27 ก.ค. 2021 เวลา 12:38 • สุขภาพ
ทีมวิจัยวัคซีน Nano Covax ของเวียดนาม เผยผลการทดสอบในมนุษย์เฟส 1 และ 2 ผลข้างเคียงอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ
ทีมวิจัยวัคซีน Nano Covax ของประเทศเวียดนาม ได้เผยแพร่ผลการทดสอบในมนุษย์เฟส 1 และ 2 เป็นที่เรียบร้อย หลังจากที่กำลังทดสอบเฟส 3 อยู่ภายในประเทศ ซึ่งถ้าดูจากจำนวนเคสในเวียดนามตอนนี้แล้ว คาดว่าผลของเฟส 3 คงอาจออกมาในเร็วๆ นี้ ซึ่งวัคซีน Nano Covax ของเวียดนามนี้เป็น Subunit vaccine (วัคซีนที่ทำจากบางส่วนของแบคทีเรียหรือไวรัส) ผลิตโดยบริษัท Nanogen Pharmaceutical Biotechnology JSC ของเวียดนาม
โดยแอนติเจนของวัคซีนจะเป็นโปรตีนสไปค์ (ไวรัสที่มีผิวโปรตีน) รูปแบบเต็มที่ มีการปรับกรดอะมิโนให้มีความเสถียรต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ทำให้กระตุ้นแอนติบอดีได้ดีขึ้น เป็นโครงสร้างเดียวกันกับวัคซีนของ NOVAVAX ของสหรัฐอเมริกา แต่มีข้อแตกต่างที่เห็นชัดอยู่ 2 ข้อ
🔸 ข้อแรกคือ วัคซีนของเวียดนามไม่ได้นำโปรตีนสไปค์มารวมกันเป็นอนุภาคนาโนเหมือนนวัตกรรมของ NOVAVAX
🔸 ข้อที่สองคือ สารกระตุ้นภูมิ หรือ adjuvant ของ Nano Covax ใช้ aluminum hydroxide ที่ใช้ในวัคซีนทั่วไป แต่ NOVAVAX ใช้สูตรเด็ดของบริษัท ชื่อว่า M1 ซึ่งเชื่อว่ามีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิได้สูงกว่า adjuvant อื่นๆ
1
การทดสอบใช้วัคซีน 3 ขนาน คือ 25, 50 และ 75 ไมโครกรัม โดยฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์ ผลข้างเคียงอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ไม่มีอาสาสมัครที่มีผลข้างเคียงรุนแรงใดๆ การทดสอบระดับภูมิคุ้มกันของอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนแต่ละโดส ด้วยการดูระดับแอนติบอดีต่อสไปค์ วิธี Surrogate Neutralization (% inhibition) และ Neutralizing Ab (NAb) โดยใช้ไวรัสตัวจริง (สายพันธุ์ Wuhan) พบว่า ภูมิคุ้มกันจากการฉีดเข็มแรกยังไม่มีอะไรที่ตรวจวัดได้อย่างชัดเจน จะเริ่มเห็นภูมิหลังฉีดเข็มสองประมาณ 7 วัน และ จะขึ้นสูงชัดที่ 14 วันหลังเข็มสอง ค่า NAb ที่วัดจากไวรัสตัวจริงได้ประมาณ 1:100 ในทุกขนานของวัคซีน และข้อมูลด้าน T cell ทีมวิจัยบอกว่าไม่สามารถตรวจพบได้เหมือนกับที่ NOVAVAX ทำได้ โดยให้ความเห็นว่าอาจจะเป็นเพราะ adjuvant ที่ใช้ไม่มีคุณสมบัติดีเท่ากับ M1
ผลจะออกมาเป็นอย่างไรคงต้องดูประสิทธิภาพของวัคซีนในเฟส 3 โอกาสการใช้เข็ม 3 ก็อาจจะเป็นได้ เพราะผลจากประเทศคิวบาเองที่ใช้ Subunit vaccine ก็ต้อง 3 เข็มถึงจะได้ประสิทธิภาพที่มากพอ แต่สิ่งที่ชื่นชมทีมวิจัยของเวียดนามคือ งานวิจัยนี้สามารถผ่านเฟส 2 มาได้อย่างสวยงาม ทีมประเทศไทยของเราอาจจะช้ากว่าเวียดนาม แต่มั่นใจว่าเราต้องตามทันได้ในที่สุดครับ Think positive! (ทีมไทยแลนด์ที่ใช้ Platform นี้คือ ทีมใบยา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
เรื่องโดย
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา
นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค-สวทช.
โฆษณา