4 ส.ค. 2021 เวลา 13:31 • นิยาย เรื่องสั้น
ตั๋งโต๊ะผู้นำที่ถูกสาปแช่ง
สามก๊กเป็นวรรณกรรมจีนที่อ้างอิงประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก เป็นหนึ่งในสี่สุดยอดนิยายจีน มีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากมายนับไม่ถ้วน รวมถึงภาษาไทยด้วย สามก๊กแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๓๔๕ สมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งผู้อำนวยการการแปลครั้งนั้นคือ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ซึ่งสามก๊กแปลฉบับนี้ ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็น “สุดยอดความเรียงประเภทนิทาน” สามก๊กจึงถือเป็นวรรณคดีที่ทรงคุณค่าเรื่องหนึ่งของไทย เพราะเป็นทั้งตำราด้านการเมือง การปกครอง และการทหาร ซึ่งมีตัวละครมากมาย ที่เป็นแบบอย่างในการบริหารกิจการบ้านเมือง ทั้งแบบอย่างผู้นำที่ดี และผู้นำที่ “ชั่ว”ชนิดที่ว่าหาดีไม่ได้ เช่น “ตั๋งโต๊ะ”
ตั๋งโต๊ะ เป็นนายทหารที่มีตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองซีหลง เคยออกรบหลายครั้ง เคยเสียทีต่อกลุ่มโจรโพกผ้าเหลือง เกือบตายไปแล้ว แต่ได้ชาวแก๊งของเล่าปี่ช่วยเหลือเอาไว้ จึงรอดชีวิตมาได้ จนวันที่จักรพรรดิเลนเต้สวรรคต พระโอรสหองจูเปียนครองราชสมบัติเป็นจักรพรรดิเช่าตี้ ๑๐ ขันทีเรืองอำนาจ สร้างความวุ่นวายให้แก่บ้านเมือง ตั๋งโต๊ะจึงได้รับหนังสือให้ยกทัพไปช่วยปราบเหล่าขันทีชั่ว ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความพินาศย่อยยับของแผ่นดินฮั่นนับแต่นั้น ตั๋งโต๊ะเข้าเมืองหลวงเมื่อขันทีชั่วถูกปราบเรียบร้อยแล้ว มาถึงก็กระหายอำนาจ รวบรวมกำลังทหาร ติดสินบนเอาผลประโยชน์มาล่อซื้อตัวคนเก่งแต่ชั่วช้ามาเป็นพวกเช่น ลิโป้ ยอดนักรบผู้ทะเยอทะยาน เมื่อกำลังทหารพร้อมแล้ว ตั๋งโต๊ะก็เชิญเหล่าขุนนางทั้งหลายมาประชุมกัน สั่งให้กองกำลังทหารล้อมที่ประชุมนั้นไว้ และประกาศยึดอำนาจ (เหตุการณ์คุ้น ๆ เนาะว่าม่ะ ๕๕๕๕ ) ตั๋งโต๊ะขอความเห็นแกมบังคับเรื่องการปลดองค์จักรพรรดิเช่าตี้ออก และแต่งตั้งน้องชายของจักรพรรดิเช่าตี้ ขึ้นเป็นจักรพรรดิแทน ในที่ประชุมนั้นส่วนใหญ่กลัวกำลังทหารของตั๋งโต๊ะจึงไม่กล้าต่อต้าน ส่วนคนที่คิดต่างไม่ยอมรับอำนาจอันมิชอบก็ต้องลี้ภัยการเมืองออกจากพระนครไป เมื่อตั๋งโต๊ะยึดอำนาจสำเร็จก็ดำเนินการปลดอำนาจเก่าออก และแต่งตั้งพระอนุชาเป็นพระจักรพรรดิเหี้ยนเต้ จักรพรรดิเหี้ยนเต้จึงกลายเป็นหุ่นเชิดของตั๋งโต๊ะ ตั๋งโต๊ะยกตัวเองขึ้นเป็นพระยามหาอุปราช บ้างก็เรียก อัครมหาเสนาบดี ซึ่งมีอำนาจการบริหารบ้านเมืองเทียบได้กับนายกสมัยนี้
ครั้งหนึ่งตั๋งโต๊ะเคยยกกำลังทหารไปเมืองหยงเซีย รีดไถทรัพย์สินของประชาชน ฆ่าประชาชนชาย จับประชาชนหญิงไว้ เมื่อมาถึงเมืองหลวงก็ประกาศว่าไปปราบโจรมา เป็นการทำชั่วแล้วหลอกลวงประชาชนว่าตนทำดี ป้ายสีคนบริสุทธิ์ให้เป็นผู้ร้าย รีดไถประชาชนเอาผลประโยชน์มาบำรุงพวกพ้องที่อยู่ข้างตนเอง จึงมีคนชั่วไม่น้อยที่คอยประจบเอาใจตั๋งโต๊ะเพื่อหวังลาภยศ ความชั่วช้านี้ทำให้มีคนลอบสังหารตั๋งโต๊ะบ่อยครั้ง โจโฉเองก็เคยลอบสังหารตั๋งโต๊ะเช่นกัน แต่ไม่สำเร็จจนต้องลี้ภัยหัวซุกหัวซุน ความชั่วของตั๋งโต๊ะทำให้ถูกราษฏรสาปแช่งด่าทอ จนเกิดการชุมนุมขับไล่จากผู้กล้า ๑๘ หัวเมือง ยกทัพมาทำสงครามกับตั๋งโต๊ะ ความหน้าด้านหน้าทนของตั๋งโต๊ะ ที่ไม่ยอมออกจากอำนาจอันหอมหวานทำให้เกิดสงคราม ประชาชนเดือดร้อน เมื่อเหตุการณ์จวนตัว ตั๋งโต๊ะจึงย้ายเมืองหลวงหนีผู้ชุมนุมที่ยกทัพมา การย้ายเมืองหลวงนั้นเป็นการกระทำที่เดือดร้อนประชาชนมาก เพราะแค่พิษสงครามก็หนักหนาอยู่แล้ว ยังต้องมาถูกรีดไถ่ทรัพย์สิน เพื่อเอาไปสร้างวังหลวงใหม่อีก เลวร้ายสุด ๆ ไปเลย สุดท้ายผู้ชุมนุม ๑๘ หัวเมืองไม่สามารถล้มตั๋งโต๊ะได้ แต่เสียงสาปแช่งตั๋งโต๊ะนั้นดังไปทั่วทุกทิศ ตั๋งโต๊ะทำลายชีวิตคนที่ขัดขืนตนเองอย่างมากมาย เห็นความตายของคนเหล่านั้นเป็นดังมหรสพ และแล้วกงล้อแห่งกรรมก็เวียนมาถึงเมื่อ อ้องอุ้นขุนนางผู้รักชาติใช้แผนนารีพิฆาต ให้นางเตียวเสี้ยนไปสร้างความร้าวฉานให้ตั๋งโต๊ะและลิโป้แตกคอกัน สุดท้ายตั๋งโต๊ะถูกอ้องอุ้นลวงมาให้ลิโป้สังหาร จบชีวิตอย่างอนาถ ศพถูกทิ้งไว้ที่ทางสามแพร่งให้ประชาชนทั้งหลายมารุมด่าศพรุมทำร้ายศพจนศพย่อยยับ ไม่มีใครนำศพไปทำพิธี แม้แต่ฟ้ายังสาปแช่งเกิดฝนตกฟ้าผ่าน้ำท่วมใส่กระดูกของตั๋งโต๊ะหลายครั้ง จนไม่อาจรวบรวมกระดูกมาทำพิธีฝังลงแผ่นดินได้ จน ”ยาขอบ”ตั้งฉายาให้ตั๋งโต๊ะว่า “ตั๋งโต๊ะผู้ถูกสาปแช่งทั้งสิบทิศ”
จากเรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า อำนาจหากอยู่ในมือของคนชั่วอำนาจนั้นย่อมนำความหายนะมาสู่บ้านเมือง ผู้นำหากขาดคุณธรรมความเห็นอกเห็นใจประชาชน บ้านเมืองย่อมเกิดความวุ่นวาย ประชาชนใช้ชีวิตด้วยความทุกข์ยาก และสิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ สิ่งที่อยู่สูงสุดของการปกครองย่างองค์จักรพรรดิเหี้ยนเต้นั้นไม่เข้มแข็งพอไม่ศักดิ์สิทธิและชอบธรรมพอ จนกลายเป็นเครื่องมือให้คนชั่วใช้กดขี่ข่มเหงประชาชน
แหล่งอ้างอิง
-สามก๊ก ฉบับราชบัณฑิตยสภา
-อัจฉริยะ ๑๐๐ หน้าสามก๊ก (สุกัญญา มกราวุธ)
#สามก๊ก #หัดเขียน
โฆษณา