28 ก.ค. 2021 เวลา 15:30 • หนังสือ
"วรรณกรรมซ้ำซาก"
"เล่มนี้อ่านจบแล้ว จะเอากลับมาอ่านอีกทำไม"
ใครบางคนเคยพูดกับฉันแบบนี้ แน่นอนว่าหนังสือเล่มที่ฉันเลือกที่จะหยิบมาอ่านซ้ำมันต้องเป็นเรื่องที่ฉันประทับใจพอสมควร หรือไม่ก็ลืมเนื้อหาไปแล้วจึงต้องหยิบมันขึ้นมาปัดฝุ่น ไม่ใช่หนังสือทุกเล่ม แต่เป็นบางเล่ม
เคยได้ยินคำคมเปรียบเทียบเกี่ยวกับความรักประมาณว่า 'หนังสือเล่มเก่าอ่านไปก็จบเหมือนเดิม' ซึ่งฉันไม่แน่ใจว่าในแง่ของความรักมันจริงแค่ไหน อาจจะแล้วแต่คู่ไปอีก เพราะฉันก็เคยเห็นคู่รักบางคู่ที่แยกย้ายกันไป พอกลับมาคบกันใหม่ดันรักกันมากกว่าเดิมเสียอย่างนั้น
แต่ที่ฉันแน่ใจก็คือถ้าคำคมข้างต้นหมายความถึงหนังสือจริงๆ ใช่...ตอนจบของเล่มก็คงเหมือนกับที่เคยอ่านเมื่อปีที่แล้วนั้นแหละ หรือตัวหนังสือทุกตัวที่รออยู่ตรงนั้นมันก็ยังรออยู่เหมือนเดิม นอกเสียจากจะมีใครมาทำลายมัน ทว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปคือความรู้สึกของฉันในการอ่านครั้งที่สอง ครั้งที่สาม ครั้งที่สี่...
"การรับรู้ของฉันในครั้งแรกที่อ่านต่างจากครั้งต่อๆ มา"
โดยเฉพาะงานประเภทวรรณกรรมที่มีคติสอนใจบางอย่างแฝงอยู่ เมื่อฉันอ่านวรรณกรรมเล่มหนึ่งตอนอายุ 6 ขวบ ฉันจะรับรู้ถึงสิ่งที่มันเข้าใจได้ง่าย ตรงไปตรงมา หรือถ้าจะซับซ้อนหน่อยก็อาจต้องมีผู้ใหญ่คอยเฉลยความนัยที่แฝงอยู่ให้เป็นข้อๆ (ซึ่งฉันมักจะปฏิเสธเมื่อผู้ใหญ่จะเฉลย เพราะตอนเด็กๆ รู้สึกอับอายที่ตีความอะไรยังไม่ค่อยได้มากนัก) ตอนหกขวบฉันกำลังนึกถึงสิ่งรอบตัวเต็มไปหมด และวรรณกรรมสักเรื่องก็ยังเข้าใจได้ยากเกินไป
เอาล่ะ...ฉันอาจจะวางหนังสือเล่มนั้นเอาไว้เฉยๆ อีกสักสองสามปีแล้วกลับมาอ่านใหม่ทั้งหมด ฉันทำอย่างนั้น และครั้งที่สองที่อ่านก็มาถึงเมื่อฉันอายุประมาณ 12 ปี ทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป รายละเอียดในหัวของฉันมันชัดเจนขึ้น ฉันเริ่มได้ยินเสียง เริ่มได้กลิ่น เริ่มมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่วรรณกรรมเล่มนั้นกำลังเล่า (เช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ในบทความที่สองชื่อเรื่อง "เข้าไปในหนังสือ") ที่มากไปกว่านั้นคือฉันถึงกับนึกเรื่องราวนั้นซ้ำๆ ขณะที่ฉันกำลังทำอย่างอื่น
"แต่ก็อย่างที่บอกไว้ว่าไม่ใช่หนังสือทุกเล่มที่จะทำได้ขนาดนี้"
วรรณกรรมบางเล่มที่ฉันไม่รู้สึกสนุก (ซึ่งไม่ได้บอกว่าไม่ดี แค่ไม่สนุกสำหรับฉัน) ฉันก็จะเก็บมันไว้อย่างนั้น เผื่อไว้ว่าสักวันถ้าฉันกลับมาอ่าน ฉันอาจจะรู้สึกอีกแบบ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ทิ้งหนังสือสักเล่ม (ยกเว้นพวกหนังสือเรียนเก่าๆ ที่เอาไปบริจาค) 
 
     ตอนเด็กๆ ฉันจำได้ว่าชอบอ่านหนังสือมากช่วงอายุประมาณ 8 ปีขึ้นไป มันเลือนลางไม่ชัดเจนนัก รู้ตัวอีกทีก็อ้าว... มองกระดานไม่เห็นเสียอย่างนั้น ฉันโดนครูจัดที่นั่งไว้หลังห้อง ช่วงแรกฉันใช้วิธีหรี่ตามองกระดาน แต่กลับบ้านมาฉันมักจะคลุมโปงเปิดไฟฉายและอ่านหนังสือ ตั้งแต่ช่วงวัยนั้น ฉันก็มีโลกของฉันอีกใบหนึ่งที่เอาไว้หลบภัยจากโลกความเป็นจริง
แม่พาฉันไปตัดแว่น
เมื่อใส่แว่นแล้วฉันยิ่งมองเห็นชัดขึ้น อ่านหนังสือนานขึ้น โตขึ้นอีกหน่อยก็เริ่มยื้อแย่งกับพี่สาวเพื่อเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ แล้วฉันก็ค่อยๆ ห่างจากวรรณกรรมที่เคยอ่าน
แต่!
ฉันอ่านนิยายวัยรุ่นในอินเตอร์เน็ต และลองแต่งนิยายเองด้วย ทำได้ไม่นานนักหรอก จังหวะชีวิตคนเรามันมีอะไรมาแทรกแซงให้ปวดหัวหลายอย่างนัก พูดเรื่องชีวิตวัยเด็กมามากพอแล้ว เอาเป็นว่าฉันจะยกวรรณกรรมตัวอย่างมาสักหน่อย
ตอนเด็กมากๆ ฉันอ่านเรื่อง 'ชาร์ล็อต แมงมุมเพื่อนรัก' ฉันรู้สึกเศร้าค้างคาอยู่หลายวันมาก เพราะฉันชอบหมู และชอบแมงมุม อยากให้พวกมันได้อยู่ด้วยกันจนจบเรื่อง การจบแบบในเรื่องนั้นทำให้เด็กน้อยอย่างฉันไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่ หนังสือเล่มนี้เป็นของพี่สาวฉัน ฉันจึงไม่ได้เก็บมันไว้ เว้นระยะไปนานมาก (20 กว่าปี) ที่ฉันเห็นหนังสือเรื่องนี้วางอยู่ในชั้นหนังสือที่ร้าน ฉันหยิบมันขึ้นมามองครู่หนึ่งแล้วจึงตัดสินใจว่าจะอ่านซ้ำ เดินตรงไปจ่ายเงินแล้วกลับมาที่บ้าน
ฉันพบความประทับใจหนึ่งว่าวรรณกรรมเล่มนี้แสดงให้เห็นถึงความธรรมชาติ เช่นอายุขัยของแมงมุมที่น้อยกว่าหมู หรือการที่เด็กหญิงเริ่มเติบโตและสนใจเพื่อนชายมากกว่าหมูที่เธอรักมากตอนยังเด็ก แต่อย่างไรก็ตามฉันสัมผัสได้ว่าเธอก็ยังรักเจ้าหมูอยู่ดี เธอแค่กำลังเติบโต
ฮาจิโกะเป็นอีกเรื่องที่ฉันอ่านซ้ำ แต่สารภาพว่าการอ่านครั้งแรกของฉันเรื่องนี้ก็คือต้นปีที่ผ่านมา เล่มไม่หนาฉันจึงกลับมาอ่านได้อีกหลายรอบสบายๆ ภายในไม่กี่เดือน ฉันชอบรายละเอียดของเรื่องนี้ที่แม้ว่าเส้นเรื่องจะตรงไปตรงมา แต่การบรรยายฉากต่างๆ ทำให้ฉันรู้สึกว่าฉันพลาดอะไรไปทุกครั้งในคราวที่แล้วที่อ่าน
หรือจะเป็นเรื่องปีเตอร์แพน ครั้งแรกที่อ่านหลังจากดูภาพยนต์ฉันก็รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นทิงค์เกอเบลที่เกลียดเวนดี้ นั่นเพราะช่วงเวลานั้นฉันเริ่มเป็นวัยรุ่นและสัมผัสได้ว่าเวนดี้ชอบปีเตอร์แพน แต่ฉันก็เหมือนคนอื่นๆ ที่อยากให้ปีเตอร์แพนคงความไร้เดียงสาไว้แบบนั้น
สิบกว่าปีผ่านไปเมื่อกลับมาอ่าน ฉันกลับชอบเวนดี้มากกว่าตัวละครอื่น เพราะเวนดี้จิตใจดีกับทุกคน แถมเธอยังพูดจากล้าหาญต่อหน้ากัปตันฮุกอีกด้วย ส่วนปีเตอร์แพนนั้นงี่เง่าเป็นบางที...จะเรียกว่างี่เง่าก็เกินไป เพราะเราทุกคนก็เคยอยากได้อะไรสักอย่างแต่ไม่ได้ในตอนเด็กๆ เลยแสดงออกไม่ค่อยน่ารักเท่าไหร่ อีกแง่หนึ่งของเรื่องนี้คือผู้เขียนเขาโปรยมาว่าปีเตอร์แพน กับฮุก แท้จริงคือคนคนเดียวกันที่แยกเป็นสองฝั่ง สุดท้ายปีเตอร์แพนฆ่าพรรคพวกของฮุกได้อย่างโหดเหี้ยมอีกต่างหาก ฉันรู้สึกว่าฉากนี้ค่อนข้างรุนแรงสำหรับเด็กๆ แต่ตอนฉันเป็นเด็กกลับไม่รู้สึกอะไรเมื่ออ่าน
"นี่แหละหนอความเป็นผู้ใหญ่ที่แสนน่าเบื่อ"
ลองดูนะ กลับไปอ่านเรื่องที่คุณเคยชอบมากๆ ทบทวนมันซ้ำๆ ให้มันซ้ำซาก อ่านเสร็จอย่าเพิ่งทิ้งหรือส่งต่อ (กรณีที่คุณชอบจริงๆ แต่ถ้านั่นจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นมากกว่าก็อยู่ที่คุณตัดสินใจ) คืนนี้ฉันอยากจะอ่านหนังสือที่ฉันเคยชอบมากๆ ซ้ำอีกครั้งเหมือนกัน แต่ขอละชื่อเรื่องไว้ ณ ที่นี้
ขอให้มีคืนที่ดี 🌜
โฆษณา