26 ก.ค. 2021 เวลา 12:54 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เกาหลีใต้ - ญี่ปุ่น ตอนที่ 2
1
ต่อเนื่องจากตอนที่ 1 เราจบไว้ที่จักรวรรดิญี่ปุ่นเข้าครอบครองคาบสมุทรเกาหลี (Japanese Occupation in Korean Peninsula) ตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1910 เป็นต้นมาจนถึงจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1945 ในตอนนี้ฝั่งตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ไม่ได้เข้ามาแทรกแซงการเข้าครอบครองของญี่ปุ่นในคาบสมุทรเกาหลี ไต้หวันและแมนจูเรีย แต่อย่างใด
พระเจ้าโคจง แห่งเกาหลี ได้ส่งคณะทูตเดินทางไปยังกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อประชุมสันติภาพ ในปี ค.ศ. 1907 เนื่องด้วยความไม่ยุติธรรมที่ญี่ปุ่นเข้ายึดเกาหลี และต้องการเรียกร้องให้โลกตะวันตกช่วยกดดันให้ญี่ปุ่นยอมคืนอำนาจอธิปไตยให้กับเกาหลี
ทว่าญี่ปุ่นพยายามขัดขวางทุกทาง ทำให้คณะทูตของเกาหลีไม่ได้แถลงต่อประชาคมโลก
คณะทูตเกาหลีที่พระเจ้าโคจงส่งไปยังกรุงเฮก (Credit : https://en.wikipedia.org/wiki/Hague_Secret_Emissary_Affair#/media/File:Hague_Secret_Emissary_Affair.jpg)
สุดท้ายพระเจ้าโคจง สละราชสมบัติ และมอบบัลลังก์ให้กับพระโอรส พระเจ้าซุนจง ซึ่งถือเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์โชซอน
จักรวรรดิญี่ปุ่นผนวกคาบสมุทรเกาหลีเข้ามาอย่างเต็มตัว ในปี ค.ศ. 1910 ญี่ปุ่นได้แต่งตั้ง อีวานยอง เป็นนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิดของเกาหลี เพื่อลงนามในสนธิสัญญาญี่ปุ่น-เกาหลี หรือ Japan-Korea Treaty of 1910
2
ญี่ปุ่นได้แต่งตั้งให้ เทราอุชิ มาซาทาเกะ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแห่งเกาหลีคนแรก โดยคนญี่ปุ่นเรียกเกาหลีในเวลานั้นว่า โชเซน (Chosen) และปกครองเกาหลีโดยใช้กฎระเบียบแบบทหาร
เกาหลีถูกลิดรอนสิทธิหลายๆอย่าง เช่น ไม่ให้รวมตัวกันชุมนุม ปิดกั้นเสรีภาพของสื่อและการพูด หลายๆโรงเรียนในเกาหลีต้องถูกปิด ยกเลิกการสอนภาษาและประวัติศาสตร์เกาหลี เปลี่ยนเป็นสอนภาษาญี่ปุ่นแทน
8
ญี่ปุ่นเผาทำลายเอกสารทางประวัติศาสตร์ของเกาหลีกว่า 2 แสนชิ้น ซึ่งแทบจะเป็นการลบล้างประวัติศาสตร์เกาหลีกันเลยทีเดียว รวมถึงการสอนประวัติศาสตร์เกาหลี หรือ พูดถึงเรื่องในอดีตของเกาหลี ถือเป็นอาชาญากรรม และต้องโดนลงโทษ
2
ญี่ปุ่นยังได้ทำลายสัญลักษณ์อำนาจอธิปไตยของเกาหลี อย่างพระราชวังคยองบกกุง ซึ่งสร้างในปี ค.ศ. 1395 ในสมัยราชวงศ์โชซอนอันยิ่งใหญ่ของเกาหลีด้วย
ญี่ปุ่นยังได้ขยายลัทธิความเชื่อชินโตมายังเกาหลีด้วย ซึ่งแต่เดิมเกาหลีนับถือผีสาง (Shamanism) แต่นักวิชาการบางท่านก็อาจจะบอกว่าเกาหลีและญี่ปุ่นมีศาสนา ความเชื่อดั้งเดิมที่คล้ายกันอยู่แล้ว และความเชื่อเรื่องผีสางก็เป็นส่วนหนึ่งของชินโต
1
ศาลเจ้าตามความเชื่อของชินโต ตอนช่วงครอบครองเกาหลี (Chōsen Shrine) (Credit : https://www.history.com/news/japan-colonization-korea)
ญี่ปุ่นได้วางรากฐานระบบคมนาคม การสื่อสาร ธนาคาร และพัฒนาอุตสาหกรรมให้กับเกาหลี รวมถึงใช้ระบบการค้าแบบเดียวกันกับญี่ปุ่นด้วย
ญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้ชาวเกาหลีเดินทางไปดูงานและฝึกงานที่ญี่ปุ่น เศรษฐกิจของญี่ปุ่นขยายเป็นอย่างมาก ทำให้ต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น จึงได้มีการเกณฑ์แรงงานชาวเกาหลีกว่า 7 แสนคนไปทำงานในญี่ปุ่น ซึ่งสภาพความเป็นอยู่ในการทำงานที่ญี่ปุ่นไม่ได้ดีมากนัก แรงงานต้องทำงานอย่างหนัก ทำให้มีผู้เสียชีวิตและทุพพลภาพจากการทำงานหนักเป็นจำนวนมาก
2
ช่วงปลายของการปกครองเกาหลี ญี่ปุ่นอนุญาตให้เกาหลีใช้นามสกุลตามแบบคนญี่ปุ่นด้วย แต่เดิมญี่ปุ่นห้ามคนเกาหลีใช้นามสกุลของคนญี่ปุ่น เพื่อป้องกันความสับสน แต่ในปี ค.ศ. 1939 ทางการญี่ปุ่นอนุญาตให้คนเกาหลีเลือกใช้นามสกุลแบบญี่ปุ่นได้
2
แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่า ญี่ปุ่นไม่ได้อนุญาตให้คนเกาหลีใช้นามสกุลแบบญี่ปุ่นแบบสมัครใจเท่าไหร่นัก เหมือนเป็นการบีบบังคับทางอ้อมให้มาใช้เสียมากกว่า เนื่องจากการลงทะเบียนกับทางการ การส่งไปรษณีย์ จะทำได้ง่ายกว่าหากมีนามสกุลหรือชื่อแบบญี่ปุ่น ทำให้ชาวเกาหลีกว่า 84% เปลี่ยนนามสกุลมาเป็นแบบญี่ปุ่น
3
- ชุมนุมครั้งแรกกลางกรุงโซล (March First Movement) -
ในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1919 ชาวเกาหลีที่ต่อต้านญี่ปุ่นได้เดินทางเข้ามายังกรุงโซล เพื่อรวมตัวกันเรียกร้องอิสรภาพจากญี่ปุ่น หลังจากที่พระเจ้าโคจงสวรรคตไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้า
การชุมนุมนี้มีการอ่านคำประกาศอิสรภาพ เหล่านักเรียน ประชาชน คนหลายกลุ่ม เข้าร่วมชุมนุมกว่า 2 ล้านคน เป็นการชุมนุมอย่างสงบ ไม่ได้มีการใช้ความรุนแรง
แกนนำอ่านคำประกาศอิสรภาพท่ามกลางผู้ชุมนุมที่มาเข้าร่วม (Credit : https://www.kcrush.com/the-march-1st-movement-what-happened-in-korea-that-day/)
เหล่าผู้ชุมนุมหน้าศาลากลางกรุงโซล ในวันที่ 1 มีนาคม 1919 (Credit : https://www.globalpeace.org/news/march-1-1919-korean-declaration-independence)
ทว่าฝ่ายจักรวรรดิญี่ปุ่นกลับตอบโต้ด้วยความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม ชาวเกาหลีกว่า 47,000 คนถูกจับ มีผู้บาดเจ็บกว่า 16,000 คน และมีผู้เสียชีวิตถึง 7,500 คน
ทหารญี่ปุ่นตั้งรั้วป้องกันไม่ให้เหล่าผู้ชุมนุมเดินทางเข้ามา (Credit : https://en.wikipedia.org/wiki/File:L%E2%80%99Ind%C3%A9pendance_de_la_Cor%C3%A9e_et_la_Paix-04.jpg)
แกนนำผู้ชุมนุมได้ตั้งรัฐบาลชั่วคราว หรือ รัฐบาลพลัดถิ่น ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และได้เลือกให้ อีซึงมัน (Rhee Syungman) เป็นประธานาธิบดีแห่งเกาหลีคนแรก ตอนนี้ญี่ปุ่นได้รับรู้แล้วว่าตนต้องปรับการปกครองเกาหลี โดยลดความรุนแรง ลดการบีบบังคับชาวเกาหลีลง เพื่อให้การประท้วงต่อต้านจักรววรดิญี่ปุ่นลดลงด้วย
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ชาวเกาหลีประท้วงจักรวรรดิญี่ปุ่นอย่างเนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบประท้วงกลางถนน ไม่ทำตามกฎหมายที่ญี่ปุ่นตั้ง ปฏิเสธที่จะเรียนและใช้ภาษาญี่ปุ่น ปฏิเสธการเปลี่ยนนามสกุลและชื่อเป็นแบบญี่ปุ่น
2
อีซึงมัน (Rhee Syungman) ประธานาธิบดีแห่งเกาหลีใต้คนแรก (Credit : https://en.wikipedia.org/wiki/Syngman_Rhee#/media/File:Rhee_Syng-Man_in_1948.jpg)
- สงครามโลกครั้งที่ 2 -
จักรวรรดิญี่ปุ่นในตอนนี้ถือว่าเป็นผู้ที่ไม่มีใครทัดเทียมได้เลยในเอเชีย จากการที่ญี่ปุ่นเอาชนะจีนและรัสเซียได้ก่อนหน้านี้ บวกกับแสนยานุภาพทางการทหารของญี่ปุ่น ทำให้จักรวรรดิญี่ปุ่นเชื่อมั่นว่าตนจะสามารถขยายจักรวรรดิไปได้มากกว่านี้
ญี่ปุ่นเริ่มรุกรานประเทศอื่นอย่างเต็มตัว และท้ายที่สุดก้าวเข้าสู่สมรภูมิรบสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ ด้วยการโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อค.ศ. 1941
ญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ ที่สหรัฐอเมริกา (Credit : https://www.history.com/topics/world-war-ii/pearl-harbor)
นอกจากนี้จักรวรรดิญี่ปุ่นยังได้เข้ายึดครอง ตั้งกองกำลังทหารในประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหมายรวมถึงไทยด้วย
1
รวมถึงเหตุการ์ณที่นานกิง ประเทศจีน หนึ่งในความเจ็บปวดและบาทแผลที่ทหารญี่ปุ่นทำกับพลเรือนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เรื่องนี้เป็นประเด็นทางการเมืองระหว่างจีนและญี่ปุ่นเช่นกัน
2
จักรวรรดิญี่ปุ่นต้องการแรงงานจำนวนมากมาทำงานในเหมือง ช่วยผลิตอาวุธ วัตถุดิบสำหรับทำอาหาร และอื่นๆที่จะต้องส่งให้กองทัพญี่ปุ่น ส่งผลให้ญี่ปุ่นนำแรงงานชาวเกาหลีเข้ามาที่ญี่ปุ่นมากขึ้น คาดการณ์จำนวนคนเกาหลีที่อยู่ที่ญี่ปุ่นในปี 1944-1945 ได้ประมาณ 1.9 ล้านคน
สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงในปี ค.ศ. 1945 ด้วยความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น หลังจากถูกระเบิดปรมาณูถล่มที่เมืองนางาซากิ และ ฮิโรชิม่า
