการที่อังกฤษสามารถฉีดวัคซีนครบโดสได้ 54% และเข็มเดียวอีก 15% รวมเป็นประมาณ 69% ของประชากร
📌 ทางสุดท้าย เส้นทางแห่งจีน เส้นทางของความเด็ดเดี่ยว
เส้นทางนี้มีความขรุขระ คดเคี้ยว มีป่ารก เขาสูงใหญ่ อยู่เบื้องหน้า ต้องอาศัยความเด็ดเดี่ยวในการเดินไปข้างหน้า อดทนที่จะไม่ถอยกลับ ทำให้ท้ายที่สุดสามารถกำกับดูแลให้การระบาดจบลงได้
ทุกคนคงจำกันได้ ถึงภาพของจีน ที่เอาจริงในเรื่องของการปิดเมืองอู่ฮั่นเมื่อปีที่แล้ว
ช่วงดังกล่าว ยังไม่มีใครเข้าใจโควิดมากนัก และยังไม่มีวัคซีน
ทางออกเดียวที่จะไม่นำไปสู่ความหายนะ ก็คือ จัดการกักให้โควิดมอดไปเอง โดยการปิดเมือง ปิดถนน และจำกัดการเคลื่อนไหวของประชากร โดยใช้เวลาประมาณ 2 เดือนกว่าๆ ในการนำสถานการณ์เข้าสู่ปกติ จากที่ติดใหม่ประมาณวันละ 4,000 คน ลดลงมาเหลือเพียงต่ำกว่า 200 คนในช่วงต้นเดือนมีนาคม และค่อยๆ หมดไปในที่สุด
1
ทางนี้ไม่ได้มาง่าย เป็นทางที่แลกมาด้วยความยากลำบากของประชาชน เศรษฐกิจ ที่ต้องประคองให้ทุกคนผ่านไปได้ และต้องอาศัยความเด็ดเดี่ยว เด็ดขาดอย่างยิ่งในการดำเนินนโยบาย ไม่ถอยกลับจนกระทั่งบรรลุผล
2
เมื่อบรรลุผล เศรษฐกิจก็สามารถที่จะฟื้นกลับมาได้ด้วยตนเอง ทำให้ GDP จีนสามารถกลับไปจุดก่อนที่จะเกิดโควิดในเวลาเพียง 1 ไตรมาสเท่านั้น
2
สิ่งที่รอเราอยู่
เส้นทางเหล่านี้ เป็นเส้นทางที่เราต้องเลือก
เพราะต่อให้เราไม่เลือก "โควิดสายพันธ์เดลต้า" ก็จะทำงานต่อไป แบบไม่ลดละ
ระบาดคนต่อคน ในอัตราเร่ง ทำให้คนป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
เพิ่มโรงพยาบาลสนามเท่าไร ก็เต็มอย่างรวดเร็ว
จำนวนผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทวีคูณ ขณะที่ ICU เรา หมอเรามีจำกัด เพิ่มได้อีกไม่มาก
1
และยิ่งบุคลากรทางการแพทย์เริ่มป่วยและเสียชีวิตเอง การต่อสู้ก็จะยากลำบากขึ้น ลำบากขึ้น
หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ไทยก็จะเริ่มก้าวไปสู่เส้นทางของอินเดีย ซึ่งเราคงไม่อยากให้ประเทศของเราเดินไปตามทางนั้น เราจึงต้องเลือก
ทั้งสามเส้นทาง สิ่งที่เหมือนกันก็คือ การระบาดจะลดลงในที่สุด โดยใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน
แต่เส้นทางของอินเดีย ความเสียหายในเรื่องของชีวิตคน รวมไปถึงปัญหาสุขภาพที่จะตามมาจาก “Long Covid” หรือ ลองโควิด เป็นต้นทุนที่สูงมาก ซึ่งถ้าจะออกจากวิกฤตการระบาดได้ด้วยการปล่อยให้มีคนจำนวนมากป่วย จนเกิดภูมิต้านทานหมู่ ความเสียหายเรื่องชีวิตคนและสุขภาพของประเทศระยะยาวก็จะตามมา
คำถาม คือ ทำอย่างไรที่เราจะสู่อีก 2 เส้นทางที่เหลือ
ทางแห่งจีน ทางแห่งอังกฤษ ทั้งสองเส้นทาง หมายถึง การที่เราจะต้องลดการระบาดในช่วงแรกให้ได้
1
สิ่งนี้จะเกิดได้ ก็จะมาจากที่ทุกคนเห็นถึงความเสียหาย ความหายนะที่รอเราอยู่ข้างหน้า
ช่วยกันเปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา ช่วยกันหยุดอยู่บ้าน ช่วยกัน WFH ช่วยกันดูแลพี่น้องในชุมชนให้เขาอยู่ได้ในช่วงนี้ ซึ่งจะช่วยปกป้องผู้สูงอายุ 11 ล้านคนในไทยและคนที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุด ให้รอดจากวิกฤตรอบนี้
ทั้งหมด เพื่อซื้อเวลา ให้เราสามารถเดินไปตามทางแห่งอังกฤษ (ซึ่งจีนไม่มีวัคซีนเมื่อปีที่แล้ว)
ซื้อเวลา ให้ฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า
ปัจจุบัน เราฉีดได้ 15.7 ล้านเข็มคิดเป็นสัดส่วน 23.78% ของประชากร (ในส่วนนี้ 18.3% ได้รับเข็มแรก) เราต้องเพิ่มให้ได้อย่างน้อยประมาณที่อังกฤษฉีดได้ในช่วงต้นเดือนเมษายน คือ 36 ล้านเข็ม เพื่อให้สามารถมีภูมิต้านทานในประชากรของเรา (ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดแม้ฉีดวัคซีนแล้ว อาจจะป่วยจากสายพันธ์เดลต้าได้ แต่วัคซีนจะช่วยลดคนที่จะต้องเข้าสู่โรงพยาบาลต่อไป)
1
เราจะต้องฉีดเพิ่มอย่างน้อยอีก 20 ล้านเข็ม
จากข้อมูลล่าสุด จำนวนนี้จะมาจาก แผนวัคซีนรัฐบาลระหว่าง 19 กรกฏาคม – 31 สิงหาคม จำนวน 13 ล้านโดส ซึ่งเมื่อรวมกับที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะนำเพิ่มเข้ามาอย่างน้อยอีก 6 ล้านโดสภายในสิงหาคม และวัคซีนทางเลือกอื่นๆ ก็จะทำให้ประมาณปลายสิงหาคม เราเข้าใกล้จุดที่อังกฤษฉีดได้ในจุดดังกล่าว
ถ้าเราสามารถฉีดวัคซีนเพิ่มได้ต่อเนื่องในเดือนกันยายน เช่น ในเดือนสิงหาคม (อย่างน้อยอีก 15 ล้านโดส คือจาก Aztra 6 ล้าน Sinopharm 6 ล้าน และอื่นๆ ที่จะหามาเพิ่ม) เราก็จะอยู่ในฐานะที่สามารถดูแลพื้นที่เสี่ยงทั้งหมดของไทย ได้ดีในระดับหนึ่ง
ในเรื่องนี้ ทุกคนสามารถช่วยได้ บริษัทเอกชนสามารถสั่งวัคซีนทางเลือกจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ เพื่อช่วยรัฐบาลอีกแรง ซึ่งทุกเข็มที่เอกชนสั่งเพิ่ม หมายความว่าจะมีอีกเข็มหนึ่งที่รัฐบาลสามารถเอาไปให้คนอื่นๆ ในประเทศได้
นอกจากนี้ ทุกคนสามารถช่วยบริจาค เพื่อหาวัคซีนฉีดให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยและคนในกลุ่มเปราะบางเพิ่มเติม เช่น ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ได้ช่วยสมทบทุนประมาณ 6 ล้านบาทให้กับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อจัดสรรวัคซีนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ส่วนรัฐบาลนั้น ทำอย่างไรที่จะปลดล็อคที่พันธนาการตนเอง ที่ทำให้วัคซีนเข้ามาไทยน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ออกไปให้หมด ให้สมกับที่ประกาศว่า “วัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ”
เมื่อเรา "ฉีดวัคซีน" มากถึงจุดหนึ่ง เราก็จะสามารถพ้นจากวิกฤตรอบนี้ไปได้ เริ่มเปิดในสิ่งที่เราปิดไปอย่างมั่นใจ สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ภูมิต้านทานที่เราสร้างรอบนี้ให้กับประชาชนคนไทย จะทำให้เราพร้อมรับมือกับ "โควิดกลายพันธ์" ตัวต่อไป
#Bnomics #เศรษฐศาสตร์ #Economics #ช่วยกันคนละไม้คนละมือ #เราจะผ่านไปได้ #เราต้องรอด
ผู้เขียน : กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
════════════════
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
════════════════
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
References :
โฆษณา