27 ก.ค. 2021 เวลา 06:02 • ประวัติศาสตร์
ว่าด้วยเรื่อง #ทรงผมทรงมหาอุทัยทรงมหาดไทยรองทรง
.
แอดมินเข้าใจผิดมาโดยตลอดเรื่องทรงผมคนโบราณ ที่เรารู้จักกันดี "ทรงผมมหาดไทย" ความเข้าใจที่ผิดคิดว่า ทรงผมทรงนี้คงมาจากกระทรวงมหาดไทยเป็นแน่แท้ แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ อันที่จริงแล้วมีผู้ไขความกระจ่าง แท้ที่จริงแล้ว มาจากคำว่า "อาทิตย์อุทัย" ฟังชื่อแล้วหลายคนคงสงสัยว่าเกี่ยวอะไรกับญี่ปุ่นแดนอาทิตย์อุทัยหรือไม่ ก็มิได้เกี่ยวข้องกันอีกเช่นกัน
.
เพจ “มหาดไทยชวนรู้” ของกระทรวงมหาดไทย ได้ชวนรู้ที่มาของ “ทรงผมมหาดไทย” ทรงผมยอมฮิตหลายศตวรรษของคนไทยในอดีต โดยอ้างข้อเขียนของ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทยว่า ทรงผมนี้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งพระนามของพระเจ้าแผ่นดินก็ดี สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นล้วนเกี่ยวพันกับพระอาทิตย์ขึ้นหรือพระอาทิตย์อุทัยทั้งนั้น
.
กษัตริย์พระองค์แรกยังทรงพระนามว่า ศรีอินทราทิตย์ เมืองหลวงก็มีนามว่า สุโขทัย มาจากคำว่า สุข + อุทัย และพระนามของกษัตริย์ต่อมา คือ เลอไทย ลิไทย ไสยลือไทย ก็ล้วนมาจากคำว่า “อุทัย” ทั้งสิ้น
.
ส่วนที่เกี่ยวกับทรงผมก็คือ เมื่อคนไทยถอยร่นลงมาจากดินแดนที่เป็นประเทศจีนในขณะนี้ ต่างไว้ผมยาวเกล้ามวยทั้งชายหญิงเหมือนกับคนจีนในยุคนั้น แต่เมื่อมาตั้งกรุงสุโขทัยขึ้นก็เปลี่ยนทรงผมใหม่เป็นวงกลมกลางกระหม่อม โกนรอบข้างจนเกรียน ทำให้ผมตรงกลางมีรูปเหมือนพระอาทิตย์ และเรียกชื่อผมทรงที่ตัดใหม่นี้ว่า “มหาอุไทย”
.
นานไปการเขียนสระอุ ก็กลายเป็น ฤ กลายเป็น “มหาฤทัย” ต่อไปเขียน ฤ เป็น ฎ เลยกลายเป็น “มหาฎไทย” ก่อนจะมาใช้ ด แทน เลยกลายเป็น “มหาดไทย” อย่างในทุกวันนี้
.
ทรงผม “ทรงมหาดไทย” จึงไม่เกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทย แต่มีชื่อมาตั้งแต่แรกเริ่มว่า “ทรงมหาอุทัย” หรือ “ทรงอาทิตย์อุทัย” นั่นเอง
ผม “ทรงมหาดไทย” ยังเรียกกันอีกอย่างว่า “ทรงหลักแจว” ซึ่งหลักแจวก็คือหลักไม้ปักที่ท้ายหรือหัวเรือ สำหรับผูกยึดแจวที่ใช้พุ้ยน้ำขับเคลื่อนเรือ เป็นเพียงหลักไม้ยาวประมาณ ๕๐ ซม. ไม่มีอะไรที่คล้ายกับผมทรงหลักแจวเลย ยังค้นไม่เจอข้อมูลว่าทำไมถึงเฉไฉไปได้ถึงขนาดนั้น ก็คงเช่นเดียวกับ “มหาดไทย “กับ “มหาอุทัย” นั่นแหละ
.
ทรงผมมหาดไทยได้เริ่มหมดความนิยมไปหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต่างประเทศครั้งแรกใน พ.ศ.๒๔๑๓ การไปนอกของผู้ตามเสด็จ ๒๐๘ คนครั้งนั้น มีการเตรียมตัวกันขนานใหญ่และใช้เวลาพอสมควร เพื่อไม่ให้ไปเป็นตัวตลกในต่างประเทศ การนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบนยังควรรักษาเอกลักษณ์ไว้ ไม่ต้องไปนุ่งกางเกงแบบฝรั่ง แต่การเดินเท้าเปล่าจะถูกหาว่าป่าเถื่อน
.
จึงให้ใส่รองเท้าและถุงน่องด้วยอันดับต่อมาคือทรงผม ทรงผมยอดฮิตที่ไว้กันทั้งบ้านทั้งเมืองคือทรงมหาดไทยหรือทรงหลักแจว ฝรั่งเห็นเป็นของแปลกเหมือนตัวตลก เมื่อคณะทูตไทยไปอังกฤษและฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ ๔ ก็ต้องไว้ผมยาวแบบฝรั่งไปเหมือนกัน การไปนอกครั้งนี้จึงต้องมีเวลาให้พวกทรงหลักแจวปล่อยผมให้ยาวแบบเดียวกับฝรั่งก่อน
.
อีกเรื่องหนึ่งคือ “ฟัน” ที่นิยมกินหมากจนยางจับฟันดำ ไม่ขาวเป็นธรรมชาติเหมือนฟันคนทั่วไป ก็ต้องอดหมากขัดฟันให้ขาวเสียก่อนไปจะได้ไม่เป็นตัวประหลาด
.
หลังจากเสด็จต่างประเทศครั้งนี้แล้ว ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในราชสำนักและระบอบราชการ ห้ามข้าราชการไว้ผมทรงมหาดไทย ต้องไว้ผมยาวแบบ “สากลนิยม” แต่ไม่ห้ามไปถึงราษฎร เมื่อชาวบ้านเห็นบุคคลระดับสูงไว้ผมยาวก็เลยไว้กันมากขึ้น จนทรงมหาดไทยหายไป แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) นักเรียนภาษาอังกฤษรุ่นแรกของกรุงสยาม ยังติดทรงแบบเก่าอยู่ จึงตัดสั้นรอบศีรษะแบบทรงมหาดไทย แต่ไว้ยาวด้านบน ทรงนี้มีคนชอบและไว้ตามเหมือนกัน เรียกกันว่า “รองทรง” และเป็นทรงที่นิยมกันมาจนถึงทุกวันนี้
.
“ทรงมหาอุทัย” ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงสุโขทัย จนมาสิ้นสุดในต้นรัชกาลที่ ๕ นับว่าเป็นทรงนิยมยืนยาวถึง ๖ ศตวรรษ ส่วน “รองทรง” ก็ได้รับความนิยมมากว่าศตวรรษแล้ว ส่วนจะยืนยาวไปอีกกี่ศตวรรษ ก็ช่วยอยู่ติดตามดูกันด้วยก็แล้วกัน
ที่มา : เพจ Manager Online เรื่องเก่าเล่าสนุก
เผยแพร่: 24 ก.ค. 2562 09:44 โดย: โรม บุนนาค
ขอเชิญแวะชมหนังสือเก่า หนังสือหายากของทางร้านมากกว่า 1,000 รายการ website www.lovesiamoldbook.com
#โปรดนำหนังสือของท่านมาขายกับเราซิครับขายให้เราดีกว่าทิ้งหรือชั่งกิโลขาย
#รับซื้อจำหน่ายหนังสือเก่าหนังสือหายาก รับซื้อหนังสือเก่าให้ราคาสูงรับซื้อถึงบ้าน
สอบถามผ่านช่องทางต่างๆ
โทร.062-253-9423
ร่วมติดตาม แฟนเพจ "รักสยาม หนังสือเก่า" ไม่พลาดเรื่องราว หนังสือ ชีวิตผู้คน เหตุการณ์ต่าง ๆ บนแผ่นดินสยาม
โฆษณา