29 ก.ค. 2021 เวลา 10:49 • ท่องเที่ยว
คอปติกไคโร ชุมชนชาวคริสต์อียิปต์แต่โบราณกาล
ตอน 1/2 โบสถ์ลอยฟ้า ป้อมปราการบาบิโลน โบสถ์และอารามนางชีเซนต์จอร์จ
21 ธ.ค. 2561 สองอนงค์นุ้ย จาด เดินทางจากกรุงเทพด้วยสายการบินอียิปต์แอร์ ถึงไคโรราว 6 โมงเช้า อุณหภูมิ 11 องศาเซลเซียส เย็นสบายดี นัดรถจากที่พักมารับ ขับลอดอุโมงค์ยาวหลายกิโลเมตร ในอุโมงค์มีจุดจอดฉุกเฉินเป็นระยะๆพร้อมโทรศัพท์เพื่อติดต่อขอความช่วยเหลือเพราะด้านในไม่มีสัญญานมือถือ รถพาส่งที่พักอย่างรวดเร็ว
โรงแรมอยู่ชั้น 4 ของอาคารเก่ายุคอาณานิคมอังกฤษ ในตึกมีสำนักงานหลายห้อง มีบ้านพักอาศัย ลิฟต์เปลือยรุ่นโบราณใช้ร่วมกันทั้งตึก ต้องปิดประตูให้สนิทก่อน ลิฟต์จึงทำงาน กระตุกนิดหน่อยก่อนเลื่อนขึ้น-ลง ส่งเสียงฉึกฉักเล็กน้อยเมื่อจอด ด้านในโรงแรมตกแต่งแบบสมัยใหม่ มีห้องพักไม่ถึงสิบห้อง สะอาด รีวิวของแขกดี ได้เรตติ้งในบุ๊คกิ้งเกือบ 9 คะแนน
เวลาเช็คอินคือเที่ยงวัน จึงฝากสัมภาระไว้ มีเวลาครึ่งค่อนวัน วางแผนไว้แล้วว่าจะไปเที่ยวคอปติกไคโรในย่านเมืองเก่าตั้งแต่ยุคต้นคริสตกาล
ภารกิจแรกคือแลกเงิน!! สองอนงค์ไม่มีเงินอียิปต์ติดตัวมาเลยเพราะเมืองไทยไม่มีให้แลก วันนี้วันศุกร์ (ศุกร์-เสาร์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์) ธนาคารปิดทำการ ร้านแลกเงินเอกชนเปิด 10 โมง ที่พักเราอยู่แถว Abdeen ใกล้ย่านธนาคาร สอบถามทางจากหนุ่มรีเซฟชั่นรูปหล่อแล้ว จึงออกปฏิบัติการ
ผู้คนและรถราในท้องถนนน้อยมากเพราะเป็นวันหยุดและยังเช้าอยู่ ทางอยู่ที่ปาก จึงถามทางไปเรื่อยๆจนเจอถนนสายที่ทำการธนาคาร เนื่องจากมีธนาคารหลายแห่งและมีโบสถ์ใหญ่เซนต์โยเซฟตั้งอยู่ด้วย จึงมีเครื่องกีดขวางวางริมถนน มีรถถังและทหารประจำการพร้อมอาวุธสงคราม ทหารบนรถถังยิ้มทักทายกับเรา
เจอ จนท รปภ ธนาคาร จึงสอบถามเรื่องร้านแลกเงิน พูดกันคนละภาษา แต่สื่อกันจนเข้าใจและได้รับความช่วยเหลืออย่างดี พาไปตู้เอทีเอ็ม ซึ่งสามารถกดเงินสดแบบบ้านเราและแลกเงินต่างประเทศสกุลหลักๆได้ด้วย การแลกเงินจากตู้ทุกครั้งจะถูกหักค่าธรรมเนียม ยิ่งแลกจำนวนมาก ค่าธรรมเนียมยิ่งถูกลง เจอตู้เอทีเอ็มที่ไหน ลองเข้าไปกดได้เลย (แต่แลกที่ร้านแลกเงิน อัตราดีกว่า แถมไม่มีค่าธรรมเนียมด้วย)
เงิน 1 ปอนด์อียิปต์คร่าวๆเท่ากับ 2 บาท มีเงินแล้ว อุ่นใจขึ้นมาก เดินผ่านร้านขนมปังเพิ่งอบจากเตาร้อนๆมาวางใส่ชั้นเหล็กหน้าร้าน ขายดีมาก มีหลายอย่าง แบบกรอบ แบบ shortbread? มีไส้ ไม่มีไส้ มีแบบคล้ายๆพิตตาเบรด หลายขนาด เนื้อแป้งหนึบๆเค็มนิดๆ รสชาติคล้ายขนมปังฝรั่งเศส ราคาถูก อันละ 2 ปอนด์อียิปต์ (ราว 4 บาท) ซื้อของชอบกินรองท้องก่อน
จากนั้นเดินตามแผนที่ออฟไลน์ไปนั่งรถไฟฟ้าใต้ดินจากสถานีโมฮัมเหม็ดนากิ๊บ ไปสถานีมาเรอ เกอระกิส (Mar Girgis) รวม 5 สถานี ค่ารถคนละ 3 ปอนด์อียิปต์ (ราวๆ 6 บาท รถไฟฟ้าในกรุงเทพ 5 สถานี ราคาสูงกว่านี้เยอะเลย) รถลงใต้ดิน ขึ้นบนดิน ลอยฟ้าหน่อย แป๊บเดียวถึงย่านคอปติกไคโรแล้ว
คอปติก (Coptic) เป็นคำกรีกโบราณหมายถึงอียิปต์ คำเดียวกันนี้น่าจะเป็นที่มาของคำว่า ไอยคุปต์ ด้วย กบในกะลาหลายชั้นอย่างเราเพิ่งรู้จักคำว่าคอปติก ตอนไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ไบแซนไทน์ในกรุงเอเธนส์เมื่อปี 2560 นี่ เอง ความเป็นมาของการนับถือคริสต์ในอียิปต์ เริ่มตั้งแต่สมัยเซนต์มาร์กหรือนักบุญมาร์ก หนึ่งใน 12 อัครสาวก (12 Apostles) เดินทางมายังอเลกซานเดรียเมืองหลวงของราชวงศ์ทอเลมี หรือที่เรียกว่า ปโตเลมี เพื่อเผยแผ่ศาสนาคริสต์ราวๆปี ค.ศ. 42 หรือ 45 แต่ช่วงนั้นราชวงศ์ปโตเลมีเสื่อมอำนาจแล้ว โรมันเข้ามามีอำนาจปกครองเหนืออียิปต์ และศาสนาคริสต์ยังเป็นศาสนานอกรีต
นักบุญมาร์กน่าจะทำงานได้ผล คนท้องถิ่นและชนชั้นปกครองในอียิปต์หันมานับถือศาสนาคริสต์จำนวนไม่น้อย ถึงขั้นว่า เมืองอเลกซานเดรียเป็น 1 ใน 5 สังฆมณฑลแรกของคริสตจักรทีเดียว นักบุญมาร์กเป็นสังฆราชองค์แรกของที่นี่ด้วย
ครั้นถึงคริสตวรรษที่ 4 อียิปต์ซึ่งอยู่ใต้การปกครองของโรมันตะวันออกได้รับศาสนาคริสต์เป็นศาสนาทางการด้วย (ตามกฎหมายของจักรวรรดิโรมันตะวันออกที่รับศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำอาณาจักร) แต่ตลอดระยะเวลากว่า 300 ปีก่อนจะกลายเป็นศาสนาทางการนั้น ชาวคริสต์ถูกไล่ล่า สังหารและต้องโทษประหารจำนวนมากมาย เพราะสมัยนั้นศาสนาและลัทธิหลักๆต่างมีความเชื่อในพระเจ้าหลายองค์
ภาพวาดนักบุญมาร์กอาจมีหน้าตาต่างกันไปตามจินตนาการของศิลปิน แต่สัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเป็นท่านคือ ถือหรือเขียนหนังสือ หรือมีสิงโตในภาพ หรือรูปสิงโตมีปีก บั้นปลายของชีวิต นักบุญมาร์กถูกชาวเมืองอเลกซานเดรียใช้เชือกผูกคอ ลากร่างไปตามถนนจนเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 68 อัฐิของท่านเก็บไว้ที่เมืองอเลกซานเดรียจนกระทั่งถูกพ่อค้าชาวเวนิสขโมยบางส่วนไปเมื่อ ค.ศ. 828 กล่าวกันว่าถูกนำไปไว้ที่มหาวิหารเซนต์มาร์กในเวนิส
1
หลังเกิดข้อขัดแย้งเรื่องธรรมชาติของพระคริสต์ ในปี ค.ศ. 451 สภาคัลเซดอน (Council of Chalcedon) มีมติว่า พระคริสต์มีธรรมชาติที่เป็นพระเจ้าเท่านั้น ไม่มีธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ ใครปฏิเสธความคิดนี้ถือว่าเป็นพวกนอกรีต โบสถ์กรีกออโธด็อกซ์แห่งอเลกซานเดรียอยู่ฝ่ายนี้
ส่วนกลุ่มคริสต์ตะวันออกเชื่อว่าพระคริสต์มีธรรมชาติ 2 แบบแยกจากกันคือ ธรรมชาติที่เป็นมนุษย์กำเนิดจากพระแม่มารี และธรรมชาติที่เป็นพระเจ้า ธรรมชาติทั้งสองทำงานร่วมกัน คริสต์กลุ่มนี้จึงปฏิเสธมติของสภาคัลเซดอน ตัดขาดจากคริสตจักรกระแสหลัก คอปติกออโธด็อกซ์อยู่กลุ่มนี้
คอปติกคริสต์เผยแผ่ไปไกลถึงแอฟริกาเหนือ อาณาจักรนูเบียและอาณาจักร อื่นๆทางใต้ของอียิปต์ จนกระทั่งขุนศึกมุสลิมรบชนะดินแดนแถบนี้ ด้วยมาตรการทั้งไม้อ่อนและไม้แข็งของผู้ปกครองใหม่ชาวมุสลิม จำนวนคนนับถือคอปติกออโธด็อกซ์ค่อยๆน้อยลงจนกลายเป็นคนกลุ่มน้อย
เพิ่งรู้ตอนเตรียมข้อมูลไปเที่ยวครั้งนี้ว่า ในไทยมีโบสถ์คอปติก 2 แห่งคือที่กาญจนบุรี และบางกะปิ เพิ่งเข้ามาก่อตั้งเผยแผ่ราวๆปี พ.ศ. 2540 กว่าๆนี่เอง
ที่เดินเที่ยวในไคโรมีทั้งย่านเมืองเก่าอิสลาม (Islamic Cairo) และย่านเมืองเก่าชาวคริสต์หรือคอปติกไคโร (Coptic Cairo) ทัวร์มักจะพาไปเดินย่าน Islamic Cairo เพราะที่นั่นมีแหล่งช้อปปิ้งคือ ตลาดข่านอัลคาลีลี แต่ไม่ค่อยพาไปย่านคอปติกไคโรคงเพราะเวลาจำกัด และที่เที่ยวในอียิปต์เยอะเหลือเกิน
ย่านคอปติกไคโรเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเก่าไคโร เป็นย่านเดินเที่ยวเล่นลัดเลาะตามตรอกซอกซอยเล็กๆคดเคี้ยวเหมือนเขาวงกตแบบยุคเก่า ครอบ คลุมสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง ทั้งป้อมปราการบาบิโลน พิพิธภัณฑ์คอป ติก โบสถ์ลอยฟ้า (Hanging Church หรือชื่อเต็มๆว่า St. Virgin Mary's Coptic Orthodox Church) โบสถ์เซนต์จอร์จ สำนักหรืออารามนางชีเซนต์จอร์จ (St. George Convent) โบสถ์เซนต์เซอร์จิอัสและเซนต์แบคคัส โบสถ์นักบุญ(หญิง) บาร์บารา รวมทั้งโบสถ์ยิวเบนเอสรา ฯลฯ คอปติกไคโรเป็นชุมชนสำคัญชาวคริสต์เรื่อยมาจนถึงคริสตวรรษที่ 7 เมื่ออิสลามเข้ายึดครองอียิปต์ได้สำเร็จ เช้านี้เรามีเวลาเหลือเฟือ จึงตะลุยชมโบราณสถานที่ที่เอ่ยชื่อมาทั้งหมด
วิวพาโนรามาของคอปติกไคโรจากสถานีรถไฟฟ้าสวยงาม ดูตื่นตา สิ่งปลูกสร้างสีครีม สีน้ำตาลอ่อนๆนวลตาของอิฐ หิน และปูน มีรถจี๊ป ทหารพร้อมอาวุธสงครามประจำการรักษาความปลอดภัย (ซึ่งจะเริ่มเป็นภาพชินตาเมื่อเดินเที่ยวในเมืองสำคัญๆของอียิปต์)
จากสถานีมาเรอ เกอระกิส (Mar Girgis) ด้านซ้ายเป็นโบสถ์เซนต์จอร์จ อาคารทรงกลมหลังคาโดมสูงตระหง่าน ด้านหน้าเป็นทางเข้าพิพิธภัณฑ์คอปติกที่พลาดไม่ได้ ถัดมาทางขวาเป็นป้อมปราการบาบิโลน (BabyIon Fortress)
ลงจากสถานี เดินไปทางขวาไม่กี่สิบเมตร เจอกำแพงแบบโบราณ เป็นซุ้มประตูทางเข้าโบสถ์ลอยฟ้า (Hanging Church / Saint Virgin Mary’s Coptic Orthodox Church) สูงตระหง่านประดับปูนปั้นสวยงาม โบสถ์นี้สร้างขึ้นในคริสตวรรษที่ 4 (ข้อมูลบางแหล่งว่าสร้างราวคริสตวรรษที่ 3) ตั้งบนประตูกำแพงสูงด้านใต้ของป้อมปราการบาบิโลน ดังนั้นจึงเรียกว่าโบสถ์ลอยฟ้า ระหว่างคริสตวรรษที่ 7 - 13 เคยเป็นที่พำนักของสังฆราชของคริสตจักรอียิปต์
ด้านซ้ายของทางเดินจากประตูทางเข้าถึงบันไดทางขึ้นโบสถ์ ประดับด้วยภาพโมเสคสีสดใส เป็นเรื่องราวสำคัญๆในประวัติพระเยซู รวมทั้งภาพ The Flight Into Egypt ส่วนด้านขวาเป็นหน้าต่าง ด้านในน่าจะเป็นห้อง
โบสถ์มีหอคอยคู่ด้านบน หนังสือท่องเที่ยวว่า หลังคาโบสถ์มีรูปทรงเรือโนอาห์ ตอนเข้าไปชม ในโบสถ์กำลังประกอบพิธีอยู่ ต้องสำรวม จึงไม่ได้สำรวจซอกแซก หรือถ่ายรูปด้านใน
ปัจจุบันประชากรประมาณ 10% ของอียิปต์นับถือคริสต์ เป็นศาสนาของคนส่วนน้อยที่มีขนาดใหญ่ที่สุด การกระทบกระทั่งระหว่าง 2 ศาสนานำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อชาวคริสต์คอปติกเป็นระยะๆ โดยเฉพาะหลังการปฏิวัติในอียิปต์ในปี พ.ศ.2554 ที่เป็นส่วนหนึ่งของกระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองอาหรับสปริงเพื่อเปลี่ยนดุลอำนาจในหลายประเทศแถบนี้ (New World Order?) ด้วยเหตุนี้ในเมืองใหญ่ๆที่เราไปเที่ยว จึงพบเห็นรถถัง รถจี๊ป และทหารติดอาวุธประจำการด้านหน้าโบสถ์คริสต์หลายๆแห่ง
จากระเบียงโบสถ์ลอยฟ้า เรายืนชมวิวพาโนรามาของคอปติกไคโรจากมุมสูงเห็นโบสถ์เซนต์จอร์จเด่นเป็นสง่า ทางเดินในตรอกเล็กๆเบื้องล่าง ฟ้ากระจ่างใส ดื่มด่ำบรรยากาศสวยงามจนพอใจ จึงลงจากโบสถ์ มุ่งหน้าสำรวจที่หมายต่อไป
ออกจากโบสถ์ลอยฟ้า เลี้ยวขวาจะเจอป้อมปราการบาบิโลน (BabyIon Fortress) เมื่อจักรวรรดิอะเคเมนิด (เปอร์เซีย) เข้ายึดและปกครองอียิปต์โบราณครั้งแรก เป็นราชวงศ์ที่ 27 (ปี 525 - 404 ก่อนคริสตกาล) มีการตั้งชุมชนเปอร์เซียตามแนวเขตแดนอียิปต์ตอนบนและอียิปด์ตอนล่างของแม่น้ำไนล์ขึ้น เรียกแถบนี้ว่า บาบิโลน ตามชื่ออาณาจักรบาบิโลนอันยิ่งใหญ่บนแม่น้ำยูเฟรติส ป้อมนี้สร้างขึ้นในยุคนั้น มีการขุดคลองเชื่อมแม่น้ำไนล์กับทะเลแดงเพื่อใช้เป็นเส้นทางการค้า(และยุทธศาสตร์?)
เมื่อราชวงศ์ปโตเลมีขึ้นครองอำนาจในปี 305 - 30 ก่อนคริสตกาล ชุมชนนี้ค่อยๆถูกลืมเลือนไป จนถึงสมัยจักรพรรดิโทรจันแห่งจักรวรรดิโรมัน จึงมีการบูรณะป้อมปราการให้ใหญ่ขึ้นและบูรณะต่อมาในสมัยจักรพรรดิองค์อื่นๆด้วย กำแพงและป้อมปราการมีขนาดใหญ่ กำแพงบางช่วงหนาถึง 2.5 เมตร (บ้างว่า 3 เมตร) หอคอยทรงกลมของป้อมปราการที่หลงเหลืออยู่และผ่านการบูรณะแล้ว สูงถึง 10 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 31 เมตร
ที่หมายถัดไปคือ โบสถ์เซนต์จอร์จ หลังคาทรงโดมดูสวยเด่น เป็นโบสถ์คริสต์บนผังวงกลม แตกต่างจากผังของโบสถ์ทั่วไป อาจเป็นเพราะว่าสร้างอยู่บนหอคอยทรงกลมทางทิศเหนือของป้อมบาบิโลนยุคโรมัน ตัวโบสถ์น่าจะสูงจากพื้นดินราว 10 เมตร บันไดทางขึ้นด้านหน้ากว้างขวาง โอ่อ่ามาก กล่าวกันว่าบริเวณนี้คือที่ที่เซนต์จอร์จถูกจองจำและทรมานจนพลีชีพ สันนิษฐานว่าเดิมโบสถ์สร้างในคริสตวรรษที่ 10 แต่ในปี ค.ศ.1904 (พ.ศ. 2447 ตรงกับสมัย ร 5) เกิดไฟไหม้ จึงก่อสร้างใหม่ในจุดเดิม โบสถ์มีรั้วล้อมรอบ ด้านข้างภายในรั้วเป็นสวนหย่อม มีสุสานปลูกเป็นหลังๆเหมือนบ้านหลังน้อย (เราเห็นสุสานที่เหมือนบ้านเล็กๆแบบนี้จำนวนมากบนไฮเวย์ระหว่างทางที่ไปเที่ยวเมืองโบราณคารานิส-โอเอซิสฟายยูม) มีคนท้องถิ่นหนุ่มสาวนั่งเล่น เดินเล่นพอควร ด้านในเป็นพื้นที่สังฆาวาสไม่อนุญาตให้คนนอกเข้าไป
โบสถ์เซนต์จอร์จเป็นที่ทำการของสังฆราชนิกายกรีกออโธด็อกซ์แห่งอเลกซานเดรีย โบสถ์นี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มาเรอ เกอระกิส (Mar Girgis) เป็นที่มาของชื่อละแวกนั้น (Girgis คงหมายถึง George / จอร์จ) แม้จะอยู่ย่านคอปติกไคโร แต่เป็นโบสถ์นิกายกรีกออโธด็อกซ์ ไม่ใช่โบสถ์คอปติกออโธด็อกซ์
ออกจากโบสถ์เซนต์จอร์จ สองอนงค์สำรวจรอบๆ มีร้านขายของที่ระลึก เดินจนถึงทางเข้าจากฝั่งตลาดซูกฟูสตัต (Souk Fustat) ซึ่งเป็นช้อปปิ้งมอลล์ขายสินค้าหัตถกรรมดีไซน์เก๋ ทางเข้าฝั่งนี้คิวสแกนกระเป๋าค่อนข้างยาว
เดินย้อนลงบันไดลอดแนวกำแพงโบสถ์เซนต์จอร์จ เข้าสู่ชุมชนโบราณ ลัดเลาะไปตามทาง เจอกำแพงสูงมากของอารามนางชีเซนต์จอร์จ (St. George Convent) จึงแวะชม อารามหรือสำนักนางนี้สร้างขึ้นราวคริสต วรรษที่ 7 จากบริเวณลานตรงประตูทางเข้าต้านหน้า มีบันไดแยกเป็นสองทาง ทางขึ้นสู่อารามนางชี ไม่เปิดให้เข้าชม ส่วนทางลงนำไปสู่ห้องสักการะนักบุญเซนต์จอร์จ (St. George Shrine) ที่อยู่ระดับใต้ดิน
จากบันไดทางลง เดินไปนิดนึง เห็นโพรงข้างกำแพงด้านขวาและป้ายระบุว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เซนต์จอร์จเคยใช้รักษาอาการเจ็บป่วยในยุคก่อน หยุดสังเกตสักพัก มีนักท่องเที่ยวหรืออาจจะเป็นคนท้องถิ่นชื่งแวะมาประกอบพิธีที่นี่ เดินออกจากห้องสักการะนักบุญ แวะรองน้ำจากก๊อกที่โพรงมาประพรมใบหน้า คล้ายๆกับพวกเราเอาน้ำมนต์มาพรมหน้าพรมตัวหรือดื่มกิน เออหนอ ผู้คนหลายเผ่าพันธุ์อาจจะมีความเชื่อคล้ายๆกันหลายๆเรื่อง
เดินต่ออีกไม่กี่ก้าว ก็ถึงประตูเข้าโถงด้านใน ประตูไม้สนซีดาร์บานมหึมาสูง 7.6 เมตร กว้าง 2.22 เมตร ทำขึ้นตั้งแต่คริสตวรรษที่ 10 นับได้ว่าเป็นประตูอันซีน อย่างหนึ่งทีเดียว เพดานห้องโถงตกแต่งจากไม้สนซีดาร์เช่นกัน มีภาพนักบุญจอร์จขี่ม้าปราบมังกรประดับผนังทั้งด้านในและด้านหน้าห้องโถง
ด้านในเป็นห้องสักการะนักบุญจอร์จ ลองโผล่หน้าเข้าไปสำรวจ เห็นผู้คนด้านในนั่งกันอย่างสงบ เหมือนกำลังทำพิธีอยู่ บ้างกระชิบคุยกันเบาๆ จึงไม่เข้าไป แค่มองผ่านผาดๆ เห็นผนังด้านในมีหิ้ง บนหิ้งมีภาพเซนต์จอร์จขี่ม้าปราบมังกรและโซ่แดงห้อยลงมาจากหิ้ง ฟังว่าเป็น โช่พันธนาการนักบุญจอร์จเมื่อคราถูกคุมขังและทรมานสารพันจนโซ่อาบด้วยเลือดก่อนพลีชีพ ด้วยศรัทธาปสาทะ ผู้เลื่อมใสเชื่อกันว่าโซ่นี้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก และมีปาฏิหาริย์จริง
นักบุญจอร์จชาวคัปปาโดเซีย มีชีวิตในช่วงคริสตวรรษที่ 4 เกิดในครอบ ครัวเจ้าเมืองเล็กๆที่นับถือคริสต์ เชี่ยวชาญการรบ ต่อมาสังกัดกองทหารองครักษ์ของจักรพรรดิโรมัน เมื่อถูกสั่งให้ละทิ้งความเชื่อในศาสนาคริสต์โดยจะได้รับการปูนบำเหน็จและเหรียญตรามากมาย องครักษ์จอร์จยืนยันในศรัทธาของตน และยินดีเผชิญโทษทัณฑ์ เจ้าเมือง 70 แห่งภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมันมาประชุมเพื่อไต่สวนความผิดและพิจารณาโทษนักบุญจอร์จยาวนานถึง 7 ปี แม้จะถูกทรมานอย่างแสนสาหัสตลอด 7 ปีแต่ศรัทธาไม่เปลี่ยนแปลง เชื่อกันว่านักบุญจอร์จถูกคุมขังและทรมานในบริเวณที่ตั้งโบสถ์เซนต์จอร์จปัจจุบัน
1
เล่ากันว่า ตำนานเรื่องนักบุญจอร์จผู้พิชิตมังกรมีต้นกำเนิดจาก(ประเทศ) จอร์เจีย เล่าขานถึงวีรกรรมอันกล้าหาญของจอร์จเมื่อครั้งเดินทางไปถึงเมืองๆหนึ่งของลิเบีย พบว่ามังกรร้ายคุกคามชาวเมืองเป็นนิจ จนชาวเมืองต้องนำแกะ 2 ตัวมาเซ่นมังกรร้ายทุกวันเพื่อแลกกับความสงบปลอดภัยของชาวเมือง แต่เมื่อใดที่ขาดแคลนแกะ ชาวเมืองต้องส่งคนไปเซ่นมังกรแทน
ครานั้นราชธิดาของเจ้าเมืองถูกเลือก ไม่มีชาวเมืองคนใดขันอาสาเป็นเหยื่อแทนองค์หญิง (เค้าโครงคล้ายเรื่องไซอิ๋วตอนนึงเลย) อาคันตุกะจอร์จจึงอาสาไปปราบมังกร ใช้หอกสังหารมังกรร้าย เจ้าเมืองซาบซึ้งใจยิ่งนัก มอบรางวัลให้มากมาย แต่ผู้กล้าจอร์จกลับนำไปแจกจ่ายให้คนยากไร้ สร้างความประทับใจแก่ชาวเมืองจนผู้คนทั้งเมืองพากันบัปติสมา หันมานับถือคริสต์ ด้วยเหตุนี้ไอคอน/ภาพนักบุญจอร์จที่พบเห็นทุกที่จึงเป็นภาพทหารหาญบนหลังม้าใช้หอกสังหารมังกร บ้างตีความว่ามังกรร้ายคือกองทัพผู้รุกราน เซนต์จอร์จผู้พิชิตมังกรเป็นนักบุญอุปถัมภ์ของหลายประเทศและหลายเมือง เช่นประเทศจอร์เจีย อังกฤษ เอธิโอเปีย เจนัว แคทาโลเนีย ฯ
ในยุคกลาง ผู้คนเชื่อว่าเซนต์จอร์จเป็นหนึ่งในสิบสี่นักบุญที่ช่วยคุ้มครองผู้คนจากโรคระบาดหรือโรคติดต่อร้ายแรงอย่างกาฬโรค โรคเรื้อน เป็นต้น
คอปติกไคโรตอนต่อไป - ที่หลบภับของพระแม่มารีและพระเยซูในโบสถ์อาบู เซอร์กา โบสถ์ยิวเบน เอสรา และพิพิธภัณฑ์คอปติก
โฆษณา