26 ก.ค. 2021 เวลา 14:26 • หนังสือ
'อีสปเป็นใคร?'
เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินได้ฟังนิทานอีสปกันมาบ้าง ไม่ว่าจะตอนเด็กหรือตอนโต หรืออย่างน้อยก็เคยอ่านแต่ไม่รู้ว่าคือนิทานของอีสป
ว่าแต่อีสปนี่ใคร?
แน่นอน...วันนี้เราจะมาว่ากันด้วยเรื่องนั้นแหละ แต่ก่อนอื่นขออ้างอิงข้อมูลก่อน เนื้อหาในวันนี้นำมาจากหนังสือ Aesop's Fable สำนักพิมพ์ Collins Classic (HarperCollinsPublisher) ขอไม่เขียนแบบบรรณานุกรมก็แล้วกัน เดี๋ยวจะดูจริงจังเกินไป วันนี้แค่อยากมาเล่าเรื่องราวของชายชื่อ 'อีสป' ให้ฟังเพียงเท่านั้น
เรื่องราวเกี่ยวกับชายผู้นี้แสนลึกลับ
ตามบันทึกเกี่ยวกับอีสปนั้นปรากฏข้อมูลของเขาไม่ชัดเจนมากนัก แต่ละสำนักต่างบอกเล่าความเป็นมาเกี่ยวกับเชื้อชาติและการปรากฏตัวของเขาแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามตำนานเล่าขานกันว่าอีสปนั้นเกิดในยุคสมัยกรีกโบราณ และเดิมทีเป็นทาส
เป็นที่รู้กันว่าชาวกรีกโบราณในช่วงเวลาของอีสปนั้นให้ความสำคัญกับวิชาความรู้และภูมิปัญญาเป็นอย่างมาก (สังเกตได้จากนักปราชญ์ชาวกรีกโบราณทั้งหลาย ที่บางคนก็ทำได้แค่พยายามเป็นนักปราชญ์ในช่วงเวลาดังกล่าวโดยไม่ได้รับการยอมรับจากฝูงชน) ด้วยเหตุนี้ต่อมาอีสปจึงได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ เนื่องจากเขาได้ถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาผ่านนิทานของเขา จนนิทานมากมายกลายเป็นต้นแบบของคุณธรรมในช่วงเวลานั้น
กระทั่งปัจจุบันนิทานเหล่านี้ก็ยังตกทอดมาถึงพวกเราที่ยังมีชีวิตอยู่ และอีสปได้แฝงคุณธรรม จริยธรรมบางอย่างเอาไว้ในทุกๆ เรื่อง นิทานของเขาแต่ละเรื่องนั้นไม่ยาว (เรียกว่าสั้นเลยก็ได้) มักจะขับเคลื่อนเรื่องราวด้วยบทสนทนา และจุดเด่นคือมักมีการนำสัตว์ต่างๆ มาสวมใส่บทบาทความเป็นมนุษย์เข้าไปเพื่อสร้างตัวละคร โดยดำเนินเรื่องภายใต้สถานการณ์ที่เรียบง่ายแต่แฝงด้วยข้อคิดปรัชญา นอกจากนี้คุณธรรมจากนิทานของอีสปยังตรงกับแนวทางการปฏิบัติตนในพระคำภีร์ไบเบิล รวมถึงกฏเกณฑ์ของศาสนาอื่นๆ บางประการอีกด้วย ยกเว้นในแง่มุมของวิญญาณ
อีสปมักตั้งชื่อเรื่องเป็นคู่
ไม่ต้องยกตัวอย่างเรื่องไกลตัวเลย อย่าง 'กระต่ายกับเต่า' (The Hare and the Tortoise) เรื่องนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก เป็นเรื่องเกี่ยวกับกระต่ายที่วิ่งแข่งกับเต่า แต่ประมาทผล็อยหลับไประหว่างการแข่งขัน ทำให้เต่าที่แสนเชื่องช้าแต่ไม่เคยหยุดเดินกลับเป็นฝ่ายชนะ คนเราจึงไม่ควรประมาทนั่นเอง
หรือจะเป็นเรื่อง 'ราชสีห์กับหนู' (Lion and the Mouse) ที่เตือนให้เราอย่าหมิ่นผู้น้อย 'หมาป่ากับแกะ' (The Wolf and the Lamb) ที่ให้ข้อคิดเกี่ยวกับข้ออ้างของคนเผด็จการ นิทานของอีสปมีหลายร้อยเรื่องหลากหลายข้อคิดจนเก็บเอามาเล่าในครั้งเดียวไม่ไหว ทั้งนี้ก็ยังมีบางเรื่องที่ไม่ได้มีชื่อเรื่องเป็นคู่ เช่น เด็กเลี้ยงแกะ หรืออาณาจักรของสิงโต เป็นต้น
 
     ไหนๆ ก็พูดถึงนิทานอีสปแล้ว วันนี้จะหยิบยกเรื่องที่ไม่ได้โด่งดังเท่าที่ควรมาเล่าสักเรื่อง เกี่ยวกับการเปลี่ยนสถานการณ์เพื่อเอาตัวรอด หรือพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส หรือภาษาพูดก็คือ 'คนอยู่เป็น' และเรื่องนี้ที่เลือกมานั่นก็คือ
ค้างคาวกับพังพอน (The Bat and the Weasels)
เป็นอีกเรื่องที่อีสปสร้างตัวละครด้วยสัตว์ และตั้งชื่อเรื่องเป็นคู่เช่นนี้ มาเริ่มกันที่เจ้าค้างคาวตัวหนึ่ง ลื่นไถลตกจากต้นไม้ลงไปนอนบนพื้น พังพอนเดินมาเจอเข้ากำลังจะฆ่าเจ้าค้างคาว แต่ค้างคาวขอร้องให้ไว้ชีวิตมัน
"มันเป็นธรรมชาติของพังพอนที่จะออกล่าพวกสัตว์ปีก" พังพอนเอ่ย
"ข้าไม่ใช่สัตว์ปีก แต่ข้าเป็นหนู" ค้างคาวเอ่ย ด้วยเหตุนั้นพังพอนจึงปล่อยมันไป
ต่อมาเจ้าค้างคาวตัวเดิมเกิดตกลงมาจากต้นไม้อีกครั้ง คราวนี้เจอเข้ากับพังพอนตัวที่สอง มันทำเหมือนเดิมคือขอร้องให้พังพอนตัวนี้ไว้ชีวิตมัน
"ข้าปล่อยไปไม่ได้หรอก ข้ามีความเกลียดชังพวกหนูเป็นพิเศษเสียด้วย!" พังพอนตัวที่สองเอ่ย
เจ้าค้างคาวจึงตอบว่า
"ข้าไม่ใช่หนู แต่ข้าเป็นค้างคาวต่างหาก"
ด้วยเหตุนี้เจ้าค้างคาวจึงรอดตายอีกครั้ง เพราะ 'ความอยู่เป็น' นี่เอง
🙃 ถ้าสนใจนิทานอีสปลองไปหาอ่านกันเพิ่มเติมนะคะ เราเองก็ยังอ่านไม่ครบทุกเรื่อง มันเยอะมากๆ เลย
โฆษณา