Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
หัวข้อประวัติศาสตร์
•
ติดตาม
25 ก.ค. 2021 เวลา 15:27 • ประวัติศาสตร์
งานพระบรมศพกษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยา
พระบรมรูปสมเด็จพระเพทราชา
ในที่นี้ขอพูดถึงงานถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระเพทราชา ซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงราชวงศ์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งพอดีได้อ่านหนังสือเสด็จสู่แดนสรวงเลยอยากเขียนเรื่องนี้ สมเด็จพระเพทราชาเสด็จสรรคตเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๒๔๖ เมื่อสวรรคตแล้วมีการวาดภาพขณะเชิญพระโกศพระบรมศพไปยังพระเมรุ เป็นจิตรกรรมภาพกระบวนเชิญพระบรมศพสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. ๒๒๓๑ -๒๒๔๖) ไปยังพระเมรุมาศ หรือในจดหมายของ Aernout Cleur เจ้าหน้าที่ของสหบริษัทอินเดียตะวันออกแห่งเนเธอแลนด์ (VOC) ซึ่งพึ่งค้นพบเมื่อปี ๒๕๕๘ โดยอาจจะเป็นเพียงภาพก็ได้เกี่ยวกับงานพระเมรุเพียงชุดเดียวก็ได้ที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน พระบรมศพของสมเด็จพระเพทราชาได้รับการถวายพระเพลิงเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๒๔๗ นานเป็นเวลาเกือบสองปีหลังจากที่เสด็จสวรรคต
ผู้ค้นพบที่ชื่อว่าศาสตราจารย์ Barend J. Terwiel เมื่อเขาค้นพบภาพเหล่านี้ก็ไม่ได้ใส่ใจกับสิ่งเหล่านี้มากนักแต่มุ่งไปในประเด็นการแย่งชิงราชสมบัติในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยามากกว่า ซึ่งเอาจริงๆ ภาพวาดเหล่านี้ออกจะดูเป็นภาพวาดสองมิติตามศิลปะการวาดภาพของไทยแต่โบราณ จึงยังพอน่าเชื่อถือได้แต่ไม่อาจเหมือนจริงทั้งหมด มีหลายๆ ภาพที่ดูเกินจริงและดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือ เช่น สิงห์เทียมราชรถในงานพระบรมศพ เอาจริงๆ หลายๆ คนบอกว่าสัตว์ในตำนานจะมาอัญเชิญพระบรมศพได้อย่างไร แต่จริงๆ แล้วอาจจะเป็นม้าที่แต่งแฟนซีเป็นรูปสิงห์แล้วลากอัญเชิญพระศพ และภาพอีกหลายๆ จุดเลยทีเดียว
พระเมรุสมเด็จพระเพทราชา
เวลาจะถวายพระเพลิงต้องมีพระเมรุ พระเมรุเป็นอาคารชั่วคราวที่สร้างจากวัสดุชั่วคราว อาจจะเป็นพวกไม้แปะทับด้วยกระดาษหลากสีโดยเฉพาะกระดาษทองให้มีความสวยงาม (แต่ปัจจุบันใช้ผ้าย่นแทนเนื่องจากประเทศจีนไม่ผลิตกระดาษทองย่นแล้ว) หลายๆ คนบอกว่าพระเมรุเป็นศิลปะที่ประณีตงดงาม แต่ส่วนตัวคิดว่ามันไม่ได้ประณีตแต่อย่างใด เมื่อมองไกลๆ อาจจะดูสวยแต่พอมองใกล้ๆ ก็อาจจะเห็นได้ถึงความหยาบของวัสดุ เมื่อสร้างพระเมรุแล้วก็จะมีอาคารอยู่รายรอบ ในปัจจุบันอาจจะเหลืออยู่ไม่กี่อาคาร เช่น พระที่นั่งทรงธรรมสำหรับบำเพ็ญพระราชกุศลก่อนถวายพระเพลิง สำส้างหรือสำซ่าง (เขียนได้หลายแบบ) และอาคารปลีกย่อยโดยรอบ เช่น ทับเกษตร ศาลาลูกขุน ทิมฯ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นสมัยโบราณอาจจะมีเยอะกว่านี้อีก เช่น ระทา โรงรำฯ แต่ส่วนใหญ่ยกเลิกไปในรัชกาลที่ ๕ และมีการเปลี่ยนแปลงจริงในช่วงงานถวายพระเพลิงในหลวงรัชกาลที่ ๕ ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุค
เมื่อมีการถวายพระเพลิงนั้นถึงแม้ว่าพระเมรุจะเป็นอาคารชั่วคราวที่สร้างจากวัสดุจำพวกไม้หรือกระดาษและอาจมีโครงสร้างเสริมตามแบบตะวันตกในช่วงหลังๆ แต่ว่าเมื่อถวายพระเพลิงจะถวายพระเพลิงเพียงเฉพาะพระบรมศพเท่านั้น ไม่ได้เผาพระเมรุตามไปด้วยแต่อย่างใด เมื่อถวายพระเพลิง เก็บพระอัฐิ และดำเนินการต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้วจึงรื้อพระเมรุออก เพราะถือว่าการสร้างพระเมรุกลางเมืองเป็นสิ่งอัปมงคลอย่างยิ่ง ราชรถต่างๆ ถูกเก็บเข้าที่
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา (ซึ่งไม่ทราบว่าคติการสร้างพระเมรุนี้มีมาตั้งแต่เมื่อใด) จนถึงในช่วงต้นรัชกาลที่ ๕ สำหรับสมเด็จพระบรมวงศ์ชั้นสูง คือชั้นสมเด็จพระที่ทรงสัปตปฎลเศวตรฉัตรหรือฉัตร ๗ ชั้นขึ้นไป เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ จะมีการสร้างพระเมรุอยู่ ๒ ชั้น คือเป็นอาคารครอบอาคารไม่ได้หลายถึงมีสองชั้นบนล่าง ภายในเป็นพระเมรุทองซึ่งสูงราว ๔๐ ศอก (ประมาณ ๒๐ เมตร) อยู่ภายในพระเมรุมาศที่ซ้อนทับอยู่ภายนอกอีกที พระเมรุทองนั้นเป็นที่ตั้งของพระเบญจาทองคำ (แท่นพระบรมศพ) ภายใต้เศวตรฉัตร (กี่ชั้นแล้วแต่พระอิสริยยศที่ทรงได้) พระเมรุทองภายในนั้นมีการตกแต่งอย่างสวยงามซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายว่า
“พระเมรุที่ปลูกเป็นรูปบุษบกสวมพระเบญจา เรียกว่าพระเมรุทอง ทำด้วยดีบุกก็ดีทำด้วยทองอังกฤษก็ดี ทำด้วยทองน้ำตะโกก็ดี หรือจะลงรักปิดทองคำเปลวก็ดี หรือจะหุ้มทองคำจริงก็ดี ก็คงเรียกชื่อว่าพระเมรุทองทุกครั้งทุกคราว”
ส่วนพระเมรุภายนอกนั้นส่วนใหญ่จะเป็นพระเมรุยอดปรางค์มีพรหมพักตร์หรือไม่มีก็ได้ พระเมรุภายนอกนี้มีลักษณะสูงมาก โดยทั่วไปเฉลี่ย ๑๖๐ ศอก (ประมาณ ๘๐ เมตร) แต่อาจจะสูงหรือเตี้ยกว่านั้น อย่างเช่นพระเมรุสมเด็จพระนารายณ์สูงถึง ๑๐๒ เมตร (แต่ไปเจออีกที่นึงบอกว่าสูง ๑๒๐ เมตร ก็งงๆ เหมือนกันว่าข้อมูลอันไหนจริงเท็จ)
พระเมรุของสมเด็จพระเพทราชานั้นมีอาคารประกอบรายล้อมอยู่มากมาย พระเมรุของสมเด็จพระเพทราชาตามภาพนั้น เป็นปราสาทจัตุรมุขยอดปรางค์ ๙ ยอด สร้างครอบพระมณฑปพระเมรุทอง โดยพระเมรุนั้นเป็นการจำลองคติเขาพระสุเมรุของพระอินทร์หรือท้าวสักกเทวราช โดยมีเมรุทิศล้อมทั้ง ๘ ทิศอันหมายถึงเขาสัตตบริภัณฑ์ โดยน่าจะมีครั้งแรกในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจากการที่พระองค์ทรงลบศักราชทำให้มีการสร้างเขาพระสุเมรุจำลองขึ้น อันเป็นแบบจำลองจักรวาล โดยในสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองมีการกล่าวถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระเมรุว่า “ให้ตั้งเขาพระเมรุราชหน้าจักรหวัดไพชยนตมหาปราสาท มีเขาไกรลาส แลเขาสัตภัณฑ์ล้อมพระเมรุเปนชั้นๆ ออกมา แล้วให้ช่างกระทำรูปอสูร กุมภัณฑ์ คนธรรพ์ คนธัพ ธานพ ฤๅษี สิทธ วิทชาธร กินร นาค สุบัณ ทั้งหลายรายเรียงโดยระยะเขาสัตภัณฑคีรีย แล้วให้กระทำรูปสมเดจ์อำมรินราธิราชสถิตยอดเขาพระสุเมรุราชเปนประธาน...จึ่งให้ทวิชาจารย์แต่งกายเปน...รูปเทพยุเจ้าทังงสิบสองราษรีแวดล้อมสมเดจ์อำมรินทราธิราชโดยอันดับศักติเทวราช...แลเชีงเขาสัตภัณฑ์ทั้งแปดทิศนั้น กระทำรูปช้างอัฐคชยืนเปนอาทิ...แลหว่างช้างอัฐคชนั้นก็วางอัศวราชแปดหมู” กล่าวได้ว่าพิธีดังกล่าวอาจเป็นแบบอย่างการสร้างพระเมรุมาจนถึงในช่วงรัตนโกสินทร์กับสมัยรัชกาลที่ ๕ และมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพระเมรุทองในงานพระเมรุของสมเด็จพระเพทราชมีรูปทรงอย่างใดไม่ปรากฏ เพราะถูกซ้อนให้อยู่ภายในพระเมรุใหญ่ที่อยู่ภายนอก อาจจะเป็นไปได้ที่มีรูปร่างแบบบุษบกที่ไว้สำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตรย์เท่านั้น (สำหรับคนที่ไม่เข้าใจว่าบุษบกเป็นอย่างไรมีภาพประกอบอยู่ด้านล่าง) พระเมรุยอดปรางค์มีลักษณะเป็นทรงมณฑปย่อมุมไม้สิบสอง มีมุขทั้ง ๔ ด้าน มีการล้อมรอบพระเมรุด้วยราชวัตร (รั้วมณฑลพิธี มีทั้งหมดสี่มุม ส่วนมากจะเห็นภายในวัด) โดยเป็นราชวัตรทึบคือไม่มีช่องโปร่ง ในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมบรรยายไว้ว่า
พระเมรุมาศทรงบุษบกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเข้าใจว่าพระเมรุทองของสมเด็จพระเพทราชาคงคล้ายเเบบเดียวกัน
“รอบฐานปูนภายนอกพระเมรุตามมุมระหว่างมุขทั้งสี่ มีซุ้มมณฑปกินนรและเทพยดามุมละสองซุ้ม ตามชานพระเมรุตีแตะเรือกไม้ไผ่ รอบพระเมรุที่สุดชานเรือกพระเมรุ มีราชวัติทึบแผงเขียนเรื่องรามเกียรต์ แล้วปักฉัตร์ทองนาคเงินอย่างและเก้าชั้น ปักรายไปตามราชวัติทึบรอบพระเมรุ”
ซึ่งมีสิ่งปลีกย่อยอยู่อีกมากแต่ทางผู้เขียนขอไม่กล่าวถึงส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับองค์ประกอบหลักของอาคารและอาคารรายรอบเป็นหลัก มีสิ่งปลูกสร้างภายนอกราชวัตร เช่น โรงรำ ซึ่งจะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่เอาไว้สำหรับการแสดงไม่ได้หมายความว่าเอาไว้รำอย่างเดียว เช่น หุ่นละคร งิ้ว ในคำให้การของขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมกล่าวว่า “แลมีโขน หุ่น งิ้ว ละคร สิ่งละสองโรง ละครชาตรี เทพทอง มอญรำ เพลงปรบไก่ เสภาเล่านิยายอย่างละโรง” ส่วนสิ่งปลูกสร้างอีกอย่างหนึ่งคือระทา ระทานั้นสำหรับหลายๆ คนที่ไม่รู้จัก อาจจะมีลักษณะคล้ายๆ กับประภาคารขนาดสูงใหญ่ และมีการจุดดอกไม้ไฟขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้แสงสว่างในเวลากลางคืนโดยเฉพาะสำหรับชาวกรุงที่มาดูการแสดง โดยจะอยู่สลับกับโรงรำ ระทาในงานพระเมรุสมเด็จพระเพทราชาล้วนแล้วแต่เป็นยอดมณฑปทั้งสิ้น
ส่วนมหรสพการแสดงต่างๆ ในงานพระเมรุสมเด็จพระเพทราชานั้น การแสดงต่างๆ ถูกเรียกว่ากายกรรม แต่ในสมัยโบราญเรียกว่าไม้สูง – ญวนหก มีการแสดงชนิดต่างๆ มากมาย เช่น ไต่ลวดรำแพน ไต่ลวด ลอดบ่วง ปีนดาบ ซึ่งเป็นการแสดงที่ค่อนข้างหวาดเสียวแต่เป็นการแสดงที่รื่นเริงและท้าทาย เป็นสิ่งที่ชาวอยุธยาและพระเจ้าแผ่นดินโปรดปรานมาก โดยในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้กล่าวในบันทึกของซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) ว่า “การเล่นไม้สูงของชาวสยามนับได้ว่าดีมากทีเดียว และราชสำนักสยามมักจัดให้มีการแสดงถวายทอดพระเนตรเสมอ ยามที่เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับอยู่ ณ เมืองละโว้” ซึ่งหากเป็นที่โปรดปรานก็มักจะทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางชั้นสูงในราชสำนักเลยทีเดียว
ราชรถ
ราชรถในสมัยกรุงศรีอยุธยาจากภาพมีอยู่ ๓ คัน เรียกว่า “พระพิชัยราชรถ” ซึ่งได้แก่พระพิชัยราชรถอ่านหนังสือสำหรับสมเด็จพระสังฆราช พระพิชัยราชรถปรายข้าวตอก พระพิชัยราชรถโยง โดยพระพิชัยราชรถแต่ละคันมีอยู่เพียง ๒ ล้อ ไม่ได้มี ๔ ล้อเหมือนอย่างสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในภาพมีอยู่หลายๆ สิ่งที่ดูเหนือความเป็นจริงเช่นราชรถที่เทียมด้วยสิงห์ ซึ่งจากหลักฐานในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่กล่าวถึงงานพระเมรุของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศและสมเด็จพระพันวัสสาบอกว่าเป็นม้า คือกล่าวว่า “แล้วจึงเชิญพระมหาพิชัยราชรถทั้งสองเข้ามาเทียบแล้ว จึ่งเชิญพระโกฏิทองทั้งสองนั้น ขึ้นสู่พระราชรถทั้งสอง แล้วจึ่งเทียมด้วยม้า ๔ คู่ ม้านั้นผูกประกอบรูปราชสีห์กรวมตัวม้าลงให้งาม แล้วจึ่งมีนายสารถีขับรถ แต่งตัวอย่างเทวดาข้างละ ๔ คน” เพราะฉะนั้นจึงเป็นม้าแต่นำมาแต่งตัวให้เป็นสิงห์ นอกจากนี้ยังมีการพบเกี่ยวกับภาพวาดกระบวนเชิญพระบรมอัฐิ และพระสรีรังคาร ซึ่งเป็นของเจ้านายพระองค์ใดไม่ทราบ ก็ปรากฏว่ามีการใช้สิงห์เทียมราชรถ ราชยาน ซึ่งทำให้หลักฐานจากภาพจิตรกรรมภาพกระบวนเชิญพระบรมศพสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. ๒๒๓๑ -๒๒๔๖) ไปยังพระเมรุมาศ หรือในจดหมายของ Aernout Cleur เจ้าหน้าที่ของสหบริษัทอินเดียตะวันออกแห่งเนเธอแลนด์ (VOC) นั้น พอมีความเป็นจริง ซึ่งราชสีห์เป็นสัตว์พาหนาประจำพระยม จึงเป็นการอัญเชิญไปสู่ปรโลก
พระมหาพิชัยราชรถกฤษฎาธารเป็นราชรถที่เอาไว้สำหรับอัญเชิญพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ ภายในภาพมีบุษบกซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพของพระเพทราชา และจากภาพชุดเดียวกันก็มีผู้ที่กำลังถวายบังคมพระบรมศพ ซึ่งศาสตราจารย์ Barend J. Terwiel ให้ความเห็นว่าคือสมเด็จพระเจ้าเสือ โดยมีความเป็นไปได้ที่ราชรถของกรุงศรีอยุธยานั้นมีขนาดเล็กกว่าของกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีเกรินถึง ๓ ชั้น
พระมหาพิชัยราชรถกฤษฎาธารอัญเชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพ กำลังถวายบังคมอยู่ เข้าใจว่าเป็นสมเด็จพระเจ้าเสือ
รายการอ้างอิงและเรียบเรียงเนื้อหาบางส่วน
หนังสือ “เสด็จสู่แดนสรวง ศิลปะ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ” โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มิวเซียมสยาม (๑๓.ข้อวินิจฉัยเกี่ยวกับภาพงานพระเมรุสมเด็จพระเพทราชาที่ค้นพบใหม่,ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิชญา สุ่มจินดา)
คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง. 2555. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
“สิงห์เทียมราชรถในงานพระบรมศพสมเด็จพระเพทราชา ‘แฟนซี’ หรือ ‘มีจริง’ ” -
https://www.silpa-mag.com/history/article_6340
วิพากษ์ประวัติศาสตร์,ภาพลายเส้นงานพระเมรุสมเด็จพระเพทราชา -
https://mobile.facebook.com/story.php?story_fbid=1066828386713964&substory_index=0&id=1046096062120530&_rdc=1&_rdr
Terwiel, Barend J. 2016. “Two Scrolls Depicting Phra Petrachs’s Funeral Procession in 1704 and the Riddle of their Creation.” Journal of the Siam Society (Vol.14): 79 – 94
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย