26 ก.ค. 2021 เวลา 14:40 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ลักกระแสไฟฟ้าไปขุดเหรียญ
เมื่อประมาณสัปดาห์กว่า ๆ ที่ผ่านมา ทางการมาเลเซียได้เผยแพร่ภาพและคลิปวิดีโอเกี่ยวกับการทำลายวัตถุที่ใช้ในการกระทำความผิดที่มีมูลค่ากว่า 1.26 ล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ 42 ล้านบาท)
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Bangkok Post ชมคลิปวิดีโอได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=c_tcg9kOfkg&t=1s
ใครที่เรียนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วย ทรัพย์ คำพิพากษาฎีกาฉบับแรก ๆ ที่ต้องเจอคือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 877/2501 ที่วางเป็นบรรทัดฐานไว้ว่า
“การลักกระแสไฟฟ้า ย่อมเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 หรือ 335 แล้วแต่กรณี”
คือกระแสไฟฟ้าถือว่าเป็นทรัพย์ แม้จะไม่มีรูปร่างก็ตาม หลังจากมีคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้แล้ว ก็เป็นอันยุติว่ากระแสไฟฟ้าที่ไม่มีรูปร่างนั้น สามารถลักขโมยไปได้ ผู้ที่ลักขโมยไปนั้นก็ต้องมีความผิดฐานลักทรัพย์
ต่อมาก็มีปัญหาเรื่องของการลักขโมยสัญญาณโทรศัพท์ เพราะสัญญาณโทรศัพท์ก็ก็คล้ายกับกระแสไฟฟ้าคือไม่มีรูปร่างเหมือนกัน เมื่อมีคดีลักสัญญาณโทรศัพท์ขึ้นสู่ศาล ศาลฎีกาก็ได้วินิจฉัยและตัดสินไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1880/2542 ว่า
“คำว่า "โทรศัพท์" สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนอธิบายว่า โทรศัพท์เป็นวิธีแปลงเสียงพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้าแล้วส่งกระแสไฟฟ้าให้กลับเป็นเสียงพูดอีกครั้งหนึ่ง สัญญาณโทรศัพท์จึงเป็นกระแสไฟฟ้าที่แปลงมาจากเสียงพูดเคลื่อนที่ไปตามสายลวดตัวนำจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การที่จำเลยลักเอาสัญญาณโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์แห่งประเทศไทยไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เช่นเดียวกับการลักกระแสไฟฟ้า”
ต่อมาก็ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาอีกหลายอันที่ตัดสินไปในแนวทางเดียวกันว่า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2286/2545
“สัญญาณโทรศัพท์เป็นกรรมวิธีแปลงเสียงพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้าแล้วส่งกระแสไฟฟ้านั้นไปในสายลวดไปเข้าเครื่องที่ศูนย์ชุมสายประจำภูมิภาคของการสื่อสารแห่งประเทศไทยผู้เสียหาย แล้วแปลงสัญญาณไฟฟ้าเป็นคลื่นวิทยุส่งไปยังเครื่องรับปลายทางในต่างประเทศ เครื่องรับปลายทางจะแปลงสัญญาณกลับเป็นเสียงพูดอีกครั้งหนึ่ง สัญญาณโทรศัพท์จึงเป็นกระแสไฟฟ้าที่แปลงมาจากเสียงพูดเคลื่อนที่ไปตามสายลวดที่จำเลยต่อพ่วงเป็นตัวนำจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การที่จำเลยลักเอาสัญญาณโทรศัพท์จากสายโทรศัพท์ซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์”
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก testequipmentdepot.com
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4944/2549
“ศาลชั้นต้นวินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์แล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยใช้โทรศัพท์ซึ่งมีสายไฟสองสายต่อพ่วงเข้ากับโทรศัพท์ในตู้โทรศัพท์สาธารณะของผู้เสียหายแล้วโทรศัพท์ออกไป หลังจากนั้นศาลจึงนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยความหมายของคำว่า "โทรศัพท์" ตามที่สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่ม 7 ให้ความหมายไว้ว่า โทรศัพท์เป็นวิธีแปลงเสียงพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้าแล้วส่งกระแสไฟฟ้านั้นไปในลวดไปเข้าเครื่องรับปลายทาง ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนกระแสไฟฟ้าให้กลับเป็นเสียงพูดอีกครั้งหนึ่ง สัญญาณโทรศัพท์จึงเป็นกระแสไฟฟ้าที่แปลงมาจากเสียงพูดเคลื่อนที่ไปตามสายลวดตัวนำจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งแล้ววินิจฉัยว่าการที่จำเลยลอบใช้สัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายเป็นความผิดฐานลักทรัพย์”
