1 ส.ค. 2021 เวลา 08:14 • ปรัชญา
บทที่ 12 พระปัจเจกพุทธเจ้า
บทที่แล้วเราได้รู้จักกับนันทมูลกะไปแล้ว บทนี้เราจะขอน้อมนมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งเคยพำนักประทับอยู่ที่นี่กัน
1
ในมหากัปอันแสนยาวนานที่เรากำลังอยู่ด้วยกันนี้ ได้ชื่อว่าภัทรกัปหรือกัปอันประเสริฐ เพราะมีพระพุทธเจ้ามาอุบัติถึง 5 พระองค์ จึงขอแบ่งยุคของพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์เป็น 5 ยุค คือ
1
ยุคที่ 1 กฤดายุค ของพระกกุสันธพุทธเจ้า ผู้คนล้วนมีความดีงามทั้งสิ้น
ยุคที่ 2 ทวาบรยุค ของพระโกนาคมนพุทธเจ้า ผู้คนคงเหลือความดีงามแค่ 3 ใน 4 ส่วน
ยุคที่ 3 ไตรดายุค ของพระกัสสปพุทธเจ้า ผู้คนคงเหลือความดีงามแค่ครึ่งเดียว
ยุคที่ 4 กลียุค ของพระโคตมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ความดีงามของมนุษย์เหลือเพียง 1 ใน 4 ส่วน และลดลงเรื่อยๆจนสูญสิ้นความดีในจิตใจ ทว่าความหวังยังไม่ดับวูบแม้มนุษย์เหลือเพียงกลุ่มสุดท้าย จิตสำนึกอันเล็กยิ่งกว่าปรมาณูของมนุษย์ยังคงกล่าวกับตัวเขาเองว่า “เราเกิดมาทำไม” แสงสว่างแห่งความหวังจึงเริ่มกลับมาอีกครั้งและพร้อมเข้าสู่ยุคสุดท้ายแห่งภัทรกัป
ยุคที่ 5 อริยะยุค ของพระเมตไตยพุทธเจ้า พุทธะผู้พาหมู่สัตว์จำนวนมหาศาลออกจากวัฏสงสาร ก่อนที่ภัทรกัปนี้จะสูญสลายเหลือเพียงความว่างเปล่าอีกครั้ง
1
ภาพประกอบจาก HORIZON FORBIDDEN WEST PS5
ซึ่งเดาว่าถ้าท่านมีโอกาสได้อ่านหิมพานต์และสัตว์วิเศษนี้ ท่านก็คงจะ"พอได้ยินมาบ้าง”เกี่ยวกับยุคพระศรีอาริยเมตไตย แต่นั้นไม่ใช่ประเด็นของเรา สิ่งที่เป็นประเด็นของบทนี้คือ ท่านเคยสงสัยไหมว่าระหว่างช่วงเวลาที่โลกเปลี่ยนผ่านยุคและปราศจากพระพุทธเจ้าและสงฆ์สาวก โลกปราศจากธรรมะด้วยจริงๆหรือ คำตอบก็คือไม่จริง โลกยังคงมีธรรมะอยู่เสมอ เมื่อมนุษย์สามารถเห็นธรรม คือ อริยสัจ 4 ได้ด้วยตัวเองในช่วงพุทธันดร อันหมายถึง สามารถเห็นธรรมได้ในช่วงที่โลกไม่มีผู้ใดรู้ว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าคืออะไร ไม่รู้จักแม้กระทั้งคำว่า"พุทธะ" ผู้เห็นอริยสัจโดยชอบด้วยความสามารถของตนเองแต่เพียงผู้เดียวนั้น เราเรียกว่า “พระปัจเจกพุทธเจ้า” พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ธรรมภายในปัญญาของตนไม่สามารถเผยแผ่ธรรมะให้ผู้อื่น
3
โดยผู้ที่ต้องการจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าต้องบำเพ็ญบารมีมาไม่ต่ำกว่า 2 อสงไขยแสนกัป แต่ไม่เกิน 3 อสงไขย เพราะถ้าเกินจะถือว่ามีความตั้งใจที่จะบำเพ็ญบารมีต่อเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า
1
โดยพระปัจเจกพุทธเจ้าแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามระยะเวลาบำเพ็ญบารมี
1.ปัญญาธิกะปัจเจกพุทธะ
คือมีปัญญามาก บำเพ็ญบารมีเพียง 2 อสงไขย แสนกัปพอดีก็ได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
2.ศรัทธาธิกะปัจเจกพุทธะ
บำเพ็ญบารมีมาเกิน 2 อสงไขยแสนกัปเล็กน้อยจึงได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
3. วิริยาธิกะปัจเจกพุทธะ
บำเพ็ญบารมีมาเกิน 2 อสงไขยแสนกัปไปมากแต่ไม่ถึง 3 อสงไขย จึงได้บรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
1
พระปัจเจกพุทธเจ้าสามารถอุบัติพร้อมกันได้ไม่จำกัดพระองค์ จะอุบัติร้อยพระองค์ พันพระองค์พร้อมกันยังโลกมนุษย์ย่อมทำได้ ไม่เหมือนพระพุทธเจ้าที่ในหนึ่งมหากัปสามารถมาอุบัติได้สูงสุดถึงห้าพระองค์ก็จริง แต่จะทรงอุบัติมาที่ละพระองค์ ไม่อุบัติมาพร้อมกันเหมือนพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ที่จะมาอุบัติเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้ารวมถึงพระอรหันตขีณาสพและพระอัครสาวก จะมีสติรู้ตัวอยู่เสมอขณะกำลังอุบัติมายังครรภ์มาราดา มีสติเสมอขณะอยู่ในครรภ์มารดา แม้ขณะพลิกตัวเอาหัวลงแล้วคลอดออกจากครรภ์มารดาก็จะยังมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ จากนั้นเมื่อแรกคลอดออกจากครรภ์มารดาเพียงแค่เสี้ยววินาทีจึงหลงลืมสติกลายเป็นทารกธรรมดาเฉกเช่นมนุษย์ทั่วไป
1
เมื่อถึงเวลาบรรลุปัจเจกโพธิญาณไม่มีความจำเป็นต้องออกบวชแต่อย่างใด สามารถตรัสรู้ได้แม้เป็นฆารวาสและไม่จำเป็นต้องตรัสรู้ขณะเข้าสู่สมาธิ เพราะเมื่อจิตและปัญญาพร้อมแม้เดินเล่นอยู่ก็ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ เมื่อตรัสรู้แล้ว รูปร่างหน้าตาจะไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม เคยมีหนวดอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แต่ความยาวของเส้นผมจะเหลือเพียง 2 องคุลี (ประมาณ 2 ข้อนิ้วมือ) เส้นผมม้วนเวียนขวาติดหนังศีรษะเองและยาวอยู่แค่นั้นไม่งอกยาวขึ้นอีกเลย ส่วนเครื่องนุ่งห่มจะเปลี่ยนไปเองราวกับเนรมิต นุ่งห่มสบงและจีวรสีแดงคาดรัดสบงด้วยประคตที่ถักลวดลายดั่งสายฟ้า ห่มทับบ่าด้วยผ้าบังสุกุลสีเมฆ(สีเทาอมฟ้าหม่น) มีบาตรดินสีเหมือนแมลงภู่(สีน้ำตาลดำสะท้อนสีเขียวและน้ำเงิน)เป็นบริขาร มีรัศมีสุกสกาวสีแดงและทองชมพูนุทไปทั่วพระสรีระ เป็นผู้พ้นแล้วซึ่งกิเลสทั้งปวง แต่จะยังคงมีนิสัยครั้งเมื่อยังเป็นคฤหัสถ์ติดมาด้วย เช่น กิริยาการพูดจา ท่าเดิน ท่านั่ง เป็นต้น จากนั้นจึงเหาะไปยังนันทมูลกะบนยอดเขาคันธมาทน์ ณ ภูเขาหิมพานต์
2
ลักษณะการถักประคตสายฟ้า
พระปัจเจกพุทธเจ้าที่พำนักอยู่บริเวณนันทมูลกะจะเสด็จมาชุมนุมกันเฉพาะวันอุโบสถหรือเมื่อมีพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์ใหม่เสด็จมาอาศัยอยู่ที่นันทมูลกะนี้เท่านั้น ในวันอุโบสถเหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้าจะพากันไปยังวิหารรัตนมาลา(รัตนมาฬกะ) ใต้ต้นมัญชุสกะ ณ เนินใจกลางนันทมูลกะเพื่อร่วมกันทำอุโบสถศีล รัตนมาลานั้นมีลักษณะเป็นแท่งแก้วผลึกขนาดใหญ่ที่มีผลึกแก้วขนาดเล็กเกิดงอกขึ้นเองตลอดเวลา พื้นวิหารมีลักษณะกลมมีมุขประตูให้เข้าได้ทั้ง 4 ทิศ พื้นเนินเขาอันเป็นที่ตั้งของรัตนมาลารายล้อมด้วยหญ้านุ่มเท้าและหมู่มวลดอกไม้นานาพรรณงดงามยิ่ง
1
ภาพประกอบ MORTAL KOMBAT BRASIL: Mortal Kombat vs DC Universe
โดยปกติรัตนมาลานั้นจะมีลมชื่อ “สมาหรวาตะ” พัดพาหมู่มวลดอกไม้หอมมาตามลมแล้วตกรอบๆรัตนมาลา เพื่อเป็นพุทธบูชาแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อดอกไม้เหล่านั้นเหี่ยวแห้งสายลมอีกสายชื่อ “สัมมัชชนวาตะ” ก็หอบพัดพาดอกไม้ที่เหี่ยวแห้งเหล่านั้นออกไปทิ้ง แล้วลมสมาหรวาตะก็จะพัดพาดอกไม้สดอันงดงามกลับมาใหม่อีกครั้ง หมุนเวียนกันไปเช่นนี้เรื่อยๆ
1
ส่วนในวันอุโบสถนั้น เมื่อลมสัมมัชชนวาตะได้ทำหน้าที่ของตนคือพัดพาเศษดอกไม้แห้งต่างๆออกไปทิ้งแล้ว พื้นของรัตนมาลาที่มักจะมีผลึกรัตนะงอกขึ้นมาเสมอจึงมีสายลมชื่อ “สมกรณวาตะ”พัดมาปะทะกับผลึกแก้วรัตนะเหล่านั้นทำให้ผลึกแตกสลายกลายเป็นทรายละเอียดจนพื้นรัตนมาลานั้นราบเรียบเสมอกัน สมกรณวาตะจึงพัดพาทรายเหล่านั้นไปทิ้ง จากนั้นลมอีกสายชื่อ “สิญจนวาตะ” จะพัดพาละอองน้ำจากสระอโนดาตขึ้นมายังพื้นวิหารให้ร่มเย็น
2
ส่วนอากาศในรัตนมาลานั้นก็เป็นหน้าที่ของลมชื่อ “สุคันธกรณวาตะ” พัดพากลิ่นหอมของดอกไม้ต่างๆมาจนหอมไปทั่วทั้งโถง ส่วนอากาศภายนอกรัตนมาลาก็แบ่งหน้าที่กันกับสายลมชื่อ “โอจินวาตะ” พัดพากลีบดอกไม้ต่างๆให้ปลิวล่องและหอมไปตามสายลมรอบรัตนมาลา และสุดท้ายลม “สันถรวาตะ” ผู้รับหน้าที่พัดพาอาสนะมาปูเป็นที่ประทับให้กับพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย
1
ยามเมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าเสด็จมายังรัตนมาลา แสงสวรรค์ก็สาดส่องมายังต้นมัญชุสกะที่กำลังเบ่งบานงดงาม มัญชุสกะจึงผลัดกลีบร่วงลงสู่พื้นดินและผิวน้ำจนทั่วบริเวณแดงสะพรั่ง กลีบเหล่านั้นทำหน้าที่ปูลาดเป็นพรมแดงต้อนรับเสด็จพระปัจเจกพุทธเจ้า เหล่าหมู่มวลดอกไม้ทั้งหลายก็พร้อมใจกันโน้มเอนช่อดอกลง เพื่อน้อมนมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เสด็จเยือน
1
ดัดแปลงภาพจาก The Pillar by Hjalmar Wåhlin
เมื่อมีผู้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าและมาอาศัยยังนันทมูลกะนี้ พระปัจเจกพุทธเจ้าจะมานั่งประชุมกันในโถงรัตนมาลา เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้มาใหม่ประทับนั่ง ณ อาสนะที่ปูลาดไว้แล้วจึงพากันเข้าสมาบัติสักครู่ เมื่อออกจากสมาบัติพระสังฆเถระจะถามกรรมฐานกับพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้มาใหม่ว่า"ท่านบรรลุธรรมได้อย่างไร" พระปัจเจกพุทธเจ้าที่มาใหม่จึงตอบกลับเพื่อรับรองความเป็นผู้บรรลุอริยสัจแห่งพระปัจเจกโพธิญาณของตนเอง จากนั้นจึงเสด็จแยกย้ายเข้าอาศัยอยู่ผู้เดียวตามถ้ำมณี ถ้ำทองและถ้ำเงินรอบนันทมูลกะ
1
เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าประทับยังนันทมูลกะบนยอดเขาคันธมาทน์ ต่างได้รับการอุปัฏฐากดูแลจากเหล่าช้างฉัททันต์ทั้งหลาย เมื่อเสด็จออกสู่โลกมนุษย์ถึงแม้จะมิได้เผยแผ่พระธรรมและกล่าวสอนหมู่สัตว์เพียงว่า“พึงทำการขัดเกลาจิต ไม่ควรท้อถอย” แต่พระปัจเจกพุทธเจ้าถือเป็น "อัครทักขิไณยบุคคล" อันหมายถึง "ผู้เป็นเลิสที่สมควรถวายทานเพื่อผลอันเจริญ"ในช่วงที่โลกว่างจากพรพพุทธเจ้าอย่างยิ่ง เพราะในโลกธาตุทั้งปวงยกเว้นพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่มีผู้ใดเสมอเท่าพระปัจเจกพุทธเจ้าได้เลย
1
โลกหิมพานต์จึงรับรู้ถึงกระแสแห่งธรรมได้เสมอ เพราะหิมพานต์นี้เป็นที่พำนักสุดท้ายของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อถึงคราวที่โลกมีพระโพธิสัตว์มาอุบัติเพื่อเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์สุดท้ายที่ประทับบนยอดเขาคันธมาทน์จะทรงทราบด้วยญาณแห่งปัจเจกพุทธะ จึงเหาะเข้าไปยังเนินเขาใต้รัตนมาลาสู่โถงด้านในอันเป็นปากปล่องภูเขาไฟมหาปปาตะ แล้วทำการนำพระบรมธาตุ(กระดูก)ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายที่ปรินิพพานไปแล้วในกาลก่อนรอบโถง หย่อนลงเหวมหาปปาตะสู่แมกมาเพลิงเบื้องล่างให้เผาไหม้กระดูกเป็นเถ้าจุณ
1
ส่วนพระองค์เองทรงนั่งบนพื้นศิลา จากนั้นจึงกล่าวอุทานคาถาธรรมต่างๆแล้วพิจารณาว่า"บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะปรินิพพาน"ก่อนจะทำลายสังโยชน์ 10 ด้วยมรรค เป็นผู้ไม่สะดุ้งกลัวในความสิ้นชีวิตเพราะละความใคร่ในชีวิตได้แล้ว แสดง"สอุปาทิเสสนิพพาน"แห่งตน คือ การหลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ จิตที่เคยเสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจและไม่พึงใจ ที่เคยเสวยสุขและทุกข์อยู่ ก็ค่อยๆดับซึ่งเบญจขันต์ เมื่อถึงเวลาจบคาถาจึงทำการดับเบญจขันต์อันเป็นเหตุตามธรรมชาติให้กิเลสทั้งหลายมีตัณหาเป็นต้น เข้ามาเพลิดเพลินไม่ได้อีก แล้วปรินิพพานด้วย"อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ"ในกาลบัดนั้น เทวดาผู้ทรงฤทธิ์จึงเชิญพระสรีระสังขารของพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์สุดท้ายเสด็จลงสู่เปลวเพลิงแห่งมหาปปาตะ บัดนี้จึงเป็นยุคแห่งพระโคตมพุทธเจ้า โลกหิมพานต์และโลกมนุษย์จึงไร้ซึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้าอีกต่อไป
3
ภาพประกอบ โดย Gianluca Rolli 2016 on ArtStation
บทหน้าเราจะกลับไปสำรวจโลกหิมพานต์กันต่อโดยเริ่มจากสระอโนดาตครับ โดย ลามะน้อย
โฆษณา