4 ส.ค. 2021 เวลา 14:11 • หนังสือ
"คนส่วนใหญ่ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเองเพียง 2 วิ ไม่วิกฤตก็วิสัยทัศน์"
"หลายคนตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเองตอนที่สถานการณ์ยังไม่รุนแรง แต่ก็มีอีกหลายคนที่เปลี่ยนเพราะสถานการณ์บังคับ"
แนวคิดข้างต้นเป็นสิ่งที่เตือนสติผมให้ไม่รู้จักประมาท หลังจากที่ได้อ่านหนังสือชื่อว่า "THE DISRUPTOR" ผู้เขียนคือ "คุณรวิศ หาญอุตสาหะ" ปัจจุบันเป็น CEO ของบริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด ผลิตและจำหน่ายแบรนด์สินค้าชื่อ "ผงหอมศรีจันทร์" และเป็นผู้ก่อตั้งเพจ "Mission to the Moon" อีกด้วย โดยหนังสือเล่มนี้จะพูดถึงแนวคิดที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนที่เราจะถูก "Disrupt" จากโลกภายนอกซะก่อน ผมจะแบ่งปันบางแนวคิดที่น่าสนใจจากหนังสือเล่มนี้ครับ
1. "ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย"
1
เป็นวลีที่คุ้นเคยสำหรับคนที่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ได้ยกตัวอย่างทฤษฎี 300 : 29 : 1 ของเฮอร์เบิร์ต วิลเลียม ไฮน์ริช ซึ่งได้มาจากการรวบรวมสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนน เขาพบว่า ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่ 1 ครั้งจะมีความประมาทที่เกือบจะเกิดอุบัติเหตุ 300 ครั้ง และมีอยู่ 29 ครั้งที่เกิดอุบัติเหตุเล็กๆ สรุปง่ายๆคือ ก่อนจะเกิดอุบัติเหตุใหญ่ 1 ครั้งเคยมีความประมาทเกิดขึ้นแล้วถึง 329 ครั้ง
ถ้าเปรียบเป็นการใช้ชีวิตทั่วๆไปนั้น คนที่ประมาทในการใช้ชีวิตแล้วรอดมาได้เรื่อยๆนั้น น่าเห็นใจที่สุด เพราะเขาไม่มีทางรู้ตัวเลยว่าทุกครั้งที่รอดมาได้ เขากำลังก้าวเข้าใกล้วิกฤตที่แสนเจ็บปวดมากขึ้นทุกที
2. "ความสามารถในการยับยั้งใจ ส่งผลต่ออนาคตในชีวิตมากๆ"
มีงานวิจัยหนึ่งที่ทำการทดลองโดยการให้มาร์ชแมลโลว์กับเด็กคนละชิ้น พร้อมบอกว่าจะกินเลยหรือจะรอก็ได้ แต่ถ้ารอจะได้เพิ่มอีกทีละชิ้นๆ
ผลที่ได้จากการทดลองคือ มีเด็กที่อดใจไม่ไหวแล้วกินเลยกับเด็กที่อดทนรอ
นักวิจัยที่ทำการทดลองนี้ติดตามผลเด็กเหล่านี้ไปจนโตและพบว่า เด็กที่อดทนรอได้มีผลการเรียนที่ดีกว่า มีรายได้ดีกว่า มีชีวิตคู่ที่ดีกว่า เป็นต้น
ในชีวิตบางครั้ง เราต้องรู้จัก "ฝืนใจ" ตัวเองบ้างในการเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ ที่ช่วยให้ชีวิตของเราดีขึ้น เช่น การออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก การอ่านหนังสือ การทำธุรกิจเสริมจากงานประจำ เป็นต้น และ "ตัดใจ" กับเรื่องที่ไม่เร่งด่วนและไม่สำคัญกับชีวิตบ้าง เช่น ดูหนัง ซีรีย์ เล่นเกม เล่นโซเชียลเป็นเวลานานๆ อื่นๆอีกมากมาย
 
ทำแค่วันสองวันอาจไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าคุณทำติดกันเป็นปีๆ รับรองว่าชีวิตคุณจะเปลี่ยนไปเป็นคนละคนเลยครับ
3. "อยากได้ก็ต้องกล้าขอ"
ไฮดี้ แกรนต์ นักจิตวิทยาด้านสังคม อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงจูงใจแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เธอกล่าวว่า "คนเราอยากช่วยเหลือคนอื่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแค่อยากให้ประสบการณ์ในการช่วยเหลือเป็นบวกเท่านั้นเอง"
อุปสรรคแรกของการขอความช่วยเหลือคือ "เราไม่คิดว่าอีกฝ่ายจะยอมช่วย" ซึ่งในความจริงแล้วไม่ได้เป็นแบบนั้น และชอบคิดไปเองว่า "จะรบกวนอีกฝ่ายมากแค่ไหน"
2
อุปสรรคที่สองคือ เวลาจะขอบความช่วยเหลือ เรามักกังวลว่าอีกฝ่ายจะคิดว่าเราโง่ไหม ก็เลยไม่กล้าขอ งานวิจัยพบว่า แทบไม่มีใครที่คิดแบบนั้น แต่ถ้าเราไม่ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นแล้วงานออกมาเละเทะ คราวนี้เราก็จะดูโง่ขึ้นมาจริงๆ
ในความเป็นจริง แม้อีกฝ่ายจะอยากช่วยเหลือ แต่มีข้อแม้ว่า
1. อีกฝ่ายต้องรู้ก่อนว่าเราต้องการความช่วยเหลือ: อย่าคิดไปเองว่าคนอื่นจะรู้ว่าเราต้องการความช่วยเหลือ เราต้องพูดออกมาครับ
2. คนอื่นจะต้องแน่ใจว่าเราอยากรับความช่วยเหลือ: บางครั้งคนอื่นไม่กล้าเสนอตัว เพราะไม่รู้จริงๆว่าเราอยากให้เขาช่วยไหมและกลัวจะเป็นการก้าวก่าย
3. อีกฝ่ายต้องรู้สึกว่าเราควรได้รับการช่วยเหลือจริงๆ: ไม่ใช่มาขอความช่วยเหลือเพียงเพราะไม่อยากทำงานนี้หรือไม่พยายามมากพอ
สรุปคือ มนุษย์เราชอบช่วยเหลือคนอื่นอยู่แล้วเพราะสมองของเราถูกออกแบบมาแบบนั้น เมื่อได้ช่วยเหลือคนอื่นเราจะรู้สึกดีและอิ่มเอมใจ
1
ไบรอัน เทรซี่ เคยพูดไว้ว่า "คนที่ประสบความสำเร็จมักมองหาโอกาสที่จะได้ช่วยเหลือคนอื่น ส่วนคนที่ไม่สำเร็จก็จะเอาแต่ถามว่า 'แล้วฉันจะได้อะไร' "
4. "อย่ามองข้ามเรื่องเล็กๆ"
มีเรื่องเล่าของบริษัทที่ปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์อยู่ตลอดอย่าง "Heinz"
ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 1869 Heinz เป็นซอสมะเขือเทศเจ้าแรกที่บรรจุลงในขวดแก้วใส เพราะต้องการให้ลูกค้าเห็นคุณภาพของซอสในขวด
ต่อมาในปี 1983 Heinz ได้ปฏิวัติวงการซอสด้วยการออกแบบขวดพลาสติกแบบบีบได้ เนื่องจากซอสของ Heinz มีความหนืดกว่าเจ้าอื่น ลูกค้าจึงมักพบปัญหาว่าซอสไหลออกมาช้าและต้องออกแรงเขย่า
และในปี 2002 Heinz ก็ยังไม่หยุดคิดค้น พวกเขาทำโฟกัสกรุ๊ปเพื่อสำรวจว่าหลังจากออกแบบขวดพลาสติกที่สามารถบีบได้ ลูกค้าชื่นชอบหรือพบปัญหาอะไรบ้าง แล้วก็ได้ผลตอบรับที่ดีขึ้น เช่น ตอนซอสใกล้จะหมด ลูกค้าจะคว่ำขวดลงเพื่อให้ซอสไหลออกมาได้ง่ายขึ้น จากนั้น Heinz ก็นำมาพัฒนาเป็นขวดพลาสติกทรงคว่ำ และเป็นเจ้าแรกที่มีขวดทรงนี้
1
ทุกครั้งที่ออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ Heinz จะนึกถึงความต้องการลูกค้าและช่วยให้ลูกค้าสะดวกมากขึ้น จนถึงขั้นที่ลูกค้าโทรเข้ามาชื่นชมที่ Heinz แก้ปัญหาให้พวกเขาได้
ทั้งหมดนี้สรุปได้ว่า Heinz ไม่หยุดคิดเกี่ยวกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จึงทำให้มียอดขายกว่า 650 ล้านขวดต่อปี ครองใจผู้บริโภคทั่วโลกได้จนถึงทุกวันนี้
เรื่องเล็ก ๆ แบบนี้ไม่ควรมองข้าม เพราะสามารถแก้ปัญหาได้ และเพิ่มยอดขายได้อีกต่างหาก
นี่แค่เป็นบางแนวคิดของหนังสือเล่มนี้ครับ หวังว่าทุกคนจะได้รับแนวคิดดีๆ ไปปรับใช้ และเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนใหม่ในโลกใบใหม่ได้อย่างสง่างามดั่งชื่อหนังสือเล่มนี้ครับ "THE DISRUPTOR"
โฆษณา