30 ก.ค. 2021 เวลา 02:41 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ข่าวนี้ที่ 1 : แบงก์-โบรกฯประสานเสียง`หนี้สาธารณะ`ปี65 ทะลุเพดาน 60%
1
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย- -30 ก.ค. 64 7:36: น.
โบรกฯมองมีโอกาสที่รัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่ม เพื่อใช้ฟื้นฟูศก. คาดดันหนี้สาธารณะปี 65 ทะลุเพดานที่ 60% ของจีดีพี ส่วน KKP ชี้รัฐยังมีช่องให้กู้เพิ่ม แต่ต้องมีแผนปรับลดการขาดดุลในอนาคต เพื่อรักษาวินัยทางการคลัง และ ความเชื่อมั่น พร้อมหั่นเป้าจีดีพีไทยปีนี้เหลือโต 0.5% จาก 1.5% กรณีเลวร้ายจีดีพีอาจติดลบ 0.8% หากโควิดระบาดรุนแรงกว่าคาด ด้าน สศค. หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 1.3% จากเดิม 2.3%
2
***ASPS จับตาหนี้สาธารณะปี 65 ส่อทะลุเพดาน 60%
ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส (ASPS) เผยผ่านบทวิเคราะห์ว่า ในระยะถัดไปรัฐบาลน่าจะมีการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ๆเพิ่มเติม ดังที่เคยพูดถึงก่อนหน้า อาทิ ช็อปดีมีคืน , เรารักกัน , เราชนะ ฯลฯ
อย่างไรก็ตามหากประเมินจากแหล่งเงินทุนของรัฐ ASPS ประเมินว่าในอนาคตอาจจะเผชิญข้อจำกัด คือ
1. งบประมาณ ซึ่งจากการรวบรวม ภาครัฐจะมีวงเงินสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจราว 7.43 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 1.1 ) เงินในปีงบประมาณ 64 จำนวน 1.54 แสนล้านบาท และในปีงบประมาณ 65 จำนวน 5.89 แสนล้านบาท 1.2) พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท หลังจากเงินกู้จาก พ.ร.ก. 1 ล้านล้าน เบิกใช้ใกล้ครบแล้ว
  2. ข้อจำกัดจากเพดานหนี้สาธารณะ อิงจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ประเมิน หนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ ก.ย. 64 เพิ่มเป็น 58.88% ใกล้แตะเพดานที่ 60% หากรัฐต้องจัดหาเงินทุนเพิ่มคาดปี 65 มีโอกาสที่หนี้สาธารณะจะเกินเพดานที่กำหนดไว้
2
*** KKP ชี้รัฐต้องมีแผนปรับลดการขาดดุลในอนาคต
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร(KKP) เปิดเผยว่า แม้ปัจจุบันระดับหนี้สาธารณะต่อรายได้ของไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นใกล้เพดานวินัยทางการคลังที่ 60% และ คาดว่าจะเกินระดับดังกล่าวในปี 65 แต่ด้วยระดับอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงรัฐบาลยังมีศักยภาพในการสร้างหนี้เพิ่มขึ้นได้ หากมีความจำเป็นแต่รัฐบาลต้องมีแผนในการปรับลดการขาดดุลในอนาคตเพื่อรักษาวินัยทางการคลัง และ ความเชื่อมั่น และ ต้องมีการจัดลำดับของการใช้จ่ายในปัจจุบันให้สอดคล้องกับความจำเป็นของสถานการณ์
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า ในกรณีฐานได้ปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 64 เหลือ 0.5% จากเดิม 1.5% ส่วนในกรณีที่การระบาดของโควิด-19 รุนแรงกว่าคาด การล็อคดาวน์อาจยาวนาน และ รุนแรงกว่า หรือ ต้องมีการปรับความเข้มข้นของมาตรการล็อคดาวน์ จนกระทบต่อภาคการผลิต และ การส่งออกที่เป็นความหวังสำคัญ เศรษฐกิจอาจหดตัว 0.8% ทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งได้
การฉีดวัคซีนที่เริ่มต้นช้า และ ปริมาณวัคซีนที่จัดหาได้มีน้อยกว่าที่คาด สัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีนครบสองโดสซึ่งมีเพียง 5% ในปัจจุบัน จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ามาก ภายในสิ้นปีจะมีประชากรเพียงประมาณ 35% ที่ได้รับวัคซีนครบสองโดส ทำให้การแพร่ระบาด และ มาตรการล็อกดาวน์อาจจะมีต่อเนื่องไปอย่างน้อยอีกสามเดือน
*** สศค.หั่นจีดีพีไทยปีนี้เหลือโต 1.3% จากเดิมคาด 2.3%
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 ว่า สศค.ได้ปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 64 เหลือขยายตัว 1.3% โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 0.8 -1.8% ลดลงจากคาดการณ์ในครั้งก่อน(เม.ย.64) ที่เศรษฐกิจจะขยายตัว 2.3% เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่เริ่มตั้งแต่ปลายไตรมาส 2/64 ซึ่งกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย การเดินทางระหว่างประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย
อย่างไรก็ตามได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ส่งออกปี 64 เป็นเติบโต 16.6% มีช่วงคาดการณ์ที่ 16.1 ถึง 17.1% จากคาดการณ์เดิมคาดว่าเติบโต 11% เนื่องจากการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกของปี 64 มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวสูงที่ 14.5%
โฆษณา