Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Timeless History (ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา)
•
ติดตาม
6 ส.ค. 2021 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
การอับปางของเรือ “ลูซิเทเนีย (Lusitania)” เหตุการณ์ที่พลิกประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 1
วันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ.1915 (พ.ศ.2458) เรือดำน้ำเยอรมัน ได้ยิงตอร์ปิโดใส่เรือ “ลูซิเทเนีย (Lusitania)” ซึ่งเป็นเรือฝ่ายอังกฤษ
จากเหตุการณ์นี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,195 คน โดยในจำนวนผู้เสียชีวิตนั้น เป็นชาวอเมริกันจำนวน 128 คน
เหตุการณ์นี้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและเยอรมนีนั้นตึงเครียด และเกิดกระแสต่อต้านเยอรมันในสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่ทำให้สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในเวลาต่อมา
ลูซิเทเนีย (Lisitania)
ลูซิเทเนีย เป็นเรือของบริษัท “Cunard Line” และได้ลงทะเลครั้งแรกในปีค.ศ.1906 (พ.ศ.2449) โดยเป็นเรือโดยสารที่เดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก
กระทรวงทหารเรืออังกฤษ ได้ให้การสนับสนุนเงินทุนสำหรับการก่อสร้างลูซิเทเนีย โดยแสดงเจตนาว่า หากเกิดสงคราม ลูซิเทเนียก็ต้องเข้าประจำการในกองทัพเรือ
ภายหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มขึ้นในปีค.ศ.1914 (พ.ศ.2457) ลูซิเทเนียก็ยังทำหน้าที่เป็นเรือโดยสาร หากแต่ก็มีการดัดแปลงเรือให้มีสภาพพร้อมรบ
1
เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1915 (พ.ศ.2458) กองทัพเรือเยอรมันก็ตระหนักว่าเรือของอังกฤษ ทั้งเรือโดยสารและเรือสินค้า ต่างก็ทำหน้าที่ลำเลียงอาวุธและเสบียงจากสหรัฐอเมริกามายังยุโรป
เมื่อเป็นอย่างนี้ เยอรมนีจึงประกาศให้น่านน้ำรอบเกาะอังกฤษ เป็นเขตสงคราม ซึ่งการกระทำของเยอรมนี ก็ทำให้สหรัฐอเมริกาและฝ่ายสัมพันธมิตร ไม่พอใจ
ไม่กี่วันก่อนที่ลูซิเทเนียจะออกเดินทางจากนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ไปยังลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1915 (พ.ศ.2458) สถานทูตเยอรมันในวอชิงตันดีซี ก็ได้ลงประกาศในหนังสือพิมพ์ ย้ำเตือนว่าขณะนี้อังกฤษกับเยอรมนีกำลังอยู่ในภาวะสงคราม
ในประกาศนั้น เตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยยานพาหนะที่ประดับธงอังกฤษ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตี
หากแต่ประชาชนก็ไม่ได้ตื่นตระหนก เนื่องจากต่างก็คิดว่าเยอรมนีคงจะให้ผู้โดยสารลงเรือชูชีพก่อนที่จะโจมตี คงไม่เป็นอะไรมาก ทำให้หลายคนเพิกเฉยต่อคำเตือน
1
วันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ.1915 (พ.ศ.2458) หกวันหลังจากลูซิเทเนียออกเดินทางจากนิวยอร์ก ลูซิเทเนียก็ถูกโจมตีโดยเรือดำน้ำเยอรมัน และหลังจากนั้นเพียง 20 นาที ก็จมลงสู่ก้นสมุทร
เมื่อข่าวเรื่องการอับปางของลูซิเทเนียกระจายออกไป ทำให้ชาวอเมริกันรู้สึกหดหู่และโกรธแค้น หากแต่ก็ยังไม่พร้อมที่จะเข้าร่วมสงคราม
ประธานาธิบดี “วูดโรว วิลสัน (Woodrow Wilson)” แห่งสหรัฐอเมริกา ก็หนักใจ เขายังต้องการที่จะให้สหรัฐอเมริกาเป็นกลาง หากแต่อีกหลายคนก็ต้องการให้สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงคราม และแก้แค้น
วูดโรว วิลสัน (Woodrow Wilson)
ทางฝั่งเยอรมนี ก็อ้างว่าที่โจมตี เนื่องจากลูซิเทเนียได้ขนอาวุธและเสบียงสำหรับการสงคราม การโจมตีจึงไม่นับว่าผิด
หากแต่ข้อแก้ตัวของเยอรมนี ก็ไม่ได้ทำให้ฝั่งอังกฤษเย็นลงเลย ยิ่งทำให้ชาวอังกฤษโกรธแค้น และเกิดกระแสต่อต้านเยอรมันในลอนดอน
เดือนสิงหาคม ค.ศ.1915 (พ.ศ.2458) เรือดำน้ำเยอรมันได้โจมตีเรืออังกฤษอีกหนึ่งลำ โดยอ้างว่าเป็นการป้องกันตัว ทำให้สถานการณ์ยิ่งตึงเครียดกว่าเดิม
การกระทำของเยอรมนี ทำให้ประธานาธิบดีวิลสันต้องพูดเตือนว่า หากเยอรมนีตั้งใจจะจมเรือโดยไม่มีเหตุอันสมควร สหรัฐอเมริกาอาจจะต้องตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับเยอรมนี และเข้าร่วมสงคราม
เยอรมนีก็ดูเหมือนจะยอมอ่อน โดยได้ประกาศว่าจะไม่มีการจมเรือโดยสารโดยไม่มีการเตือนอีก ทำให้สถานการณ์ดูผ่อนคลาย และประธานาธิบดีวิลสันก็เลือกที่จะไม่ประกาศสงคราม ถึงแม้ว่าสมาชิกในคณะรัฐบาลหลายคนจะสนับสนุนให้สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมในสงครามก็ตาม
แต่ในต้นปีค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) หน่วยข่าวกรองอังกฤษ ก็สามารถดักจับโทรเลขที่ “อาเทอร์ ซิมเมอร์มันน์ (Arthur Zimmerman)” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งเยอรมนี เขียนส่งไปถึง “ไฮน์ริช ฟอน เอ็คคาร์ดต์ (Henrich von Eckhardt)” เอกอัคราชทูตเยอรมันประจำเม็กซิโก
โทรเลขของซิมเมอร์มันน์ กล่าวว่าเยอรมนี ได้วางแผนที่จะจมเรือทุกลำที่เข้ามาในเขตสงคราม รวมทั้งเรือที่บรรทุกผู้โดยสารชาวอเมริกัน
นอกจากนั้น โทรเลขยังมีเนื้อหาว่า หากสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ก็ขอให้เยอรมนีและเม็กซิโกเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกัน
โทรเลขของซิมเมอร์มันน์
ประธานาธิบดีวิลสันนั้นโกรธแค้นมาก หากแต่ก็ยังไม่ต้องการให้สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมในสงครามทันที
แต่แล้ว เมื่อฝ่ายเยอรมนียังคงนำเรือดำน้ำออกมาโจมตีเรือลำอื่นๆ ต่อ ทั้งประธานาธิบดีวิลสันและชาวอเมริกันก็หมดความอดทน และในเดือนเมษายน ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) สภาก็ได้โหวตให้สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 ประกาศสงครามต่อฝ่ายมหาอำนาจกลาง
อาจจะกล่าวได้ว่า การอับปางของเรือลูซิเทเนีย ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมในสงครามโดยตรง หากแต่ทำให้เกิดกระแสเกลียดชังเยอรมนีในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ และยังทำให้ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเยอรมนีและสหรัฐอเมริกาขาดสะบั้น
อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า เยอรมนีทำทุกอย่างเพื่อชัยชนะในสงคราม และทำให้สัมพันธมิตรยิ่งต่อสู้หนักกว่าเดิม และหาทางเอาชนะให้ได้
References:
https://www.history.com/news/how-the-sinking-of-lusitania-changed-wwi?li_source=LI&li_medium=m2m-rcw-history
https://www.irishtimes.com/culture/heritage/the-sinking-of-the-lusitania-1.2197219
https://historycollection.com/how-the-sinking-of-rms-lusitania-changed-world-war-i/
https://www.loc.gov/collections/world-war-i-rotogravures/articles-and-essays/the-lusitania-disaster/
https://www.ducksters.com/history/world_war_i/sinking_of_the_lusitania.php
10 บันทึก
11
10
10
11
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย