30 ธ.ค. 2021 เวลา 15:19 • ไลฟ์สไตล์
🤏 ทำไมผมถึงเก็บเศษสตางค์ 50 สตางค์ ทุกครั้งที่เจอหล่นตามท้องถนน
เศษสตางค์มีค่ากว่าที่คาดคิด
โดยทั่วไปเวลาที่เราเจอเศษสตางค์หรือธนบัตรหล่นตามท้องถนน และสถานที่อื่น ๆ
เราอาจจะตัดสินใจเก็บหรือไม่เก็บ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ซึ่งเท่าที่ผมลองประมวลดู มีตั้งแต่
 
🌎 - ไม่เก็บ และรู้สึกเฉย ๆ หากเป็นเศษสตางค์ เพียง 50 สตางค์ หรือ 1 บาท เพราะมีมูลค่าค่อนข้างน้อย
เหรียญ 1 บาท
🌍 - เก็บหรือไม่เก็บดี หากเป็นเศษสตางค์ 2 บาท 5 บาท หรือ 10 บาท
ซึ่งกรณีเหรียญ 2 บาท อาจจะเป็นไปได้ทั้ง เก็บหรือไม่เก็บ ขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคล
เหรียญ 2 บาท
ที่แปรผันไปตามเพศ วัย และการตีมูลค่าเงินจำนวน 2 บาท อาทิ
ถ้าเป็นเพศหญิงที่ยึดถือเรื่องความสะอาดเป็นที่ตั้ง อาจจะไม่เก็บ ในขณะที่เพศชายอาจจะเก็บ
แต่ถ้าเหรียญนั้นเป็นเหรียญ 5 บาท หรือ 10 บาท มีแนวโน้มที่ทุกคนจะเก็บ และอาจมีความรู้สึกเหมือนมีโชคนิด ๆ ปนอยู่ด้วย
โดยเฉพาะถ้าเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ เพราะพอมีมูลค่านำไปใช้ซื้ออะไรได้อยู่บ้าง
เหรียญ 5 บาท
ในขณะที่บางท่าน อาจเก็บมาแล้วเลือกที่จะหย่อนเหรียญลงในตู้รับบริจาคทั้งเพื่อการศาสนาและกิจกรรมเพื่อสาธารณะ
🌏 - เก็บค่อนข้างแน่ หากเจอแบงค์ 20 บาท 50 บาท 100 บาท 500 บาท หรือ 1,000 บาท ตามมาด้วยอาการดีใจปนตกใจ เพราะมีมูลค่าค่อนข้างสูง
โดยความรู้สึกดีใจ อาจเกิดขึ้นชั่วขณะแล้วตามมาด้วยการคิดหาวิธีที่จะคืนให้เจ้าของที่ทำหล่น
เพราะคำนึงถึงความรู้สึกของคนที่ทำหล่นหายซึ่งย่อมจะเสียดายเป็นธรรมดา
โดยแบงค์ 20 บาท อาจจะมีดีกรีของความรู้สึกน้อยกว่าแบงค์อื่น ๆ
ทั้งนี้ การคิดหาวิธีที่จะคืนให้เจ้าของขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมบริเวณนั้น
ย่านร้านค้าและตลาดมีโอกาสทำเงินหล่นได้ง่าย
ถ้าเป็นย่านร้านค้าริมทาง อาจจะใช้วิธีถามหาคนที่กำลังซื้อของบริเวณนั้น
ซึ่งอาจควักเงินแล้วทำหล่น เป็นต้น
แต่ถ้าถามหาแล้วไม่เจอ การจัดการกับเงินที่มีมูลค่าพอสมควร เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละบุคคล
นำไปทำบุญ&บำรุงห้องน้ำ
ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับผมมานานเกินกว่า 20 ปีมาแล้ว
ที่เจอเงิน จำนวน 400 บาท ลักษณะพับครึ่งอยู่รวมกัน ในช่วงเวลาสาย ๆ ประมาณ 10.00 -11.00 น.
ตกหล่นอยู่บนถนนทางเท้าที่เป็นทางเชื่อมด้านหน้าระหว่างโรงพยาบาลนนทเวชกับห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน
ความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้น คือ ตกใจ เพราะเป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างมาก และมองหาวิธีที่จะคืนให้เจ้าของเงิน
ซึ่งก็เป็นไปได้ยาก เพราะช่วงเวลาที่เจอ เป็นช่วงที่ผมเดินมาคนเดียว
จึงยากที่จะรู้ว่า หล่นเมื่อใด และใครน่าจะเป็นเจ้าของ
 
ผมจึงใช้วิธียืนอยู่บริเวณนั้นสักครู่หนึ่งก่อนที่จะไปทำธุระอื่นต่อ
แต่ก็ไม่พบว่า มีใครมาเดินหาเงินที่ทำหล่นไว้
วันรุ่งขึ้นผมมีกิจกรรมไปทำบุญร่วมกับเพื่อน ๆ แถบ จ.นครราชสีมา จึงตัดสินใจนำเงิน 400 บาท
หย่อนลงในตู้บริจาคสมทบทุนซื้อโต๊ะและเก้าอี้ให้นักเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่ง (จำชื่อไม่ได้) ในพื้นที่นั้น
ปัจจุบันการบริจาคมีหลายทางเลือกและเข้าถึงได้ง่าย
พร้อมอุทิศผลบุญให้กับเจ้าของเงินที่ทำเงินหล่นหายไปด้วยแล้ว (หากเจ้าของเงินมาอ่านเจอพอดี ขอถือโอกาสร่วมอนุโมทนาบุญไปด้วยกันนะครับ )
✍ ผมเขียนปูพื้นให้เห็นภาพการจัดการต่อเงินที่เจอหล่นมาหลายย่อหน้า โดยที่ยังไม่เข้าเรื่องสักที (ฮา) 😀
จึงขอย้อนกลับเข้าสู่เรื่องตามหัวข้อที่โปรยหัวไว้ว่า...
"ทำไมผมถึงเก็บเศษสตางค์ 50 สตางค์ ทุกครั้งที่เจอหล่นตามท้องถนน"
เศษ 50 สต. ที่มิอาจมองข้าม
👉 เหตุผลสำคัญ คือ เพราะมีเรื่องชวนให้เตือนความทรงจำถึงคุณค่าของเงิน 50 สตางค์ 3-4 เรื่อง ครับ
🙂 1. เรื่องแรก เศษ 50 สตางค์ คือ ค่าขนมกลางวันที่ผมได้รับจากแม่ทุกวัน หลังจากกินข้าวมื้อกลางวันที่บ้านเสร็จเรียบร้อย
ก่อนไปเรียนหนังสือต่อช่วงบ่าย เพราะบ้านผมอยู่ด้านหลังของโรงเรียนชั้นประถมศึกษา(วัดปรมัย
ยิกาวาส)
1
ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ดจ.นนทบุรี
ร.ร.วัดปรมัยฯ ช่วงน้ำท่วม
ถ้าวันไหนไม่ใช้สตางค์ซื้อขนมกินมื้อกลางวัน ที่มักจะซื้อไอติมแท่งไม้
ก็จะเก็บไว้ซื้อของกินที่หน้าโรงเรียนตอนเย็นหลังเลิกเรียน เช่น ถั่วต้ม และเส้นหมี่ผัดซีอิ๊ว
คุณค่าของเศษ 50 สตางค์ ในยุคประมาณ 50 ปีที่แล้ว จึงมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาส
ให้ได้ลิ้มรสชาติอาหารนอกบ้านได้หลายอย่าง ทั้งคาว หวาน และของกินเล่น
ขนมปังใส่ไอศครีม ปี 2518 ราคาประมาณ 1.50 บาท
😊 2. เรื่องที่สอง เศษ 50 สตางค์ อาจมีมูลค่าไม่พอค่าอาหารมื้อกลางวันของนักเรียนในโรงเรียนบางแห่ง เมื่อ 60-70 ปีที่แล้ว
แต่เพียงพอใช้ซื้อของกินอย่างอื่น เช่น กล้วยทอด และมันทอด ให้อิ่มท้องแทนข้าวราดแกงได้อยู่บ้าง
เพื่อให้มีกำลังพอที่จะเรียนต่อในภาคบ่าย
ยุคนั้นข้าวมันไก่ ข้าวราดปลาดุกทอดผัดเผ็ด กะเพราหมูสับ ยังไม่แพร่หลายนัก
ซึ่งเรื่องแนวนี้ ตอนเรียนชั้นมัธยมต้น ราว ๆ ปี 2518-2519 คุณครูท่านหนึ่ง เคยเล่าให้นักเรียนฟังและคิดตามไปด้วยว่า
สมัยที่ท่านเดินทางจากพัทลุงเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ โดยเป็นเด็กวัดอาศัยอยู่กับพระ
จะได้รับเงินมาเรียน วันละ 50 สตางค์ ซึ่งไม่พอค่าข้าวกลางวัน ท่านจึงแก้ปัญหาโดยซื้อกล้วยทอด และมันทอด ในราคา 50 สตางค์กินแทน
กล้วยทอด แทนข้าวราดแกง
แล้วดื่มน้ำตามจากก๊อกน้ำในโรงเรียนที่ใช้วิธีดื่มโดยใช้ปากรองแทนแก้วเพื่อให้อิ่มท้อง
คุณค่าของเงิน 50 สตางค์ จึงมีความหมายสำคัญช่วยเติมพลังกาย เพื่อให้ใจเกิดพลังสมาธิที่จะเรียนหนังสือต่อได้
ในท่วงทำนอง ท้องอิ่ม ใจเป็นสุข หรือกองทัพต้องเดินด้วยท้อง
คนไทยเชื้อสายจีนเล่าว่า เมื่อ 70-80 ปีที่แล้ว ก๋วยเตี๋ยวหมูแถบสำเพ็งราคาชามละ 3-5 สตางค์
😗 3. เรื่องที่สาม เศษ 50 สตางค์ คือ มูลค่าเทียบเท่าค่าเรือข้ามฟากเกาะเกร็ด 1 เที่ยว(ขาไปหรือขากลับ)
ระหว่างท่าเรือวัดปรมัยยิ กาวาสและวัดสนามเหนือ ในยุคประมาณ 40-50 ปีที่แล้ว
โดยก่อนหน้านั้น เคยใช้เรือแจว เก็บเที่ยวละ 25 สตางค์ (ปัจจุบันเก็บเที่ยวละ 3 บาท)
ในช่วงเวลาที่ผมเรียนหนังสือระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย รวมถึงมหาวิทยาลัย
ซึ่งต้องนั่งเรือข้ามฟากจากเกาะเกร็ดมาเรียนหนังสือต่อในเขต อ.ปากเกร็ด อ.เมือง จ.นนทบุรี และกรุงเทพฯ
เรือข้ามฟากเกาะเกร็ดปัจจุบัน
การเผื่อสตางค์เหลือไว้เป็นค่าเรือขากลับ 50 สตางค์ จึงเป็นเรื่องที่ต้องมองเผื่อไว้เสมอ
บางวันสตางค์หมดเกลี้ยงกระเป๋า ถ้าโชคดีมีผู้ใหญ่ใจดีที่รู้จัก เห็นหน้า ออกค่าเรือให้ ก็รอดไป
แต่ถ้าไม่มี ก็ต้องคิดหาวิธีแก้ปัญหา เช่น ให้เพื่อนช่วยออกให้ หรือใช้วิธีบอกคนเก็บค่าเรือ ขอแปะไว้ก่อน แล้วจะมาให้ในวันรุ่งขึ้น
หรือนำมาให้ภายในวันนั้น หากจะต้องเดินทางกลับมาที่ท่าเรืออีกครั้ง
เพื่อข้ามฟากไปทำธุระอื่น ๆ เช่น ซื้อกับข้าวหรืออุปกรณ์การเรียนที่ตลาดปากเกร็ด
คุณค่าของเงิน 50 สตางค์ จึงมีความหมายสำคัญใช้เป็นค่าเดินทางข้ามฟากกลับบ้านเกาะเกร็ดในยุคนั้น
🥰 4. เรื่องที่สี่ เศษ 50 สตางค์ คือ มูลค่าส่วนหนึ่งของค่าโดยสารรถเมล์ประจำทาง สาย 104 (วิ่งจาก หัวถนนปากเกร็ด - อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ)
โดยเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว คิดในอัตรา 2.50 บาท/เที่ยว
เพราะฉะนั้น การมีสตางค์เพียง 2 บาท จึงไม่สามารถขึ้นรถเมล์สายนี้ จากอนุสาวรีย์ชัยฯ มายังปากเกร็ดได้
หากขาดเศษสตางค์ไปเพียง 50 สตางค์
ทั้งนี้ บทเรียนสำคัญที่ทำให้ผมรู้ซึ้งถึงคุณค่าของเศษสตางค์ 50 สตางค์ ที่ใช้เป็นค่ารถเมล์ได้
เกิดขึ้นกับผม เมื่อราว ๆ ปี 2525 สมัยที่ยังเรียนชั้นปริญญาตรี
วันนั้นหลังเลิกเรียน ผมเล่นฟุตบอลสนามเล็ก(โกลหนู) กับเพื่อน ๆ
จนถึงเวลาเกือบค่ำ ๆ จึงเลิกเล่น แล้วไปกินน้ำเต้าฮวยร้อน/เย็น กันต่อ
หลังเฉลี่ยค่าใช้จ่ายเสร็จ ต่างแยกย้ายกันกลับบ้าน
ผมนั่งรถเมล์มาลงที่อนุสาวรีย์ชัยฯ เพื่อขึ้นรถเมล์สาย 104 จากต้นทางอนุสาวรีย์ชัยฯ มายังปากเกร็ด
พอเดินขึ้นมาที่รถเมล์สาย 104 ผมเตรียมควักสตางค์ในกระเป๋ากางเกง ทั้งซ้าย ทั้งขวา และกระเป๋าหลัง
นับรวมกันแล้วก็มีเพียง 2 บาท ไม่พอจ่ายค่ารถ
ในขณะที่กระเป๋ารถหรือพนักงานเก็บค่าโดยสารก็เดินใกล้เข้ามาทุกที
กระบอกเก็บค่าโดยสาร
เพื่อเก็บสตางค์และฉีกตั๋วรถให้กับผู้โดยสาร
ทำให้ใจของผมเริ่มเต้นราวกับผิดจังหวะไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด
พอรวบรวมสติได้ ผมใช้วิธีเดินไปพูดเบา ๆ กับพี่ที่เก็บสตางค์ว่า...
"ผมมีเงินเพียง 2 บาท ผมจ่ายเงินให้ แต่ไม่รับตั๋วรถได้หรือไม่ ครับ
คำตอบที่ผมได้รับกลับตรงกันข้ามกับที่คาดคิดไว้อย่างสิ้นเชิง
พี่ผู้เก็บค่าโดยสารคืนเงิน 2 บาท มาให้ผม แล้วบอกผมด้วยใจที่เอื้ออาทรว่า
"น้องเข้าไปนั่งที่เก้าอี้ยาวท้ายรถ ด้านในสุดเลย"
ผมทำตามพี่อย่างดีใจโดยทันที และจากวันนั้นถึงวันนี้
...น้ำใจของพี่คนนั้นยังคงประทับอยู่ในใจของผมมาตลอดเวลาจนถึงทุกวันนี้...
แม้ผมจะไม่มีโอกาสตอบแทนน้ำใจพี่
อย่างไรก็ดี ผมรู้สึกสบายใจไปเพียงขั้นต้น แต่ระหว่างทางที่นั่งรถมาก็ยังเกิดอาการหวั่นเกรงอยู่ในทีว่า
ถ้านายตรวจรถเมล์ขึ้นมาตรวจขอดูตั๋วค่าโดยสารแล้วเราไม่มี จะแก้ปัญหาอย่างไร ?
ในจังหวะที่รถเมล์วิ่งมาถึงป้ายรถเมล์หน้าสถานีรถหมอชิตในยุคนั้น
เผอิญมีพระภิกษุรูปหนึ่งขึ้นรถเมล์ขึ้นมาพอดี แล้วคนที่นั่งติดกับผม เสียสละที่นั่งให้นั่ง ทำให้พระภิกษุรูปนั้นนั่งชิดติดกับผมแทน
เมื่อนายตรวจรถเมล์ขึ้นมาบนรถที่ป้ายสามแยกเกษตรหรือเซ็นทรัลพลาซ่า (จำไม่ได้แน่ชัด)
เพื่อตรวจตั๋วค่าโดยสาร พอเห็นพระนั่งอยู่ติดกับที่นั่งผม ก็ไม่ได้เรียกขอดูตั๋วจากผมแต่อย่างใด
จึงเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจริงกับผมครั้งหนึ่งในชีวิต....พระช่วยจริง ๆ ครับ (ช่วยคนผิดเช่นผมด้วย (ฮา))
อานิสงส์จากการทำบุญ มีหลายประการ
บทเรียนดังกล่าวที่ยกมาเป็นตัวอย่าง 4 เรื่อง
จึงทำให้ผมไม่ลืมที่จะ(ต้อง)เก็บเหรียญ 50 สตางค์ ที่เจอะเจอหล่นบนถนนหรือสถานที่ต่าง ๆ
นอกจากเพื่อระลึกและเตือนความทรงจำแล้ว ยังเผื่อเหนียวไว้ว่า
หากสตางค์ขาดไปเพียง 50 สตางค์
โดยไม่มีบัตรเอทีเอ็ม หรือโทรศัพท์มือถือที่มีแอพ การจ่ายเงินติดตัวไป
หรือเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นแทนการใช้เงิน ตามนวัตกรรมทางการเงิน
เราอาจซื้อของบางประเภทไม่ได้ หากมีเงินเพียง 9.50 บาท เช่น ปาท่องโก๋ ที่มักจะต้องซื้อในราคาเริ่มต้น 10 บาท
ยกเว้นจะกล้าต่อรองพูดแบบทีเล่นทีจริงว่า
เงินมีเท่านี้พอดี ครับ (เค็มจริง ๆ (ฮา)) แล้วคนขายก็ใจนักเลงพอและเข้าใจว่า
เรื่องแบบนี้อาจเกิดขึ้นได้ ก็รอดไป แต่อย่าใช้มุขนี้บ่อยครั้งนะครับ (ฮา) เพราะผมเองก็ใช้ไปเพียงครั้งเดียวเท่านั้น (ฮา ฮา)
นอกจากนี้ หากขาดสตางค์ไปเพียง 50 สตางค์ จะไม่สามารถซื้อนมบางประเภทในร้านสะดวกซื้อที่ตั้งราคาแบบมีเศษ 50 สตางค์ไว้ด้วย
ยกเว้นจะเจอพนักงานบางคนที่ใจถึง และพอคุ้นหน้าคุ้นตากันกับเราที่ซื้อเป็นประจำอยู่บ้าง
จึงยอมให้เราซื้อได้ แล้วค่อยเอาเศษ 50 สตางค์มาให้ในวันหลัง
ซึ่งผมก็เจอแล้ว และใช้มุขนี้ไปครั้งเดียวเช่นกัน
แต่ผมกลับมาใช้เงิน 50 สตางค์ พร้อมหมูปิ้งและข้าวเหนียว 1 ชุด เกินมูลค่า 50 สตางค์ ตอบแทนน้ำใจน้องครับ
หมูปิ้ง&ปาท่องโก๋ ช่วยรักษาคุณค่าของเงิน 10 บาท
เห็นหรือไม่ครับว่า เศษเงิน 50 สตางค์ ช่างมีคุณค่าเกินค่าที่เราตีค่าและคาดหวังไว้
ดังนั้น อย่าลืมเริ่มต้นเก็บเศษสตางค์ 50 สตางค์ ที่ตกหล่นตามถนนหนทาง และสถานที่ต่าง ๆ
หรือมีเศษสตางค์ 50 สตางค์ ติดตัวไว้ ตั้งแต่เริ่มต้นวันแรกของปี 2565 นะครับ
เพราะมีทั้งคุณค่าจริงและคุณค่าแอบแฝงอยู่ในเหรียญนั้น ครับ
🙏ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านมากนะครับที่ติดตามอ่านตั้งแต่เริ่มเขียนในโพสต์แรกเมื่อต้นปี 2021
จนถึงโพสต์สุดท้ายของปี รวม 21 โพสต์ เท่ากับเลขท้ายของปี 2021 พอดี
มุมชัย นัยสอิ้ง
30 ธ.ค.64
โฆษณา