Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
มนุษย์อวกาศ
•
ติดตาม
4 ส.ค. 2021 เวลา 01:15 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เปิดบันทึกอุกกาบาตตกในประเทศไทย
คนไทยได้พบเหตุการณ์อุกกาบาตตกในประเทศไทยมาแล้ว 5 ครั้ง ตามที่มีการบันทึกเป็นข้อมูลไว้ดังนี้
🌠 วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2466 เวลา 21.00 น.
ลูกอุกกาบาตตกลงยุ้งข้าวของเกษตรกรที่ตำบลดอนยายหอม จังหวัดนครปฐม ลูกอุกกาบาตได้แตกเป็น 2 ก้อน จัดเป็นอุกกาบาตหิน โดยมีเหล็กเป็นส่วนผสมประมาณ 22% ก้อนเล็กหนัก 9.6 กิโลกรัม รวมสองก้อนหนักถึง 32.2 กิโลกรัม โดยมีการตั้งแสดงอยู่ที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ
🌠 วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2524 เวลา 05.30 น.
ลูกอุกกาบาตตกลงในเขตอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ซึ่งค้นพบชิ้นส่วนลูกอุกกาบาตขนาดเล็กๆ รวบรวมได้ 31 ชิ้น เป็นอุกกาบาตชนิดหิน
ทีมสำรวจจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ดร.ระวี ภาวิไล เก็บรวบรวมอุกกาบาตได้ 31 ชิ้น น้ำหนักรวม 367 กรัม ลูกใหญ่ที่สุดหนัก 51.3 กรัม มีข้อสันนิษฐานว่า หากอุกกาบาตเชียงคานไม่ได้เป็นชิ้นส่วนจากแถบดาวเคราะห์น้อยหลัก ซึ่งโคจรอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี มีความเป็นไปได้ว่ามันอาจจะเป็นชิ้นส่วนของดาวหางเทมเพล-ทัตเทิล ต้นกำเนิดของฝนดาวตกสิงโต ฝนดาวตกที่เกิดเป็นประจำในวันที่ 16-17 พฤศจิกายนของทุกปี
1
🌠 วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2536 เวลา 20.45 น.
อุกกาบาตเหล็กลูกใหญ่ ตกที่บ้านร่องดู่ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ห่างจากบ้านประชาชนเพียง 40 เมตรเท่านั้น โดยอุกกาบาตตกกระแทกพื้นดินเป็นหลุมลึกลงไป
การตรวจสอบโดยนายสิโรตม์ ศัลยพงษ์ และ ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล ฝ่ายวิจัยธรณีวิทยา กองธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ยืนยันว่าเป็นอุกกาบาตเหล็ก มีประกายโลหะและความถ่วงจำเพาะสูง พบริ้วโลหะเป็นทางบนผิวอุกกาบาตซึ่งเกิดจากการเสียดสีกับบรรยากาศโลก ผิวนอกสุดมีรอยไหม้ ด้านหนึ่งมีรอยยุบบุบแบบก้นหม้อ อีกด้านฉีกขาดเป็นร่องหลืบ ลักษณะทั่วไปคล้ายตะกรันโลหะ ต่างกันที่ไม่มีรูพรุน
🌠 วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2552
มีรายงานข่าวการค้นพบวัตถุสีดำ ลักษณะคล้ายอุกกาบาต ตกทะลุหลังคาบ้านของนายสมศักดิ์ เชี่ยววิจิตร เขตเทศบาล จังหวัดพิษณุโลก ได้มีการตรวจสอบจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และยืนยันเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2552 โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าเป็นอุกกาบาตจริง โดยพบว่าเป็นอุกกาบาตหินเนื้อเม็ด (chondrite) คาดว่ามาจากแถบดาวเคราะห์น้อย ซึ่งเป็นซากที่เหลือจากการก่อกำเนิดระบบสุริยะ
1
🌠 วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2559
เวลาประมาณ 07.26 น. มีเสียงดังคล้ายระเบิดเกิดขึ้น และพบว่ามีการสั่นสะเทือนในหลายพื้นที่ บริเวณอำเภอชาติตระการ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้นำชิ้นส่วนวัตถุไปตรวจพิสูจน์โดยใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (Scanning Electron Microscope: SEM) ที่ห้องปฏิบัติการของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติหรือ เอ็มเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
2
ผลการตรวจพิสูจน์เบื้องต้น พบว่า เป็นอุกกาบาตหินชนิดอะคอนไดรท์ ซึ่งเป็นอุกกาบาตที่มีต้นกำเนิดมาจากดาวเคราะห์น้อย โดยอุกกาบาตชนิดนี้มีการค้นพบค่อนข้างน้อยเพียง 8% ของอุกกาบาตที่ตกบนพื้นโลก
เกร็ดความรู้
1
อุกกาบาต (meteorite) คือ วัตถุจากอวกาศที่ตกลงมาสู่ผิวโลกหรือผิวดาวเคราะห์แล้ว ซึ่งตอนอยู่ในอวกาศจะเรียกว่า ดาวเคราะห์น้อย (Asteroid) หรือสะเก็ดดาว (Meteoroid) พอเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงประมาณ 40-70 กิโลเมตร/วินาที เกิดการบีบอัดกับอากาศในชั้นบรรยากาศโลก ทำให้อากาศรอบๆ ลุกไหม้เป็นแสงสว่างเรียกว่า ดาวตก (Meteor) จวบจนลงถึงพื้นแล้วจึงเรียก “อุกกาบาต”
ชนิดของอุกกาบาต มีดังนี้
🌠 C-type อุกกาบาตคาร์บอนมีสีคล้ำ มีองค์ประกอบเป็นคาร์บอน
🌠 S-type อุกกาบาตหิน มีองค์ประกอบเป็นซิลิกา
🌠 M-type อุกกาบาตโลหะ มีองค์ประกอบเป็นเหล็กและนิเกิล
1 บันทึก
9
1
3
1
9
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย