27 ก.ค. 2021 เวลา 11:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สรุปเรื่อง รัฐบาลจีน ทุบนายทุน ทำให้หุ้นเทคจีนลงแรง ในตอนนี้
4
รัฐ จัดระเบียบ ทุน น่าจะเป็นคำอธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจีนตอนนี้ได้เห็นภาพที่สุด
รัฐ​ คือ ทางการจีน
ทุน คือ บริษัทเทคโนโลยีจีนยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย
เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องใหญ่สุดในรอบหลายปีของตลาดทุนจีน
ใครโดนไปแล้วบ้าง แล้วใครกำลังจะโดนอีก
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
4
ใครติดตามข่าวจะเห็นเรื่อง การจัดการการผูกขาดทางการค้ากับบริษัทเทคโนโลยีจีนยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย โดยเริ่มต้นจาก
- เครือ Alibaba ที่หยุดการ IPO ของ Ant Group เจ้าของ FinTech ที่ใหญ่สุดในโลก จากแจ็ก หม่า ที่เป็นคนพูดเยอะกลายเป็นต้องเงียบไม่ออกสื่อ
3
และอีกหลายบริษัท ในหลายกลุ่มทุน
- Meituan Dianping แอปพลิเคชัน Food Delivery อันดับ 1 ของจีน
- Tencent Music แอปพลิเคชันฟังเพลงอันดับ 1 ของจีน โดนรัฐบาลจีนปรับเรื่องผูกขาดลิขสิทธิ์ธุรกิจเพลง
- Didi Chuxing แอปพลิเคชันเรียกแท็กซี่อันดับ 1 ของจีน ที่เพิ่ง IPO ที่ตลาดหุ้น Nasdaq โดนรัฐบาลจีนสั่งลบแอปพลิเคชันออกจาก App Store และ Play Store ห้ามมีผู้ใช้งานใหม่ โดยรัฐบาลจีนบอกว่ากังวลต่อความปลอดภัยของข้อมูลสำคัญของจีน
12
และล่าสุดคือธุรกิจกวดวิชา ซึ่งรัฐบาลจีนมองว่า​จะกลายเป็นปัญหาของจีนในอนาคตได้ เพราะตอนนี้เด็กจีนเรียนหนักเกินไป ภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ที่จ่ายให้ธุรกิจกวดวิชาเหล่านี้ ก็สูงเกินไป หรือมองอีกนัยหนึ่งก็คือ ธุรกิจ AST (After School Tutoring) หรือกวดวิชาในจีนเหล่านี้ กำลังใหญ่และทรงอิทธิพลเกินไป
18
ทำให้ล่าสุดรัฐบาลจีนประกาศให้ธุรกิจกวดวิชาที่สอนเนื้อหาเหมือนในห้องเรียน ต้องเป็นธุรกิจที่ไม่แสวงหาผลกำไร และผู้ทำธุรกิจเดิมหรือผู้จะทำธุรกิจใหม่จะไม่สามารถระดมทุนในตลาดทุนได้
8
การที่รัฐเข้ามาควบคุม ผ่านการออกกฎที่กระทบกับการทำธุรกิจของบริษัทเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อความกังวลของนักลงทุนต่างชาติอย่างมาก สังเกตได้จากการเร่งเทขายหุ้นเทคโนโลยีจีน ทั้งในตลาดสหรัฐอเมริกา ตลาดหุ้นฮ่องกง และตลาดหุ้นจีน
7
เมื่อเป็นแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นทันที คือ การปรับตัวลงของราคาหุ้นที่เกี่ยวข้อง
บริษัทเทคโนโลยีจีน มูลค่าหายไปเฉลี่ย 40% จากจุดสูงสุด
แต่ดูเหมือนว่า หุ้นที่ถูกกระทบหนักที่สุด ก็คือหุ้นกลุ่ม Education Technology ซึ่งหุ้นกลุ่มนี้บางรายปรับตัวลง 90% จากจุดสูงสุด
5
ทำไมรัฐบาลจีนถึงมองว่า ธุรกิจกวดวิชา เป็นธุรกิจที่ควรจัดระเบียบ ?
จากการสำรวจ ภาระค่าใช้จ่าย 3 อันดับสำคัญของคนจีนในยุคนี้ คือ ค่ารักษาพยาบาล ค่าการศึกษาลูก และ ค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัย ดังนั้นจึงตีความได้ไม่ยากว่า นี่คือ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ทางการจีนต้องเข้ามาจัดการ
12
รู้หรือไม่ว่า ธุรกิจกวดวิชาในจีน ถูกประเมินว่ามีมูลค่ากว่า 3.7 ล้านล้านบาท
5
คนจีนมีความเชื่อว่า การศึกษาสามารถเปลี่ยนชีวิตได้ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่า ทำไมพ่อแม่ชาวจีน ถึงให้ความสำคัญ และยอมทุ่มเทค่าใช้จ่ายเพื่อให้ลูกเข้าถึงการศึกษาที่ดีที่สุด
3
จากผลสำรวจของคนจีนในเมืองใหญ่ พบว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสำหรับการเรียนกวดวิชาของลูก จะอยู่ที่คนละ 40,000-50,000 บาทต่อเดือน
8
ภาระค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนจีนไม่อยากมีลูก และประเด็นนี้กำลังส่งผลต่อเรื่องปัญหาประชากรของจีน โดยมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 ประชากรจีนจะเริ่มหดตัวลง พร้อม ๆกับสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น
5
ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวเหล่านี้ สิ่งที่รัฐบาลจีนทำ นอกเหนือจากนโยบายคลายกำเนิดที่ประกาศไปก่อนหน้า คือการพยายามลดภาระค่าใช้จ่ายของการมีลูก และทำให้คนกลับมาอยากมีลูกเพิ่มขึ้น
10
และล่าสุดรัฐบาลจีนได้ออกนโยบาย Double Reduction Policy (双减) คือ นโยบายที่มุ่งเน้นการลดปริมาณการบ้าน และลดชั่วโมงเรียนพิเศษ ของเด็กจีน จึงถูกประกาศออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาและหวังลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของคนจีน
7
สาระสำคัญของนโยบายนี้ คือการลดความเครียดของเด็ก ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และลดภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ โดยนโยบายนี้ครอบคลุมสำหรับการเรียนกวดวิชาของระดับชั้น K9 ลงมา หรือเทียบเท่า ม.3 ในไทย ซึ่งเป็นระบบการศึกษาภาคบังคับของจีน
8
นโยบายนี้จะบังคับให้ธุรกิจ AST ในจีน เปลี่ยนมาเป็น บริษัทที่ไม่เเสวงหาผลกำไร รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลจีน จะไม่ให้มีบริษัทติวเตอร์เปิดใหม่ที่มีการสอนซ้ำกับหลักสูตรภาคบังคับของโรงเรียนปกติ และห้ามธุรกิจกวดวิชาเหล่านี้เข้าระดมทุน ห้ามทำโฆษณาเชิญชวนขายคอร์สเรียน และห้ามโรงเรียนกวดวิชาสอนในช่วงวันเสาร์ อาทิตย์ วันหยุดเทศกาล และช่วงปิดเทอม
5
นอกจากธุรกิจการศึกษาของจีนที่โดนจัดการไปแล้ว รู้หรือไม่ว่า อีกหนึ่งภาคธุรกิจที่เป็นเป้าหมายต่อไปของจีน คือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เพราะค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องค่อนข้างสูง จากการที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากการเก็งกำไร
4
ทำให้ทางการจีน ออกมาตรการลดความร้อนแรง ทั้งปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การออกกฎควบคุมแพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังในจีน อย่าง Lianjia ที่ทำแพลตฟอร์ม นายหน้า ซื้อ ขาย เช่า ที่อยู่อาศัยครบวงจร
8
Cr.entrackr
ในประเทศจีน Lianjia ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ในจีน คิดเป็นสัดส่วน 52% และที่ผ่านมาเพิ่งโดนทางการจีน สั่งปรับในประเด็นการผูกขาดตลาด นั่นก็คือ หากจะประกาศขาย เช่า ที่อยู่อาศัยใน Lianjia แล้วห้ามไปประกาศในแพลตฟอร์มอื่น จากมาตรการเหล่านี้ทำให้หุ้น KE Holdings ก็ปรับตัวลงมาจากจุดสูงสุดแล้วเกือบ 70%
6
จากการสังเกต จะเห็นว่า การเข้ามาควบคุมของรัฐบาลจีนส่วนใหญ่ จะเกิดขึ้นในธุรกิจแพลตฟอร์มที่มีขนาดใหญ่ และมีการผูกขาด จนทำให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งส่งผลทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งในการทำมาหากิน และการใช้ชีวิตของประชาชนตามมา
6
อย่างไรก็ดี การเข้ามาควบคุมโดยใช้นโยบายต่าง ๆ เหล่านี้ ที่รัฐบาลมุ่งหวังจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระยะยาว จะตอบโจทย์ได้จริงหรือไม่ ? สิ่งเหล่านี้ถือเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม
3
หนึ่งในตัวอย่าง ที่พอจะสะท้อนได้ จากสื่อจีนที่ไปสัมภาษณ์ผู้ปกครอง หลังนโยบาย Double Reduction ได้ประกาศบังคับใช้ โรงเรียนกวดวิชาหลายโรงเรียนต้องหยุดการเรียนการสอน พบว่าพ่อแม่ส่วนหนึ่ง มองว่าไม่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะตอนนี้ต้องดิ้นรนไปหาติวเตอร์ส่วนตัวมาสอนลูกแทน ซึ่งราคาต่อชั่วโมงของติวเตอร์เหล่านี้ ตอนนี้สูงถึงชั่วโมงละ 2,000-4,000 บาท เรียกว่าปรับตัวสูงขึ้นมาก จนแพงกว่าการจ่ายค่าคอร์สออนไลน์ให้กับบรรดาธุรกิจ AST หลายเท่าตัว
9
ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจีนหลังจากนี้ คงต้องรอติดตามในระยะยาวว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างที่ทางการจีนหวังไว้ได้หรือไม่
2
แต่สิ่งที่สะท้อนทันทีในระยะสั้น คือ การเทขายของหุ้นเทคโนโลยีจีน ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปยังตลาดหุ้นทั่วโลก
1
โดยถ้าประเมินจากดัชนีหุ้นเทคโนโลยีจีนที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ (NASDAQ Golden Dragon China Index) ถ้านับจากจุดสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ มูลค่าของหุ้นกลุ่มนี้ได้หายไปแล้วกว่า 24.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นการปรับตัวลดลงมากว่า 45% แล้วนั่นเอง..
2
โฆษณา