2 ส.ค. 2021 เวลา 12:16 • ประวัติศาสตร์
“ตราประทับ”
ร่องรอยการเดินทางของจดหมาย (ตอนจบ)
วันนี้จะนำเสนอตราประทับแปลกๆ ที่ปัจจุบันหาประทับไม่ได้แล้วครับ ไปต่อกันเลยครับ
ย้อนกลับไปสมัยรัชการที่ 5 ขอบเขตประเทศไทยกว้างใหญ่ไพศาล จากคุณูปการของบรรพกษัตริย์ ขยายไปถึงประเทศใกล้เคียง
สยาม สมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจาก pinterest.com)
การรับฝาก-ส่งเอกสารราชการ หนังสือแจ้งข่าวสาร รวมถึงจดหมายเพิ่มมากขึ้น มีการเปิดที่ทำการไปรษณีย์ตามภูมิภาค ตามหัวเมืองต่างๆ ทำให้กิจการไปรษณีย์เติบโตอย่างรวดเร็ว นับว่าเป็นยุคบุกเบิกที่สำคัญยุคหนึ่ง
สิ่งที่ผมพูดมาข้างต้น มีการบันทึกเป็นหลักฐานไว้ตามตำรา จดหมายเหตุ ฯลฯ แต่มีอีกหนึ่งหลักฐานที่เชื่อถือได้นั่นคือ หลักฐานบนดวงแสตมป์
แสตมป์ที่นำมาให้ดูนี้ ผ่านการใช้งานจริง ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงให้ทราบว่า มีที่ทำการไปรษณีย์เปิดให้บริการในเมืองที่ในอดีตเคยเป็นดินแดนของประเทศไทย สังเกตได้จากตราประทับเป็นภาษาไทยครับ
แสตมป์ใช้งานจริง ประทับตรา หลวงพระบาง ปัจจุบันอยู่ในประเทศลาว
แสตมป์ใช้งานจริง ประทับตรา จำปาศัก(ดิ์) ปัจจุบันอยู่ในประเทศลาว
แสตมป์ใช้งานจริง ประทับตรา พระตะบอง ปัจจุบันอยู่ในประเทศกัมพูชา
แสตมป์ใช้งานจริง ประทับตรา ไพลิน ปัจจุบันอยู่ในประเทศกัมพูชา
ตัวอย่าง ชื่อเมืองที่เคยเป็นดินแดนของไทย ที่ประทับบนดวงแสตมป์มีดังนี้ครับ
รัชกาลที่ 5 มีไปรษณีย์เปิทำการ คือ
กัมพูชา ได้แก่ เมืองพระตะบอง ไพลิน เสียมราบ ศรีโสภณ จันทร์คีรีเขตร์ เสียมราบ
ลาว ได้แก่ เมืองจำปาศักดิ์ หลวงพระบาง ปากลาย ไชยบุรี
มาเลเซีย ได้แก่ เมืองไทรบุรี ปลิศ ลังกาวี กุลิม
รัชกาลที่ 8 มีช่วงสั้นๆ ที่ไทยครองมีเพิ่มอีกหลายไปรษณีย์
กัมพูชา ได้แก่ มงคลบุรี เกรียงศักดิ์พิชิต
ลาว ได้แก่ เมืองล้านช้าง พิบูลสงคราม
⭐️⭐️⭐️แสตมป์เหล่านี้ ปัจจุบันหายากมากๆ ครับ ราคาไม่ตกเลย ตัวอย่าง ศรีโสภณ อ่านออก 80% สภาพสวย เล่นกันดวงละ 6000-8000 บาทกันเลย⭐️⭐️⭐️
2
นอกเหนือจากตราประทับสำหรับใช้งานทั่วไปทางไปรษณีย์แล้ว ยังมีตราประทับที่จัดทำขึ้นสำหรับการสะสมโดยเฉพาะ ได้แก่ ตราประจำวันของที่ทำการไปรษณีย์ชั่วคราว เป็นตราประจำวันของที่ทำการไปรษณีย์ ที่เปิดให้บริการด้านไปรษณีย์ตามงานต่างๆ บางงานจะนำตราประจำวันจากที่ทำการไปรษณีย์ในท้องที่ไปให้ประทับตรา
ตัวอย่างตราประจำวันเพื่อนการสะสม
แต่ในหลายงานมีการออกแบบตราประจำวันเป็นพิเศษ และใช้งานเป็นเวลาจำกัด จึงมีคุณค่าต่อการสะสม ตัวอย่างเช่น ในงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ หรือ งานแสดงตราไปรษณียากรแห่งชาติ เป็นต้น ตราประจำวันดังกล่าวสามารถประทับได้เฉพาะในงานเท่านั้น เมื่อจบงานตราจะถูกเก็บเข้าคลังไม่สามารถหาประทับได้อีก ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ตราประทับนั้นหายากครับ
ตราที่ระลึก เป็นตรายางที่วางอยู่ในงานวันแรกจำหน่ายในไปรษณีย์ที่จัดงาน หรือตามงานต่าง ๆ ที่ไปรษณีย์ไปเปิดบริการ (เช่น งานกาชาด) ตราที่ระลึกนี้นักสะสมสามารถประทับเองได้ อาจเป็นตราเดียวตลอดทั้งงานเรียก “ตรารวม” หรือแยกวันละตราเรียก “ตราแยก” ถ้าเป็นแบบตราเดียวตลอดทั้งงาน ไปงานวันไหนก็สามารถประทับตรานั้นได้หมด สำหรับแบบที่แยกวันนั้น วิธีการสะสมจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทย ในอดีตวันแรกของงานจะมีเพียงตราที่ตรงกับวันแรก วันที่สองจะมีตราทั้งวันแรกและวันที่สอง ไล่ไปจนถึงวันสุดท้ายของงาน จะมีตราให้ประทับครบทุกวัน
แสตมป์งานกาชาดประทับตรางานกาชาดและไปรษณีย์ชั่วคราว ปี 2515
ส่วนปัจจุบันมักมีเฉพาะตราที่ตรงกับวัน ยกเว้นวันสุดท้ายที่มีตราครบทุกวัน นักสะสมสามารถสะสมตราแบบแยกให้ครบทุกตราได้สองวิธี คือ ตราประจำงาน ตราประทับที่ประกอบด้วยชื่องาน ตลอดจนช่วงเวลาและสถานที่จัดงานนั้น เพื่อให้นักสะสมประทับลงบนสิ่งสะสมเพื่อบอกรายละเอียดเกี่ยวกับงาน
ตราประจำที่ทำการไปรษณีย์ เป็นตราที่ที่ทำการไปรษณีย์บางแห่งจัดทำขึ้นเพื่อให้นักสะสมประทับตราเป็นที่ระลึก โดยเฉพาะที่ทำการไปรษณีย์ที่จัดงานวันแรกจำหน่ายแสตมป์อยู่เป็นประจำ สามารถไปขอประทับที่ทำการไปรษณีย์นั้นๆ ร่วมกับตราประจำวันและตราที่ระลึกได้เมื่อมีการจัดงาน
ตราประทับที่ระลึก เพื่อการสะสม
เกร็ดความรู้
ทราบหรือไม่ การประทับตราชื่อจังหวัดในอดีต ไม่ได้ใช้เหมือนในปัจุบันครับ มาดูกันครับ
แสตมป์ประทับตรา “แม่ห้องสร” (แม่ฮ่องสอน)
แสตมป์ประทับตรา “สุพัน” (สุพรรณบุรี)
แสตมป์ประทับตรา “ร้อยเอ็จ” (ร้อยเอ็ด)
แสตมป์ประทับตรา “กาลสินธุ์” (กาฬสินธุ์)
แสตมป์ประทับตรา “พิศณุโลก” (พิษณุโลก)
แสตมป์ประทับตรา “สุโขไท” (สุโขทัย)
แสตมป์ประทับตรา “ภูเก็จ” (ภูเก็ต)
จากที่กล่าวมา แสตมป์ เปรียบเสมือนหน้าต่างบานเล็ก เรื่องราวสำคัญจะถูกตราไว้ในดวงตราไปรษณียากรเพื่อบอกเล่ากล่าวขานในกาลต่อไป...
ภาพแสตมป์เก่า
FB เพจ ชุมชนคนรักตราประทับบนดวงตราไปรษณียากร
ข้อมูล
FB เพจ พิพิธภัณฑ์ดวงตราไปรษณียากร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา