3 ส.ค. 2021 เวลา 01:30 • ไลฟ์สไตล์
ทุกวันนี้เราโฟกัสถูกจุดแล้วหรือยัง? เพราะการก้าวสู่เป้าหมายในชีวิต ต้องมาพร้อมกับพลังแห่งการ ‘โฟกัส’
.
.
ความสามารถในการ ‘โฟกัส’ กับเรื่องหนึ่งเรื่องเป็นเวลานานๆ ของคนหลายคนเริ่มลดน้อยถอยลงอย่างมากในสมัยนี้ แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีเรื่องกระตุ้นความสนใจของเราตลอดเวลา ลองนึกภาพหน้าจอที่อยู่รอบๆ ตัวเราทุกวันนี้นะครับ เรามีตั้งแต่จอทีวี คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โทรศัพท์​ รวมไปถึงแม้แต่หน้าจอนาฬิกาของเรา ที่เดี๋ยวนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นจออิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กจอนึงเลยก็ว่าได้
.
นี่ยังไม่นับรวมพวกหน้าจอภายในรถสมัยใหม่ที่ไม่ได้ต่างอะไรจากหน้าจอคอมพิวเตอร์จอหนึ่งเลย ในรถยนต์สมัยใหม่โดยเฉพาะรถยนต์ที่เป็นระบบไฟฟ้า คุณสามารถจอดรถติดเครื่อง เปิดแอร์ และเล่นเกมส์ที่ต้องการความสามารถกราฟิกสูงๆ อย่าง The Witcher 3 หรือ Cyberpunk 2077 ได้แบบสบายๆ
.
17
ลองคิดๆ ดูแล้วมันก็ถือว่าน่าทึ่งมากนะครับ เพราะหากย้อนไปเมื่อสิบปีที่แล้ว จอรถก็คงยังเปิดได้แค่แผนที่และเล่นเพลงให้เราฟังได้แค่นั้นเอง นี่ยังไม่รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่เดี๋ยวนี้ก็มีจอกันหมดแล้ว
.
มุมอื่นของชีวิตเราก็เช่นกัน โลกสมัยใหม่คือโลกที่ทุกอย่างอยู่แค่ปลายนิ้ว อยากรู้อะไร อยากได้อะไร ก็สามารถหาเจอทันที หรือไม่ก็กดสั่งให้มาส่งถึงหน้าบ้านได้หมด
.
หลายๆ คนที่ผมรู้จักก็บอกว่า พวกเขาจำครั้งสุดท้ายที่อ่านหนังสือจบเล่มแบบจริงจังไม่ได้แล้ว
.
ความสามารถในการตั้งใจเพื่อ ‘โฟกัส’ และ ‘ค้นหาเชิงลึก’ ค่อยๆ หายไป
.
แม้ว่าโลกจะหมุนไปเร็วสักเพียงใด ความจริงก็คือสิ่งที่มีค่ามากๆ ที่มักจะต้องใช้เวลาในการสร้างหรือค้นหา
.
นี่จึงเป็นที่มาว่า ในโลกอนาคต ความสามารถในการโฟกัสกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งนานพอ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง
.
Gary Keller เคยกล่าวไว้ว่า
.
3
“Things don’t matter equally”
.
“ไม่ใช่ทุกอย่างจะสำคัญเท่ากัน”
.
ฟังดูกำปั้นทุบดินใช่ไหมครับ แต่เชื่อไหมว่า เวลาเรามีอะไรต้องทำเยอะๆ เราแยกไม่ออกจริงๆ ว่าอะไรสำคัญกว่าอะไร ทุกอย่างดูจะ ‘ด่วน’ และ ‘ต้องทำ’ ตอนนี้ไปหมด
.
หลายวันของเราผ่านไปโดยการนั่งจ้องหน้าจอทั้งวัน เปลี่ยนจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง และหมดวันด้วยความรู้สึกว่าไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ก็เหนื่อยเหลือเกิน ก่อนจะผลอยหลับไปคาโทรศัพท์​
8
หากว่าเราวางแผนชีวิตใหม่ล่ะ หากว่าเราตั้งคำถามกับชีวิตว่าอะไรที่สำคัญจริงๆ แล้วลองโฟกัสแค่สิ่งเหล่านั้นพอ ชีวิตของเราจะเปลี่ยนไปไหม?
.
ในหนังสือเรื่อง The One Thing ได้เขียนเกี่ยวกับคำถามในการโฟกัสของชีวิตไว้ได้อย่างน่าสนใจครับว่า
.
“อะไรคือสิ่งเดียว ที่เราต้องการในชีวิตนี้”
.
แน่นอนว่าคนเราไม่สามารถทำเรื่องเดียวได้ แต่ลองถามตัวเองดูจริงๆ ว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นเป้าหมายของเราจริงๆ มันอาจจะเป็นการสร้างบ้านของตัวเอง การได้เที่ยว 60 ประเทศก่อนอายุ 60 หรือแม้แต่การเป็นเจ้าของฟาร์มสุนัข
.
เมื่อรู้แล้วว่า The One Thing ของคุณคืออะไร ทุกวันหลังจากนี้ลองถามตัวเองดูว่าสิ่งที่เราทำในแต่ละวัน มันทำให้เราใกล้สิ่งที่เราอยากได้มากขึ้นไหม
6
เช่น เราอยากซื้อบ้านแต่เราไม่เคยเก็บเงินได้เลย เพราะเอาแต่ช็อปปิงซื้อของไปเรื่อยๆ แบบนี้แปลว่าเราไม่ได้โฟกัสกับเป้าหมายใหญ่ของเรา แต่ในทางกลับกันถ้าเรายอมไม่ซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างทาง เพื่อให้แน่ใจว่าทุกเดือนเราจะมีเงินเหลือพอที่จะเก็บไว้ นั่นก็แปลว่าเรา ‘โฟกัส’ กับเป้าหมายจริงๆ
.
จะว่าอนาคตของคุณไม่ได้อยู่ที่การสร้างเป้าหมายใหญ่โตอลังการซะทีเดียว แต่มันอยู่ที่การวางแผนสร้างนิสัยเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวัน ที่เมื่อลองทำแยกกันแล้วดูเหมือนจะไม่สำคัญ แต่ถ้าทำสม่ำเสมอพอและนานพอ มันจะสามารถพาคุณไปที่ที่คุณอยากไปให้ถึงได้
3
การโฟกัสไม่ได้หมายถึงการทำซ้ำๆ ย้ำแต่เพียงอย่างเดียว แต่มันยังหมายถึงการทำสิ่งที่มีความหมายกับตัวคุณด้วย
.
ในหนังสือเรื่อง The Talent Code กล่าวถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ทำเพื่อหาทักษะทางดนตรีของเด็ก 157 คน ซึ่งเป็นการศึกษาระยะยาวตั้งแต่ช่วงที่เด็กเหล่านี้อายุ 7-8 ขวบ จนกระทั่งไปถึงมัธยมปลาย โดยดูตั้งแต่ที่ก่อนเด็กเหล่านั้นจะเลือกเครื่องดนตรี ติดตามการซ้อม ผลงาน และมุมมองอื่นๆ ไปอีกหลายปี
.
หลังจากเก็บข้อมูลไปสักระยะก็พบว่า เด็กบางคนไม่ค่อยมีพัฒนาการนัก ในขณะที่บางคนก็เล่นได้แบบอัจฉริยะ แต่ส่วนใหญ่ก็จะอยู่กลางๆ
.
คำถามคืออะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กแต่ละคนมีความสามาถรทางดนตรีที่ต่างกัน?
.
1
เนื่องจากการเก็บข้อมูลนั้นทำนานมาก จึงมีข้อมูลจำนวนมหาศาลให้วิเคราะห์ ทีมนักวิเคาระห์จึงได้ลงลึกในหลายแง่มุม
.
ใช่ไอคิวหรือเปล่านะที่ทำให้เด็กต่างกัน? คำตอบคือ ‘ไม่ใช่’
.
ใช่ประสาทหูที่ไวเป็นพิเศษไหม? คำตอบคือ ‘ไม่ใช่’
.
ใช่ความสามารถในการสัมผัสจังหวะไหม? คำตอบคือ ‘ไม่ใช่’
.
ถ้างั้นประสาทสัมผัสที่เฉียบคมใช่ไหม? คำตอบก็ยัง ‘ไม่ใช่’
.
งั้นฐานะของครอบครัวละ? คำตอบก็ยัง ‘ไม่ใช่’ อีกครับ
.
แล้วระยะเวลาการซ้อมในแต่ละสัปดาห์ล่ะ? ต้องบอกว่า ‘เกี่ยว’ แต่อาจจะไม่ได้เป็นแบบที่คุณคิดซะทีเดียว
.
นักวิจัยจึงได้พิจารณาไปจนถึงข้อมูลชุดหนึ่งที่มีความน่าสนใจอย่างมาก
.
นั่นคือ คำตอบของเด็กๆ ในการสัมภาษณ์ ‘ก่อน’ ที่จะเริ่มทำงานวิจัย ตอนที่พวกเขายังเด็กมากๆ
.
คำถามก็คือ “หนูจะตั้งใจเล่นเครื่องดนตรีนี้ไปนานแค่ไหน?”
.
โดยคำตอบที่ให้เลือกมี (1) ตลอดปีนี้ (2) ตลอดชั้นประถม (3) ตลอดชั้นมัธยม และ (4) ตลอดชีวิต อาจเรียกว่าเป็น ความตั้งใจระยะสั้น ความตั้งใจระยะกลาง และความตั้งใจระยะยาวก็ว่าได้
.
จากนั้นทีมวิจัยก็เอาคำตอบนี้มาดูคู่กับระยะเวลาการซ้อมของเด็ก โดยแบ่งเป็นระดับน้อยคือประมาณ 20 นาทีต่อสัปดาห์ ระดับปานกลางคือ 40 นาทีต่อสัปดาห์ และระดับมากคือ 90 นาทีต่อสัปดาห์​
.
นักวิจัยค้นพบว่าคนที่มีความตั้งใจยาวคืออยากเล่นไปนานๆ สามารถพัฒนาทักษะได้ดีกว่ากลุ่มที่มีความตั้งใจสั้นถึง 4 เท่า ทั้งๆ ที่ซ้อมพอๆ กัน
.
1
ส่วนกลุ่มที่ตั้งใจจะเล่นยาว แม้จะซ้อมเพียง 20 นาทีต่อสัปดาห์ แต่ความก้าวหน้าเยอะกว่ากลุ่มที่มีความตั้งใจระยะสั้นที่ซ้อม 90 นาทีต่อสัปดาห์เสียอีก
.
หรืออาจกล่าวได้ว่า ‘ความตั้งใจก่อนเริ่มเรียน’ คือปัจจัยที่บ่งชี้ระยะยาวถึงฝีมือในการเล่น
.
8
Gary Macpharson หัวหน้าคณะวิจัยสรุปว่า สิ่งที่เด็กเหล่านั้นมองว่าตัวเองเป็น ‘อะไร’ คือสิ่งที่สำคัญมาก หากพวกเขามองตัวเองว่าเป็น ‘นักดนตรี’ ความคิดดังกล่าวจะส่งผลต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง ความสนใจที่เปลี่ยนแปลงไป หรือพูดอีกอย่างคือมันเปลี่ยน ‘โฟกัส’ ในชีวิตของพวกเขาไปนั้นเอง
.
เด็กที่มีความตั้งใจที่จะเล่นเครื่องดนตรีไปนานๆ นิยามตัวเองว่าเป็นนักดนตรี และเมื่อเวลาผ่านไปหลายปีพวกเขาก็กลายเป็นนักดนตรีขึ้นมาจริงๆ
.
.
โฟกัส + ความหมาย + เวลา จึงเป็นสมการของความสำเร็จในระยะยาว
4
การโฟกัสที่ต้องการผลที่ดีนั้นต้องดูเรื่องของ Willpower หรือว่าพลังใจด้วย
.
ในหนึ่งวันนั้นพลังใจของเรามีจำกัด และการเลือกใช้มันอย่างเหมาะสมจึงสำคัญยิ่ง
.
เมื่อพูดถึงพลังใจ สิ่งที่ยากมากคือการใช้มันในเวลาที่ถูกต้อง
.
ด้วยความที่มันมีจำกัดมาก ยิ่งเราใช้มากเท่าไร มันก็จะหมดไปมากเท่านั้น
.
ในวันวันหนึ่ง มีกิจกรรมจำนวนมากที่เราใช้พลังไปโดยไม่ได้ผลลัพธ์อะไรกลับมาสักเท่าไร เช่น การเถียงเรื่องไม่เป็นเรื่องกับเพื่อนร่วมงาน การเช็กอีเมลทุกสิบนาที การแช็ตที่ยืดยาวแต่ไม่ได้ประโยชน์อะไรมากมาย การนั่งอ่านไลน์กลุ่มทั้ง 55 กลุ่ม การดูคลิป Youtube แบบไร้จุดหมาย และอีกมากมาย ซึ่งเป็นอะไรที่น่าเสียดายมาก
.
เมื่อเรารู้ถึงความจำกัดของพลังใจแล้ว เราต้องบริหารมันให้ดีมากๆ
.
3
คนที่เหมือนจะทำอะไรได้เยอะๆ ถ้าลองไปผ่าแยกส่วนเวลาที่เขาใช้ในแต่ละวันอย่างละเอียด จะพบว่าเขาเหล่านั้นใช้เวลาช่วงที่มี Willpower เยอะๆ ไปอย่างชาญฉลาดมาก หรือพูดง่ายๆ คือโฟกัสการใช้พลังมากนั่นเอง
.
ในบรรดาเรื่องหลายสิบเรื่องในหนึ่งวัน คนที่จัดการงานได้ดีจะโฟกัสพลังไปกับเรื่องไม่กี่เรื่องเท่านั้น
.
มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมยังใช้เป็นแนวทางการทำงานมาจนถึงทุกวันนี้ ในหนังสือเขาบอกว่า หน้าที่ของ CEO มีสามอย่างเท่านั้น คือ People, Culture และ Numbers
.
1
‘People’ คือการคัดเลือกคนที่ถูกต้องเข้ามาในทีม รักษาและพัฒนาคนเหล่านั้นให้เติบโต และยังหมายรวมถึงการนำคนที่ไม่ใช่ออกด้วย
.
‘Culture’ คือการสร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อเป้าหมายบริษัท เช่น ถ้าเราต้องการเป็นบริษัทที่เปลี่ยนแปลงตามโลกได้ หนึ่งในวัฒนธรรมคือเรื่องของความเร็ว ซึ่งมันอยู่ในทุกเรื่องตั้งแต่การอนุมัติ กระบวนการทำงาน และอีกมากมาย​ หน้าที่ของ CEO คือการทำยังไงก็ได้ให้ทุกอย่างในองค์กรเร็วขึ้น อะไรที่เป็นอุปสรรคก็เอาออกไป แบบนี้เป็นต้น
.
1
‘Numbers’ คือสารพัดตัวเลขที่วัดได้ทั้งหลาย ตั้งแต่ตัวเลขทางการเงิน ไปจนถึงตัวเลขเชิงประสิทธิภาพต่างๆ ด้วย แน่นอนว่าไม่ต้องดูทุกเรื่อง ดูเฉพาะเรื่องสำคัญพอ ว่ากันว่า Dashboard ของ CEO ที่ดูเรื่องพวกนี้ไม่ควรเกินสองหน้า
.
ดังนั้นนอกจาก People, Culture และ Numbers แล้ว CEO ที่ดีจะไม่ทำเลย เพราะควรเอาเวลามาโฟกัสสามเรื่องนี้ให้ดีเพราะ Willpower ของ CEO เองก็มีจำกัด
.
1
พลังแห่งการโฟกัส เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อคุณภาพของงานที่เราจะสามารถทำออกมาได้ และเราสามารถฝึกตัวเองให้เป็นคนที่สามารถโฟกัสกับเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้นครับ
.
ลองค่อยๆ หาจุดที่เหมาะสมของตัวเองดูนะครับ แต่รับรองว่าเรื่องนี้คุ้มค่าการฝึกฝนมากๆ ครับ
.
.
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#selfimprovement
2
โฆษณา