สภาพบ้านเมืองนางาซากิหลังโดนระเบิดจากฝ่ายสหรัฐอเมริกา (Credit : https://www.britannica.com/event/atomic-bombings-of-Hiroshima-and-nagasaki/The-bombing-of-Nagasaki)
คาบสมุทรเกาหลีถูกแบ่งออกเป็นสองประเทศ ขณะเดียวกันเป็นการยุติบทบาทของญี่ปุ่น ที่ครอบครองคาบสมุทรเกาหลีมากว่า 75 ปีอย่างสิ้นเชิง
หลังจากนี้เกาหลีจะเข้าสู่สงครามเกาหลี ซึ่งเป็นสงครามตัวแทนในช่วงสงครามเย็นระหว่างสองมหาอำนาจที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกัน โดยเกาหลีเหนือ ที่ถูกควบคุมโดยโซเวียตเปลี่ยนการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ ส่วนเกาหลีใต้ ที่ถูกควบคุมโดยสหรัฐอเมริกาได้เปลี่ยนการปกครองเป็นประชาธิปไตย โดยมีวันที่ 1 มีนาคม (สืบเนื่องจากวันที่มีการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นครั้งแรก) เป็นวันชาติของเกาหลีใต้
รัฐบาลเกาหลีใต้ตั้งแต่นั้นมาพยายามต่อสู้เรียกร้องคืนความเป็นธรรมจากญี่ปุ่น ในช่วงที่ญี่ปุ่นเข้าปกครองเกาหลี ให้กับประชาชนของตนมาโดยตลอด และหนึ่งในนั้นก็คือเรื่อง หญิงบำเรอ หรือ Comfort Women
1
การเฉลิมฉลองวันชาติของเกาหลีใต้ วันที่ 1 มีนาคมของทุกปี (Credit : https://asiamedia.lmu.edu/2017/03/01/south-korea-celebrating-korean-independence-movement-day/)
- หญิงบำเรอ (Comfort Women) -
*เนื้อหามีความรุนแรงทางเพศ โปรดใช้ความระมัดระวังในการอ่าน*
1
ไม่เพียงแต่แรงงานที่ช่วยผลิตอาวุธเท่านั้นที่จักรวรรดิญี่ปุ่นต้องการ แรงงานที่สนองเรื่องเพศก็เป็นสิ่งที่ทหารญี่ปุ่นต้องการเช่นกัน พบว่าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้หญิงจากเกาหลี จีน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ถูกนำตัวไปให้บริการทางเพศแก่ทหารญี่ปุ่นระหว่างสงครามจำนวนมาก
ขอให้ทุกคนลืมภาพทหารญี่ปุ่นแบบโกโบริไปก่อน ในที่นี้เราจะขอโฟกัสที่หญิงบำเรอจากเกาหลี เรื่องราวที่หดหู่ที่ทหารญี่ปุ่นเคยกระทำส่งผลอย่างมากต่อคนในยุคปัจจุบัน และได้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองระหว่างสองประเทศนี้มาโดยตลอด
1
หญิงบำเรอ (Comfort Women) หมายถึง แรงงานที่ถูกบังคับให้บริการทางเพศแก่ทหารของจักรวรรดิญี่ปุ่น ในช่วงปีค.ศ. 1932-1945 ซึ่งเป็นเคสการค้ามนุษย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่เคสหนึ่งที่รัฐบาลมีส่วนรู้เห็น (หรือสนับสนุน)
2
หลักฐานสนับสนุนมีทั้งบันทึกทางการทหารในการตั้งสถานีหญิงบำเรอ (Comfort Station) ตามจุดที่กองกำลังญี่ปุ่นไปประจำการ บันทึกความทรงจำของนายทหารหลายฝ่าย รูปภาพ วิดิโอ คำให้การของหญิงบำเรอที่เป็นเหยื่อ และพยานในเหตุการณ์ เป็นต้น
2
ตัวอย่างหลักฐานจากฝ่ายทหารญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่ากองทัพญี่ปุ่นมีการตั้งสถานีหญิงบำเรอในหลายๆที่ สถานีแรกถูกตั้งขึ้นที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ในปีค.ศ. 1932 โดยบันทึกนี้เป็นของนายทหาร นามว่า โอกานาเบะ นาโอะซาบุโระ
2
ใจความของบันทึกทำให้เราพอจะทราบได้ว่า การสรรหาหญิงบำเรอให้กับทหารเป็นระบบหนึ่งของกองทัพญี่ปุ่น ที่ต้องการควบคุมพฤติกรรมทางเพศของทหาร ลดความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ข่มขืน และความรุนแรงต่อคนในชุมชน รวมถึงลดโอกาสที่จะติดโรคทางเพศจากคนในพื้นที่
2
ภาพทหารญี่ปุ่นที่ต่อคิวรออยู่หน้าสถานีหญิงบำเรอเพื่อใช้บริการทางเพศ (Credit : https://www.asianstudies.org/wp-content/uploads/teaching-about-the-comfort-women-during-world-war-ii-and-the-use-of-personal-stories-of-the-victims.pdf)
หลังจากที่ตั้งสถานีหญิงบำเรอแห่งแรกที่เซี่ยงไฮ้ไปแล้ว กองทัพญี่ปุ่นก็ได้ตั้งสถานีอื่นๆตามมาในหลายเมืองของญี่ปุ่นเอง จีน ฟิลิปปินส์ และอื่นๆดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
1
นักวิชาการยังมีการถกเถียงกันอยู่ ในเรื่องเงื่อนไขการใช้ชื่อและบริบทของหญิงบำเรอ ซึ่งในบริบทของญี่ปุ่น จะเป็น Military Sexual Slaves หรือ ทาสที่บริการทางเพศแก่ทหารญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้การใช้คำว่า Comfort Women อาจจะผิดจุดประสงค์ และเป็นการลดทอนความรุนแรงของทหารญี่ปุ่นเกินไป
อีกด้านหนึ่งก็มองว่าการเลือกใช้คำว่าหญิงบำเรอ หรือ Comfort Women เป็นการให้เกียรติผู้หญิง และ ไม่ต้องการใช้คำว่าทาสในการดูหมิ่นความเป็นมนุษย์ด้วยกัน
2
โดยคาดว่ามีเหยื่อผู้หญิงที่ต้องให้บริการทางเพศทหารญี่ปุ่น กว่าแสนคน บางคนในกลุ่มนี้ยังเป็นผู้เยาว์ อายุเพียงแค่ 12-14 ปีเท่านั้น
ภาพจากวิดิโอที่ถูกถ่ายไว้โดยทหารของสหรัฐอเมริกา ในปี 1944 ขณะที่เข้าไปในพื้นที่ซองชาน ประเทศจีน ในวิดิโอความยาว 18 วินาที จะเห็นหญิงบำเรอที่สถานี 7คน โดยหนึ่งในนั้นคาดว่ายังเป็นผู้เยาว์อยู่ (Credit : https://youtu.be/WU_o_YTp1rs)
หลักๆแล้วผู้หญิงบำเรอจะถูกพามาจากเกาหลี และ จีน เป็นส่วนใหญ่ มีไต้หวัน และญี่ปุ่น ด้วยแต่เป็นจำนวนน้อย นอกจากนี้ยังมี ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ไทย และติมอร์ตะวันออกด้วย
3
ญี่ปุ่นอ้างว่าผู้หญิงเหล่านี้ทำอาชีพเป็นโสเภณีอยู่แล้ว หรือ ทำงานบริการด้านนี้อยู่แล้ว การกระทำของญี่ปุ่นไม่ได้เป็นการจับตัว บังคับขู่เข็ญให้มาบริการทางเพศทหารญี่ปุ่นแต่อย่างใด
9
ภาพของหญิงบำเรอชาวจีน และ มาเลย์ ที่เมืองปีนัง ขณะยืนรอเข้ารับการสอบสวน โดยภาพนี้ถูกถ่ายโดยทหารฝ่ายสัมพันธมิตร ในปี 1945 (Credit : https://www.iwm.org.uk/collections/item/object/205208397)
- เรื่องราวของหญิงบำเรอ -
ในช่วงแรกของการตั้งสถานีหญิงบำเรอในเมืองต่างๆ หญิงสาวที่ถูกนำตัวไปส่วนใหญ่ทำอาชีพค้าบริการทางเพศอยู่แล้ว โดยพวกเธอบางส่วนสมัครใจที่จะเดินทางไปทำอาชีพนี้ต่อที่ญี่ปุ่น
แต่เมื่อกองทัพของญี่ปุ่นขยายตัวมากขึ้นในช่วงปี 1930 เป็นต้นไป ความต้องการหญิงบำเรอก็มากขึ้นตาม ทำให้เริ่มมีการบังคับหญิงสาวคนอื่นๆจากประเทศเกาหลี ไต้หวัน และจีน ไปให้บริการทางเพศทหารญี่ปุ่นมากขึ้น
1
โดยกองทัพญี่ปุ่นจะทำการคัดเลือกหญิงสาวจากพื้นที่ต่างๆ จำนวน 40-50 คนต่อครั้ง เพื่อเดินทางไปจีน หรือเมืองอื่นๆที่มีกองทัพญี่ปุ่นตั้งอยู่ สำหรับเกาหลี การคัดเลือกหญิงสาว จะเลือกจากหญิงสาวที่ทำงานโรงงาน พยาบาล คนซักรีด แม่ครัว หรือลูกสาวชาวนาจากชนบทที่ยากจน ซึ่งพวกเธอจะไม่รู้เลยว่าที่ทหารญี่ปุ่นคัดเลือกคนไปทำงานคือไปทำงานด้านไหน
6
ลียองซู เป็นหญิงสาวที่อาศัยอยู่ที่เมืองแทกู เกาหลีใต้ ซึ่งตอนนั้นถูกควบคุมโดยญี่ปุ่น ช่วงปี 1940 ครอบครัวของเธอมีฐานะที่ยากจน เธอไม่ได้มีการศึกษาสูงนัก เธอต้องช่วงครอบครัวทำงานหารายได้ตั้งแต่อายุ 13 ปี
4
เมื่อเธออายุได้ 16 ปี เพื่อนๆผู้หญิงของเธอแต่ละคนได้เริ่มถูกทหารญี่ปุ่นเรียกไปทีละคน จนวันหนึ่ง ทหารญี่ปุ่นได้มาที่บ้านของเธอ และเรียกชื่อลียองซูให้ออกมา เธอไม่รู้เลยว่าพวกเขาจะพาเธอไปไหน ไปทำอะไร จนกระทั่งพวกเขาพาเธอมารวมกับหญิงสาวอีกหลายคนเพื่อขึ้นรถไฟไปเมืองคยองจู เขตเกาหลีเหนือ
1
ตอนนั้นเธอยังไม่แน่ใจว่าทหารญี่ปุ่นจะพาพวกเธอไปทำอะไร เธอนึกเพียงแต่ว่าอาจจะให้ไปทำงานเป็นแม่ครัวหรือพนักงานซักรีด จนกระทั่งบางคนได้ตั้งคำถามกับทหารญี่ปุ่นว่าพวกเธอกำลังไปที่ไหน ไปทำอะไร ทำให้พวกเขาไม่พอใจจึงรุมทำร้าย เตะ ต่อย ทำให้บางคนหมดสติไปตลอดการเดินทาง
1
จากนั้นรถไฟก็ไปถึงปลายทางที่ไต้หวัน
มีหลักฐานจากทางการญี่ปุ่น เรื่องการขนย้ายผู้หญิงจากญี่ปุ่นและเกาหลี โดยใช้เรือขนส่งของทหารญี่ปุ่น ซึ่งอาจจะบอกได้ว่ารัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ดูแลเรื่องการสงครามมีส่วนรู้เห็นในการขนย้ายผู้หญิง เพราะแทบจะเป็นไปไม่ได้ ที่พลเรือนธรรมดาจะใช้เรือทหารในการขนย้ายคนหรือสิ่งของ
4
เมื่อลียองซูเดินทางถึงไต้หวัน เธอถูกข่มขืนทันทีที่เข้าไปในสถานีหญิงบำเรอ เธอถูกตีและถูกทรมานหลายครั้งต่อวัน เพื่อให้บริการทหารญี่ปุ่นวันละ 4-5 คน บางคนอาจมากถึง 60 คนต่อวัน พวกเธอไม่ได้รับเงินหรือสิ่งใดเป็นการตอบแทน และถูกมอบชื่อญี่ปุ่น รวมถึงสั่งห้ามให้พูดภาษาเกาหลี
5
แม้ว่าทหารญี่ปุ่นจะมีกฎห้ามทหารญี่ปุ่นที่ใช้บริการสถานีหญิงบำเรอทำร้ายร่างกายพวกเธอ แต่เอาเข้าจริง ไม่มีใครสนใจกฎเหล่านี้ และไม่มีผู้ที่ถูกลงโทษจากการละเมิดกฎดังกล่าว และแม้ว่าจะมีมาตรการให้ตรวจเช็คร่างกายหญิงบำเรอ และบังคับให้ทหารญี่ปุ่นใช้ถุงยางอนามัยป้องกันโรค แต่ในความเป็นจริงก็ไม่มีผู้ใดสนใจกฎเหล่านี้เลย
1
พบว่าหญิงบำเรอหลายคนตั้งครรภ์ด้วย ซึ่งเราไม่ทราบชะตากรรมของเธอมากนัก
หญิงบำเรอบางคนถูกบังคับให้ทำงานบริการทางเพศทั้งๆที่พวกเธอป่วย ติดเชื้อจากโรคทางเพศ หน่วยแพทย์ก็ไม่เคยมาดูแลรักษาพวกเธอเลย และยิ่งเป็นสถานีที่อยู่ในเมืองไกลๆ ความเป็นอยู่ของพวกเธอก็ยิ่งแย่
ลียองซูยังเล่าอีกว่าผู้หญิงที่พยายามจะหลบหนี หรือ ออกนอกพื้นที่ที่กำหนด จะโดนลงโทษถึงตาย เธอกลัวมากแม้ว่าใจจะอยากหนีออกไป แต่เธอไม่รู้แน่ชัดว่าเธออยู่ที่ไหนและต้องหนีไปทางไหน
2
เหยื่ออีกท่านหนึ่ง นามว่า อีอ๊กซุน (Yi Ok Sun) เล่าว่าเธอเคยหลบหนีอยู่ครั้งนึง แต่เธอถูกทหารญี่ปุ่นจับตัวไว้ได้ ซึ่งเธอถูกแทงเข้าที่แขนและขา เธอยังคงมีรอยแผลเป็นให้เห็นอยู่ในตอนนี้ ซึ่งเป็นรอยแผลเป็นที่ตอกย้ำความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส และไม่มีทางลบออกไปจากชีวิตเธอได้เลย
2
อีอ๊กซุน (Yi Ok Sun) ในวัย 80 ปี เปิดเผยเรื่องราวครั้นที่เธอถูกนำตัวไปเป็นหญิงบำเรอ (Credit : https://www.history.com/news/comfort-women-japan-military-brothels-korea)
เธอยังเล่าอีกว่าที่สถานีหญิงบำเรอมีผู้หญิงถูกทุบตี ทรมาน และฆ่าตัวตายทุกวัน สำหรับเธอ ที่นั่นไม่ใช่ที่บำเรอ ที่สำราญอะไร แต่เป็นโรงฆ่าสัตว์สำหรับเธอต่างหาก เพราะทหารญี่ปุ่นไม่เคยมองพวกเธอเป็นมนุษย์ จะทุบตี ทำร้ายอย่างไรก็ได้ ขอเพียงแต่พวกเขาพอใจ
นอกจากนี้ยังมีคำให้การของหญิงสาวที่รอดมาจากเกาะไหหนาน ประเทศจีนด้วย พวกเธอก็ได้เล่าว่า พวกทหารญี่ปุ่นปล่อยให้คนที่เป็นโรคติดต่อ หรือ ป่วย นอนตายไปเฉยๆ ไม่รักษา ไม่ช่วยเหลือใดๆ ผู้ใดที่เสียชีวิต ทหารญี่ปุ่นก็จะนำร่างไปทิ้งไว้กลางถนน หรือ ในป่า โดยไม่มีการฝังหรือเผาร่างใดๆ
*มีภาพของผู้เสียชีวิต (เซนเซอร์แล้ว)*
1
มีภาพจากวิดิโอที่ถูกถ่ายในปี 1944 (คาดว่าถ่ายโดยทหารของสหรัฐฯ) ที่ยูนนาน ประเทศจีน ชายในวงกลมสีแดงเป็นทหารจีนที่กำลังตรวจสอบ ร่างผู้หญิงบำเรอชาวเกาหลีที่เสียชีวิต และถูกนำมาทิ้งในสภาพร่างที่เปลือยเปล่า อวัยวะของร่างกายบางส่วนขาดและหายไป
4
ในเอกสารของจีน บันทึกไว้ว่า มีเหตุการณ์ที่ทหารญี่ปุ่นยิงหญิงบำเรอหลายรายเกิดขึ้นในเดือนกันยายน ปี 1944 ซึ่งคาดว่านี่จะเป็นหลักฐานสนับสนุนว่าทหารญี่ปุ่นทิ้งร่างหญิงบำเรอหลังจากสังหารพวกเธอไว้เช่นนี้
หลักฐานเหล่านี้ถูกเปิดเผยในปี 1997 ระหว่างการประชุมร่วมกันระหว่าง เกาหลี จีน ญี่ปุ่น ในเรื่องหญิงบำเรอช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ทหารจีนในวงกลมสีแดงขณะที่กำลังถอดถุงเท้าร่างของหญิงบำเรอที่ถูกทิ้งไว้ (Credit : http://english.hani.co.kr/arti/english_edition/e_international/834094.html)
หลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตร เช่น สหรัฐอเมริกา และ อังกฤษ ได้เข้าไปยังพื้นที่สงครามที่ที่เคยมีกองทัพญี่ปุ่นตั้งอยู่ และช่วยผู้หญิงให้ออกมาจากสถานีบำเรอ
ภาพที่โด่งดังด้านล่างทำให้เห็นภาพความลำบากของการเคลื่อนย้ายหญิงบำเรอออกจากพื้นที่ ที่มีสถานีและกองกำลังของญี่ปุ่นตั้งอยู่
ภาพด้านล่างถ่ายโดยทหารสหรัฐฯ ขณะที่กำลังเดินทางผ่านหุบเขาซองชาน ระหว่างพม่าและจีน ในปี 1944 หลังจากที่ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีฐานของญี่ปุ่น และฆ่าทหารญี่ปุ่นจนหมด
ผู้ชายทางด้านซ้าย คือทหารจีนที่อารักขา หญิง3 คน ในภาพเป็นหญิงบำเรอชาวเกาหลี ซึ่งขวาสุดกำลังตั้งครรภ์ มีชื่อว่าพัคยองชิม ผู้ซึ่งในภายหลังได้ให้เล่าเรื่องราวขณะที่เธอต้องเป็นหญิงบำเรอให้แก่สาธารณะ
2
ในจำนวนหญิงบำเรอทั้งหมดเป็นชาวเกาหลี 8 คน และเป็นญี่ปุ่น 2 คน จากภาพเห็นได้ว่าการเดินทางนั้นค่อนข้างลำบาก ได้รับบาดเจ็บ และเหน็ดเหนื่อยมาก
1
(Credit : http://english.hani.co.kr/arti/english_edition/e_international/834094.html)
หญิงบำเรอที่ทหารเรือของสหรัฐอเมริกาพบเจอที่สถานีหญิงบำเรอในเมืองโอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น (Credit : https://www.bbc.com/news/world-asia-47042684)
ภาพของหญิงบำเรอชาวเกาหลีที่สถานีหญิงบำเรอในพม่า ขณะที่กำลังถูกสอบสวนโดยทหารสหรัฐฯ (Credit : https://en.wikipedia.org/wiki/File:Captured_comfort_women_in_Myitkyina_on_August_14_in_1944.jpg)
ลียองซูเป็นหนึ่งในผู้ที่รอดชีวิต และได้รับการช่วยเหลือให้กลับสู่ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อเธอได้เจอหน้าพ่อแม่เธออีกครั้ง แม่เธอถึงกับเป็นลมหมดสติไป เพราะนึกว่าเธอเสียชีวิตไปนานแล้ว และไม่เคยคิดว่าจะได้ลูกสาวกลับมาสู่อ้อมอกอีกครั้ง
ลียองซูและเหยื่อคนอื่นๆ ต้องเจอกับภาวะความเจ็บป่วยทางจิตใจหลังจากการโดนทำร้ายมาอย่างหนัก เธอได้เข้ารับการรักษาทั้งทางร่างกายและจิตใจอยู่เป็นระยะ
ลียองซู และรูปภาพของเหยื่อที่เป็นหญิงบำเรอในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (Credit : https://www.history.com/news/comfort-women-japan-military-brothels-korea)
เธอไม่เคยเล่าเรื่องที่เธอประสบมาให้ผู้ใดฟังเลย เพราะเกรงว่าจะไม่มีผู้ใดเชื่อ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1992 คิมฮักซุน (Kim Hak Soon) เหยื่อรายหนึ่งที่ต้องไปเป็นหญิงบำเรอ ได้ออกมาพูดต่อสาธารณะถึงความโหดร้ายของกองทัพญี่ปุ่นที่กระทำต่อเธอช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เหยื่อรายอื่นๆรวบรวมความกล้า ออกมาพูดและเล่าเรื่องราวให้สังคมได้รับรู้ในวงกว้าง
เกาหลีใต้เป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 ทำให้เหยื่อกล้าออกมาพูดถึงความโหดร้ายของญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อที่สาธารณะมากขึ้น ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นวงกว้างมากขึ้น
2
ลียองซูได้ผันตัวเป็นแอคทิวิสต์ ต่อสู้ให้สิทธิของหญิงบำเรอกลับคืนมาอีกครั้ง เรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีใต้จัดการพูดคุยกับญี่ปุ่น ให้พวกเขาขอโทษในสิ่งที่เคยทำ
นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องจากเหยื่อผู้รอดชีวิตอีกหลายๆที่ ในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน ไต้หวัน ให้รัฐบาลญี่ปุ่นขอโทษและชดใช้ต่อการกระทำของตน
1
เกาหลีใต้มีการทำรูปปั้นเพื่ออุทิศแก่หญิงบำเรอและเรื่องราวความโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับพวกเธอ
รูปปั้นตัวแทนหญิงบำเรอที่ถูกกระทำอย่างโหดร้ายช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ตั้งอยู่หน้าสถานทูตญี่ปุ่น ณ กรุงโซล, เกาหลีใต้ (Credit : https://justiceforcomfortwomen.org/2015/12/30/for-whom-the-agreement-between-japan-and-korean-governments-for/#jp-carousel-939)
รูปปั้นหันหน้าไปทางสถานทูตญี่ปุ่น  (Credit : https://justiceforcomfortwomen.org/2015/12/30/for-whom-the-agreement-between-japan-and-korean-governments-for/#jp-carousel-939)
ทุกๆวันจะมีชาวเกาหลีแวะเวียนมาวางดอกไม้ สวมผ้าพันคอ สวมเสื้อให้ ประหนึ่งว่าเธอก็มีชีวิต และในทุกๆปีจะมีการจัดงานรำลึกถึงหญิงสาวที่เป็นเหยื่อด้วย (Credit : https://www.npr.org/sections/parallels/2017/11/13/563838610/comfort-woman-memorial-statues-a-thorn-in-japans-side-now-sit-on-korean-buses)
รูปปั้นตัวแทนหญิงบำเรอ ที่ซานฟรานซิสโก, สหรัฐอเมริกา (ผู้หญิงที่ยืนอยู่บนพื้นคือ คิมฮักซุน หญิงบำเรอคนแรกที่ออกมาเปิดเผยเรื่องราวต่อสาธารณะ และเรียกร้องสิทธิให้กับเหล่าหญิงบำเรอ / รูปปั้นหญิง 3 คน ที่ยืนอยู่บนแท่น เป็นตัวแทนหญิงสาวจากเกาหลี จีน และฟิลิปปินส์ ที่ถูกพาตัวไปเป็นหญิงบำเรอ) Credit : New York Times
รูปปั้นที่ทำให้เกิดประเด็นความบาดหมางระหว่างเกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น เป็นรูปปั้นนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น กำลังก้มหัวขอโทษหญิงบำเรอชาวเกาหลี ซึ่งรูปปั้นนี้ตั้งอยู่ในสวนของเอกชน ที่เมืองพยองชาง เกาหลีใต้
นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน นายซูงะ โยชิฮิเดะ แถลงว่านี่ไม่ได้เป็นการช่วยให้บาดแผลในอดีตถูกแก้ไขอย่างเหมาะสม และทำให้ภาพลักษณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแย่ลง
ส่วนเจ้าของสวนได้แถลงต่อสำนักข่าวว่า รูปปั้นนี้ไม่ได้เจาะจงหมายถึงใคร เพียงแต่ต้องการสื่อถึงการกระทำของผู้ชายที่สำนึกผิดต่อการกระทำที่เขาได้ก่อต่อผู้หญิงที่เป็นเหยื่อทางเพศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และปัจจุบันเจ้าของสวนได้ปิดไม่ได้ให้บุคคลภายนอกเข้าชมรูปปั้นดังกล่าวแล้ว
2
Credit : http://artasiapacific.com/News/JapanesePrimeMinisterLookAlikeStatueInSouthKoreaStirsControversy
ชาวเกาหลีในเมืองเบอร์ลิน , เยอรมัน แสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการตั้งรูปปั้นแบบเดียวกับในเกาหลีใต้ ในปี 2020 ซึ่งรัฐบาลเยอรมันอนุญาตให้ตั้งไว้ได้ 1 ปี (Credit : https://apnews.com/article/japan-berlin-archive-world-war-ii-2facf477280de84edd85e7e635d68027)
- การรับผิดชอบของรัฐบาลญี่ปุ่น -
รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้นิ่งนอนใจต่อข้อเรียกร้องของเกาหลีใต้ เรื่องหญิงบำเรอ และ ผลความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1951 ญี่ปุ่นได้ลงนามตกลงในสนธิสัญญาซานฟรานซิสโก เพื่อชดใช้ค่าเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2
ผลทำให้ ในปีค.ศ. 1965 ญี่ปุ่นสมัยนายกรัฐมนตรีซาโต้ และ เกาหลีใต้สมัยประธานาธิบดีพัคจุงฮี ได้เริ่มกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน โดยการทำสนธิสัญญา Treaty on Basic Relations between Japan and ROK โดยญี่ปุ่นตกลงที่จะชดใช้เงินจำนวน 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แก่เกาหลีในช่วงเวลา 10 ปี โดยมาในรูปแบบเงิน สินค้าและบริการ และญี่ปุ่นจะมีการให้เงินกู้อีก 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นในรูปแบบ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยข้อตกลงนี้ถือเป็นที่สิ้นสุด เกาหลีจะไม่สามารถเรียกร้องได้อีก
แน่นอนว่านี่เป็นสิ่งที่ระดับรัฐบาลตกลงกัน เงินเยียวยาที่รัฐบาลเกาหลีใต้ได้รับ จะถูกนำไปจัดสรรปันส่วนให้กับเหยื่อที่ถูกทารุณช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ในช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมารัฐบาลญี่ปุ่นได้พยายามชดเชยเรื่องหญิงบำเรอให้แก่ประเทศต่างๆ เนื่องจากตระหนักได้ว่าการที่ญี่ปุ่นจะก้าวหน้าเป็นมหาอำนาจได้อีกครั้งอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี จะต้องจัดการกับประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่ส่งผลต่อการเมืองระหว่างประเทศก่อน
ในสมัยนายกรัฐมนตรีมูระยามะ ช่วงปีค.ศ. 1995 รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้เริ่มก่อตั้งกองทุนเพื่อดูแลหญิงบำเรอ ชื่อว่า Asian Women Fund เพื่อดูแลเหยื่อทั้งด้านสุขภาพและสวัสดิการ รวมถึงได้กล่าวแสดงความเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต
ทว่าหญิงสาวผู้เป็นเหยื่อชาวเกาหลีได้ปฏิเสธเงินนี้ไป
ถัดมาสมัยนายกรัฐมนตรีอาเบะ และ ประธานาธิบดีพัคกึนฮเย ช่วงปลายปี 2015 ได้มีความพยายามที่จะชำระประวัติศาสตร์ร่วมกันอีกครั้ง โดยการจัดตั้งกองทุนสำหรับหญิงบำเรอขึ้นอีกครั้ง และให้ถือว่าเป็นที่สิ้นสุดในครั้งนี้ ซึ่งเหยื่อหลายๆรายได้เสียชีวิตไปแล้ว เงินเหล่านี้จะถูกมอบให้กับลูกหลานของเหยื่อแทน
1
ซ้าย : นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น นายชินโซ อาเบะ / ขวา : ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ พัคกินฮเย หลังการหารือร่วมกันเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทั้งสอง ในปี 2015 (Credit : https://www.bbc.com/news/world-asia-35190464)
ซ้าย : ลียองซู / ขวา : กิลวอนอ๊ก เหยื่อผู้เป็นหญิงบำเรอ ขณะที่เข้าร่วมการประท้วงเรียกร้องคำขอโทษจากญี่ปุ่น หน้าสถานทูตญี่ปุ่น ณ กรุงโซล ปี 2015 (Credit : https://www.pri.org/stories/2017-12-27/south-korea-backtracks-unpopular-comfort-women-deal-japan)
กระทั่งปี 2018 สมัยของประธานาธิบดีมุนแจอิน แห่งเกาหลีใต้ ศาลของกรุงโซลได้ตัดสินให้รัฐบาลญี่ปุ่นเยียวยาเหยื่อจำนวน 12 คน คนละเก้าหมื่นเหรียญสหรัฐฯ ซึ่ง 6 คนได้เสียชีวิตไปแล้ว
ดังที่กล่าวไปว่านี่เป็นการตกลงกันระดับรัฐบาล ซึ่งไม่ได้มาจากข้อเรียกร้องโดยตรงจากเหยื่อ ทำให้เหยื่อหลายรายมองว่าตนไม่ได้รับการผิดชอบที่จริงใจจากญี่ปุ่น เรื่องนี้ทำให้ในปี 2018 ประธานาธิบดีมุนแจอินได้ปฏิเสธรับเงินจากญี่ปุ่น
ประธานาธิบดีมุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนปัจจุบัน (Credit : https://www.britannica.com/biography/Moon-Jae-In)
เหยื่อมองว่าสิ่งที่ญี่ปุ่นทำเหมือนเป็นการปิดปากเหยื่อด้วยเงินมากกว่า สิ่งที่พวกเธอเรียกร้องและอยากได้มากที่สุด คือ การสำนึกผิด และคำขอโทษอย่างจริงใจจากรัฐบาลญี่ปุ่น
2
ลียองซู เหยื่อที่รอดชีวิตมาได้ ในวัย 90 ปี ได้เปิดเผยในปี 2015 ว่าเธออยากได้คำขอโทษจากญี่ปุ่น เธออยากให้ญี่ปุ่นรู้ว่า พวกเธอไม่เคยเต็มใจที่จะบำเรอผู้ชายพวกนั้น และจะไม่มีวันให้อภัยต่อสิ่งที่พวกเขาทำกับเธอ
เหยื่อชาวเกาหลีรวมตัวกันประท้วงเรียกร้องคำขอโทษจากญี่ปุ่น ที่หน้าสถานทูตญี่ปุ่น ณ กรุงโซล ในปี 2000 (Credit : https://www.history.com/news/comfort-women-japan-military-brothels-korea)
นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น นายซูงะ โยชิฮิเดะ แจ้งว่าศาลของกรุงโซลละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ญี่ปุ่นไม่ได้เข้าร่วมการตัดสินคดีนี้ด้วยซ้ำ และ ญี่ปุ่นได้จ่ายค่าเสียหายและชดใช้ทั้งหมดไปก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งสองประเทศได้ลงนามตกลงร่วมกันไปแล้วในปี 1965 ซึ่งถือเป็นที่สิ้นสุดแล้ว แต่เป็นทางเหยื่อเองที่ปฏิเสธ ทำให้เกาหลีใต้ไม่สามารถเรียกร้องหลังจากสัญญาได้สิ้นสุดแล้ว
3
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น คนปัจจุบัน นายซูงะ โยชิฮิเดะ (Credit : https://www.britannica.com/biography/Suga-Yoshihide)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเกาหลีใต้ ได้โต้ว่าการตัดสินใจของเหยื่อเป็นเรื่องที่ไม่สามารถละเมิดหรือก้าวก่ายได้ รัฐบาลเกาหลีใต้ได้พยายามปกป้องสิทธิของประชาชนในประเทศและป้องกันความขัดแย้งระหว่างประเทศแล้ว ในสนธิสัญญาไม่ได้มีการระบุห้ามเหยื่อแต่ละคนเรียกร้องตามสิทธิของตนเองเอาไว้
ญี่ปุ่นโต้กลับว่าแต่ในปี 2015 ได้มีการระบุแล้วว่าญี่ปุ่นจะไม่ดำเนินการใดๆต่อในเรื่องหญิงบำเรอแล้ว เนื่องจากรัฐบาลได้ตกลงที่จะจ่ายค่าชดใช้กว่า 90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการตั้งกองทุนสำหรับหญิงบำเรอในเกาหลีใต้จบไปเรียบร้อยแล้ว
ทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นตอบโต้กันไปมาในหลากหลายรูปแบบ เช่น การประท้วง การออกมาตรการกีดกันทางเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ส่งผลต่อสองประเทศนี้เพียงเท่านั้น
1
หลายคนอาจจะมองว่าญี่ปุ่นก็แสดงความรับผิดชอบแล้วทำไมเกาหลีใต้ยังไม่จบ หลายคนก็มองว่าสิ่งที่ญี่ปุ่นทำในอดีตนั้นเกินกว่าจะให้อภัย
3
เราจะตัดจบไว้ที่เท่านี้ เพื่อวิเคราะห์และใส่รายละเอียดได้อย่างละครบถ้วนเกี่ยวกับชาตินิยมของทั้งสองประเทศหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังสงครามเย็น ที่ส่งผลต่อนโยบายการต่างประเทศ และ ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้ - ญี่ปุ่น ในตอนถัดไป
2
รวมถึงเจเนอเรชั่นใหม่ของทั้งสองประเทศ มีการรับรู้เรื่องเหตุการณ์ในอดีตอย่างไร มีการเรียนประวัติศาสตร์ของตนเองกันอย่างไร และเรื่องนี้ส่งผลอย่างไรในการขับเคลื่อนการเมืองและเศรษฐกิจ สุดท้ายการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่น แนวโน้มจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามในตอนถัดไป
2
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา