6 ส.ค. 2021 เวลา 12:43 • การตลาด
ใช้ Coins ซื้อของใน Shopee ได้สูงสุดเท่าไร!
Image Credit: https://www.carousell.com.my/p/wtb-shopee-coins-1067967744/
ณ วินาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “Shopee” (ช้อปปี้) แพลตฟอร์ม e-Commerce สีส้ม ที่เป็นตัวกลางให้กับผู้ซื้อ-ผู้ขายได้มาพบเจอกันบนอาณาเขตออนไลน์ของตนเอง
โดย Shopee อาศัยรายได้ผ่านค่าธรรมเนียมจากการซื้อ-ขาย และค่าโฆษณาบนแอป รวมไปถึงจากการขายสินค้าของตนเอง
นอกจากนี้ ช่วงหลังๆ ยังผันตัวเองกระโดดลงมาเป็นผู้ให้สินเชื่อเพื่อซื้อสินค้าบนแอปตัวเอง ผ่านบริการที่มีชื่อว่า "SPayLater" ซึ่งก็สามารถทำเงินจากดอกเบี้ยได้อีกทางหนึ่ง
Shopee อยู่ภายใต้บริษัท Sea Group (สิงคโปร์) ที่ก่อนหน้านี้เรารู้จักกันดีในชื่อ Garena โดย Shopee เปิดตัวครั้งแรกที่เมื่อปี 2015 ก่อนขยายบริการไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ รวมถึงที่ประเทศไทยเราในเวลาต่อมา
ต้องยอมรับว่า Shopee เติบโตและเข้าถึงคนไทยได้อย่างรวดเร็วปานจรวด ไม่แพ้เพื่อนๆ อย่าง Lazada, JD Central, Kaidee
และด้วยความที่ทำการตลาดได้ตรงจุดคันมาเรื่อยๆ โดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นโค้ดส่วนลด, โค้ดส่งฟรี, โปรโมชั่นร่วมกับแบรนด์ชั้นนำต่างๆ, มีเกมต่างๆ นานาให้เข้ามาเล่นเพื่อเพิ่มโอกาสการมองเห็นและซื้อสินค้า ฯลฯ
Image Credit: Shopee
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ “Coins” คืนจากการซื้อสินค้า หรือทำภารกิจต่างๆ ที่ Shopee กำหนด เช่น เข้ามาเช็คอิน, เล่นเกม, รีวิวสินค้า, สแกนจ่ายชำระสินค้า ล้วนสั่นสะเทือนกระเป๋าตังค์ (ที่ไม่ค่อยมีตังค์) ของเราทั้งสิ้น
Coins คืออะไร?
“Coins” ก็คือ “เงินเสมือนจริง” ของ Shopee ที่เราสามารถใช้เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า ทั้งภายใน Shopee หรือ ณ ร้านค้าที่ร่วมรายการ โดยมูลค่าของ “1 Shopee Coins จะเท่ากับ 1 บาท”
แต่หลายๆ ท่านที่เคยซื้อสินค้าใน Shopee อาจจะเคยสังเกตเห็นว่าแม้เราจะมี Coins จำนวนมากเป็นพันเป็นหมื่น Coins แต่ก็ไม่สามารถใช้แทนเงินหรือเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าได้เต็มจำนวน
เช่น หากมี Coins อยู่จำนวน 100 เหรียญ และอยากจะซื้อของที่มีมูลค่า 100 บาท แต่ก็ไม่สามารถใช้ Coins ที่มีได้ทั้งหมด...
Image Credit: Shopee
แล้วทำไมเราใช้ Coins แทนเงินทั้งหมดไม่ได้ละ?
เพราะเงื่อนไขของการใช้ Shopee Coins ในการซื้อสินค้านั้น มีการจำกัดการใช้เพื่อเป็นส่วนลดว่า…
“สามารถใช้ Coins ได้สูงสุด 25% ของยอดการชำระเงินรวม (ไม่มีขั้นต่ำ) โดยใช้ได้สูงสุด 500 Coins ต่อวัน และสูงสุดไม่เกิน 800 Coins ต่อสัปดาห์”
เช่น เมื่อซื้อสินค้าใน Shopee ยอดรวม 1,000 บาทต่อคำสั่งซื้อ จะสามารถใช้ Coins ที่มีเป็นส่วนลดได้สูงสุด 250 บาท (25%) และถ้าในวันเดียวกัน อยากซื้อสินค้าอีก 1,000 บาท ก็จะสามารถใช้ได้อีกแค่ 250 Coins (25% / ไม่เกิน 500 Coins) เท่านั้น
เท่ากับว่าสัปดาห์นั้นเราใช้ Coins ไปแล้วรวม 500 Coins และจะใช้เพิ่มได้สูงสุดอีกแค่ 300 Coins (ไม่เกิน 800 Coins) เท่านั้นภายในสัปดาห์เดียวกัน
Image Credit: Shopee
และนอกเหนือจากการใช้เป็นส่วนลดเพื่อซื้อสินค้าใน Shopee แล้วนั้น Shopee Coins ยังสามารถนำไปสแกนจ่ายซื้อสินค้าบนแอป Shopee ด้วย "ShopeePay" ณ ร้านค้าต่างๆ ได้อีกด้วย
โดยการสแกนจ่ายผ่าน ShopeePay นั้น “สามารถใช้ Shopee Coins ได้สูงสุด 50% ของยอดการชำระเงินรวมต่อคำสั่งซื้อ และใช้ได้สูงสุดไม่เกิน 500 Coins ต่อวัน รวมถึงไม่เกิน 800 Coins ต่อสัปดาห์
ทั้งนี้ การใช้ Shopee Coins สแกนจ่ายจะไม่นับรวมกับการใช้เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าบนแอปแต่อย่างใด
Image Credit: Shopee
อย่างไรก็ตาม Shopee Coins ก็ยังมีข้อจำกัดเพิ่มอีกว่า...จะไม่สามารถใช้เป็นส่วนลดกับสินค้าหมวดหมู่ตั๋วและบัตรกำนัล และสินค้าควบคุมได้ โดยที่มันจะมีอายุเพียง 3 เดือนเท่านั้น และจะหมดอายุ ณ สิ้นเดือนที่ 3 นับจากวันที่ได้รับมาวันแรก
เช่น หากคุณได้รับ Shopee Coins มาวันใดก็ตามในเดือน มิ.ย. ไม่ส่ายังไงเหรียญก็จะหมดอายุวันที่ 30 ก.ย. (ถ้าได้รับมาช่วงปลายๆ เดือน มิ.ย. อายุของมันก็จะมีน้อยกว่ารับมาช่วงต้นเดือน)
รวมถึงเจ้าเหรียญอิเล็กทรอนิกส์นี้จะไม่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินสด หรือโอนไปบัญชีอื่นได้ในทุกกรณี
โดยหากในกรณีที่เราทำการยกเลิกคำสั่งซื้อนั้นๆ หรือคำสั่งซื้อของคุณถูกยกเลิกด้วยเหตุผลต่างๆ เราก็จะได้รับ Shopee Coins คืนกลับมาในบัญชี
Image Credit: Pixabay
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ด้านทางการตลาดที่ Shopee นำมาใช้เรียกเงินออกจากกระเป๋าของลูกค้าได้แบบไม่ต้องคิดมากเลย
เพราะ Shopee Coins ได้เข้ามาอยู่ในกระบวนการ/กิจกรรมแบบเบ็ดเสร็จ เริ่มตั้งแต่การติดตามร้านค้าต่างๆ บนแอป, การใช้เป็นส่วนลดซื้อสินค้า, เมื่อซื้อสินค้าแล้วก็ได้ Coins คืนอีก
รวมไปถึงการรีวิวสินค้าที่ซื้อมาก็ยังได้ Coins และครั้นพอเราเปิดแอปดูเล่นๆ แล้วยังเห็นว่า เฮ้ย...ยังมี Coins เหลืออยู่ !!!
มันก็ยิ่งกระตุ้นให้เราอยากจับจ่ายอีกครั้งๆ วนไปเรื่อยๆ แบบไม่มีที่สิ้นสุด เกิดเป็น "Shopaholic" (เสพติดการช้อป) ไปโดยที่เราไม่ทันจะได้รู้ตัวด้วยซ้ำ
รสชาติ และความสะใจของการได้ลดราคาที่ผู้บริโภคได้รับนั้น ถ้าเปรียบเป็นอาหารก็ไม่ต่างจากผัดกระเพราไข่ดาวหอมๆ ช่วงใกล้เที่ยง มันยั่วยวนเราเสมอให้ลิ้มลอง และเราก็กินมันซ้ำๆ ได้เสมอซะด้วย.
Image Credit: Pinterest/Nar Nube
Source:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา