26 ก.ค. 2021 เวลา 07:56 • สิ่งแวดล้อม
26 ก.ค. วันสากลเพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายเลน
ป่าชายเลนที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ ซันดาร์บานส์ ปากแม่น้ำคงคา ระหว่างประเทศอินเดียกับบังกลาเทศ มีเนื้อที่ 10,000 ตารางกิโลเมตร (3,900 ตารางไมล์) ระบบนิเวศที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของซุนดาบันส์ ทำให้ถูกประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติโดยยูเนสโก ในปี 2530
ป่าชายเลนซุนดาบันส์
ป่าชายเลนซุนดาบันส์ มีลักษณะคล้ายเขาวงกต มีสีของเนื้อดินละเอียดสวยงาม มีสัตว์ป่าหลากหลายสายพันธุ์หายาก เช่น งูเหลือมอินเดีย โลมาอิรวดี เสือเบงกอล
แต่ที่อยู่อาศัยของสัตว์เหล่านี้ อยู่ภายใต้การคุกคามทางธรรมชาติ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นกำลังกลืนกินพื้นที่ในป่า ขณะที่ความเค็มของน้ำที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นอันตรายต่อพืชและสิ่งมีชีวิตในทะเล
ภายใต้ความเครียดจากการสูญเสียที่ดิน ผู้คนเอง ก็พยายามรุกล้ำที่อยู่อาศัยของสัตว์ ด้วยการตัดต้นไม้ เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับทำเกษตร และยังมีการรุกเข้าไปล่าสัตว์อย่างต่อเนื่อง จนจำนวนเสือในซุนดาบันส์ และจำนวนประชากรสัตว์อื่นๆลดลงเรื่อยๆ
นักอนุรักษ์และรัฐบาล กำลังดำเนินการเพื่ออนุรักษ์ซุนดาบันส์และสัตว์ป่า ภายใต้เจตนารมย์ “ต้องทำทุกอย่างเท่าที่สามารถทำได้ เพื่อช่วยประชากรสัตว์ที่เหลืออยู่ และช่วยให้ผู้คนรวมถึงเสืออยู่ร่วมกันได้”
ราคีบู อามิน ผู้อำนวยการของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติของบังกลาเทศ กล่าวว่า “เสือเบงกอล คือสัญลักษณ์ประจำบังกลาเทศ”
สำหรับประเทศไทย หากพูดถึงจังหวัดที่มีป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์ที่สุด คงต้องยกให้จังหวัดระนอง พื้นที่ป่าชายเลนในระนอง ยังจัดอยู่ใน "พื้นที่สงวนชีวมณฑล" 1 ใน 4 แห่งของไทย เพราะเป็นพื้นที่อนุรักษ์สังคมพืชและสัตว์ในสภาวะของระบบนิเวศที่เป็นธรรมชาติ เพื่อรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรม
ป่าชายเลนระนอง
ป่าชายเลนในระนอง ยังได้รับการประกาศเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลโลก โดยองค์การยูเนสโก เมื่อปี 2540 จากคุณสมบัติที่โดดเด่น เป็นป่าชายเลนสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทยและอาเชียน ที่มีพืชพันธุ์และสัตว์หายาก
ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พยายามเสนอป่าชายเลน จ.ระนอง พื้นที่รวมประมาณ 782,000 ไร่ เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ หากสำเร็จ พื้นที่ดังกล่าวจะเป็นมรดกโลกลำดับที่ 6 ของไทย เป็นป่าชายเลนแห่งแรกของประเทศ ที่ถูกประกาศให้เป็นมรดกโลก
โฆษณา