6 ส.ค. 2021 เวลา 08:03 • ท่องเที่ยว
วัดสระบัว .. วัดโบราณกลางเมืองเพชรบุรี
“วัดสระบัว” .. เป็นวัดเล็กๆใกล้กับเชิงเขาวัง เป็นวัดเล็กๆที่แทบไม่เคยสังเกตุแม้เคยนั่งรถผ่านมาหลายครั้ง แต่ครั้งนี้กลับงดงามด้วยแสงสีทองจากแสงตะวันที่ใกล้จะลับขอบเขา ส่องกระทบพระปรางค์หน้าโบสถ์แลดูอ่อนช้อยชวนชม สุดฝืนยืนชมราวต้องมนต์สะกด
“วัดสระบัว” .. เป็นวัดเก่าแก่ อายุประมาณ 400 ปี สร้างขึ้นต่อเนื่องในหลายรัชกาลตั้งแต่พระเจ้าเสือ พระเจ้าปราสาททอง และสมเด็จพระนารายณ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา
1
พระอุโบสถมีขนาดกะทัดรัด ฐานแอ่นโค้ง ผนังมีเสาอิงประดับ หน้าบันด้านทิศตะวันออกประดับลายปูนปั้นรูปพระนารายณ์ทรงอสูร (ปกตินิยมทรงครุฑ) ประกอบลายกนกช่อพุ่มหางโต ลักษณะลายรูปปั้นคล้ายกับลายปูนปั้นหน้าบันพระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม
คาดว่าสร้างในสมัยพระเจ้าเสือ ภายในมีภาพจิตรกรรมทวารบาลที่คาดว่าเขียนขึ้นในสมัยพระเจ้าบรมโกศ พระประธาน ฐานชุกชี และลายดาวบนเพดานสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าปราสาททอง
องค์พระประธาน ปางมารวิชัย งดงามพุทธศิลป์สมัยอยุธยา ชาวบ้านเรียกขานกันว่า “หลวงพ่อแดง” ซึ่งมีความศักดิสิทธิ์เป็นที่เคารพบูชามาหลายยุคหลายสมัย เพดานของพระอุโบสถ มีภาพเขียน “ปิดทองล่องชาด” ออกแบบด้วยลายปรุ เขียนด้วยดินเหลืองลงบนพื้นแดงดูงามตา
1
พระปรางค์หน้าพระอุโบสถ ... มีสององค์ สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยพระเพทราชา หรือสมัยพระเจ้าเสือ เป็นปรางค์ย่อมุมไม้ยี่สิบ ทรงชะลูด ฐานด้านล่างเป็นเขียง ด้านบนอีกสองชั้นเป็นนรสิงห์ ยอดบนสุดเป็นนพศูล สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายเช่นเดียวกัน
ซุ้มประตูทางด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ... ลายที่ใช้ประดับและการออกลาย มีลักษณะที่แตกต่างจากลายที่ใช้ประดับพัทธสีมา ปรางค์ และอุโบสถ .. รูปแบบสถาปัตยกรรมของทั้งสองซุ้มประตูเป็นยอดทรงปรางค์ มีลักษณะต่างไปจากซุ้มประตูทั่วไป
พัทธสีมารอบพระอุโบสถ อาจสร้างในสมัยพระเจ้าปราสาททองหรือสมเด็จพระนารายณ์ เป็นศิลาทรายแดงจำหลักลาย ตั้งช้อนกัน 2 ใบ มีลักษณะทำเป็นฐานสิงห์ยกสูง มีบัวรองรับใบเสมา นิยมเรียกว่า "ใบเสมานั่งแท่น"
1
บริเวณฐานใบเสมามีทั้งหมด 8 ฐาน มีขนาดเท่ากันทุกด้าน สูง 1.81 เมตร กว้าง 1.44 เมตร ฐานใบเสมา เอกด้านอุโบสถ มีลักษณะที่แตกต่างไปจากฐานอื่น .. คือ เป็นทรงแปดเหลี่ยม บนหน้ากระดานท้องไม้ ฉาบปูนเรียบ ส่วนที่มีลายประดับมี 4 ชั้น ชั้นสุดท้ายใบพัทธเสมา สลักรูปยักษ์ถือกระบอง
ส่วนประกอบปูนปั้น ประดับบนฐานของเสมา .. ชั้นแรก ประกอบไปด้วยยักษ์แบก จีนแบก ฝรั่งแบก
ชั้นที่สอง ... เป็นครุฑแบก ประดับอยู่ตรงตำแหน่งย่อมุมไม้สิบสอง สลับกับนรสิงห์แบก
ชั้นที่สาม ... เป็นลายกระจัง
ชั้นที่สี่ ..เป็นบัวกลุ่มรองรับเสมาคู่
ทุกๆฐานเสมาลายต่างๆที่ใช้ประดับบนใบเสมา ประกอบด้วยลายประจำยาม ลายก้ามปู ลายดอกจอก ลายดอกลำดวน ลายประจำยามลูกฟัก ลายกระจัง บัวกลุ่ม ยักษ์แบก จีนแบก ฝรั่งแบก ครุฑแบก นรสิงห์แบก .. จัดว่าเป็นศิลปะปูนปั้นสมัยอยุธยาตอนปลาย ที่งดงามที่สุดและหลงเหลือให้เห็นแห่งเดียวในเพชรบุรี แม้ว่าปัจจุบันจะมีสภาพหักพังไปมากก็ยังคงงดงาม สมควรแกการศึกษาและอนุรักษ์ไว้ให้เป็นมรดกของแผ่นดิน
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา