30 ก.ค. 2021 เวลา 15:37 • ประวัติศาสตร์
ภาพนี้มีเรื่องเล่า ตอน มาสคอตโอลิมปิก ฑูตแห่งเกมส์กีฬา ตอนที่ 1 1970s-1990s
ในขณะที่ทุกคนกำลังสนุกสนาน และดีใจกับน้องเทนนิส ที่สามารถคว้าเหรียญทองเหรียญแรกให้กับประเทศไทยได้ที่มหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว หลายคนอาจจะเห็นมาสคอตรูปหุ่นยนต์สีฟ้ากับสีชมพูสองตัว ตามการถ่ายทอดสดต่าง ๆ นะครับ
แต่รู้หรือไม่ว่าจริง ๆ แล้วมาสคอตโอลิมปิก ถือเป็นส่วนสำคัญของการแข่งขัน เพราะมาสคอตคือตัวแทนของประเทศ ที่จะคอยต้อนรับเหล่าทัพนักกีฬาและผู้มาเยือนทุกคน
มาสคอตของกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2020 (Source: tokyo2020.org)
แน่นอนว่าในการแข่งขันแต่ละครั้งย่อมจะต้องมีมาสคอตที่แตกต่างกันไปตามประเทศเจ้าภาพ หลายครั้งเป็นรูปสัตว์ แต่บางครั้งก็เป็นสิ่งของอย่างอื่นที่อาจจะมีความสำคัญต่อประเทศเจ้าภาพ ในบางปีมาสคอตก็เป็นที่นิยม และได้รับความชื่นชมไปทั่วโลก ทั้งยังสร้างเงินรายได้มหาศาลให้กับเจ้าภาพ ในขณะที่ในบางปี มาสคอตก็ "แป้ก" เพราะการออกแบบที่อาจจะไม่ถูกใจใครหลาย ๆ คน วันนี้ Kang’s Journal ขอเกาะกระแสโอลิมปิก พาทุกคนไปชมมาสคอตของมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติในแต่ละปีกันครับ
เหล่าบรรดามาสคอตโอลิมปิกใครั้งที่ผ่าน ๆ มา (Source: ringer.com)
มาสคอตคืออะไร
ก่อนที่จะไปฟังเรื่องราวของมาสคอตแต่ละตัวนั้น ขอกล่าวถึงประวัติของมาสคอตก่อน จริง ๆ แล้วมาสคอตถูกนำมาใช้เพื่อโปรโมทกีฬาโอลิมปิกให้กับเด็กและเยาวชน โดยมีการบันทึกถึงมาสคอตตัวแรกของกีฬาโอลิมปิกในปี 1932 ที่จัดขึ้นที่ลอส แองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา และหลังจากนั้นในการแข่งขันแต่ละครั้ง ก็มักจะมีมาสคอตมาโดยตลอด เพียงแต่ส่วนมากจะเป็นมาสคอตแบบไม่เป็นทางการ
มาสคอตอย่างเป็นทางการของกีฬาโอลิมปิกครั้งแรก ถือกำเนิดขึ้นในปี 1972 ทีมิวนิค ประเทศเยอรมัน หลังจากนั้นเป็นต้นมา เหล่าบรรดาศิลปิน สถาปนิก และนักออกแบบทั่วโลกต่างก็แข่งขันกันออกแบบมาสคอต เพื่อให้ได้มาสคอตที่จะโดนใจคนทั่วโลก
เราลองมาเดินทางย้อนเวลาอดีตถึงปัจจุบันกันดีกว่า ว่ามาสคอตแต่ละตัวมีที่มาที่ไป และมีความน่ารักยังไงบ้าง
1932
โอลิมปิกฤดุร้อนที่ลอส แองเจลิส
มาสคอตของการแข่งขันในครั้งนี้ เป็นมาสคอตที่ไม่เหมือนใคร และน่าจะมีเอกลักษณ์มากที่สุดก็ว่าได้ เพราะน้องเป็นสัตว์ที่มีชีวิตจริง ๆ
สัตว์ผู้โชคดีตัวนั้นคือสุนัขพันธุ์ Scottish Terrier ซึ่งเป็นสุนัขที่เกิดในหมู่บ้านนักกีฬาวันแรกที่มีการตอกเสาเข็มกันเลยทีเดียว ความน่ารักและขี้เล่นของมัน ทำให้เหล่าบรรดานักกีฬารักและเอ็นดูมันมาก และตั้งชื่อให้มันว่า “Smoky” และเจ้าสุนัขตัวนี้ก็ได้กลายมาเป็นมาสคอตตัวแรกของกีฬาโอลิมปิกอย่างเป็นทางการ และเป็นมาสคอตตัวเดียวที่มีชีวิตจริง ๆ
Smoky สุนัขที่เป็นมาสคอตโอลิมปิกตัวแรกอย่างเป็นทางการ (Source: Pinterest)
เป็นที่น่าเสียดายที่ 2 ปีต่อมา เจ้า Smoky ถูกรถชนเสียชีวิตไป
1972
โอลิมปิกฤดูร้อนที่มิวนิค
มาถึงมาสคอตที่ไม่มีชีวิตอย่างเป็นทางการตัวแรกของกีฬาโอลิมปิกกันบ้าง มาสคอตตัวนี้มีชื่อว่า Waldi เป็นสุนัขพันธุ์ Dachshund หรือที่เรารู้จักกันในนาม “หมาไส้กรอก” นั่นเอง สุนัขชนิดนี้เป็นสุนัขที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพ และเป็นสุนัขที่มีชื่อในเรื่องของความอดทน ความคล่องตัว และความมุมานะ โดยผู้ออกแบบเจ้า Waldi คือผู้ออกแบบโลโก้ของสายการบินลุฟท์ฮันซ่า สายการบินแห่งชาติของเยอรมันนั่นเอง
Waldi มาสคอตของกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1972 (Source: Pinterest)
Waldi มีหัวและหางสีฟ้าอ่อน ตรงลำตัวจะแบ่งออกเป็นปล้อง ๆ และมีสีที่หลากหลาย โดยจะมีสีอย่างน้อย 3 จาก 6 สีของสีทางการของกีฬาโอลิมปิก ยกเว้นสีแดงเนื่องจากว่าสีแดง มีความเกี่ยวข้องกับพรรคนาซี เพราะหนึ่งในจุดประสงค์ของการจัดโอลิมปิกครั้งนี้ คือทางเยอรมันต้องการลบภาพของการจัดการแข่งขันในปี 1936 ที่กรุงเบอร์ลิน ซึ่งเป็นการจัดเพื่อโปรโมทความยิ่งใหญ่ของพรรคนาซีเยอรมัน