คดีนี้จำเลยหัวหมอด้วยนะครับ ต่อสู้ว่าศาลรับฟังและวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวน ซึ่งศาลก็ได้บอกไว้ว่า
“การวินิจฉัยของศาลจึงเป็นการสืบค้นจากหนังสืออ้างอิงที่วิญญูชนทั่วไปก็สามารถทราบได้เมื่อเปิดดูจากหนังสือดังกล่าว โดยอาศัยข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปที่ศาลสามารถวินิจฉัยได้เอง กรณีมิใช่เป็นการรับฟังและวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวน”
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12328/2558
แม้โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยทั้งสามเป็นคนตัดสายคอนโทรลเคเบิล แต่จุดที่มีการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 อยู่ภายในบริเวณรั้วของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการยากที่บุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจะเข้าไปตัดสายคอนโทรลเคเบิลในที่เกิดเหตุได้ และการที่สายคอนโทรลเคเบิลถูกตัด มีผลทำให้มิเตอร์ไฟฟ้าคิดค่าไฟฟ้าต่ำกว่าความจริง ทั้งยังพบว่ามีสายไฟฟ้าซึ่งต่อกับสายคอนโทรลเคเบิลถูกลากไปที่โรงเก็บของจำเลยที่ 1 แม้สายไฟฟ้าดังกล่าวถูกตัดไปและไม่พบสวิตช์ควบคุมในโรงเก็บของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่จำเลยทั้งสามไม่ได้นำสืบปฏิเสธว่าสายคอนโทรลเคเบิลไม่ได้ถูกตัด ประกอบกับจำเลยที่ 1 ยอมชำระค่าปรับกรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้าและตกลงยอมชำระค่าไฟฟ้าที่มีการปรับปรุงเพิ่มตามหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งเป็นจำนวนเงินค่ากระแสไฟฟ้าที่สูงมาก หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำผิดจริงก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยที่ 1 จะยอมเสียค่าปรับและทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ลักกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคผู้เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 อยู่ในขณะเกิดเหตุ จึงเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิด ต้องถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย
2
โปรดสังเกตว่าคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12328/2558 นี้ จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด ดังนั้นเมื่อนิติบุคคลกระทำความผิดทางอาญา ผู้แทนของนิติบุคคลอันได้แก่ กรรมการของบริษัทจำเลย ก็จะต้องรับผิดร่วมด้วย ผลสุดท้าย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถูกจำคุกคนละ 3 ปี อย่านึกว่าเอาบริษัททำแล้วจะรอด
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก examiner.com.au
ภาพและคลิปวีดีโอที่ให้ดูตั้งแต่ตอนแรกนั้น เป็นคลิปที่ทางการมาเลเซียทำลายเครื่องขุด bitcoin จำนวน 1,069 เครื่องโดยใช้รถบดถนนบททับเครื่องดังกล่าวให้เสียหายไม่อาจใช้การได้อีก
อันที่จริง การขุดหาเหรียญคริปโต(crypto mining)ไม่ได้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในประเทศมาเลเซีย แต่ผู้คนดังกล่าวถูกจับดำเนินคดีเพราะไปแอบลักขโมยใช้กระแสไฟฟ้าจากสายไฟของบริษัท Sarawak Energy เป็นมูลค่าราว 2 ล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ 66 ล้านบาท)
เป็นที่ทราบกันดีว่า ในการขุดเหรียญคริปโตเช่น bitcoin จะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นจำนวนมหาศาล จะเสียเงินเองก็ใช่ที่ ดังนั้น ผู้ขุดเหรียญดังกล่าวจึงมักจะลักลอบใช้ไฟฟ้าของบุคคลอื่นในการขุด
ในประเทศจีน ก็เคยมีคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับผู้ลักลอบใช้ไฟฟ้าไปขุดเหรียญ bitcoin เป็นมูลค่ากว่า 3 ล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ 100 ล้านบาท)เลยทีเดียว จนเดี๋ยวนี้รัฐบาลจีนประกาศให้การขุดเหรียญคริปโตเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
การลักกระแสไฟฟ้าไปขุดเหรียญจึงเป็นปัญหากฎหมายในยุคของ Disruption
โฆษณา