2 ส.ค. 2021 เวลา 09:52 • สุขภาพ
สุริยาหีบศพ 2499 พรานนก-ศิริราช: ตายแล้วต้องไปไหน?
วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 98 คน
วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 67 คน
วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 141 คน
วันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 101 คน
วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 81 คน
วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 80 คน
วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 108 คน
สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยนั้น หลายๆธุรกิจต่างโดนผลกระทบกันถ้วนหน้า และปัจจุบันมีแนวโน้มที่ยอดผู้เสียชีวิตจะสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อมีคนตายเราก็ต้องนึกถึงโลงศพ คงอาจเป็นช่วงเวลาทองของธุรกิจร้านขายหีบศพทั่วประเทศที่จะกอบโกยกำไรจากสถานการณ์นี้
“ถ้ามีคนตายก็ยังมีคนหาผลประโยชน์จากการตายของคน”
โกญจนาท สุริยเสนีย์ ทายาทสุริยาหีบศพ 2499 พรานนก-ศิริราช รุ่นที่สอง เล่าถึงเหตุการณ์คนตายในปัจจุบัน มีกลุ่มคนมากมายที่ต่างหาผลประโยชน์จากศพคนตาย
“ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือแย่คนก็เสียอยู่ดี”
2
เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จักสุริยาหีบศพ 2499 พรานนก-ศิริราช ปัจจุบันเป็นรุ่นที่สาม ซึ่งก็คือ ฟีฟ่า-คณกฤษ สุริยเสนีย์ บริหารร่วมกับคุณพ่อโกญจนาท บริหารธุรกิจจัดหาหีบศพและบริการฌาปนกิจแบบครบวงจร ถือเป็นเจ้าแรกของประเทศไทย และเป็นเจ้าของเพจบริบุญ – Boriboon
1
ในสถานการณ์ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตแบบรายวัน หลายคนคงนั่งคิดว่าคงมีแต่ร้านขายหีบศพที่จะได้กำไรจากสถานการณ์นี้ ช่วงเวลานี้คงเป็นเหมือนยุคทองของพวกเขา แต่ความเป็นจริงแล้วสุริยาหีบศพ 2499 พรานนก-ศิริราช กลับไม่ได้คิดว่านี้คือยุคทองแต่อย่างใด กลับกลายเป็นภาระหน้าที่ ที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ การมีอยู่ของโควิด-19 ไม่คุ้มกับราคาที่ต้องจ่ายของพวกเขาในการทำงาน พวกเขาต้องเจอกับความเสี่ยง และต้นทุนที่มหาศาลเกินกว่าที่จะเรียกว่านี้คือยุคทองของพวกเขา
จัดการ – ศพ
“ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการบริการให้คิดว่าบริการให้ดีทั้งคุณภาพสินค้า คุณภาพของบุคลากรและให้บริการให้ดี เดี๋ยวพอเขาชอบ เขาจะไปบอกปากต่อปากเอง ซึ่งถามว่ามันได้ผลนั้นก็ได้ผลแต่ว่ามันได้ผลไม่ทัน”
2
