1 ส.ค. 2021 เวลา 03:50 • ธุรกิจ
รู้จัก ดร.เทียม โชควัฒนา ผู้วางรากฐานให้ เครือสหพัฒน์
ถ้าพูดถึง หนึ่งในบริษัทที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ชื่อแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึงคงหนีไม่พ้น “เครือสหพัฒน์”
และบุคคลซึ่งเป็นผู้วางรากฐานสำคัญของเครือสหพัฒน์ ก็คือ “ดร.เทียม โชควัฒนา”
เขาคนนี้ทำอย่างไรให้เครือสหพัฒน์เติบโตจนเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย ?
เราลองมาทำความรู้จักชีวิตของชายผู้นี้กัน
ดร.เทียม โชควัฒนา เกิดในครอบครัวชาวจีน ที่เดินทางมาจากมณฑลแต้จิ๋ว เพื่อมาทำมาหากินในประเทศไทย โดยครอบครัวคุณเทียมนั้น เริ่มจากอาชีพขายของชำ
สมัยเด็กคุณเทียมไม่ได้เรียนหนังสืออย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพราะตอนที่เขาอายุ 15 ปี ต้องลาออกจากโรงเรียนมาช่วยครอบครัวหารายได้
เขาเริ่มต้นทำงานในร้านขายของชำซึ่งเป็นร้านของคุณพ่อและคุณอา ที่เน้นขายสินค้าที่หลากหลาย เช่น นม น้ำตาล แป้งหมี่ น้ำมันพืช
แม้จะมีคุณพ่อเป็นเจ้าของร้าน แต่คุณเทียมนั้น ขยันทำงานอย่างหนัก
เขาทำหลายหน้าที่ ตั้งแต่เป็นพนักงานขายไปจนถึงเป็นคนแบกหามของในร้าน
แต่แม้เขาจะทำงานหนัก ตัวเขาก็ไม่ละเลยที่จะหาความรู้และทิ้งการเรียนไป เขาจึงได้ไปสมัครเรียนในสถาบันที่สอนช่วงภาคค่ำหลังเลิกงานแทน
และเมื่อกิจการเติบโตมาได้ระยะหนึ่ง คุณพ่อของคุณเทียมก็แยกออกมาตั้งร้านขายของชำเอง
โดยคุณเทียม ก็ตามมาช่วยงานที่ร้านของคุณพ่อ รับหน้าที่ติดต่อเอาสินค้ามาขาย และดูแลรายรับ-รายจ่ายของร้าน
1
ระหว่างนี้เอง คุณเทียมก็รู้สึกว่า สินค้าส่วนใหญ่ที่ขายในร้านของคุณพ่อนั้นเป็นสินค้าที่มีน้ำหนักเยอะ แต่ดันขายได้กำไรน้อย
1
อย่างเช่น น้ำตาล 1 กระสอบ หนัก 100 กิโลกรัม กว่าจะหิ้วมาขายต้องใช้ทั้งคนและใช้เวลาในการยกมาก แต่กลับขายได้กำไรแค่ 20 สตางค์
กลับกันถ้ามาขายสินค้าน้ำหนักเบา ๆ อย่างเสื้อกล้าม สามารถใช้มือหิ้วได้ข้างละ 10 โหล ซึ่งได้กำไร 1.50 บาท พอคิดได้อย่างนี้ คุณเทียมจึงเอาแนวคิดดังกล่าวไปบอกคุณพ่อของเขา
แต่คุณพ่อกลับไม่เห็นด้วย และยืนยันที่จะขายสินค้าแบบเดิมต่อไป
พอเรื่องเป็นแบบนี้ เขาจึงตัดสินใจขอแยกร้านกับคุณพ่อ ออกมาตั้งร้านค้าอีกแห่งที่มีชื่อว่า “เฮียบเซ่งเชียง” ในปี 2485 ด้วยเงินเก็บสะสมของตัวเองประมาณ 10,000 บาทในตอนนั้น
ซึ่งชื่อนี้ก็คือ ชื่อแรกของ กลุ่มสหพัฒน์ ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ชื่อ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด ในปี 2495
แล้ว กลยุทธ์การค้าขาย ของคุณเทียม เป็นอย่างไร ?
ธุรกิจของคุณเทียม เน้นขายของเบ็ดเตล็ดแบบซื้อมาขายไป ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคและบริโภค โดยเขามักจะเดินทางไปติดต่อซื้อสินค้าจากต่างประเทศด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นที่ฮ่องกงหรือญี่ปุ่น
ซึ่งสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้นจะเน้นของที่น้ำหนักไม่เยอะ แต่ให้กำไรสูงกว่าสินค้าที่เขาเคยขายมาในอดีต เช่น แชมพู ยาสีฟัน และผงซักฟอก
นอกจากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาขายแล้ว คุณเทียมยังได้พยายามสร้างแนวทางการเติบโตใหม่ ๆ ให้แก่กลุ่มสหพัฒน์
ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุนกับบริษัทที่ชำนาญการในการผลิตสินค้าประเภทต่าง ๆ แล้วกลุ่มสหพัฒน์ก็จะใช้จุดแข็งในด้านการตลาดและการจำหน่ายสินค้า มาช่วยเรื่องการสร้างแบรนด์สินค้าเป็นของตนเอง
แล้ว ตัวอย่างสินค้า ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่กลุ่มสหพัฒน์ มีอะไรบ้าง ?
ในปี 2515 กลุ่มสหพัฒน์ ได้ร่วมทุนกับ บริษัท เพรซิเดนท์ เอ็นเตอร์ไพรส์ ของไต้หวัน เพื่อผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า “มาม่า”
ปัจจุบัน มาม่า ยังคงครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% และกลายเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของประเทศไทย
ในปี 2523 กลุ่มสหพัฒน์ได้แตกไลน์ธุรกิจผลิตและจำหน่ายขนมปังและเบเกอรี ภายใต้แบรนด์ “ฟาร์มเฮ้าส์”
ยังไม่รวม สินค้าอุปโภคบริโภค ที่พวกเราใช้ในชีวิตประจำวันอีกมากมายที่ผลิตจากเครือสหพัฒน์ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย อาหาร และเครื่องดื่ม
ปัจจุบัน มีสินค้าที่จัดจำหน่ายผ่านช่องทางการขายของกลุ่มสหพัฒน์ 90,000 ร้านค้าทั่วประเทศ แบ่งเป็น
- Traditional Trade หรือร้านค้าปลีก ร้านค้าส่งแบบดั้งเดิม จำนวนกว่า 84,000 ร้านค้า
- Modern Trade ผ่านร้านค้าปลีก ร้านค้าส่งสมัยใหม่ รวมไปถึงร้านซูเปอร์สโตร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ กว่า 6,000 ร้านค้า
1
ด้วยเหตุนี้ รายได้ของกลุ่มสหพัฒน์ จึงมาจากหลากหลายส่วน
ถ้าแบ่งตามภูมิภาคนั้น จะมาจากต่างจังหวัดประมาณ 60% และมาจากในกรุงเทพมหานครประมาณ 40%
ถ้าแบ่งตามตลาดภายในและต่างประเทศนั้น จะมาจากในประเทศประมาณ 98% และตลาดต่างประเทศอีกประมาณ 2%
แล้ว กลุ่มสหพัฒน์ ยังมีกลยุทธ์ธุรกิจอะไรอีกบ้าง ?
หนึ่งกลยุทธ์ที่น่าสนใจของกลุ่มสหพัฒน์คือ สินค้าที่บริษัทจำหน่ายกว่า 80% เป็นสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทที่ร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มสหพัฒน์ หรือบางกรณีก็เป็นการร่วมทุนกับบริษัทจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ กลุ่มสหพัฒน์ ยังใช้วิธีลงทุน โดยเข้าไปถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่เราต่างคุ้นเคย เช่น
- บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)
ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์มาม่า
ปี 2563 รายได้ 23,838 ล้านบาท กำไร 4,090 ล้านบาท
- บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน)
ผู้ผลิตและจำหน่ายเบเกอรีและขนมปังแบรนด์ฟาร์มเฮ้าส์
ปี 2563 รายได้ 7,246 ล้านบาท กำไร 1,679 ล้านบาท
- บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)
เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค
ปี 2563 รายได้ 33,740 ล้านบาท กำไร 1,705 ล้านบาท
- บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน)
ผู้ผลิตและจำหน่ายชุดชั้นในผู้หญิงและเด็กแบรนด์วาโก้
ปี 2563 รายได้ 3,265 ล้านบาท ขาดทุน 315 ล้านบาท
- บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
ธุรกิจถือหุ้นลงทุนในบริษัทอื่นและธุรกิจการพัฒนาสวนอุตสาหกรรม
ปี 2563 รายได้ 3,072 ล้านบาท กำไร 2,305 ล้านบาท
ถ้าเรานับเฉพาะแค่ 5 บริษัทนี้ ยังไม่รวมบริษัทในเครืออื่น ๆ
กลุ่มบริษัทที่เครือสหพัฒน์เป็นเจ้าของ ก็มีรายได้รวมกันมากกว่า 71,000 ล้านบาท และกำไรกว่า 9,400 ล้านบาท เลยทีเดียว
1
สำหรับคุณเทียมนั้น นอกจากความขยัน อดทน สู้งานหนักแล้ว จุดเริ่มต้นจากวิสัยทัศน์ที่เขาพยายามเลือกที่จะขายสินค้าที่มีกำไรสูง แทนที่สินค้าที่มีกำไรต่ำ ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้เขามีเงินทุนเพิ่มขึ้นจนสามารถแตกไลน์ธุรกิจให้ครอบคลุมสินค้าอุปโภคบริโภคได้หลากหลาย ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนไทย จึงทำให้กลุ่มสหพัฒน์ เดินทางมาจนถึงวันนี้..
1
โฆษณา