25 ก.ค. 2021 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ NHS สิทธิการรักษาฟรีของประชาชนสหราชอาณาจักร
📌 จุดเริ่มต้นของ NHS
วันนี้ผมจะมาเล่าความเป็นมาของระบบสาธารณสุขของประเทศสหราชอาณาจักร (United Kingdom, UK) หรือที่เรียกว่า National Health Service (NHS) ซึ่ง NHS นี้ได้เริ่มดำเนินการไม่กี่ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 1948 หรือเมื่อกว่า 70 ปีมาแล้ว
ความมหัศจรรย์ของระบบ NHS นี่คือ ประชาชนทุกคนในสหราชอาณาจักรมีสิทธิในการเข้ารักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแม้แต่เพนนีเดียว (เพนนี หรือ penny เทียบเท่ากับหน่วยสตางค์ในบ้านเรา) ซึ่งสหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการให้บริการสาธารณสุขแบบฟรีทุกอย่าง
จุดประสงค์ในการจัดตั้ง NHS คือเพื่อให้ประชาชนทุกคนในสหราชอาณาจักรต้องมีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุด และเหมาะสมที่สุดสำหรับคนไข้ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล หรือ ฐานะของคนไข้
NHS ได้รับคัดเลือกให้เป็นสถาบันที่ทำให้ประชาชนภูมิใจที่สุดที่เกิดมาเป็นคน British โดยผลโหวตยกให้ NHS ชนะ สำนักข่าว BBC อาหารประจำชาติอย่าง Fish and Chips แม้กระทั่ง พระราชินีของอังกฤษ และวง The Beatles ก็ยังได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่า
📌 ความเห็นต่างทางการเมืองเป็นอุปสรรคในช่วงก่อนก่อตั้ง NHS
แต่ระบบ NHS เกือบจะไม่ได้คลอดออกมาแล้ว เพราะว่าถ้าย้อนกับไปปี 1939 Winston Churchill ได้เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร เพื่อเข้ามาทำสงครามกับนาซีเยอรมนี จนในที่สุดอังกฤษได้รับชัยชนะในปี 1945
และเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ทางสหราชอาณาจักรก็ได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ทาง Winston Churchill ได้นำพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative) ลงเลือกตั้งด้วย แข่งกับพรรคแรงงาน( Labour) ซึ่งนำโดยนาย Clement Attlee
อย่าลืมนะครับ Winston Churchill ผู้ที่ไม่ใช่แค่เป็นวีรบุรุษของอังกฤษ แต่เป็นถึงสัญลักษณ์แห่งความกล้าหาญที่จะยืนหยัดต่อต้านนาซีของคนทั้งโลก ในขณะที่ทุกคนหวาดกลัวกับนาซี จนกระทั่งโลกก็ได้รับสันติภาพอีกครั้ง คนอังกฤษชอบพูดให้ฟังว่า ถ้าไม่มี Churchill ป่านนี้ พวกเราคงต้องสนทนากันเป็นภาษาเยอรมันไปแล้ว
เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่า ผลโพลก่อนเลือกตั้งทุกสำนักคาดว่า Churchill จะชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย แต่ปรากฏว่าผลออกมาประชาชนเลือกพรรคแรงงานอย่างล้นหลามทำให้ Clement Attlee ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแทน Churchill นับเป็นการหักปากกาเซียนกันทั้งโลก
เพราะจริงๆ แล้วประชาชนในสหราชอาณาจักร เชื่อว่า Churchill ไม่เหมาะกับการเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาที่ไม่มีสงคราม และยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนซึ่งได้มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างอัตคัดขัดสนมากว่า 6 ปี ในช่วงสงคราม โดยคนเหล่านี้เชื่อว่า ถ้าพรรคอนุรักษ์นิยมของ Churchill กลับมาอยู่ในอำนาจ ชีวิตพวกเขาคงไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะพรรคนี้เป็นพรรคของพวก อีลีท หรือคนมีอันจะกิน ซึ่งแตกต่างกับพรรคแรงงานซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของคนจน ชนชั้นใช้แรงงานหรือ working class โดยสิ้นเชิง
📌 สวัสดิการของรัฐที่ครอบคลุมตั้งแต่เปลจนถึงโลงศพ
ภายหลังจากที่ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยการนำของ Clement Attlee จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นครั้งใหญ่ในสหราชอาณาจักร โดยมีการใช้นโยบายนิวเยรุซาเลม (ไม่เกี่ยวข้องกับประเทศอิสราเอล) แต่เป็นการให้ความหวังกับประชาชนว่า สหราชอาณาจักรหลังสงคราม จะเป็นเหมือนสวรรค์ของประชาชนตามความเชื่อในตำนาน โดยที่รัฐจะเปลี่ยนไปเป็นรัฐสวัสดิการ พร้อมดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย (From Cradle to Grave) รวมถึงการให้บริการรักษาพยาบาลภายใต้ NHS
📌 ประชาชนต้องรักษาฟรีเท่านั้น
ทั้งนี้ คนสำคัญที่ทำให้ NHS เกิดขึ้นได้คือ นาย Aneurin ‘Nye’ Bevan รัฐมนตรีสาธารณสุขของรัฐบาลพรรคแรงงาน ซึ่ง Nye Bevan เกิดมาในครอบครัวใช้แรงงาน และมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าการรักษาพยาบาลต้องไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เลย และสวัสดิการนี้จะต้องได้รับงบประมาณมาจากภาษีประชาชน ถึงแม้ว่าจะได้รับการต่อต้านทั้งจากพรรคแรงงานของตัวเอง และพรรคอนุรักษ์นิยม รวมถึง สมาคมแพทย์ในสหราชอาณาจักร (British Medical Association)
Bevan พบปะกับคนไข้ในวันแรกของโครงการ ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ วันที่ 5 ก.ค. 1948
ในตอนนั้นที่ทางการเมืองต่อต้านเพราะว่าเศรษฐกิจอังกฤษบอบช้ำจากสงครามมาก และได้เป็นหนี้สหรัฐอเมริกาจนประเทศแทบจะล้มละลาย ทางภาคการเมืองคิดว่า ระบบ NHS ที่ทุกคนในประเทศไม่ต้องจ่ายอะไรเลยจะทำให้ประเทศล่มจมในอนาคต
ส่วนทางด้านกลุ่มหมอ ในตอนแรกก็ไม่อยากเข้าร่วม NHS เพราะกลัวว่าจะกลายเป็นข้าราชการทำให้การทำงานไม่คล่องตัวและจะกระทบกับรายได้ แต่ Nye Bevan ก็สามารถไปเจรจาจนแทบจะติดสินบนพวกหมอ ให้มาเข้าร่วม NHS จนได้ ทำให้นาย Nye Beavan ถึงกลับเอ่ยว่า เขาเสมือนต้องเอาทองยัดปากพวกคณะหมอ จนพวกหมอถึงยอมเข้าระบบ โดยการให้รายได้ประจำ แถมหมอยังสามารถไปหารายได้จากฝั่งเอกชนได้ด้วย
📌 ก่อนมี NHS คนอังกฤษโดนล้อว่าเป็นชาติที่มีฟันแย่
ก่อนที่จะมีระบบ NHS ประชาชนส่วนใหญ่ในสหราชอาณาจักรต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง จึงทำให้ประชาชนเลือกที่จะไม่หาหมอเพราะกลัวว่าจะไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา จึงมีแต่คนมีฐานะเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ จนทำให้เกิดความเชื่อว่า “คนอังกฤษเป็นชาติที่มีฟันที่แย่” เพราะตอนที่ทหารอเมริกันมาช่วยรบในช่วงสงครามโลก คงสังเกตถึงฟันผุ ฟันหลอ จากการที่ประชากรส่วนใหญ่ไม่รับการบริการทางด้านทันตกรรมอย่างทั่วถึง
คนไข้เป็นจำนวนมากต่างหลั่งไหลต่อแถวเข้ามาใช้บริการทันตกรรม
ในวันแรกที่ NHS ได้เปิดให้บริการในปี 1948 รัฐบาลต้องเข้าไปควบคุมเตียงถึง 480,000 เตียง พยาบาลกว่า 125,000 คน และหมอเฉพาะทางกว่า 5000 คน และเมื่อตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ราคาในการสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน แต่ระบบ NHS ที่มีราคาค่าบริการเป็นศูนย์ ทำให้สูญเสียกลไกทางตลาดไป การจัดสรรงบประมาณสำหรับ NHS จึงไม่เป็นเรื่องง่าย
📌 เมื่อทุกคนอยากได้ของฟรี งบประมาณก็ไม่เพียงพอ
และฝันร้ายของรัฐบาลก็เกิดขึ้นจริง เพราะมีประชาชนมีความต้องการใช้บริการ NHS อย่างล้นหลาม ในปีแรกของการให้บริการ มีการทำฟันปลอมถึง 33 ล้านซี่ ปกติก่อนมี NHS ทันตแพทย์จะมีคนไข้เฉลี่ยประมาณ 15-20 ราย แต่พอมี NHS จำนวนคนไข้เพิ่มขึ้นไปถึง 100 รายต่อวัน!
ส่วนในปีแรกของ NHS งบประมาณที่เตรียมไว้ให้กับการรักษาด้านสายตา จัดไว้เพียง 3.5 ล้านปอนด์ แต่ค่าใช้จ่ายจริงออกมาถึง 15 ล้านปอนด์ ในเงินเมื่อ 70 กว่าปีก่อน ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีการยกเว้น ค่าตัดแว่นและค่าทำฟันปลอม ที่ประชาชนต้องจ่ายเอง แต่อย่างไรก็ดี งบประมาณของ NHS ก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากปี 1948 ถึงปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายของ NHS เพิ่มขึ้นกว่า10เท่า และหากคิดเป็นสัดส่วนของงบประมาณรัฐบาลกลาง มันได้เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 11.2 ในปี 1955 มาอยู่ที่ ร้อยละ 30.1 ในปี 2017
ค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นอย่างมาก
แต่ที่ไม่น่าเชื่อคือ ปริมาณเตียงภายใต้ระบบ NHS ลดลงจาก 480,000 ในปี 1948 มาเหลือเพียง 120,000 เตียงในปี 2018 นี่เป็นเพราะการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ความจำเป็นของคนไข้ที่ต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาลลดลงอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น การทำคลอดในปัจจุบัน คนไข้อาจจะออกจาก รพ. ในวันเดียวกันได้ หรือ นอนเพียงแค่คืนเดียว เมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่คนท้องต้องนอนโรงพยาบาลประมาณ 1 อาทิตย์
จำนวนเตียงโรงพยาบาลในอังกฤษและเวลส์
การแจกจ่ายงบประมาณด้านสาธารณสุขที่ไม่ทั่วถึง จึงทำให้เกิด "ปรากฎการณ์พี่ตูน" กับโครงการก้าวคนละก้าว
📌 NHS การปฏิวัติด้านสาธารณสุข แต่ได้ส่งผลต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง
ในปัจจุบัน ทาง NHS มีการจ้างบุคลากรอยู่ถึง 1.7 ล้านคน ถ้าไม่นับรวมบุคลากรในกองทัพ NHS ถือเป็นผู้จ้างงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งพอเกิดวิกฤตโควิดเลยทำให้การกระจายวัคซีนในสหราชอาณาจักรเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมาก และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สหราชอาณาจักรฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดได้เร็วกว่าทุกประเทศ สะท้อนได้จากการที่รัฐบาลประกาศวันอิสรภาพจากโควิด ในวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ประชาชนจึงไม่ต้องใส่หน้ากากอีกต่อไปและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติได้อีกครั้ง
NHS เป็นส่วนสำคัญในความสำเร็จของการกระจายวัคซีนของสหราชอาณาจักร
บทเรียนจากระบบ NHS ของสหราชอาณาจักรได้ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าจะต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการดำเนินการระบบสาธารณสุขอย่าง NHS แต่ประชาชนพร้อมจะจ่ายภาษีเพิ่มถ้ามีการการันตีว่า ภาษีที่จ่ายเพิ่มจะไปสนับสนุน NHS ไม่รั่วไหลไปใช้อย่างอื่น แต่ในไทย ประชาชนแทบไม่เห็นประโยชน์ของการเสียภาษีเงินได้เลย
สัดส่วนงบประมาณด้านสาธารณสุข
นอกไปกว่านั้นแล้วการที่ประชาชนไม่ต้องมีความกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาล ทำให้คนอังกฤษกล้าจับจ่ายใช้สอย และมีความกล้าเสี่ยงออกไปทำอาชีพนอกกรอบมากขึ้น ไม่ต้องไปรับราชการเหมือนในประเทศไทยถึงจะได้สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลแบบครอบคลุม เช่นในสหราชอาณาจักร ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ส่งผลดีกับเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว
📌 กลับมาย้อนดูระบบสาธารณสุขในประเทศไทย
ถ้าย้อนมาดูในไทย การจัดสรรงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขน่าจะปรับปรุงได้ดีกว่านี้ เพราะจากการที่เราเห็นสภาพสถานบริการสาธารณสุขของรัฐที่ส่วนใหญ่ดูเสื่อมโทรม และเวลารอรับการรักษาที่ใช้เวลานานสำหรับคนป่วย จึงทำให้ลดประสิทธิภาพของแรงงานไทยโดยใช่เหตุ นอกจากนั้นเรายังเห็นการที่ พี่ตูน ออกมาวิ่งเพื่อระดมทุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ขาดแคลนให้กับโรงพยาบาลรัฐ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหามากมายในระบบสาธารณสุขบ้านเรา
น่าคิดนะครับ ทำไมเราไม่ลอกเลียนระบบ NHS ที่ประสบความสำเร็จ แล้วนำมันมาใช้กับประเทศไทยของเราบ้างละ!
#NHS #สวัสดิการแห่งรัฐ #สวัสดิการสุขภาพ #รักษาฟรี #สาธารณสุข
#Bnomics #เศรษฐศาสตร์ #Economics
ผู้เขียน: บุรินทร์ อดุลวัฒนะ Chief Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
════════════════
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
════════════════
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
References :
โฆษณา