1 ส.ค. 2021 เวลา 00:50 • ท่องเที่ยว
Scuba diving VS Commercial diving
วันนี้ขอเป็นงานเป็นการ เป็นวิชาการหน่อยครับ
มีเพื่อนและคนรู้จักหลายหลายท่าน สอบถามกันมาเรื่อง มีความแตกต่างอย่างไร ระหว่างการดำน้ำ 2 อย่างที่กล่าวมาข้างบนนั้น
ต้องขอออกตัวก่อนว่า ผมนั้นยังเด็กน้อย และประสบการณ์น้อยมากสำหรับการดำน้ำทั้ง 2 แบบ แต่ด้วยความอยากเป็นนักอยากเขียน และแบ่งปันประสบการณ์ ขอเอามาแชร์บทความไว้ตรงนี้แล้วกัน
ด้วยวาสนาทำบุญเก่ามาดี สวดภาวนา หรือเหตุผลอันใดก็แล้วแต่ ผมได้มีโอกาสดำน้ำแบบ commercial diving ซึ่งน้อยคนมาก จะสามารถเข้ารับการtraining การดำน้ำแบบนี้ได้ ด้วยอุปกรณ์ที่แพงหูฉี่เอามากมาก และสถาบันที่ฝึกก็มีน้อยมากด้วย
ในบทความนี้ขอกล่าวถึง commercial diving ในแบบ Surface supplied เท่านั้นน่ะครับ
จริงๆแล้วมีข้อแตกต่างเยอะแยะมากมาย นี้เป็นข้อสรุปใหญ่ ที่แตกต่างเห็นชัด สั้นๆ 5 ข้อ ในทัศนคติของผม
1. General
ข้อแตกต่างทั่วไปอันดับแรกสุดคือ
Scuba diving เป็นการดำแบบสันทนาการ เพื่อความสนุกสนานเท่านั้น บุคคลทั่วไป ใครก็ได้สามารถดำน้ำในแบบนี้ได้ ค่าใช้จ่ายไม่แพงเกินไป ตั้งแต่ หลักหมื่นถึงหลักแสน ไล่ตั้งแต่ระดับแรก ไปจนถึงระดับมืออาชีพ สามารถหาเรียนได้ทั่วไป
Commercial diving ถ้าแปลตรงตัว คือการดำน้ำในเชิงพาณิชย์ ดำลงไปทำงานใต้น้ำอย่างเดียว ทำงานเสร็จแล้วก็ขึ้น มีพี่ท่านหนึ่งกล่าวไว้ น่าฟังมากว่า “ กรรมกรใต้น้ำ “ น่าจะเห็นภาพชัด
ส่วนใหญ่ที่ได้รับการฝึกในเมืองไทย ก็จะเป็นหน่วย seal ของราชนาวี ค่าใช้จ่ายก็จะสูงมาก เริ่มต้น 4แสน ไปจนถึง 1.5ล้าน ถ้าเป็นบุคคลทั่วไป ก็จะเป็นชาวต่างชาติซะมากกว่า ที่สนใจเรียนทางสายนี้
ประมาณการ นักดำน้ำสายนี้ที่เป็นคนไทยและมีใบ certificated ไม่ถึง 10 คน ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่ของ แท่นขุดเจาะน้ำมัน หรือ offshore เท่านั้น
2. Air
การใช้อากาศ
Scuba diving ทั่วไปใช้ ถังอากาศ 1 ใบ 200 บาร์
ใช้ดำเที่ยวเล่นเสร็จก็ขึ้น ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 50 นาที ถ้าอยากอยู่นานขึ้น ต้องฝึกหายใจให้เบาเพื่อประหยัดอากาศที่สุด
ถ้าในระดับสูงขึ้นไป sidemount หรือ tech diving ใช้ 2 ใบขึ้นไป ผมเคยเห็นtech diving 14 ใบ. แต่จะเทอะทะ ไม่มีความคล่องตัว. ถ้าใช้อากาศหมด ก็ต้องขึ้นสู่ผิวน้ำ ตามกฎและตามตารางน้ำที่กำหนดไว้
Commercial diving ใช้อากาศแบบ Surface supplied คือการจ่ายอากาศจากด้านบนผิวน้ำเท่านั้น ต่อเข้ากับสายจ่ายอากาศ ( umbilical ) สามารถใช้อากาศอย่างไม่จำกัด ( as breathe as you can work ) ไม่ต้องหายใจแบบประหยัด และสามารถทำงานอยู่ใต้น้ำเกินเวลาที่กำหนดได้เยอะมาก แต่ต้องเป็นไปตามกฎและตารางน้ำด้วยเช่นกัน
3. Number of people
จำนวนคนที่ใช้
Scuba diving นักดำน้ำ 2 คน สามารถเริ่มการดำได้เลย เป็นไปตามระบบ buddy system ของกฎการดำน้ำ dive leader 1 คน พาลูกค้า 1 คน เดินลงหาด แล้วเริ่มดำได้เลย ซึ่งง่ายและสะดวกสบายกว่า
มีการดำอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า solo diving หรือ self-reliant diving ที่สามารถดำคนเดียวได้ แต่ในกรณีพิเศษเท่านั้น
Commercial diving ตามกฎของสถาบันการดำน้ำ บังคับต้องใช้ 5 คน ในการปฎิบัติงาน คือ
1. Supervisor ผู้ควบคุมในการดำน้ำ
2. Diver 1. นักดำน้ำหลัก
3. Standby diver นักดำน้ำที่คอย stand by อยู่บนผิวน้ำ และพร้อมตลอดเวลาที่จะลงน้ำ
4. Tender ผู้ช่วยจัดการทุกอย่างบนผิวน้ำ
5. DMT / diver medical technician คนที่คอยดูแลเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และสามารถปฎิบัติงานเกี่ยวกับ chamber ได้
ตามกฎ ถ้ามีต่ำกว่า 5 คน ไม่สามารถปฎิบัติงานได้ ข้อนี้จะแตกต่างอย่างชัดเจน
4. Buoyancy
การควบคุมการลอยตัว
Scuba diving การควบคุมการลอยตัวเป็นหัวใจสำคัญมากถึงมากที่สุดสำหรับการดำน้ำแบบสันทนาการ ถึงกับว่าต้องแยกออกมาเป็นวิชาหนึ่ง หรือที่เรียกกันว่า peak performance buoyancy specialty กันเลยทีเดียว
Commercial diving ต้องขอบอกว่า buoyancy ไม่มีในสารบบของการดำน้ำประเภทนี้ ไม่มีความจำเป็นใดใดที่จะต้องใช้ทักษะนี้ เพราะว่าส่วนใหญ่หน้างานก็จะอยู่บนพื้นทราย ตามท่อต่างๆ ซึ่งสามารถจับเกาะได้
อีกหนึ่งเหตุผลคือ หัวครอบดำน้ำ หรือที่เรียกติดปากว่า หัว Kirby Morgan ซึ่งมีความหนักประมาณ 15 กก. กดทับอยู่ที่หัว ราคาอยู่ที่ 8600 usd หรือ 270000 กว่าบาท ใครสนใจซื้อมาดำเล่น ก็ไม่ว่ากัน
นักดำน้ำประเภทนี้บางคนไม่มีความจำเป็นที่ต้องใส่fins แต่ประการใด ใช้เดินเอาตามพื้นทรายหรือจับ เกาะตามท่อ โอกาสที่จะเป็น positive buoyancy นั้นยากมาก
วันหน้าถ้ามีโอกาส จะมาเล่าเรื่อง
Kirby Morgan helmet ซึ่งหลายๆคนเข้าใจผิด
5. Certification
สถาบันรับรอง
Scuba diving สามารถหาเรียนได้ทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเล มีทั้งเสียเงิน และฟรี เช่น เกาะเต่า เกาะเล็กๆเกาะเดียว ร้านดำน้ำก็ประมาณ 120 ร้าน น่าจะเป็นแหล่งผลิตนักดำน้ำที่ใหญ่และถูกที่สุดในโลกแล้ว.
สถาบันดำน้ำมี 10 กว่าสถาบัน
ก็มีตั้งแต่ PADI , CMAS , SSI , SDI , Naui เป็นต้น
จบมาแล้ว ได้certified ก็สามารถดำน้ำ “เล่น” ย้ำน่ะครับว่า ดำน้ำเล่นได้ทั่วโลก ยกเว้นในระดับมืออาชีพ ก็สามารถหางานทำได้ทั่วโลกเช่นกัน
Commercial diving ด้วยความยากและแพงมาก ผมสอบถามจากผู้มีประสบการณ์ สถาบันที่เปิดสอนมีไม่ถึง 20 สถาบัน ทั่วโลก
สถาบันที่ให้การยอมรับมีเพียง 3 สถาบัน
คือ IMCA , ADAS และ ADCI
IMCA - International Marine Contractors Association
ADAS - AUSTRALIAN DIVER ACCREDITATION SCHEME
ADCI - Association of Diving Contractors International
หลังจาก certified แล้ว ก็สามารถหางานทำได้ทั่วโลก ขอบอกเลย เงินดีถึงดีมากกกกกก แต่ก็ต้องทำงานภายใต้ความเสี่ยงแลกกัน
จริงๆมีข้อแตกต่างเยอะมาก เช่น อุปกรณ์ , กฎข้อห้ามต่างๆ , ระบบsafety , ตู้chamber เป็นต้น ซึ่งไม่ได้นำมาเล่าตรงนี้ ถ้ามีเวลาจะเอามาเล่าในลำดับต่อไป
ตอนนี้ก็รู้ข้อมูลเบื้องต้นแล้ว ใครสนใจไปเรียนด้วยตัวเอง หรือจะส่งบุตรหลานไป ก็ลองพิจารณากันดูน่ะครับ
หากข้อมูลผิดพลาดประการใด
ช่วยกันแนะนำกันมาได้น่ะครับ.
Ed
#commercialdiving
#scubadiving
โฆษณา