26 ก.ค. 2021 เวลา 12:54 • กีฬา
มือสมัครเล่น ไม่ใช่นักแข่งอาชีพ แต่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้สำเร็จ นี่คือความมหัศจรรย์แห่งโตเกียว 2020 ของดร.คีเซนฮอฟเฟอร์
14
เหรียญทองที่โด่งดังที่สุดในโอลิมปิกเมื่อวานนี้ คือชัยชนะมหัศจรรย์ของ ดร.แอนนา คีเซนฮอฟเฟอร์ ในการแข่งขันจักรยาน ประเภทถนน (Road Race)
8
สาเหตุที่ทำให้มันฮือฮามีหลายข้อมาก เหตุผลข้อแรกคือผู้ชนะ ดร.คีเซนฮอฟเฟอร์ ตัวแทนจากประเทศออสเตรีย เธอไม่ใช่นักจักรยานมืออาชีพ เธอมีอาชีพหลักเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย การปั่นจักรยานเป็นงานอดิเรกที่เธอชอบทำอย่างจริงจังแค่นั้น
14
เหตุผลข้อสอง คือเธอมาคนเดียวโดดๆ ไม่มีทีมสตาฟฟ์ ไม่มีทีมโภชนาการ ไม่มีเพื่อนนักแข่งชาติเดียวกัน ไม่มีอะไรเลยสักอย่างเดียว เธอจัดการเองทุกอย่างเลย
18
และเหตุผลข้อที่สาม คือตอนที่อันดับ 2 แอนน์มีค ฟาน ฟลูเทน จากเนเธอร์แลนด์ ปั่นเข้าเส้นชัย เธอชูมือดีใจคิดว่าตัวเองได้เหรียญทอง แต่สิ่งที่เธอไม่รู้เลยก็คือ ดร.คีเซนฮอฟเฟอร์ นักปั่นโนเนม ถึงเส้นชัยไปก่อนหน้าเธอถึง 1 นาที 15 วินาทีแล้ว!
31
สำหรับการแข่งขันจักรยานโอลิมปิก Road Race ประเภทหญิง จะมีระยะทาง 137 กิโลเมตร ใครเข้าเส้นชัยก่อนเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งด้วยระยะขนาดนี้ ชนิดที่ต้องปั่นกัน 3-4 ชั่วโมง คนที่จะชนะรายการนี้ได้ นอกจากจะต้องมีร่างกายแข็งแกร่งแล้ว ต้องมีกลยุทธ์ที่ดีอีกด้วย
10
ตัวเต็งเหรียญทองของจักรยาน Road Race ประเภทหญิง ที่ทุกสำนักฟันธงตรงกัน ได้แก่เนเธอร์แลนด์ โดยนี่เป็นชาติที่ได้เหรียญทองบ่อยที่สุด ตั้งแต่มีการบรรจุ Road Race หญิง ลงในการแข่งโอลิมปิก
6
โอลิมปิก 5 ครั้งหลังสุด เป็นเนเธอร์แลนด์ ที่ได้เหรียญทองไป 3 หน ดังนั้นคราวนี้ก็ถือว่าเป็นเต็งจ๋ามาก โดยสำนักข่าว AP ก็ฟันธงก่อนแข่งว่า เนเธอร์แลนด์ไม่น่าพลาด ควรจะได้ทองแน่ๆ
7
ไม่ใช่แค่เนเธอร์แลนด์ ที่เป็นตัวเต็ง แต่อิตาลี สหรัฐฯ เยอรมัน พวกนี้ขนนักกีฬามืออาชีพที่ไปแข่งเวิลด์ทัวร์มาชิงเหรียญทั้งนั้น กลุ่มนี้ก็ถือเป็นชาติที่น่าจะสู้กันได้สูสี
3
แต่กับ "ออสเตรีย" ประเทศเล็กๆในทวีปยุโรป นี่เป็นม้านอกสายตาเต็มตัว เพราะตัวแทนหนึ่งเดียวของประเทศ ดร.แอนนา คีเซนฮอฟเฟอร์ เป็นนักจักรยานมือสมัครเล่น ที่ไม่มีสังกัดทีมอาชีพ และไม่ได้ไปแข่งเวิลด์ทัวร์ด้วย
6
ถ้าเปรียบเทียบกับกีฬาอื่นๆ อย่างเทนนิส ถ้าให้เดาว่าใครจะได้เหรียญทองโอลิมปิก ส่วนใหญ่ก็คงเดาว่าคงเป็น โนวัค ยอโควิชของเซอร์เบีย เพราะเป็นนักกีฬาอาชีพ เป็นมือโปร เราคงไม่เดาว่าผู้ชนะจะเป็นนักแข่งมือสมัครเล่น ที่ไม่ได้เล่นเทนนิสเป็นอาชีพหลักหรอก จริงไหม
4
กับจักรยานก็คล้ายๆ กัน ตัวเต็งที่จะชนะ ก็ควรเป็นผู้เล่นดังๆ ที่แข่งขันเวิลด์ทัวร์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่นักปั่นที่ ปั่นจักรยานเป็นงานอดิเรก
5
ดร.คีเซนฮอฟเฟอร์ ไม่ได้มีชื่อเสียงเรื่องกีฬาอะไร เธอจบปริญญาตรีที่เวียนนา ประเทศออสเตรีย ก่อนจบปริญญาโทที่เคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ จากนั้นไปจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคแห่งคาตาลุนย่า ในประเทศสเปน ภาควิชาคณิตศาสตร์เช่นกัน
7
เรียนน่ะเก่งแน่ แต่ถามว่าปั่นจักรยานเก่งไหม? สมัยเรียนก็ไม่ได้น่าจดจำอะไร ในปี 2012 ตอนเธออยู่เคมบริดจ์ ลงแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัย ปั่นจักรยานแข่งระยะ 10 ไมล์ สรุปคือเธอเข้าเส้นชัยในอันดับ 32 จากคนแข่ง 32 คน
15
หลังจบปริญญาเอกในปี 2016 ว่ากันตรงๆ เธอควรเอาดีด้านการเรียน หรือการทำงานมากกว่า แต่เธอก็มีใจรักในจักรยานเป็นอย่างมาก จึงเดินตามฝันของตัวเอง ตั้งใจจะแข่งอาชีพให้ได้ เธอเคยได้แชมป์โคปา เอสปันญ่าไปครั้งหนึ่ง จนได้สังกัดทีมชื่อล็อตโต้ ซูดัล แต่อยู่ได้ไม่กี่เดือนก็ต้องแยกทางกันไป จากนั้นมาเธอก็ไม่มีทีมอาชีพใดๆ สนใจเธออีก
6
ดร.คีเซนฮอฟเฟอร์ เลิกปั่นจักรยานในปี 2017 ตอนอายุ 26 ปี จากนั้นก็เริ่มทำอาชีพอื่นเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง โดยไปสมัครเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ จนนี่กลายเป็นอาชีพหลักของเธอในที่สุด
5
แต่แม้จะมีอาชีพที่มั่นคงแล้ว แต่เธอก็ตัดใจจากจักรยานไม่ได้ จึงกลับมาแข่งขันใหม่อีกครั้งในปี 2019 ควบคู่กับการเป็นอาจารย์ไปด้วย
11
โดยคราวนี้ เธอไม่มีทีม ไม่มีโค้ช ไม่มีอะไรทั้งสิ้น มีแต่ตัวเธอคนเดียวล้วนๆ
7
ความตั้งใจของดร.คีเซนฮอฟเฟอร์ ทำให้เธอกลับมามีผลงานดีอีกครั้ง ดร.คีเซนฮอฟเฟอร์คว้าแชมป์ Time Trial ในการแข่งที่ออสเตรีย และได้โควต้ามาแข่งขัน Road Race ในโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว
7
แต่ก็นั่นแหละ ในภาพรวม ใครๆ ก็คิดว่าเธอคือไม้ประดับ เธอไม่ได้ไร้ฝีมือ แต่เธอก็ถูกตีตราว่าเป็นมือสมัครเล่น และมือสมัครเล่น ก็ยากที่จะได้เหรียญทองโอลิมปิก มันเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว
4
ดร.คีเซนฮอฟเฟอร์ กล่าวว่า "บนหน้ากระดาษ ก็จริงว่าฉันคือมือสมัครเล่น แต่จักรยานมันกินเวลาชีวิตของฉันไปอย่างมหาศาล ฉันแทบไม่ได้เงินจากการปั่นจักรยานเลยนะ รายได้ของฉันมาจากอาชีพในชีวิตจริงมากกว่า แต่สมองของฉันก็เอาแต่คิดเรื่องจักรยานตลอดเวลา ยิ่งตอนรู้ว่าได้โควต้าโอลิมปิก ตลอด 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา ฉันเฝ้าฝันถึงวันที่จะได้มาแข่งจริงอยู่ทุกวัน"
7
"ฉันยอมสละทุกอย่างได้เพื่อวันนี้ ส่วนผลการแข่งขันก็หวังแต่ว่าจะได้ผลการแข่งที่ดี จบสักอันดับ 25 ถือว่าน่าพอใจมากแล้ว"
12
การแข่งขันเริ่มต้นขึ้น ตัวเต็งคือเนเธอร์แลนด์ ที่ได้โควต้าเข้ามาแข่ง 4 คน ล้วนแล้วแต่เป็นตัวโหดทั้งสิ้น
1
- แอนนา ฟาน เดอร์ เบรกเก้น : เหรียญทองโอลิมปิก 2016
- แมเรียนน์ ฟอส : เหรียญทองโอลิมปิก 2012
- แอนน์มีค ฟาน ฟลูเท่น : แชมป์จิโร่ ดิ ตาเลีย 2 สมัยซ้อน
- เดมี่ โฟลเลอร์ริ่ง : แชมป์รายการ Liege ก่อนโอลิมปิกเริ่ม 3 เดือน
6
แผนในช่วง 10 กิโลเมตรแรกของฝั่งเนเธอร์แลนด์ คือเก็บพลังงานเอาไว้ นักกีฬาทั้ง 4 คน ไม่มีใครรีบสปรินท์ไปข้างหน้าเลย ทั้งหมดอยู่ในแนวหลัง ค่อยๆปั่นตามกลุ่มไปเรื่อยๆ เพราะระยะทางรวมคือ 137 กิโลเมตร ไม่มีประโยชน์อะไร ที่จะต้องขึ้นนำ ณ ตอนนี้
5
แต่ในมุมกลับกัน มีนักปั่น 5 คน ที่ไม่คิดแบบนั้น พวกเธอตัดสินใจพุ่งทะยานไปเลยโดยไม่สนใจหน้าอินทร์หน้าพรหมทั้งนั้น นั่นคือ คาร์ล่า โอเบอร์เฮาเซอร์ (แอฟริกาใต้), เวรา ลูเซอร์ (นามิเบีย), โอเมอร์ ชาปิร่า (อิสราเอล), แอนนา พลิชต้า (โปแลนด์) และ ดร.คีเซนฮอฟเฟอร์ (ออสเตรีย)
8
แต่พวกนักกีฬาจากชาติใหญ่ๆ อย่างเนเธอร์แลนด์, อิตาลี หรือ สหรัฐฯ ก็ไม่ได้สนใจนัก ใครอยากจะนำก็นำไปเลย เดี๋ยวแรงก็หมดไปเอง ปั่นไปเรื่อยๆ เกาะกลุ่มกันไปดีกว่า เก็บพลังไว้แล้วค่อยไปบดแซงท้ายๆ เรซก็ได้ นี่คือแนวคิดของผู้เล่นระดับมือโปร
6
ซึ่งก็เป็นตามนั้นจริงๆ เพราะปั่นไปได้สักพัก จาก 5 คนที่พุ่งทะยานไปตอนแรก บางคนก็เหนื่อยล้าและค่อยๆ แผ่วกันไปเอง
1
โอบาเฮาเซอร์จากแอฟริกาใต้ และ ลูเซอร์ จากนามิเบีย หมดแรงไปก่อน เท่ากับว่าตอนนี้กลุ่มนำที่ฉีกทะยานไปตอนต้นเรซ เหลือแค่ 3 คนเท่านั้น คือนักปั่นโปแลนด์, นักปั่นอิสราเอล และ ดร. คีเซนฮอฟเฟอร์
4
การปั่นเข้าสู่ 41 กิโลเมตรสุดท้าย โปแลนด์กับอิสราเอล ก็เริ่มแรงหมด แต่ดร. คีเซนฮอฟเฟอร์ไม่ใช่อย่างนั้น เธอสปรินท์ลืมตาย นำโด่งไปคนเดียวจนอยู่ห่างจากคนอื่นไกลลิบ ไปคนเดียวโดดๆ แบบโซโล่เดี่ยว ไม่สนใจใครทั้งนั้น
20
เมื่อเข้าช่วงท้ายของเรซ นักปั่นเนเธอร์แลนด์รู้ว่าได้เวลาแล้วที่จะเร่งเครื่องบดขยี้กลุ่มที่นำอยู่ เพื่อแซงเข้าเส้นชัย การปั่นเต็มสปีดจึงเริ่มต้นขึ้น
7
แต่จุดสำคัญที่ทำให้ฝั่งเนเธอร์แลนด์ผิดพลาดคือการแข่งโอลิมปิก ไม่มี Race Radio หรือวิทยุสื่อสารที่สตาฟฟ์นอกสนามจะใช้ติดต่อกับนักกีฬาได้
5
ถ้าเป็นการแข่งขันเวิลด์ทัวร์ นักแข่งจะมี Race Radio แนบหูอยู่ ถ้าหากพื้นสนามตรงไหนมีอันตรายเป็นหลุมเป็นบ่อ ก็จะได้เตือนได้ หรือถ้าหากต้องการวางกลยุทธ์แบบไหน ก็สามารถแจ้งไปได้เลยเช่นกัน
3
ฝั่งเนเธอร์แลนด์ นำโดยแอนน์มีค ฟาน ฟลูเทน ไล่บดนักปั่นโปแลนด์ กับนักปั่นอิสราเอลที่นำมาในตอนแรกอย่างสวยงาม จนเธอขึ้นมาอยู่อันดับ 2
5
แต่ในความเข้าใจของเธอและของทีมชาติเนเธอร์แลนด์คนอื่นๆ คิดว่า ฟาน ฟลูเทน แซงหน้านักกีฬาทุกคนขึ้นไปเป็น "อันดับ 1 แล้ว" ที่เหลือก็แค่ประคองตัวปั่นเข้าเส้นชัยเท่านั้น
12
ฟาน ฟลูเท่น ลืมไปเลยว่ามี คีเซนฮอฟเฟอร์ที่นำหน้าไปไกลลิบแล้ว คือเธอเข้าใจว่า แซงทุกคนมาครบหมดแล้ว และกำลังเป็นผู้นำของเรซนี้ และอย่างที่บอกคือ มันไม่มี Race Radio ที่จะคอยเตือนเธอว่า เธอยังไม่ได้แซงครบทุกคนสักหน่อย ทำให้ฟาน ฟลูเท่น ไม่ได้ปั่นเต็มสปีดเพื่อไล่ ดร.คีเซนฮอฟเฟอร์ เธอปั่นไปเรื่อยๆ ตามจังหวะแค่บล็อกไม่ให้คนที่อยู่ด้านหลัง แซงหน้าเธอได้ก็พอแล้ว
11
ตัดกลับไปที่ ดร.คีเซนฮอฟเฟอร์ เธอปั่นแหลกคนเดียว ไม่มีทีม ไม่มีโค้ช ไม่มีอะไรทั้งนั้น เธอปั่นสุดชีวิต ด้วยพลังทั้งหมดที่มี
24
และสุดท้ายเธอเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก ด้วยเวลา 3 ชั่วโมง 52 นาที 45 วินาที ได้เหรียญทองโอลิมปิกไปครอง
14
เมื่อเข้าเส้นชัย ดร.คีเซนฮอฟเฟอร์กลิ้งไปกับพื้น ดีใจอย่างบ้าคลั่ง นี่เป็นเหรียญทองจากกีฬาจักรยานเหรียญแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศออสเตรีย และสำหรับคนรักจักรยานที่สุดอย่างเธอ ที่โดนตีตราเป็นมือสมัครเล่นก่อนแข่ง ไม่มีความสุขอะไรจะมากไปกว่า การได้เหรียญทองโอลิมปิกอีกแล้ว
17
1 นาที 15 วินาที หลังจากคีเซนฮอฟเฟอร์เข้าเส้นชัย แอนน์มีค ฟาน ฟลีเทน ก็สปรินท์เข้าเส้นชัยไปอย่างสวยงาม เธอยกมือกางแขนดีใจสุดขีด เพราะเข้าใจว่าคว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้สำเร็จ
16
นักแข่งที่ขับตามเข้าเส้นชัยมาทีหลังต่างร่วมยินดีกับฟาน ฟลีเทน ใครๆก็คิดแบบนั้น แต่สักพักความจริงก็ปรากฏ ตอนประกาศรายชื่อผู้ชนะ ทุกคนก็ได้รู้ว่า เฮ้ยยย มีคนเข้าเส้นชัยไปก่อนตั้งนานแล้วนี่หว่า! และคนๆ นั้น เป็นนักปั่นที่ไม่มีใครคาดถึงมาก่อนเลย
13
ฟาน ฟลีเท่นให้สัมภาษณ์ว่า "ฉันคิดว่าฉันชนะจริงๆ ตอนที่เหลืออีก 5 กิโลเมตร แมเรียนน์ ฟอส ปั่นมาเทียบข้างฉัน เธอคิดว่าเราแซงมาครบทุกคนแล้ว"
6
แต่ความจริงแล้ว นักแข่งดัตช์เข้าใจผิด พวกเธอไปโฟกัสแต่กับคู่แข่งบิ๊กเนม และไม่คาดคิดว่าจะมีมือสมัครเล่นคนหนึ่งปั่นทะยานนำโด่งแบบม้วนเดียวจบ และยิ่งไม่มี Race Radio ทำให้ไม่รู้ว่ามีคนอยู่ข้างหน้า จึงไม่ได้ปั่นเต็มสปีดจริงๆ เพื่อไล่ตาม
5
สุดท้ายกว่าจะรู้ตัว ก็ได้แค่เหรียญเงินซะแล้ว โดยฟาน ฟลีเท่นบ่นอุบว่า "นี่แสดงให้เห็นความสำคัญของวิทยุสื่อสาร การแข่งขันเวิลด์ทัวร์ทั่วโลกก็ใช้วิทยุกันทั้งนั้น!"
11
ถ้าถามว่าทีมเนเธอร์แลนด์มีข้อผิดพลาดไหม คำตอบก็คือ ก็มีจริง แต่ไม่ว่าอย่างไร มันก็ไม่สามารถลดทอนความยิ่งใหญ่ในชัยชนะของ ดร.คีเซนฮอฟเฟอร์ได้
8
ณ ตอนนี้ความฝันของเธอเป็นจริงทั้งหมดแล้ว เธอเป็นด็อกเตอร์จบปริญญาเอก มีอาชีพหลักเป็นอาจารย์ แต่งานที่เธอรักอย่างปั่นจักรยาน เธอคว้าได้ถึงเหรียญทองโอลิมปิก ชีวิตของเธอถูกเติมเต็มแล้ว
16
ความตั้งใจจริง ความมุ่งมั่น การสู้ตายโดยไม่หมดพลังกลางทาง ไม่ยอมแผ่วจนโดนไล่ทัน บวกกับโชคเล็กๆ ที่มือท็อปๆ สับสนกันไปเอง ทำให้บทสรุปของ Road Race เหรียญทองจึงตกเป็นของเธอในที่สุด
7
นี่เป็นเหรียญทองแรกในโอลิมปิก ของออสเตรีย นับจากเอเธนส์เกมส์ ปี 2004 เป็นเวลา 17 ปีเต็ม ที่ไม่เคยมีใครทำเหรียญทองได้ แต่วันนี้ ดร.คีเซนฮอฟเฟอร์ ทำได้
7
เธอเป็นมือสมัครเล่น ไม่มีโค้ช ทุกอย่างเตรียมการเองหมด ไม่มีทีมคอยซัพพอร์ท ไม่มีอะไรเลย แต่วันนี้เธอคือผู้ชนะ แม้แต่ตัวเธอเองก็ไม่อยากเชื่อเช่นกัน ว่าจะคว้าเหรียญทองได้จริงๆ
12
เธอบอกว่า "ไม่เคยคิดเลยว่าเหรียญโอลิมปิกมันจะหนักขนาดนี้"
13
สำหรับบทสรุปของเรซนี้ แฟนๆ จักรยานดีใจที่เห็น Underdog คว้าชัยได้สำเร็จ พร้อมกันนั้น ก็มีการแซวนักแข่งเนเธอร์แลนด์กันอย่างสนุกสนาน โดยมีคอมเมนต์หนึ่งโพสต์ว่า
4
"คิดง่ายๆเลยนะ มีคนฉีกออกไปเป็นกลุ่มนำ 5 คน ถ้าคุณแซงได้แล้ว 4 คน มันก็ต้องเหลือ 1 คนที่อยู่ข้างหน้าสิ 5 ลบ 4 ได้เท่าไหร่ ไหนตอบซิ มันก็ได้ 1 ไงเล่า!"
11
"ถ้าอยากจะชนะ บางทีพวกดัตช์ น่าจะไปลงเรียนวิชาคณิตศาสตร์เบื้องต้นกับศาสตราจารย์คีเซนฮอฟเฟอร์สักหน่อยนะ! "
35
#ROADRACE
โฆษณา