เรื่องที่น่าสนใจคือในการแข่งขันมาราธอนในกีฬาโอลิมปิกปีนั้น สนามแข่งถูกออกแบบให้เป็นรูปของเจ้า Waldi โดยนักวิ่งจะเริ่มวิ่งจากส่วนหัว แล้วไปจบที่ส่วนหาง
ตุ๊กตา Waldi กับสุนัขพันธุ์ Dachshund ต้นแบบของ Waldi (Source: Pinterest)
การพยายามลบภาพนาซีเยอรมันที่ดูโหดร้าย ทำให้การจัดการแข่งขันในครั้งนี้มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ค่อนข้างหละหลวม จนสุดท้ายทำให้เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่นักกีฬาอิสราเอล โดยกลุ่มก่อการร้าย PLO และกลายมาเป็นบาดแผลชิ้นใหญ่ของการจัดการแข่งขันโอลิมปิกมาจนถึงทุกวันนี้
1972
โอลิมปิกฤดูหนาวที่ซับโปโร
ในปีนั้นการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว ถูกจัดขึ้นที่ซับโปโร ประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่มีมาสคอตอย่างเป็นทางการ แต่หนึ่งในบริษัทที่เป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการคือนาฬิกา Seiko ได้สร้างมาสคอตเป็นน้องหมีดำเอเชียชื่อ Takuchan ขึ้นมา เพื่อโปรโมทนาฬิกาของตนเอง และปรากฏว่าน้อง Takuchan ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากตลอดการแข่งขัน จนกลายมีสถานะเป็นมาสคอตกลาย ๆ
น้อง Takuchan มาสคอตอย่างไม่เป็นทางการของการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1972 (Source: olympicdesign.com)
1976
โอลิมปิกฤดูร้อนที่มอนทรีอัล
มาในปี 1976 โอลิมปิกฤดูร้อนถูกจัดขึ้นที่มอนทรีอัล ประเทศแคนาดา และสัตว์ที่ได้รับเลือกให้เป็นมาสคอตคือตัวบีเวอร์ ที่มีชื่อว่า Amik ซึ่งชื่อ Amik เป็นภาษา Algonquin ภาษาท้องถิ่นของชนพื้นเมืองของแคนาดา และเป็นชื่อที่คนทั่วทั้งแคนาดาร่วมกันตั้งขึ้น
Amik บีเวอร์สีดำ มาสคอตของกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1976 (Source: dw.com)
บีเวอร์เป็นสัตว์ที่มีความขยันขันแข็ง และอดทน โดยเฉพาะเวลาสร้างรัง และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของแคนาดาเป็นอย่างมาก เพราะในอดีตขนบีเวอร์ เป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่ทำรายได้มหาศาลให้กับประเทศนี้
Amik เป็นบีเวอร์สีดำ และมีริบบิ้นสีแดงหรือสีโอลิมปิกคาดอยู่กลางตัว พร้อมสัญลักษณ์โอลิมปิกตรงกลาง โดยริบบิ้นที่คาดกลางตัวนั้นสื่อถึงสายของเหรียญรางวัลที่มอบให้กับผู้เข้าแข่งขันนั่นเอง
Amik พร้อมสายคาดหลากสีของโอลิมปิก (Source: https://www.invaluable.com)
เรื่องที่น่าสนใจของการแข่งขันในครั้งนี้คือ มีประเทศทั้งหมด 29 ประเทศที่ตัดสินใจไม่ส่งนักกีฬามาเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ โดยส่วนมากจะเป็นประเทศในทวีปแอฟริกา เนื่องจากทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากลตัดสินใจที่จะไม่แบนทีมนักกีฬาของประเทศนิวซีแลนด์
ที่หลายชาติในแอฟริกาไม่พอใจประเทศนิวซีแลนด์นั้น เป็นเพราะว่านิวซีแลนด์ส่งทีมชาติกีฬารักบี้ ไปเล่นในประเทศแอฟริกาใต้ ทั้ง ๆ ที่สหประชาชาติ ได้ออกมาเรียกร้องให้ทุกประเทศแบนแอฟริกาใต้จากการเข้าร่วมแข่งขันกีฬาทั้งปวง เนื่องจากนโยบายเหยียดสีผิวของรัฐบาลในขณะนั้น
และเรื่องราวที่คนไทยหลายคนอาจจะไม่รู้คือ โอลิมปิกในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ทัพนักกีฬาไทยสามารถคว้าเหรียญจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกได้ โดยได้เหรียญทองแดงมาจากกีฬามวยสากล ซึ่งผู้ที่นำความภูมิใจมาให้คนไทยนั้นคือ พเยาว์ พูนธรัตน์ ซึ่งเขาได้เสียชีวิตไปในปี 2006 ที่ผ่านมา
รถแห่รับ พเยาว์ พูนธรัตน์ ฮีโร่เหรียญโอลิมปิก เหรียญแรกของประเทศไทย (Source: facebook)
1976
โอลิมปิกฤดูหนาวที่อินสบรูคค์
ในปีเดียวกันโอลิมปิกฤดูหนาวถูกจัดขึ้นที่เมืองอินสบรูคค์ ประเทศออสเตรีย และเป็นครั้งแรกที่โอลิมปิกฤดูหนาวมีมาสคอตเป็นของตัวเอง มาสคอตตัวนี้เป็นตุ๊กตาหิมะชื่อว่า Schneemandl ซึ่งเป็นภาษาเยอรมันแปลว่า “Snowman” ตรง ๆ ง่าย ๆ แบบนี้เลย
โปสเตอร์ของน้อง Schneemandl ในการโปรโมทกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1976 (Source: olympicdesign.com)
จุดเด่นของน้อง Schneemandl คือหมวกปีกกว้างทรงสูงสีแดง ประดับด้วยขนสอง
เส้น ซึ่งเป็นหมวกดั้งเดิมของแคว้น Tyrol ของประเทศออสเตรีย ส่วนจมูกเป็นแครรอท ของสุดฮิตที่คนมักนำมาทำเป็นจมูกของตุ๊กตาหิมะนั่นเอง
มาสคอตนี้เป็นหนึ่งในมาสคอตที่ประสบความสำเร็จมาก การออกแบบที่ดูเรียบง่าย ทำให้ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการทำชุดมาสคอตให้คนใส่ และมีการทำภาพมาสคอตในลักษณะที่กำลังเล่นกีฬาชนิดต่าง ๆ อยู่ ซึ่งต่อมากลายเป็นมาตรฐานของการออกแบบมาสคอตมาจนถึงทุกวันนี้
น้อง Schneemandl เล่นสกี (Source: today.com)
1980
โอลิมปิกฤดูร้อนที่มอสโคว์
ปี 1980 เป็นครั้งแรกที่กีฬาโอลิมปิกถูกจัดขึ้นในยุโรปตะวันออก และมีประเทศเพียง 88 ประเทศเท่านั้นที่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน น้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 1956 เนื่องจากการบอยคอตของชาติต่าง ๆ กว่า 60 ประเทศ ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา เพราะก่อนหน้านั้นไม่นาน โซเวียตส่งกองทัพบุกเข้าไปยังประเทศอัฟกานิสถาน เพื่อทำการแทรกแซงทางการเมือง และผนวกเอาอัฟกานิสถานมาเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตนั่นเอง
มาสคอตของโอลิมปิกในครั้งนี้เป็นหมีที่มีชื่อว่า Misha หมีสีน้ำตาลตัวเล็กน่ารัก โดยมีจุดเด่นคือเข็มขัดที่มีสีห้าสี ตามสีของห่วงโอลิมปิก พร้อมกับหัวเข็มขัดเป็นห่วงโอลิมปิก 5 ห่วงสีเดียวกัน
Misha หมีน้อย มาสคอตของกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1980  (Source: https://www.1stdibs.com)
เรื่องที่น่าสนใจของหมีน้อย Misha คือในปี 1978 Misha เคยเดินทางไปอวกาศมาแล้วกับยาน Soyut ของสหภาพโซเวียต และได้ไปใช้ชีวิตช่วงหนึ่งที่สถานีอวกาศ
ในพิธีปิดของกีฬาโอลิมปิคในปีนั้น หมีน้อย Misha ตัวใหญ่ ถูกผูกไว้กับลูกโป่ง แล้วถูกปล่อยให้ลอยหายไปในอากาศ ถือเป็นการปิดพิธีโอลิมปิกที่ยิ่งใหญ่ แต่หลายคนก็บอกว่าเศร้าในเวลาเดียวกัน
สามารถดูคลิบวีดีโอของพิธีปิดสั้นๆ ได้ที่นี่นะครับ มีตอนที่น้องลอยขึ้นไปจากสนามกีฬาด้วย
พิธีปิดของกีฬาโอลิมปิกที่มอสโคว์ ที่หมีน้อย Misha ลอยหายไปในอากาศ (Source: https://soviet-art.ru)
ส่วนกีฬาพาราลิมปิกนั้น ทางสหภาพโซเวียตปฏิเสธการจัดโดยให้เหตุผลว่า "สหภาพโซเวียตไม่มีคนพิการ !" ซึ่งกลายมาเป็นประโยคที่ยังเป็นที่จดจำมาจนถึงทุกวันนี้ และสหภาพโซเวียตก็ไม่เคยส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเลย จนกระทั่งปี 1988 ดังนั้นกีฬาพาราลิมปิกเลยย้ายไปจัดที่เมือง Arnhem ประเทศเนเธอร์แลนด์แทน และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่กีฬาพาราลิมปิกมีมาสคอตอย่างเป็นทางการเป็นของตนเอง โดยเป็นกระรอกสองตัวชื่อว่า Noggi และ Joggi
เรื่องที่น่าสนใจของการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกในครั้งนี้คือ ทางรัฐบาลของประเทศเนเธอร์แลนด์ตัดสินใจแบนประเทศแอฟริกาใต้ ไม่ให้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันเนื่องจากนโยบายกีดกันด้านสีผิวของแอฟริกาใต้
Noggi และ Joggi สองกระรอก มาสคอตอย่างเป็นทางการตัวแรกของกีฬาพาราลิมปิก (Source: Wikipedia)
1980
โอลิมปิกฤดูหนาวที่เลค พลาซิด
เลค พลาซิด (Lake Placid) เป็นทะเลสาบในรัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา มาสคอตในการแข่งขันครั้งนี้เป็นตัวแรคคูน ซึ่งเป็นสัตว์ประจำถิ่นของทะเลสาบแห่งนี้
ภาพโปรโมทการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1980 ที่เลค พลาซิด ที่มี Roni เป็นพระเอก (Source: Twitter)
แรคคูนตัวนี้มีชื่อว่า Roni เป็นชื่อที่ตั้งโดยเด็กประถมที่อาศัยอยู่ในเมืองเลค พลาซิด และเป็นภาษา Iroquoian ภาษาท้องถิ่นของชนพื้นเมืองอินเดียนแดง
หน้าตาของ Roni จะมีลายสีดำบนหน้าบริเวณตาเหมือนตัวแรคคูน ซึ่งสื่อถึงแว่นกันแดดที่นักกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวมักจะสวมใส่กัน เพื่อป้องกันแสงสะท้อนจากหิมะ ส่วนหน้าผากจะเป็นสีฟ้าอ่อน หรือเขียวอ่อนซึ่งสื่อถึงหมวกที่ให้ความอบอุ่นกับเหล่าบรรดานักกีฬา
Roni พร้อมกับรองเท้าสเกต (Source: Thrillist.com)
สิ่งที่น่าสนใจของการแข่งขันกีฬาครั้งนี้คือ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่นักกีฬาไต้หวัน เดินเข้าสู่สนามได้อย่างเต็มภาคภูมิด้วยชื่อ Chinese Taipei และเป็นโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งแรกที่มีการใช้หิมะเทียมในการแข่งขัน
1984
โอลิมปิกฤดูร้อนที่ลอส แองเจลิส
การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนกลับมาเยือนลอส แองเจลิสอีกครั้ง ในตอนแรกสัตว์ที่ถูกเลือกนำมาใช้เป็นมาสคอตในครั้งนี้คือ หมีกริซลี่ย์ (Grizzly Bear) ซึ่งเป็นหมีที่อยู่บนธงประจำรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่เห็นด้วยเพราะหมีเคยถูกใช้เป็นมาสคอตของการแข่งขันที่มอสโคว์มาแล้ว
น้อง Sam มาสคอตของกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1984 (Source: olympicdesign.com)
สัตว์ที่ถูกเลือกมาแทนก็คือนกอินทรีย์ นกประจำชาติของประเทศอเมริกา ตัวแทนของอิสรภาพ ความว่องไว และความแข็งแกร่ง โดยชื่อของนกตัวนี้คือ Sam ชื่อสุดฮิตของคนอเมริกัน ใส่หมวกทรงสูงลายธงชาติอเมริกา ที่มีสัญลักษณ์ของโอลิมปิกอยู่ตรงกลาง การตั้งชื่อและการออกแบบมาสคอตตัวนี้ต้องการสื่อให้เห็นว่า Sam คือตัวแทนของคนอเมริกันทั่วไปจริง ๆ ส่วนปีกและขน ก็ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นแขนและนิ้วมือเวลาโพสท่าเล่นกีฬาต่าง ๆ
ส่วนการแข่งขันในครั้งนี้ ทางสหภาพโซเวียตก็ถือคติ "บอยคอตมาบอยคอตกลับ ไม่โกง" โดยมีประเทศคอมมิวนิสต์ทั้งหมด 14 ประเทศ ตัดสินใจไม่ส่งนักกีฬามาเข้าร่วมการแข่งขัน ยกเว้นประเทศโรมาเนีย ซึ่งถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเพราะโรมาเนียสามารถกวาดเหรียญรางวัลได้มากเป็นอันดับ 2 จาก 140 ประเทศที่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน
และครั้งนี้ยังถือเป็นหนึ่งในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ทำรายได้และกำไรมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพราะอาศัยเงินจากสปอนเซอร์เอกชนเป็นส่วนใหญ่ และไม่มีการสร้างสนามกีฬา หรือสถานที่แข่งขันใหม่เลย
น้อง Sam ในวันเปิดพิธีเปิดการแข่งขัน (Source: The Guardian)
ส่วนมาสคอคสำหรับการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกในปีนี้คือ สิงโตสีชมพู ในชุดออกกำลังกาย สวมรองเท้าผ้าใบ ซึ่งคนออกแบบเป็นครูศิลปะธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ชื่อของสิงโตตัวนี้คือ Dan D. Lion เป็นชื่อที่ได้มาจากการโหวตของเด็กพิการในรัฐนิวยอร์ค เพราะการแข่งขันถูกจัดขึ้นที่นิวยอร์คนั่นเอง
น้องสิงโต Dan D. Lion มาสคอตของการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกในปี 1984 (Source: paralympic.org)
1984
โอลิมปิกฤดูหนาวที่ซาราเยโว
ในตอนนั้นซาราเยโว ยังเป็นส่วนหนึ่งประเทศยูโกสลาเวีย ที่ตอนนี้แตกออกเป็นประเทศต่าง ๆ มากมาย มาสคอตของการแข่งขันครั้งนี้ได้มาจากการโหวตของคนอ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสารทั่วยูโกสลาเวีย โดยมีแบบที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 5 แบบด้วยกัน ได้แก่ ตุ๊กตาหิมะ เม่น ตัววีเซิล แกะ และสุดท้ายคือหมาป่า
น้อง Vučko มาสคอตของกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1984 (Source: olympicdesign.com)
ปรากฏว่าการออกแบบที่เป็นหมาป่าชนะแบบขาดลอย โดยหมาป่าเป็นสัตว์พื้นถิ่นของเทือกเขารอบกรุงซาราเยโว และเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ พละกำลัง และฤดูหนาวตามตำนานพื้นเมืองของยูโกสลาเวีย
หมาป่าตัวนี้มีชื่อว่า Vučko สวมเสื้อสีแดงที่มีผ้าพันคอที่มีสัญลักษณ์โอลิมปิกอยู่ มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ลบภาพหมาป่าที่อาจจะดูโหดร้ายสำหรับหลาย ๆ คน
ส่วนเรื่องที่ยังเป็นที่กล่าวขานมาจนถึงทุกวันนี้คือ ในพิธีเปิด ธงโอลิมปิกที่ถูกเชิญขึ้นสู่ยอดเสาดันอยู่ในสภาพกลับหัวกลับหาง นำความอับอายมาสู่เจ้าภาพเป็นอย่างมาก
น้อง Vučko เล่นสกีกับโปสเตอร์โปรโมทการแข่งขัน (Source: Tumblr)
1988
โอลิมปิกฤดูร้อนที่โซล
มาถึงปี 1988 โอลิมปิคเดินทางกลับมาเยือนทวีปเอเชียเป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งนี้ประเทศเจ้าภาพคือประเทศเกาหลีใต้ คณะกรรมการโอลิมปิกในครั้งนี้ต้องเลือกมาสคอตจากสัตว์ 4 ชนิดคือ กระต่าย กระรอก เป็ดแมนดาริน และสัตว์ที่ได้รับเลือกให้เป็นมาสคอตคือลูกเสือโคร่ง โดยได้รับการตั้งชื่อว่า Hodori
น้อง Hodori มาสคอตของกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1988 (Source: olympicdesign.com)
จริง ๆ แล้วเสือเป็นสัตว์ที่อยู่ในตำนานของชาวเกาหลีมานาน โดยเฉพาะตำนานการเกิดของชนชาติเกาหลี และเป็นสัตว์ผู้ทำงานรับใช้เทพเจ้าแห่งขุนเขา ผู้ที่คอยดูแลพสกนิกรและทำให้เกิดความสงบสุขในดินแดนเกาหลี ดังนั้นเสือจึงเป็นตัวแทนของความนอบน้อม แต่ก็ดุดันกล้าหาญในเวลาเดียวกัน
คำว่า Ho มาจาก Ho-Rang-I ซึ่งแปลว่าเสือในภาษาเกาหลี ส่วน Dori เป็นชื่อที่แสดงความเป็นชาย โดยชื่อนี้เป็นชื่อที่คณะกรรมการเลือกจากชื่อที่มีการเสนอเข้ามากว่า 2,000 ชื่อ โดยมีเงื่อนไขคือชื่อจะต้องแสดงความเป็นเกาหลี และง่ายที่คนต่างชาติจะอ่านออกเสียง
น้อง Hodori ในพิธีเปิดการแข่งขัน (Source: Pinterest)
เจ้าเสือ Hodori จะใส่เหรียญสัญลักษณ์โอลิมปิกรอบคอ และสวมหมวกเกาหลีที่เรียกว่า Sangmo ซึ่งเป็นหมวกที่ใช้ในการแสดงพื้นเมืองของต่าง ๆ ของเกาหลี โดยยอดหมวกจะมีริบบิ้นอยู่ ซึ่งหลายครั้งริบบิ้นจะมีรูปร่างเป็นรูปตัว S แทนคำว่า Seoul นั่นเอง
การจัดการแข่งขันในครั้งนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเกาหลีต้องการจะประกาศให้กับชาวโลกได้รับรู้ว่าตอนนี้เกาหลีเป็นประเทศที่มีความเจริญทัดเทียมกับนานาประเทศ และมีความแข็งแกร่งในเรื่องของสาธารณูปโภค และเทคโนโลยีแล้ว
การแข่งขันในครั้งนี้มีประเทศที่บอยคอตไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 7 ประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศเกาหลีเหนือ ที่พยายามขอมีส่วนร่วมในการจัดการแข่งขันกีฬาบางประเภท แต่หลังจากการประชุมหลายครั้งก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จนสุดท้ายเกาหลีเหนือ และพันธมิตรอย่างคิวบา จึงไม่ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันเพื่อเป็นการประท้วง
ตุ๊กตาน้อง Hodori และน้อง Hodori ในท่าทางการเล่นกีฬาต่าง ๆ (Source: Pinterest)
ส่วนมาสคอตของกีฬาพาราลิมปิกในครั้งนี้ เป็นหมีน้อยน่ารัก 2 ตัว ชื่อ Gomdori ซึ่งคำว่า Gom เป็นภาษาเกาหลีแปลว่าหมี สัตว์อีกชนิดหนึ่งที่มักปรากฎอยู่ในตำนานต่าง ๆ ของประเทศเกาหลี ซึ่งหมีทั้งสองตัวจะถูกผูกขาเข้าด้วยกัน เพื่อแสดงถึงความสามัคคึของมวลมนุษยชาติที่จะนำพาให้สามารถชนะทุกอุปสรรคได้
น้อง Gomdori มาสคอตของกีฬาพาราลิมปิกปี 1988 (Source: paralympic.org)
1988
โอลิมปิกฤดูหนาวที่คัลการี
คัลการี ประเทศแคนาดาเป็นดินแดนที่ขึ้นชื่อในเรื่องของมิตรไมตรีของคน ทำให้มาสคอตในครั้งนี้มีชื่อว่า Hidy และ Howdy โดย Hidy มาจากคำว่า “Hi” ส่วน Howdy ก็มาจากคำว่า “How do you do” ซึ่งเป็นคำทักทายแบบสบาย ๆ ในภาษาอังกฤษ
Hidy แบะ Howdy สองศรีพี่น้อง มาสคอตของกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1984  (Source: olympicdesign.com)
Hidy และ Howdy เป็นหมีขั้วโลกที่เป็นพี่น้องกัน ทั้งสองสวมชุดคาวบอย เพื่อสื่อถึงจิตวิญญาณของแคนาดาตะวันตก จริง ๆ แล้วตอนแรกหมีสีน้ำตาลจะถูกใช้เป็นมาสคอต แต่คนส่วนใหญ่มองว่าจะไปซ้ำกับการแข่งขันที่มอสโคว์ ทำให้หลังจากการโหวตของคนท้องถิ่น หมีขั้วโลกก็ถูกเลือกให้เป็นตัวแทนของคัลการี เพราะหมีชนิดนี้เป็นตัวแทนของฤดูหนาว และมีภาพลักษณ์ที่เป็นมิตร
ความพิเศษของ Hidy และ Howdy คือครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มาสคอตกีฬาโอลิมปิกมีมากกว่า 1 ตัว
Hidy และ Howdy (Source: Pinterest)
1992
โอลิมปิกฤดูร้อนที่บาร์เซโลน่า
ครั้งแรกกับการจัดโอลิมปิคในประเทศสเปน และสัตว์ที่ได้รับเลือกเป็นมาสคอตคือ Pyrenean Mountain Dog หรือสุนัขภูเขาพิรินี ที่มีชื่อเสียงในเรื่องการเป็นสุนัขเลี้ยงแกะของชาวยุโรป ด้วยรูปร่างที่ใหญ่ แข็งแรง และปราดเปรียว ทำให้สัตว์ชนิดนี้เป็นตัวแทนของนักกีฬาได้เป็นอย่างดี
น้อง Cobi มาสคอตของการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1992 (Source: Pinterest))
ส่วนชื่อของมาสคอตคือ Cobi ซึ่งเป็นเล่นคำมาจากตัวย่อของ COOB ซึ่งเป็นการสะกดย้อนหลังอีกทีของ BOOC “Barcelona Olympic Organising Committee” ที่คำว่า Cobi ถูกใช้แทนคำว่า Coob นั้นเป็นเพราะทางคณะกรรมการเห็นว่าน่าจะอ่านออกเสียงได้ง่ายกว่านั่นเอง
น้อง Cobi กับสีหน้าหลากหลาย (Source: Pinterest)
ความเก๋ของเจ้า Cobi คือหน้าตาของเจ้าสุนัขตัวนี้จะมีความ "นิ่ง" คล้ายกันทุกรูป สื่อถึงความนิ่งและใจเย็นของนักกีฬา โดยจะมีผมสามเส้นอยู่บนหัวเสมอ ในขณะที่เครื่องแต่งกายต่าง ๆ จะถูกเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ และผู้ออกแบบได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบเจ้า Cobi มาจากรูปวาดของ Picasso จิตรกรชาวสเปนชื่อดัง
แม้ว่าในตอนแรกจะมีหลายคนไม่ค่อยชอบ Mascot ตัวนี้ เพราะการออกแบบที่ค่อนข้างแหวกแนว แต่สุดท้ายเจ้า Cobi กลับกลายมาเป็นหนึ่งใน Mascot ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในบรรดามาสคอตทั้งหมด
น้อง Cobi ในท่าทางการเล่นกีฬาชนิดต่าง ๆ (Source: Pinterest)
ส่วนเรื่องที่น่าสนใจของการแข่งขันคือ เป็นครั้งแรกหลังจากสงครามเย็นที่ไม่มีประเทศไหนบอยคอตการแข่งขันในครั้งนี้เลย ทีมเยอรมันเดินเข้าสนามเป็นทีมเดียวหลังกันจากกำแพงเบอร์ลินถูกทำลายลง สหภาพโซเวียตซึ่งตอนนี้ล่มสลายไปแล้วตัดสินใจส่ง Unified Team เป็นทีมนักกีฬาที่ประกอบไปด้วยรัสเซีย และสมาชิกเก่าของสหภาพโซเวียตอีก 11 ประเทศ ถือเป็นการแข่งกีฬาของมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง
Unified Team ที่ประกอบไปด้วยรัสเซีย และประเทศโซเวียตเก่า (Source: mainichi.jp)
สำหรับกีฬาพาราลิมปิก มาสคอตในครั้งนี้มีรูปแบบการออกแบบเหมือนกับ Cobi แต่เป็นรูปของเด็กผู้หญิงที่เสียแขนไปทั้งสองข้างชื่อว่า Petra หน้าตาอันยิ้มแย้มของเธอสื่อถึงความไม่ยอมแพ้ ความกล้าหาญ และการคิดบวกของเหล่าบรรดานักกีฬา
น้อง Petra และน้อง Cobi (Source: graffica)
1992
โอลิมปิกฤดูหนาวที่อัลเบิร์ตวิลล์
เมืองอัลเบิร์ตวิลล์อาจจะฟังดูคล้ายกับชื่อเมืองในประเทศอเมริกา แต่จริง ๆ แล้วเมืองนี้ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสในแถบเทือกเขาแอลป์ และด้วยความเป็นฝรั่งเศสก็ย่อมนำมาซึ่งมาสคอตที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
Magique มาสคอตของกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 1992 (Source: olympicdesign.com)
มาสคอตในครั้งนี้มองผิวเผินอาจจะดูเหมือนดวงดาวสีฟ้าธรรมดา แต่ถ้าลองสังเกตดีดี ลำตัวของดาวดวงนี้จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ โดยผู้ออกแบบต้องการให้มาสคอตตัวนี้เป็น Imp ซึ่งภาษาไทยคือภูติตัวน้อย เพราะตามตำนานของคนในแถบเทือกเขาแอลป์ Imp เป็นภูติที่แม้จะเจ้าเล่ห์ แต่ก็เป็นผู้รับใช้พระเจ้าด้วยเช่นกัน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกหลังจากโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 1976 ที่มาสคอตของการแข่งขันไม่ใช่สัตว์
ส่วนชื่อของมาสคอตในครั้งนี้มีชื่อว่า Magique หรือ Magic ที่แปลว่าเวทมนตร์ จริง ๆ ชื่อของมาสคอตนั้นเป็นที่ถกเถียงกันเป็นเวลานาน แต่ก็ไม่ได้ชื่อที่เหมาะสมซักที จนสุดท้ายผู้ออกแบบมาสคอตเลยลองเสนอชื่อ Magique โดยให้เหตุผลว่าในบรีฟที่เขาได้รับตอนออกแบบนั้นมีคำว่า Magique เต็มไปหมดนั่นเอง
น้อง Magique เข้าร่วมเชียร์กีฬา (Source: timeout)
ส่วนรูปร่างดวงดาวนั้น เป็นสัญลักษณ์ของความฝันและจินตนาการ ส่วนสีฟ้า และหมวกสีแดงเป็นสีที่อยู่บนธงชาติฝรั่งเศส ว่ากันว่าความน่ารักของเจ้า Magique มีความสำคัญในแง่ที่ว่ามาสคอตตัวนี้เป็นตัวแทนของความสนุกสนานและเรียบง่าย เพื่อต่อสู้กับความเครียดและเทคนิคต่าง ๆ ที่ถูกนำมาใช้ในเกมส์การแข่งขันนั่นเอง
มาสคอตอีกตัวในครั้งนี้คือน้อง Alpy ตัวแทนของการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกฤดูหนาวในครั้งนี้ การออกแบบของ Alpy ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภูเขา Grande Motte หนึ่งในภูเขาที่ใช้เป็นสนามแข่งขัน และถ้าสังเกตตรงสกี จะเห็นว่าสกีที่น้อง Alpy ใส่อยู่นั้น เป็นสกีสำหรับคนพิการทางขา ส่วนสีฟ้าและสีเขียวนั้นสื่อถึงธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์นั่นเอง
น้อง Alpy มาสคอตประจำกีฬาพาราลิมปิกฤดูหนาวในปี 1992 (Source: Wikipedia)
1994
โอลิมปิกฤดูหนาวที่ไลเลอร์แฮมเมอร์
เริ่มตั้งแต่ปีนี้ โอลิมปิกฤดูหนาวจะถูกจัดสลับกับโอลิมปิกฤดูร้อน ในระยะห่างกัน 2 ปี ไลเลอร์แฮมเมอร์ เป็นเมืองที่อยู่ในประเทศนอร์เวย์ ครั้งนี้โอลิมปิกกลับมาเยือนถิ่นสแกนดิเนเวียอีกครั้ง และเป็นครั้งแรกของโอลิมปิกที่มีมาสคอตเป็นมนุษย์
Kristin และ Håkon มาสคอตของกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1994 (Source: olympicdesign.com)
มาสคอตในปีนี้เป็นเด็กสองคนชื่อว่า Håkon และ Kristen ซึ่งเป็นชื่อของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของนอร์เวย์ ชื่อ Håkon เป็นชื่อของกษัตริย์นอร์เวย์ในศตวรรษที่ 11 และ Kristen เป็นชื่อของป้าของเขา
ตามประวัติแล้ว ในสมัยก่อนประเทศนอร์เวย์ตกอยู่ในภาวะวุ่นวายเพราะการต่อสู้กันของสองตระกูล Kristen เป็นเจ้าหญิงของตระกูลหนึ่ง ซึ่งยอมทิ้งคนรักของพระองค์ เพื่อไปแต่งงานกับตระกูลศัตรู เพื่อให้เกิดความสงบสุขขึ้น ส่วน Håkon คือผู้ที่รวบรวมแผ่นดินนอร์เวย์ให้เป็นปึกแผ่น
เด็กชาวนอร์เวย์ที่ได้รับเลือกให้มาเป็น Kristin และ Håkon ที่มีชีวิต (Source: designbolts)
ทั้งสองอยู่ในชุดแบบยุคกลาง แต่จริง ๆ แล้ว ทั้งสองเป็นตัวแทนของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะพาโลกไปสู่ความเจริญก้าวหน้า มีเด็กชายหญิงชาวนอร์เวย์อายุระหว่าง 10-11 ปีทั้งหมด 8 คู่ ที่ได้รับเลือกมาจากแต่ละเขตของประเทศนอร์เวย์ เพื่อมาเป็นตัวแทนของมาสคอตในการแข่งขันครั้งนี้
ในงานครั้งนี้ยังมีมาสคอตอีกตัวที่คนมักจะลืมนึกถึง มาสคอตตัวนี้มีชื่อว่า Sondre เป็นตัวโทรลล์ สัตว์ในตำนานของนอร์เวย์ ที่มีขาข้างเดียว เพื่อสื่อถึงนักกีฬาพิการที่เข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้ด้วย
Sondre ตัวโทรลล์ขาขาด แสดงถึงความสามารถของคนพิการ (Source: paralympic.org)
1996
โอลิมปิกฤดูร้อนที่แอตแลนตา
โอลิมปิกในครั้งนี้มาพร้อมกับมาสคอตแบบแหวกแนว เพราะมาสคอตในครั้งนี้ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สิ่งของ แต่เหมือนเป็นตัวการ์ตูนที่คนออกแบบคิดค้นขึ้นมาเอง และมีชื่อว่า Izzy
Izzy มาสคอตในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1996 (Source: olympicdesign.com)
การออกแบบลักษณะนี้เป็นการพยายามฉีกกฎการออกแบบแบบเดิม ๆ ซึ่งได้รับความนิยมในช่วงปี 90 ยุคที่คอมพิวเตอร์เริ่มเข้ามามีบทบาทในการใช้ชัวิต โดยเฉพาะในเรื่องของอินเตอร์เนท ซึ่งผู้ออกแบบบอกว่า Izzy นั้นเป็นสิ่งที่เกิดมาจากเทคโนโลยียุคใหม่ ที่จะนำทุกคนไปสู่โลกอนาคตอันสดใส
Izzy ในตอนแรกไม่ได้มีรูปร่างแบบนี้ จากการเปิดตัวครั้งแรกในพิธีปิดที่บาร์เซโลน่ามีการวิพากย์วิจารณ์มากมาย ทำให้เริ่มมีการเติมปาก ตา ขาที่แข็งแรงขึ้นและสวมรองเท้าผ้าใบ และสิ่งสุดท้ายที่เติมเข้ามาคือจมูก โดยรอบ ๆ ตัวของ Izzy นั้นจะมีห่วงโอลิมปิก 5 ห่วงอยู่
Izzy ในขบวนพาเหรด (Source: atlantajournal)
แต่ Izzy เป็นมาสคอตที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไร เพราะหลายคนมองว่าการออกแบบนั้นดูล้ำเกินไป ไม่สื่อถึงเอกลักษณ์ใดใดทั้งสิ้น และมักจะติดอันดับมาสคอตที่ไม่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากบรรดามาสคอตโอลิมปิกทั้งหมด
ส่วนเหตุการณ์ที่น่าจดจำที่สุดในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ก็เห็นจะเป็นการที่ประเทศไทย คว้าเหรียญทองเหรียญแรกในประวัติศาสตร์มาครองได้ จากฝีมือการต่อยมวยอันเฉียบขาดของสมรักษ์ คำสิงห์นั่นเอง
สมรักษ์ คำสิงห์ กับเหรียญทองโอลิมปิก เหรียญแรกของประเทศไทย (Source: sanook.com)
และแน่นอนว่าการแข่งขันในครั้งนี้จะต้องมีมาสคอตของกีฬาพาราลิมปิกด้วย มาสคอตตัวนั้นคือน้อง Blaze นกฟีนิกซ์สัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ และความมุมานะ และยังเป็นสัญลักษณ์ของเมืองแอตแลนต้าด้วย ความพิเศษของน้อง Blaze คือน้องยังคงถูกนำใช้มาเป็นสัญลักษณ์ของ BlazeSports ทีมนักกีฬาคนพิการของอเมริกามาจนถึงทุกวันนี้
น้อง Blaze มาสคอตของกีฬาพาราลิมปิกฤดูร้อนในปี 1996 (Source: paralympic.org)
1998
โอลิมปิกฤดูหนาวที่นากาโน่
มาถึงหนึ่งในมาสคอตที่น่ารักที่สุดในการแข่งขันโอลิมปิก เป็นครั้งแรกที่โอลิมปิกมีมาสคอตด้วยกันถึง 4 ตัว โดยทั้งหมดเป็นนกฮูก เพราะตามความเชื่อของหลายประเทศ นกฮูกเป็นสัญลักษณ์ของสติปัญญา และเลข 4 ก็สื่อถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่จะจัดขึ้นทุก ๆ 4 ปีนั่นเอง
เหล่าบรรดาน้อง ๆ Snowlet มาสคอตของการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1998 (Source: olympicdesign.com)
ตามการออกแบบนั้น นกฮุกทั้ง 4 ตัวเป็นนกฮูกพันธุ์พิเศษชื่อ Snowlet โดยคำว่า Snow ก็คือหิมะ ใช้สื่อถึงโอลิมปิกฤดูหนาว และ Let มาจากคำว่า Let’s คำเชื้อเชิญเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันนั่นเอง
และแน่นอนด้วยความเป็นญี่ปุ่น น้อง ๆ นกฮูกทั้งสี่ตัวจะต้องมีชื่ออย่างแน่นอน โดยทั้งสี่มีชื่อว่า Sukki ตัวแทนของไฟ, Nokki ตัวแทนของลม, Lekki ตัวแทนของดิน และ Tsuki ตัวแทนของน้ำ
Sukki, Nokki, Lekki, Tsuuki ตามลำดับ (Source: swiftheadline.com)
และมาสคอตสำหรับการแข่งขันพราราลิมปิกในครั้งนี้ เป็นกระต่ายขนปุยสีขาว ใส่สกีชื่อว่า Parabbit ซึ่งว่ากันว่า เจ้ากระต่ายตัวนี้ได้รับความนิยมมากกว่ามาสคอตนกฮูกซะอีก
น้อง Parabbit มาสคอตของการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิคฤดูหนาวปี 1998 (Source: Wikipedia)
อ่านมาถึงตรงนี้ เป็นยังไงกันบ้างครับกับมาสคอตของกีฬาโอลิมปิกในช่วงปี 70-90 ครั้งหน้า Kang's Journal จะพาไปรู้จักกับมาสคอตยุคศตวรรษที่ 21 กันบ้าง อย่าลืมติดตามชมกันนะครับ
สามารถอ่านตอนที่ 2 ได้ที่นี่นะครับ https://www.blockdit.com/posts/6101848d757ad60c8a1fbc37

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา