8 ส.ค. 2021 เวลา 00:00 • ความคิดเห็น
สองข้างทางที่รถไฟผ่านเขียวชอุ่ม แมกไม้เริงร่าสดชื่นด้วยหยดน้ำจากฟ้าที่โปรยปรายทั้งในและนอกฤดูฝน ทำให้รู้ว่าเราอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ที่ฝนตกชุก
อีกครั้งผมกำลังกลับบ้าน เป็นเรื่องที่ไม่สนุกที่ต้องจากบ้านเกิดไปเรียนหนังสือนานๆ สำหรับคนวัยเยาว์ การจากบ้านไปเมืองหลวงแม้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า เป็นทัณฑ์ทางใจชนิดหนึ่ง
ทุกปิดภาคผมจึงหาทางกลับบ้าน เติมพลังใส่หัวใจที่สึกหรอเพราะคิดถึงบ้าน
การเดินทางเที่ยวกลับบ้าน แม้จะยาว แต่รู้สึกอิ่มใจตั้งแต่รถไฟเริ่มออกจากสถานีต้นทาง
1
คนเราไม่ว่าจะเดินทางออกจากบ้านไปไกลเพียงไร ก็หนีไม่พ้นสายเชือกที่ดึงรั้งเขากลับมา
สายเชือกนั้นคือรางรถไฟ
1
เมื่อผมจากบ้านเกิดไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ และสิ่งเดียวที่เชื่อมผมกับบ้านก็คือรางรถไฟ
รางรถไฟเหมือนเส้นเชือกคู่ที่เชื่อมจุดสองจุด บ้านกับสถานที่ที่ต้องไปอยู่
ชีวิตผมผูกพันกับรถไฟและการลาจากมาโดยตลอด
พ่อกับแม่ก็เช่นกัน
1
วันใดที่ลูกจะกลับจากกรุงเทพฯมาเยี่ยมบ้าน พ่อก็ไปรับที่สถานีรถไฟเสมอ ถ้ามาด้วยขบวนรถเร็ว พ่อก็ออกจากบ้านตั้งแต่ตะวันยังไม่ขึ้นฟ้า ไก่ยังไม่ขัน เพราะรถไฟมาถึงเช้ามืด
ในเวลานั้นสำหรับพ่อ การไปสถานีรถไฟมีสองความหมาย ไปรับลูกหรือไปส่งลูก
อย่างแรกคือความสุข อย่างหลังคือความหงอย
3
แต่ชีวิตก็มีทั้งสองด้านแบบนี้ ไม่มีความสุขก็ไม่มีความหงอย ไม่มีความหงอยก็ไม่รู้จักค่าของความสุข
4
ระยะทางจากบ้านไปที่สถานีรถไฟไม่ไกล แต่พ่อไปก่อนเวลาเสมอ พ่อตื่นเต้นเสมอเวลามีข่าวลูกจะมา แต่ไม่แสดงออกทางสีหน้า
1
รถเร็วมาถึงหาดใหญ่ตั้งแต่ราวตีสี่ตีห้า สถานีรถไฟคลาคล่ำด้วยคน ตั้งแต่เช้ามืด ไฟหน้าของหัวรถจักรสาดมาแต่ไกล เห็นชัดในความสลัวรางของรุ่งอรุณ
แสงไฟหน้าหัวรถจักรสาดสว่างเข้าไปในหัวใจของผู้มารับลูก
1
สมัยที่ไปเรียนในกรุงเทพฯนั้น ถ้าจะกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ ผมก็ขึ้นรถไฟที่สถานีหัวลำโพง ก่อนขึ้นรถไฟก็แวะที่ทำการไปรษณีย์ฯ ส่งโทรเลขกลับบ้าน ข่าวก็เดินทางไปถึงก่อนตัวถึง
การส่งโทรเลขต้องใช้คำน้อยที่สุด เพราะทุกคำคือเงิน จึงเรียนรู้วิธีส่งสารแบบประหยัดถ้อยคำ
1
ถ้าส่งข้อความว่า “ไปบ้านวันที่ 18 รถด่วน” พ่ออาจไปรับในวันที่ 18 หรือ 19 แล้วแต่จะตีความว่าวันที่ 18 เป็นวันเริ่มเดินทางหรือวันถึงจุดหมาย
จึงเรียนรู้ว่าต้องเจาะจงวันที่รถไฟถึงดีกว่า เช่น เดินทางวันที่ 18 ถึงหาดใหญ่วันที่ 19 ก็โทรเลขว่า “ถึง 19 รถด่วน”
ทุกคำคือเงินทอง!
2
ผมตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อรถไฟเข้าเขตภาคใต้ตอนล่าง แสดงว่าใกล้บ้านแล้ว
เมื่อรถไฟจอดที่ปลายทางคือบ้าน หัวใจผมพองโตทุกครั้งที่เดินจากสถานีรถไฟเลาะสนามฟุตบอลกลับบ้าน ผ่านพื้นที่สี่เหลี่ยมสีเขียว
home sweet home
เพลง The Green Green of Home น่าจะตรงใจกับฉากชีวิตท่อนนี้ที่สุด
The old home town looks the same,
As I step down from the train.
เมืองเก่ายังดูเหมือนเดิม
เมื่อผมก้าวลงจากรถไฟ
3
It’s good to touch the green, green grass of home.
บางครั้งผมก็กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดแบบ ‘เซอร์ไพรซ์’ ไม่มีโทรเลขแจ้งล่วงหน้า
กระนั้นดูเหมือนแม่จะไม่แปลกใจที่เห็นหน้าลูก
แม่บอกว่าเช้านี้นกร้อง
นกร้องแปลว่าลูกกลับบ้าน
แปลกดี ไม่ว่ามันเป็นเรื่องบังเอิญหรือแม่คิดไปเอง แต่ดูเหมือนนกร้องทุกทีที่ลูกกลับบ้าน!
2
The old house is still standing,
Though the paint is cracked and dry.
บ้านเก่ายังยืนอยู่ที่นั่น
แม้ว่าสีบ้านจะมีรอยแตกและแห้งกรัง
แต่วันหยุดก็มีวันยุติ เมื่อ ‘หมดเวลาเยี่ยม’ ก็ต้องขึ้นรถไฟอีกครั้ง ออกจาก ‘the green, green grass of home’ ไปสู่โลกวุ่นวายภายนอก
การเดินทางออกจากบ้านเกิดเป็นความรู้สึกระโหยตั้งแต่สถานีต้นทาง
แต่ชีวิตก็เป็นเช่นนี้ ไม่มีการพรากจาก ก็ไม่รู้คุณค่าของการพบพาน
3
ผมเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างสองจุดบนแผนที่นี้หลายปี จนเมื่อเรียนจบและทำงาน ก็ยังชอบโดยสารรถไฟไปเที่ยวต่างจังหวัดเสมอ ไม่ใช่เพราะมันเร็วกว่า แต่เพราะมันผูกพันกว่า
2
มันคือรถไฟสาย nostalgia
รถไฟสายคะนึงอดีต
บางครั้งการโดยสารรถไฟก็คือการโหยหาอดีตที่ทำหล่นบนทางรถไฟ
เพราะสายเชือกที่เรียกว่ารางรถไฟดึงเรากลับบ้านเสมอ
2
(ตีพิมพ์ครั้งแรก : วารสารรถไฟสัมพันธ์ Vol 4 : 2563)
[ติดตามข้อเขียนของ วินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันที่เพจ https://bit.ly/3amiAvG และ blockdit.com]
โฆษณา