28 ก.ค. 2021 เวลา 05:08 • สุขภาพ
ข่าวดีของคอกาแฟ
คาเฟอีนเป็นสารอัลคาลอยด์ที่พบมากในเมล็ดกาแฟ แม้ว่ามันจะทำให้เราเสพติดได้เพราะหลังจากที่ดื่มสารนี้จะกระตุ้นสมองให้หลั่งสารสื่อประสาทแห่งความสุขที่ชื่อว่า โดปามีน (Dopamine) ทำให้ผู้ดื่มรู้สึกดี และเมื่อดื่มติดต่อกันเป็นเวลานานๆ แล้วหยุดดื่มกระทันหันก็จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้
คาเฟอีน : ความลับในกาแฟ
แต่มีข่าวดีคือ จากการรวบรวมผลการศึกษาโดยการติดตามอาสาสมัครจำนวน 1,567 คน ยาวนานถึง 18 ปี พบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟเลย
ผู้ที่ดื่มกาแฟวันละแก้ว จะช่วยลดอัตราการตายจากทุกสาเหตุลงได้ 27% (หรืออาจแปลง่ายๆว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟวันละแก้วเสียชีวิตน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ดื่มเลย อยู่ 27%)
ส่วนผู้ที่ดื่มกาแฟวันละ 2 แก้ว ขึ้นไป เสียชีวิตน้อยกว่าถึง 44%
และที่น่าสนใจคือ พบว่าผู้ที่ดื่มกาแฟลดคาเฟอีน (decaffeinated coffee) ไม่มีส่วนช่วยในการลดอัตราการตายของกลุ่มอาสาสมัคร
แสดงว่า คาเฟอีน เป็นสารออกฤทธิ์ที่สำคัญที่มีส่วนช่วยในการยืดอายุ แม้ว่าในเมล็ดกาแฟยังมีสารสำคัญอื่นที่ถูกคาดหมายว่าจะมีส่วนช่วยในการชะลอความชรา อย่างเช่น สารโพลีฟีนอล และ กรดคลอโรเจนิก ก็ตาม เพราะกาแฟลดคาเฟอีนยังคงมีสารโพลีฟีนอล และ กรดคลอโรเจนิกอยู่ด้วยแต่ไม่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตเหมือนกับกาแฟที่มีคาเฟอีน
ต้องดื่มกาแฟเท่าไรจึงจะดี
คำตอบคือ ไม่เกินวันละ 3 แก้ว เพราะประสิทธิผลในการลดอัตราการตายกับปริมาณการดื่มกาแฟนั้นไม่ได้สัมพันธ์กันเป็นเสันตรง โดยนักวิจัยพบว่าการดื่มวันละ 4 แก้วช่วยลดการเสียชีวิตได้น้อยกว่าวันละ 3 แก้ว ดังนั้นอาจสรุปได้ว่าประสิทธิผลในการลดอัตราการตายนั้นสูงสุดที่วันละ 3 แก้วนั่นเอง
นอกจากนี้ยังพบว่า การดื่มกาแฟวันละ 3 แก้ว ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุในกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ร่วมกันกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีด้วย
ที่มา https://www.journal-of-hepatology.eu/article/S0168-8278(17)32211-0/fulltext
หลักฐานเหล่านี้ทำให้มองเห็นคุณประโยชน์ในด้านดีของคาเฟอีน แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่ทราบว่าคาเฟอีนมีกลไกอย่างไรในการช่วยยืดอายุขัยของมนุษย์ก็ตาม และเราควรดื่มกาแฟในปริมาณที่เหมาะสมและยังต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำตาลและครีมเทียมที่อยู่ในกาแฟ 3 in 1 ด้วย พึงระลึกว่ากาแฟดำเท่านั้นที่ดีต่อสุขภาพ ส่วนน้ำตาลและไขมันนั้นทำร้ายสุขภาพของเราครับ
ที่มา : Torres-Collado L, Compañ-Gabucio LM, González-Palacios S, Notario-Barandiaran L, Oncina-Cánovas A, Vioque J, García-de la Hera M. Coffee Consumption and All-Cause, Cardiovascular, and Cancer Mortality in an Adult Mediterranean Population. Nutrients. 2021 Apr 9;13(4):1241. doi: 10.3390/nu13041241. PMID: 33918797; PMCID: PMC8070495.
Crippa A, Discacciati A, Larsson SC, Wolk A, Orsini N. Coffee consumption and mortality from all causes, cardiovascular disease, and cancer: a dose-response meta-analysis. Am J Epidemiol. 2014 Oct 15;180(8):763-75. doi: 10.1093/aje/kwu194. Epub 2014 Aug 24. PMID: 25156996.
Poole R, Kennedy OJ, Roderick P, Fallowfield JA, Hayes PC, Parkes J. Coffee consumption and health: umbrella review of meta-analyses of multiple health outcomes. BMJ. 2017 Nov 22;359:j5024. doi: 10.1136/bmj.j5024. Erratum in: BMJ. 2018 Jan 12;360:k194. PMID: 29167102; PMCID: PMC5696634.
โฆษณา