31 ก.ค. 2021 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
มองย้อน ประวัติศาสตร์ "ความก้าวหน้าด้านการแพทย์ของจีน" จากอดีตสู่ปัจจุบัน
แม้ว่าวิกฤติการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมา จะมีจุดเริ่มต้นที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และเชื้อได้ระบาดไปจนมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จนทำให้ต้องมีการนำมาตรการควบคุมการระบาดต่างๆ มาบังคับใช้
ประวัติศาสตร์ ความก้าวหน้าด้านการแพทย์ของจีน จากอดีตสู่ปัจจุบัน
การประกาศห้ามออกจากบ้าน ไปจนถึงการห้ามเดินทางเข้าออกเมืองอย่างเด็ดขาด จนเกิดเป็นชื่อที่ได้รับการกล่าวขานกันว่าเป็น Wuhan Model ซึ่งส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมาก แต่ท้ายสุด ประเทศจีนก็สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็ว และทำให้เศรษฐกิจกลับมาเปิดได้เช่นเดิม และภายใน 1 ไตรมาส GDP ของจีนก็สามารถกลับมาที่ระดับเดิมและขยายตัวได้ดีหลังจากนั้น
ไม่นานมานี้ สำนักข่าว Nikkei ของญี่ปุ่นจึงได้เผยแพร่ Nikkei Recovery Index ซึ่งจัดอันดับให้ประเทศจีนเป็นประเทศที่จัดการกับการระบาดของโควิด-19 ที่ดีที่สุดในโลก ในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของจีนไม่ได้เกิดขึ้น เพียงเพราะมีการใช้มาตรการล็อคดาวน์ ปิดเมืองแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นเพราะขีดความสามารถในด้านการแพทย์ และด้านสาธารณสุข ที่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้สามารถตรวจหาเชื้อ ควบคุมเชื้อ และกลับมาเปิดเมืองได้ตามปกติ
ทั้งนี้ หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ก็จะพบว่า ความจริงแล้ว ความสำเร็จดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ หรือน่าแปลกใจอะไรเลย เพราะจีนเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ด้านการแพทย์ที่ยาวนานมาตั้งแต่อดีตอยู่แล้ว สร้างนวัตกรรมการแพทย์ในหลายๆ ด้าน วันนี้ Bnomics จึงขอชวนทุกคน มองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจีน เพื่อหาความกระจ่างในประเด็นดังกล่าวครับ
📌 มองย้อนจุดเริ่มต้นของการแพทย์ในประเทศจีน
หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์แล้ว จะพบว่าประเทศจีนนับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประวัติศาสตร์ด้านการแพทย์ที่ยาวนานที่สุด โดยสามารถย้อนกลับไปได้ราว 3,000 ปี ปรากฏให้เห็นการรักษาทางการแพทย์ครั้งแรกในช่วงยุครัชสมัยของราชวงศ์ชาง เมื่อประมาณ 1,400 ปีก่อนคริสตกาล โดยพบหลักฐานเป็นจารึกที่ทำมาจากกระดูกซึ่งบันทึกอาการป่วยต่างๆ ของราชนิกุลในราชวงศ์ชาง
ภายหลัง ช่วงรัชสมัยของราชวงศ์ฮั่น เมื่อประมาณ 200 ปีก่อนคริสตกาล การรักษาแบบแพทย์แผนจีนที่เป็นระบบมากยิ่งขึ้นก็ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยรวบรวมข้อมูลการรักษาต่างๆ เข้าเป็นตำราหลักที่มีเพียงไม่กี่เล่ม เพื่อให้แพทย์ที่ทำการรักษา มีวิธีการและหลักสูตรที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น
หนึ่งในตำราด้านการแพทย์แผนจีนที่เก่าแก่ที่สุดก็คือ Yellow Emperor's Inner Canon ซึ่งเป็นตำราที่บันทึกบทสนทนาระหว่างจักรวรรดิเหลือง (Yellow Emperor) และเสนาบดีในราชสำนัก เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของร่างกายมนุษย์กับสภาพแวดล้อม และสรรพสิ่งต่างๆ ที่ล้อมรอบ รวมถึงมีการนำหลักการหยินหยาง และธาตุทั้ง 5 มาใช้ ซึ่งหมายถึงหลักการของเรื่องเส้นลมปราณ (Meridian Line) ในร่างกาย จนนำมาซึ่งการฝังเข็ม การนวดกดเส้น และการครอบแก้ว ที่มีการสืบทอด ส่งต่อวิชามาจนถึงปัจจุบัน (จนกระทั่งโรงพยาบาลชั้นนำหลายแห่งของโลก ก็มีบริการรักษาด้วยการฝังเข็ม ควบคู่ไปกับแพทย์แผนใหม่)
ตำราแพทย์หวงตี้เน่ย์จิง (The Yellow Emperor's Inner Canon)
ที่ผ่านมา แม้กรรมวิธีการรักษาของแพทย์แผนจีน เช่น การฝังเข็ม จะมีข้อครหาว่าไม่มีพื้นฐานความรู้ทางด้านกายวิภาคที่เป็นวิทยาศาสตร์รองรับ แต่ว่าเมื่อไม่นานมานี้ ทีมนักกายวิภาคและนักโบราณคดีของสหราชอาณาจักรก็ได้เปิดเผยผลการศึกษาจากตำราแพทย์จีนโบราณที่มีอายุกว่า 2,200 ปี ซึ่งแสดงถึงความก้าวหน้าด้านการแพทย์ที่สูงมากในขณะนั้น
ในตำราดังกล่าว มีประโยคหนึ่งที่อธิบายเส้นลมปราณเส้นหนึ่งไว้ว่า "เส้นที่เริ่มจากจุดศูนย์กลางของฝ่ามือ ลากขึ้นไปตามแนวของปลายแขนระหว่างกระดูกสองท่อน ตรงไปตามแนวเส้นเอ็นแล้วลอดใต้พังผืดเข้าไปในกล้ามเนื้อต้นแขน เข้าสู่รักแร้แล้วเชื่อมต่อกับหัวใจ" ซึ่งเมื่อเทียบกับตำรากายวิภาคศาสตร์ของแพทย์สมัยใหม่ในปัจจุบันก็จะพบว่า คำบรรยายดังกล่าวหมายถึงหลอดเลือดแดงอัลนาร์ (Ulnar artery) ซึ่งเป็นหลอดเลือดหลักที่นำเลือดมาหล่อเลี้ยงปลายแขนนั่นเอง
นอกจากนี้ ประเทศจีนยังเป็นประเทศแรกในโลกที่ได้คิดค้นการปลูกเชื้อ (Inoculation) ขึ้นในช่วงประมาณศตวรรษที่ 9 – 10 โดยแพทย์จีนในขณะนั้นได้ผสมเชื้อไข้ทรพิษ (Smallpox) และบดผสมกับสมุนไพร แล้วให้คนที่สุขภาพแข็งแรงสูดดมเข้าไป ก็ได้พบว่าคนคนนั้นก็จะมีโอกาสที่จะติดเชื้อไข้ทรพิษที่ลดลง (หากพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ เปรียบเสมือนกับการฉีดวัคซีน ซึ่งล่าสุด เริ่มมีการคิดวัคซีนโควิดชนิดสูดดมแล้ว)
1
ทั้งหมดแสดงถึงความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ที่จีนมีมาตั้งแต่โบราณอย่างยิ่ง ซึ่งแพทย์แผนจีนเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นวิธีการรักษาหลักที่ใช้ในประเทศจีนไปจนถึงช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20
📌 ก่อกำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์จีน... ก่อกำเนิดการแพทย์สมัยใหม่
ความจริงแล้ว การแพทย์ตะวันตกหรือการแพทย์สมัยใหม่ (Modern Medicine) ได้เริ่มเข้ามาในประเทศจีนตั้งแต่ที่จีนได้พ่ายแพ้สงครามฝิ่นให้กับจักรวรรดิอังกฤษในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้มีบทบาทที่ชัดเจน หากแต่เป็นการเปิดคลินิกโดยเหล่ามิชชันนารีและหมอชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามา แต่ไม่ได้มีการตั้งขึ้นให้เป็นระบบ
แม้ว่าภายหลังจากที่เกิดการปฏิวัติซินไฮ่ในปี 1911 และมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคก๊กมินตั๋ง จะมีการผลักดันให้เกิดระบบการแพทย์สมัยใหม่ขึ้น แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากประเทศจีนในขณะนั้นยังเผชิญกับความขัดแย้ง และภัยความมั่นคงเต็มไปหมด ทั้งจากในประเทศ และนอกประเทศ
จนกระทั่งปี 1949 ที่เหมา เจ๋อตุงได้ขึ้นมามีอำนาจ และได้ประกาศชัยชนะเหนือญี่ปุ่นจากสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นมา ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ต่อประชาชนชาวจีนนับหมื่นนับแสนคน ก็ได้เป็นจุดเริ่มต้นของหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของจีน ภายหลังจากที่ตกอยู่ในศตวรรษแห่งความตกต่ำมา ตั้งแต่ที่พ่ายแพ้สงครามฝิ่นให้กับอังกฤษไปเมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน
แม้ว่า Bnomics จะเคยเล่าให้ทุกคนฟังไปแล้วในบทความ “เส้นทางสู่การเป็นมหาอำนาจของจีนไม่ใช่เรื่องใหม่...หากแต่เป็นเพียงการกลับไปสู่สิ่งที่จีนเคยเป็น” ว่าเส้นทางที่เป็นประธานเหมาได้นำพาจีนก้าวไปนั้น ล้วนเต็มไปด้วยอุปสรรค
หนึ่งในคุณูปการของเหมา เจ๋อตุง ที่ปฏิเสธไม่ได้ คือการก่อตั้งระบบสาธารณสุข และนำการแพทย์สมัยใหม่มาใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งได้กลายเป็นรากฐานของระบบสาธารณสุขของจีนในวันนี้ (ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ทิ้งแพทย์แผนจีนโบราณแต่อย่างใด หากแต่ให้มีการใช้ควบคู่กันไป)
1
ทั้งนี้ สิ่งที่เหมา เจ๋อตุงทำคือการจัดตั้งระบบสาธารณสุขแบบรวมศูนย์ โดยยึดหลักสี่ประการ ซึ่งประกอบไปด้วย
1.ดูแลสุขภาพของแรงงาน ชาวนา และทหาร
2.ให้ความสำคัญกับการป้องกันล่วงหน้า ผ่านแคมเปญสุขภาพเพื่อความรักชาติ (Patriotic Health Campaign)
3.ผสมผสานการแพทย์แผนจีนและการแพทย์สมัยใหม่เข้าด้วยกัน
4.บูรณาการการสาธารณสุขกับการเคลื่อนไหวของมวลชน
หลักการต่างๆ เหล่านี้ได้นำไปสู่การปฏิรูปด้านสาธารณสุขต่างๆ มากมาย มีการก่อตั้งระบบแพทย์เท้าเปล่า (Barefoot Doctors) ขึ้น โดยให้แพทย์เหล่านี้เดินทางเพื่อไปให้บริการทางการแพทย์กับคนในชุมชนและในพื้นที่ห่างไกล และมีการสร้างระบบสหกรณ์การแพทย์ขึ้นมา ซึ่งทำให้คนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้
หมอเท้าเปล่า (Barefoot Doctor) เข้าไปรักษาตามชุมชนในชนบท
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการจัดตั้งสถานีเฝ้าระวังและป้องกันการระบาด (Anti-epidemic Station) ขึ้นตามพื้นที่ท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศ ส่งผลให้สามารถลดโรคติดต่อที่แพร่ระบาดในจีนได้อย่างมาก
นโยบายเหล่านี้ได้รับการยกย่องจากนานาชาติ รวมถึงองค์การอนามัยโลกอย่างยิ่ง โดยถือว่าจีนประสบความสำเร็จในฐานะที่ประเทศที่ยากจน (ในขณะนั้น) แต่กลับสามารถให้บริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุมประชาชนจำนวนมากได้ และทำให้อายุคาดเฉลี่ยเพิ่มขึ้น และอัตราการตายของทารกลดลงอย่างชัดเจน
1
อย่างไรก็ตาม นโยบายด้านการสาธารณสุขของเหมาก็มีความผิดพลาดอยู่เหมือนกัน อย่างแคมเปญสุขภาพเพื่อความรักชาติ (Patriotic Health Campaign) ที่ได้ทำให้คนจีนเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก จากนโยบาย 4 ศัตรูของชาติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการรณรงค์ให้ร่วมกันกำจัดหนู แมลงวัน ยุง และนกกระจอก เพื่อลดพาหะที่นำมาซึ่งปัญหาสุขภาพ จนทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล และเมื่อรวมกับผลจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ (The Great Famine) ขึ้น
"นโยบาย 4 ศัตรูพืชแห่งชาติ" ของจีน ปี ค.ศ. 1958 - 1962
ภายหลังที่เหมา ได้ก่อตั้งและวางรากฐานระบบสาธารณสุขของจีนขึ้นมา ระบบสาธารณสุขของจีนก็ได้รับการพัฒนาปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น สถานีเฝ้าระวังและป้องกันการระบาด หรือ Anti-epidemic station ก็ได้มีการเปลี่ยนผ่านมาเป็นศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของจีน ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ภายใต้การบริหารงานของเจียง เจ้อมิน และได้มีบทบาทสำคัญในการป้องกันและยับยั้งวิกฤติซาร์สเมื่อปี 2003 และวิกฤติโควิด-19 ในปัจจุบัน
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของประเทศจีน หรือ China CDC
📌 ประเทศจีนไม่ได้คุมโควิดด้วยการล็อคดาวน์แต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ด้วยระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งและการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้
1
ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา ประเทศจีนมียอดผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมดประมาณ 92,000 ราย และยอดผู้เสียชีวิตจากโควิดราวๆ 4,000 ราย โดยยอดส่วนใหญ่เหล่านี้เป็นยอดที่มาจากการระบาดครั้งใหญ่ในช่วงแรกเมื่อช่วงปลายปี 2019 – ต้นปี 2020
ประเทศจีนควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็ว ภายหลังจากที่มีการประกาศใช้มาตรการเด็ดขาดในการปิดเมือง ตั้งแต่ห้ามคนเดินทางออกจากบ้าน ยุติกิจกรรมทุกอย่าง และปิดการเดินทางเข้าออกเมืองอย่างเด็ดขาด
เมืองฮูฮั่น ในช่วงล็อคดาวน์ที่ผ่านมา
แต่ความจริงแล้ว เบื้องหลังของความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของจีนนั้นไม่ได้มาจากการปิดเมืองแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่มีปัจจัยที่สำคัญกว่ามาจากระบบสาธารณสุขของจีนที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปจนเข้มแข็ง รวมถึงการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้าไปมาประยุกต์ใช้ในการติดตามผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยง ตลอดไปถึงการวินิจฉัยและรักษาโรคต่างหาก
ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งระหว่างที่มีการล็อคดาวน์อู่ฮั่น และหลังจากจีนเปิดเมืองต่างๆ แล้ว จีนก็ได้ใช้ความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขตัวเองในการเร่งคัดกรองและแยกผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว เพื่อยุติการระบาด และป้องกันไม่ให้ลามไปเป็นวงกว้าง โดยยึดถือหลักปฏิบัติ 4 ก่อนคือ ค้นพบก่อน รายงานก่อน รีบแยกก่อน และรักษาก่อน ซึ่งกระบวนการต่างๆ เหล่านี้ก็มีการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำอีกด้วย
ประเทศจีนได้ใช้ปัญญาประดิษฐ์และ Big Data เพื่อนำมาวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง และกลุ่มเสี่ยง เพื่อที่จะสามารถคัดกรอง และกักตัวคนและพื้นที่เสี่ยงเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้การแพร่ระบาดกระจายไปต่อ แม้แต่ในด้านการสอบสวนโรค เพื่อดูไทม์ไลน์ว่าผู้ป่วยเดินทางไปไหนมาบ้าง ก็ยังพิจารณาจากประวัติการชำระเงินในร้านค้าผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น We Chat วีแชท และ Alipay อาลีเพย์อีกด้วย
1
นอกจากนี้ จีนเองก็ยังมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในการวินิจฉัยโรคอีกด้วย เช่นการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้เพื่อวินิจฉัยอาการปอดบวมในผู้ป่วยโควิด เพื่อใช้เสริมกับเครื่องมือแบบเดิม และรวมไปถึงการออกแบบเครือข่ายข้อมูลออนไลน์แบบ Real-time ร่วมกับบริษัท Baidu เพื่อให้ผู้ป่วยโควิดสามารถดูได้ว่าโรงพยาบาลไหนเดินทางไปสะดวกสุด และมีเตียงว่าง ยังรองรับได้ และทำให้การจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 
ยิ่งไปกว่านั้น จีนยังมีความก้าวหน้าเรื่อง Human Genome อย่างยิ่ง มีบริการการตรวจพันธุกรรมของผู้ที่สนใจ ที่จะช่วยชี้ว่า ในอนาคตเราอาจจะมีโรคร้ายอะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งความรู้ถึงเรื่องเรานี้ที่แฝงอยู่ในร่างกายของเราแต่เนิ่นๆ จะทำให้การป้องกันระวังสามารถเกิดขึ้นได้ ก่อนที่จะสายเกินไป
1
จีนนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการวินิจฉัยและติดตามผู้ป่วย
ทั้งหมด แสดงถึงศักยภาพของระบบการแพทย์ของจีนที่ก้าวหน้าอย่างมาก ที่ทำให้เป็นจีนประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับโควิด ซึ่งจากบริบททางประวัติศาสตร์แล้ว ความสำเร็จเหล่านี้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่ หรือน่าประหลาดใจอะไรเลย
2
#ประวัติศาสตร์ #การแพทย์ของจีน #กำเนิดการแพทย์จีน
#Bnomics #เศรษฐศาสตร์ #Economics
ผู้เขียน: เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา