30 ก.ค. 2021 เวลา 06:31 • การศึกษา
เนื่องจากประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านจากสังคมสูงอายุ (Aging Society) สู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) ประกอบกับประชาชนขาดการเตรียมความพร้อมทางการเงิน (โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างและแรงงานอิสระ) และขาดความรู้ทางการเงิน ทำให้ประเทศไทยเกิดปัญหาเกี่ยวกับเงินได้เมื่อเกษียณอายุ (Retirement Income) หรือเรียกได้ว่า “ทั้งแก่ทั้งจน”
ในปัจจุบันเราจะพบผู้สูงอายุ 1 คน ในประชากรทุก ๆ 5 คน และพบว่าขณะที่ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น แต่เงินออมเพื่อรองรับการเกษียณกลับมีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้สูงอายุขาดรายได้และความมั่นคงทางการเงิน จะให้ไปพึ่งพิงรายได้จากลูกหลานเหมือนในอดีตก็เป็นเรื่องที่ย๊ากยาก
ทั้งนี้หากเราวางแผนต้องการมีเงินใช้วันละ 400 บาท หรือเดือนละ 12,000 บาท ตั้งแต่เกษียณไปจนถึงอายุ 80 ปี เราจะต้องเก็บเงินให้ได้อย่างน้อย ณ วันเกษียณเป็นจำนวน 3 ล้านบาท ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่ผ่านมามีประชากรเพียง 20% เท่านั้นที่สามารถเก็บเงินเพื่อการเกษียณได้ตามเป้าหมายดังกล่าว
นอกจากนี้จากการสำรวจประชากรไทยจำนวน 67 ล้านคน พบว่ามีประชากรอยู่ในวัยแรงงานจำนวน 38 ล้านคน โดยเป็นแรงงานภาคเอกชนจำนวน 15 ล้านคน ทั้งนี้มีเพียง 3 ล้านคนเท่านั้น ที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)
ดังนั้นการออมเพื่อรองรับการเกษียณจึงเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการออมเงินสำหรับการเกษียณ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 อนุมัติหลักการของร่าง พ.ร.บ. กบช. และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
เรามาดูกันว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้มีสาระสำคัญอะไรที่น่าสนใจกันบ้างนะคะ
#กบช. คืออะไร
กบช. เป็นชื่อย่อของ “กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ” ซึ่งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบที่มีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
#วัตถุประสงค์ของกองทุน
เพื่อให้แรงงานในระบบได้มีการออมเพื่อการเกษียณเพิ่มเติม และมีรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของรายได้ก่อนเกษียณ รวมทั้ง กบช.ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการบูรณาการฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับระบบบำเหน็จบำนาญ
#การเข้าสู่ระบบกบช.
📌นับแต่วันที่กองทุนเปิดรับสมาชิก : กิจการเอกชนที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป, กิจการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ, กิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์, รัฐวิสาหกิจ, องค์การมหาชน, หน่วยงานรัฐที่ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมาย กบช., กิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน, กิจการที่ประสงค์จะเข้าระบบ กบช.
📌ปีที่ 4 นับจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. กบช. : กิจการเอกชนที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป
📌ปีที่ 6 นับจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. กบช. : กิจการเอกชนที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คน ขึ้นไป
- ในกรณีที่สมาชิก กบช.ย้ายไปเป็นสมาชิก กบข., กอช., กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ลูกจ้างจะเลือกคงเงินไว้ที่ กบช. หรือโอนย้ายเงินจาก กบช. ไป 4 กองทุนดังกล่าวได้
- หากนายจ้างมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและมีการส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่น้อยกว่าอัตราที่ กบช.กำหนด จะไม่ส่งเงินเข้า กบช.ก็ได้
#คุณสมบัติสมาชิก
ต้องเป็นลูกจ้างที่มีอายุ 15-60 ปี โดยเป็นลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการ พนักงานราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่องค์การมหาชน
#การส่งเงินเข้ากองทุน
📌อัตราเงินสะสมและเงินสมทบ (เพดานค่าจ้าง 60,000 บาท)
📌ปีที่ 1 – 3 นับแต่วันที่ กบช.เปิดรับสมาชิก ฝ่ายละ ≥ 3% ของค่าจ้าง
📌ปีที่ 4 – 6 นับแต่วันที่ กบช.เปิดรับสมาชิก ฝ่ายละ ≥ 5% ของค่าจ้าง
📌ปีที่ 7 – 9 นับแต่วันที่ กบช.เปิดรับสมาชิก ฝ่ายละ ≥ 7% ของค่าจ้าง
📌ปีที่ 10 นับแต่วันที่ กบช. เปิดรับสมาชิก ฝ่ายละไม่เกิน 10% ของค่าจ้าง
- ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน ให้นายจ้างส่งเงินในส่วนของนายจ้างฝ่ายเดียว
- ลูกจ้าง/นายจ้างส่งเพิ่มได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของค่าจ้างโดยไม่จำกัดเพดานค่าจ้าง
#ผลประโยชน์ตอบแทน
✔️สมาชิกเลือกรับบำนาญ 20 ปี (ทะยอยได้รับจนถึงอายุ 80 ปี) หรือบำเหน็จเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์
✔️หากลูกจ้างเกิดเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ต้องการเงินสะสมในกองทุนมาใช้ก่อน สามารถเบิกมาใช้ได้ตามยอดที่สะสมไว้
#สิทธิประโยชน์ทางภาษี
ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินสะสม เงินผลประโยชน์ และเงินที่ได้รับเมื่อเกษียณอายุ
#การบริหารเงินกองทุน
📌คณะกรรมการ กบช.กำหนดนโยบายการลงทุน และคัดเลือกผู้บริหารจัดการเงินกองทุน ≥3 ราย
📌ลูกจ้างเลือกแผนการลงทุน
📌มี Default Policy (Life Path)
จริง ๆ แล้วโดยส่วนตัวเราคิดว่า กบช.ค่อนข้างมีประโยชน์กับตัวลูกจ้างมาก ๆ เลย เพราะเป็นการออมภาคบังคับ ได้ลดหย่อนภาษี แถมยังมีเงินสมทบจากนายจ้างอีกเท่านึงด้วย ซึ่งความหวังเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนก็ขึ้นอยู่กับผู้บริหารจัดการเงินกองทุนแล้วล่ะค่ะ ว่าจะสามารถทำให้เงินงอกเงยเติบโตได้ดีแค่ไหน
โฆษณา