เริ่มแรกสุริยาหีบศพ 2499 พรานนก-ศิริราช มีบริการเพียงเคลื่อนย้ายศพจากโรงพยาบาลศิริราชไปที่วัด และทำหน้าที่เป็นตัวกลางไปติดต่อจัดหาโลงศพจากร้านค้าต่างๆช่วยเหลือญาติผู้เสียชีวิต ต่อมาเริ่มที่จะประกอบโลงศพขึ้นมาเอง เปิดเป็นร้านขายโลงศพ แต่มีเพียงเคลื่อนย้ายศพ ขายหีบศพเท่านั้น ยังไม่มีรูปแบบพิธีกรรมครบวงจรแบบในปัจจุบันนี้ ที่รับจัดงานศพ ทุกศาสนา ไม่ว่าจะเป็น ไทย จีน ฝรั่ง หรืออิสลาม
‘แต่ว่ามันได้ผลไม่ทัน’ คงไม่แปลกสำหรับวงการธุรกิจการในปัจจุบัน บอกปากต่อปากนั้นสำคัญแต่อาจยังพอที่จะสร้างรายได้ให้ได้ ดังนั้นฟีฟ่าจึงเปิดสร้างเพจ บริบุญ – Boriboon
ซื้อ 1 พวงหรีด = บริจาค 1 โลงศพ
บริจาค 1 โลงศพ = แถม 1 พวงหรีด
เพจ บริบุญ – Boriboon เปรียบเสมือนแบรนด์ต่อยอดจากสุริยาหีบศพ 2499 พรานนก-ศิริราช ผลิตภัณฑ์หลักก็คือ พวงหรีด ที่ทำมาจากวัสดุเหลือจากการทำโลงศพและสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชน เมื่อคุณซื้อ 1 พวงหรีด = บริจาค 1 โลงศพ โลงศพนี้จะบริจาคให้กับผู้ยากไร้ มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
4
บริบุญจะมีเรื่องของ Marketing เข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อคิดถึงบริบุญก็จะคิดถึงสุริยา บริบุญเป็นเหมือนช่องทางใหม่ที่ทำให้ผู้คนเข้าถึงแบรนด์สุริยาหีบศพ 2499 พรานนก-ศิริราช ได้ง่ายขึ้น มีสื่อมากมายขอเข้ามาสัมภาษณ์เพราะสนใจในเพจบริบุญ
“มีมาเรื่อยๆ รับจัดการศพ ทุกแบบ ทุกอย่าง”
นอกจากศพปกติ สุริยาหีบศพ 2499 พรานนก-ศิริราช ก็ยังรับจัดการศพของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วย โดยศพโควิด-19 เมื่อเสียชีวิตจำเป็นต้องเผาเลยทันที เพื่อกันการแพร่ระบาด ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดก็ตาม ก็ต้องนำศพไปเผาเหมือนกันหมด โดยวิธีการจัดการศพโควิด-19 จะแตกต่างจากการจัดการศพปกติ เพราะจำเป็นต้องมีขั้นตอนมากมายขึ้น
2
“มันจะมีแต่ PPE และแอลกอฮอล์ อย่างเดียวเลยวนอย่างงี้ทุก Process เลย”
ขั้นตอนการจัดการเคลื่อนย้ายศพโควิด-19ไปเผา จะมีขั้นตอนดังนี้ เริ่มแรกทางโรงพยาบาลจะฉีดน้ำยาแอลกอฮอล์คลุมศพก่อนจัดการบรรจุศพใส่ถุงกันเชื้อ เมื่อพนักของสุริยาหีบศพ 2499 พรานนก-ศิริราชจะเคลื่อนย้ายก็ต้องฉีดน้ำยาแอลกอฮอล์อีกรอบนึงก่อนนำขึ้นรถ และเมื่อถึงวัดก็ต้องฉีดน้ำยาแอลกอฮอล์อีกรอบนึงก่อนลงจากรถ จึงนำขึ้นเมรุเผาเป็นอันจบกระบวนการ โดยพนักงานเคลื่อนย้ายในชุดนั้น จะใส่ชุด PPE ตลอดตั้งแต่กระบวนการแรกจนยกขึ้นเมรุ เพื่อความปลอดภัยของพนักงานด้วย
ศพโควิด-19 จะได้รับอนุญาติแค่ให้ตั้งรูปและสวดศพหน้าเมรุเท่านั้น ญาติผู้เสียชีวิตจะไม่สามารถขึ้นไปบนเมรุเผาศพได้ โดยพนักงานจะทำลายชุด PPE ทิ้งทุกครั้งหลังเสร็จพิธีการ ไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้
“จริงๆ ตัวพี่เสี่ยงนะ แต่พี่ๆ ด้านนอกเสี่ยงกว่า”
ฟีฟ่า หมายถึงพนักงานของตัวเขาที่ต้องออกไปรับศพโควิด-19 ในทุกวัน การบริหารธุรกิจในยุค โควิด-19 คงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับงานที่ต้องใกล้ชิดกับความเสี่ยงแบบนี้ในทุกวัน เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายตอนไหน
คำตอบของคำถามเชยๆที่ถามเราว่า ‘ ตายแล้วไปไหน ’ คงตอบได้ว่าไปอยู่ในโลงศพ การมีธุรกิจจัดการศพเกิดขึ้น อนึ่งเพื่อช่วยจัดการให้คนอยู่ได้ร่ำลาคนตายเป็นครั้งสุดท้าย และช่วยทำในสิ่งที่คนทั่วไปไม่อยากทำเช่นการเคลื่อนย้ายศพ ยิ่งด้วยสถานการณ์ในตอนนี้การที่มีคนตายมากมายจากโรคร้าย ธุรกิจนี้จึงจำเป็นอย่างมาก เพราะเราไม่รู้เลยว่าวันใดวันหนึ่งเราก็อาจจะได้ใช้บริการพวกเขาเหมือนกัน
ภาพ: สุรียาหีบศพ 2499 พรานนก-ศิริราช
กรรม – ไร
“ยุคโควิด สุริยาฯ เป็นยุคทำกำไรเหรอ จริงๆ ไม่ใช่นะ เพราะว่าคนก็ยินดีที่จะจ่ายเงินกับงานศพน้อยลง ลูกค้าอาจจะเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมนิดหน่อย คนจะประหยัดมากขึ้นอาจเพราะด้วยเศรษฐกิจทุกวันนี้”
แต่เดิมแล้วกำไรที่ได้จากการจัดงานศพก็ไม่ได้มากอยู่แล้ว เพราะมีต้นทุนสูงมากเช่นกัน ยิ่งพอเป็นยุคโควิด-19 จำเป็นต้องลงทุนกับค่าอุปกรณ์ป้องกัน แอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น ออเดอร์ที่เข้ามาในแต่ละวันจะประมาณ 3 – 5 ออเดอร์ ทั้งศพโควิดและศพปกติ
อุปกรณ์ที่พนักงานของสุริยาหีบศพ 2499 พรานนก-ศิริราช ต้องเตรียมไปก็คือ ชุด PPE หน้ากากอนามัย หมวกคลุมผม Face Shield ถุงเท้า ถุงมือ รวมๆ แล้ว ชุดหนึ่งราคาจะอยู่ที่ประมาณ 600 – 700 บาท และ ยังมีค่าน้ำยาแอลกอฮอล์ ที่ไม่สามารถคำนวนปริมาตรได้เพราะจำเป็นต้องพ่นทำความสะอาดรถตู้เคลื่อนย้ายศพทุกวัน ทั้งรถที่ไปรับศพโควิด-19 หรือศพปกติ อุปกรณ์พวกนี้คงไม่ต่างกับน้ำยาแอลกอฮอล์ที่ใช้แล้วมันก็ต้องระเหยไป แต่สุดท้ายของพวกนี้ก็ยังจำเป็นที่ต้องใช้อยู่ดี เม็ดเงินที่สูญไปกับของเหล่านี้ถือว่าอยู่ในราคาที่สูงมากเลยทีเดียว
‘คนก็ยินดีที่จะจ่ายเงินกับงานศพน้อยลง’ ในยุคก่อนโควิด-19 สุริยาหีบศพ 2499 พรานนก-ศิริราชจะสามารถหากำไรได้ประมาณ 20-40% ต่อราย แต่เมื่อเทียบกับยุคโควิด-19 กำไรจะอยู่ที่ประมาณ 15-25% ต่อราย ทั้งที่จำนวนลูกค้าเท่าเดิมแต่รายได้ในยุคโควิดหายไปเกือบ 50%
ภาพ: สุรียาหีบศพ 2499 พรานนก-ศิริราช
“ถ้ามีคนตายเพิ่มขึ้นก็แปลว่าเราต้องเสี่ยงมากขึ้น คนตายมากขึ้นมันไม่ได้แปลว่าเราได้กำไรมากขึ้น คนตายมากขึ้นแปลว่าโควิดระบาดหนักขึ้น มันอาจจะแค่งานเรานะเยอะขึ้นแต่ไม่ได้กำไรมากขึ้นนิ”
จำนวนยอดคนตายไม่ได้บ่งชี้ถึงจำนวนเม็ดเงินที่จะได้ ไม่มีใครอยากที่จะเจอกับความเสี่ยงในทุกครั้งที่ไปทำงาน การหาประโยชน์กับโควิดคงมองได้เพียงการทำงานที่เสี่ยงกับระเบิด เพราะไม่รู้เลยว่าจังหวะไหนโควิด-19 จะเข้ามาสู่ร่างกายแล้วระเบิดทำลาย ทั้งร่างกายและธุรกิจ
“พี่ว่ามันน่ากลัวนะ ยังไม่วิธีไหนที่จะลดลงเลยมีแต่เพิ่มขึ้น”
ยอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นในทุกวันและยังมีแต่แนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ฟีฟ่าคงหวังเพียงมาตรการที่เด็ดขาดมากกว่านี้และเป็นแบบแผนมากกว่านี้ เช่นการเข้าถึงของวัคซีนหรือการตรวจหาเชื้อที่เข้าถึงได้ง่าย ตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิ ในปี 2547 ที่มาผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เหตุการณ์โควิด-19 ก็เป็นอีกครั้งที่มีผู้เสียชีวิตรายวันจำนวนมากแบบนี้
การหากำไรจากโควิด-19 คงเป็นมายาคติที่คนสร้างขึ้น เพราะการมีอยู่ของโควิด-19 ไม่สร้างประโยชน์ให้แก่ใคร ทุกคนล้วนเป็นผู้เสียหายจากสถานการณ์ครั้งนี้ ทุกคนต้องเจอกับความเสี่ยง ราคาที่ต้องจ่าย ระยะเวลาที่ต้องฟื้นฟู ผู้คนที่สูญเสียไม่ว่าจะบ้าน สิ่งของ เครื่องใช้ หรือแม้แต่ชีวิต ไม่รู้ว่าเหตุการณ์นี้จะจบเช่นไรและก็ไม่รู้ว่าเรายังจะเหลือเศษซากอะไรให้กอบกู้อยู่รึเปล่าหลังจากจบโควิด-19
1
คุ้ม – ค่า
“คนเราควรใช้เวลาคุ้มค่าที่สุดกับคนที่เรารัก เพราะว่าพี่เห็นความหดหู่ในความเศร้าทุกวัน แล้วส่วนใหญ่เค้าจะมานั่งเสียดายทีหลัง ช่วงโควิดจะเป็นความกะทันหันมากกว่า”
ธุรกิจที่เกี่ยวกับคนตาย คงเลี่ยงไม่ให้เห็นคนตายได้ หากป่วยธรรมดาเรายังสามารถไปเยี่ยมกันได้ เจอหน้ากันได้ แต่เมื่อเป็น โควิด-19 เราไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้เลย บางคนจากอาการดีๆก็อาการทรุดลง ไปแบบไม่ทันได้เตรียมใจเลยด้วยซ้ำ
“งานศพจำเป็นอยู่ไหม จริงๆมันจำเป็นนะ ถ้าเกิดพูดในความรู้สึกของพี่ที่เห็นลูกค้าที่เขาสูญเสียเนี่ย ถ้าเกิดขึ้นกับเรา คิดใจเขาใจเรา สมมุติถ้าเราสูญเสียใครเราก็อยากใช้เวลากับบอกลาคนที่รักครั้งสุดท้ายถูกไหมล่ะ”
การจัดงานศพก็เหมือนกับการที่ญาติผู้เสียชีวิตจะได้ร่ำลาคนที่จากไปเป็นครั้งสุดท้าย ถึงแม้มาตรการจำเป็นต้องเผาศพเลยทันที แต่ก็ยังมีบางครอบครัวที่เลือกจัดพิธีศพให้แก่ผู้ตายจากโควิด โดยการตั้งรูปของเขาไว้ที่วัดเพื่อให้คนอื่นมาร่วมอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย แต่อาจจะต้องทำให้กระชับมากที่สุดและเสี่ยงน้อยที่สุดอย่างน้อยแล้วก็ให้เขาบอกลาคนที่เขารัก อาจจะไม่จำเป็นต้องทำพิธีหลายวันแบบเมื่อก่อน
การสูญเสียคนที่รักไปสักคนหนึ่ง เราเองก็คงอยากบอกลาเขาเป็นครั้งสุดท้ายเหมือนกัน คงเป็นความตลกร้ายของโชคชะตาในปัจจุบัน มาตรการ Social Distancing คงไม่ได้มีไว้สำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่เพียงอย่างเดียว แต่คงมีไว้สำหรับคนที่ตายด้วยล่ะมั่ง
“ต้องทำช่วงเวลาที่มีโอกาสให้ดีที่สุด เราไม่รู้หรอกว่าเราจะไม่มีโอกาส ตอนไหนหรือเมื่อไหร่ เราไม่รู้จริงๆ”
ถึงแม้ยอดออเดอร์ในแต่ละวันไม่เยอะมากแต่จำเป็นต้องมีเก็บสต็อกไว้ ช่างไม้จะมีช่างใหญ่อู่ละหนึ่งคน และจะมีลูกมือค่อยช่วยอีก 3-5 คน ช่วงนี้มีคนต้องการใช้โลงศพจำนวนมาก ช่างไม้ต่างต้องทำงานหนัก เพื่อทำโลงศพให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวันโดยเฉพาะหีบบริจาค
“ถ้ามีคนเข้ามาติดต่อขอรับบริจาคโลงศพให้กับศพที่ติดเชื้อโควิดสุริยาก็พร้อมที่ช่วยเหลือนะ”
หีบบริจาคมาจากการช่วยเหลือของคนที่ยังมั่นคงในฐานะเขาก็ช่วยบริจาคโลงศพกันเข้ามาเรื่อยๆ สุริยาหีบศพ 2499 พรานนก-ศิริราชก็นำหีบบริจาคตรงนี้ไปช่วยเหลือคนที่เขาไม่มี เมื่อไม่นานมานี้มีการเอาหีบศพ100ใบไปส่งวัดที่อยู่ต่างจังหวัด หรือบางทีพวกเขาก็ช่วยเหลือเป็นอุปกรณ์ป้องกัน มาจากคนอื่นบ้างหรือคนรู้จักบ้าง ช่วยเหลือกันในสถานการณ์แบบนี้
ในจำนวนยอดรายวัน วันข้างหน้าอาจมีเราเป็นหนึ่งในนั้นก็ได้ ความตายอาจเป็นเรื่องใกล้ตัวเราที่สุดเพราะเราไม่รู้เลยจริงๆว่า มันจะเมื่อไหร่ ตอนไหน เวลาไหน หรือคำพูด คำบอกลา คำยินดี คำบอกรัก คำทักทาย คำด่าแช่ง เราก็ไม่รู้ว่าเราจะได้พูดหรือได้ยินคำนั้นเป็นครั้งสุดท้ายรึเปล่า ทำได้เพียงทำทุกวันให้ดีที่สุด เพื่อรอวันที่เราจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้
คงไม่มีใครได้กำไรจากยุคโควิด-19 เพราะโควิด-19คือไวรัสไม่ใช่ผลประโยชน์ การมีอยู่ของมันนอกจากทำลายระบบการหายใจแต่ยังคงทำลายระบบเศรษฐกิจไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรายใหญ่หรือรายย่อยถ้าหากเหตุการณ์นี้ยังคงยืดเยื้อต่อไป คงอาจไม่เหลือโลงศพเพียงพอต่อเราทุกคนแล้วก็ได้
เรื่องและภาพโดย ณัฐนนท์ ณ นคร
ติดต่อโฆษณา: kritthanan@songsue.co
โฆษณา