6 ส.ค. 2021 เวลา 14:30 • หนังสือ
📚 รีวิวหนังสือ The Subtle Art of Not Giving a F*ck หนังสือที่สอนเรามากกว่าแค่ “การช่างแม่ง”!!! 📚
"The Subtle Art of Not Giving a F*ck"
A Counterintuitive Approach to Living A Good Life
2
เขียนโดย Mark Manson
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ผมเองซื้อมานานมากแล้วครับ แต่เพิ่งจะมีโอกาสได้อ่านจนจบเองครับ 😅 (ดองไว้นานมาก ๆ)
เนื่องจากสังคมและสถานการณ์ต่าง ๆ รอบตัวเราในช่วงที่ผ่านมา นั้นถือว่าค่อนข้างตึงเครียดมากจริง ๆ ผมเลยลองหยิบหนังสือเล่มนี้หวังว่าจะได้อ่านอะไรเบา ๆ ผ่อนคลายและ “ปล่อยวาง” ในบางเรื่องได้บ้าง (เฮ้อออ)
👉🏻 ปรากฏว่าหลังจากอ่านไปได้สักพัก ผมกลับรู้สึกชอบหนังสือเล่มนี้มากกว่าที่คาดหวังไว้มากทีเดียวครับ นอกจากชื่อหนังสือ พร้อมสีสันที่ดูโดดเด่น (มาก ๆ) แล้ว เนื้อหาในเล่มค่อนข้างดีกว่าที่ผมคาดไว้เยอะเลย!
โดยผู้เขียนเค้าไม่ได้เขียนเล่าถึงวิธีการปล่อยวาง หรือ “ช่างแม่ง’” ตามชื่อหนังสือแต่อย่างเดียวนะครับ แต่ผู้เขียนได้เขียนถึงแนวคิดในการใช้ชีวิตแบบตรงไปตรงมาอย่างแท้จริง อีกทั้งยังช่วยให้เรายอมรับความจริง หลาย ๆ อย่างแบบไม่โลกสวย ทำให้อ่านแล้วทำให้เรารู้สึกว่า เออ ใช่เลย !! หลายครั้งมาก ๆ เลยครับ
……………..
“Don’t Try”
อย่างแรกเลยครับ ผู้เขียนบอกไว้ว่าในโลกปัจจุบันนั้นสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางโทรทัศน์ หรือโซเชี่ยลมีเดียนั้นทำให้เรารู้สึกอยากที่จะมีชีวิตที่ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเราเห็นคนโน้นคนนี้ทำอะไรที่เราอยากทำ แต่อาจทำไม่ได้ หรือไม่มีโอกาสทำ
นอกจากนี้ยังทำให้เราเห็นว่าเรื่องนั้นก็สำคัญ เรื่องนี้ก็สำคัญไปหมด ทำให้เราใส่ใจไปกับทุก ๆ เรื่องเลยทีเดียว จนบางครั้งเราอาจจะใส่ใจมากเกินไปซะด้วยซ้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้แหละครับเป็นภัยแก่เราโดยไม่รู้ตัว ทำให้เราเครียดไปเสียหมดทุกอย่าง เพราะเราไปสนใจเรื่องที่ไม่ควรสนใจมากเกินไป
1
💡 เค้าบอกว่าจริง ๆ แล้ว การที่จะมีชีวิตที่ดีนั้นเราควรจะใส่ใจเรื่องต่าง ๆ ให้น้อยลง แต่ให้ใส่ใจเฉพาะสิ่งที่สำคัญกับเราจริง ๆ เท่านั้นก็พอแล้ว (ไม่ใช่ไม่สนใจอะไรเลยซักอย่างนะครับ 555)
1
นอกจากนี้อย่าไปพยายามที่จะมองหาแต่ “ความสุข” ในทุก ๆ ด้าน เพราะมันจะไม่จบไม่สิ้นครับ (nobody is perfect) เค้าบอกว่าความสุข หรือ ความสำเร็จจริง ๆ แล้วมันจะเกิดจากการที่เราทำงานหนัก ทรมาน ซึ่งการทำงานหนักสุดท้ายจะทำให้เราเจอกับความสุขที่แท้จริงเองครับ
📍 เค้าเรียกมันว่า “backwards law” ครับ เช่น การออกกำลังกายเป็นประจำ (เหนื่อย ทรมาน ปวด) ก็จะส่งผลให้เรามีสุขภาพที่ดีในระยะยาว หรือการที่เราควบคุมอาหาร ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพซึ่งอาจจะไม่ได้อร่อยเท่าไหร่นัก แต่สุดท้ายมันก็จะส่งผลดีต่อสุขภาพของเราครับ
1
ซึ่งเค้าบอกว่านี่ก็คือแก่นของหนังสือเล่มนี้แหละครับ ที่เค้าพยายามจะบอกให้เราเปลี่ยนเอาความเจ็บปวดเป็นพลัง เปลี่ยนปัญหา หรือ ความล้มเหลวที่เราเจอมาช่วยให้เราเป็นคนที่พัฒนาขึ้นครับ 👍🏻
……………..
“Happiness Is a Problem”
อย่างที่บอกครับ มนุษย์เรามักจะสรรหาความสุขและพยายามหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด ทั้งที่จริง ๆ แล้วความเจ็บปวด ความผิดพลาดนี่แหละครับจะเป็นสิ่งที่สอนให้เราพัฒนาขึ้น เป็นคนที่ดีขึ้น เก่งขึ้นครับ แต่ถามว่าเราทำได้มั้ยกับการต้องทนกับความเจ็บปวด หรือ ความรู้สึก fail เวลาทำพลาดเหล่านี้ก่อน?
👉🏻 อีกอย่างหนึ่งคือ เราต้องยอมรับครับว่าชีวิตของเราทุกคนต้องมีปัญหาให้แก้ อย่าหลอกตัวเองว่าจะมีชีวิตที่ราบเรียบปราศจากปัญหาใด ๆ แต่ให้เราพยายามมองปัญหาให้เป็นปัญหาที่ดี (good problems)
ความสุขที่แท้จริงจะเกิดจากการที่เราสามารถแก้ปัญหาที่เราเจอได้ ซึ่งปัญหามันไม่มีวันหมดนะครับ เมื่อเราแก้ปัญหาหนึ่ง มันก็จะเกิดอีกปัญหาหนึ่ง หรือเปลี่ยนไปเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ให้เราแก้มันไปเรื่อย ๆ ครับ ชีวิตเราก็คือการอยู่แก้ปัญหาไปเรื่อย ๆ นั่นเองครับ ยกตัวอย่าง Quote ที่ผมเคยอ่านแล้วชอบมากครับ
1
“Running away from your problems is a race you'll never win” 🏃🏻‍♂️
“การวิ่งหนีปัญหา ก็เหมือนกับการวิ่งแข่งที่เราไม่มีวันชนะ นอกจากเผชิญหน้ากับมันครับ”
💡 สุดท้ายแล้วเราต้องเลือกว่าเราจะเจอปัญหาแบบไหน ปัญหาหรืออุปสรรคอะไรที่เราเต็มใจและยินดีที่จะแก้มัน โดยเราต้องตอบตัวเราเองให้ได้ว่าเป้าหมายในชีวิตของเราคืออะไร?
“Who you are is defined by what you’re willing to struggle for”
……………..
“You Are Not Special”
ผู้เขียนได้กล่าวว่าในโลกยุคอินเตอร์เนทและโซเชี่ยลมีเดียในปัจจุบันทำให้เราเห็นเรื่องอะไรที่สุดโต่งได้ง่ายมาก ๆ เช่น เราเห็นคนที่ลงรูปไปเที่ยวที่แพง ๆ สวย ๆ มากมาย หรืออาจจะเป็นเรื่องราวบอกเล่าการประสบความสำเร็จทั้งในเรื่องหน้าที่การงาน หรือการเงิน เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้แหละครับทำให้คนเรามักจะมีความต้องการเป็น “คนที่พิเศษ” แบบนั้นบ้าง ทำให้เราคาดหวังอะไรต่าง ๆ มากมาย ซึ่งสุดท้ายเกิดอะไรขึ้นครับ? 😕
หลาย ๆ คนคงเดาได้ เราก็จะเป็นทุกข์หนะซิครับ! ถ้าเราไม่สามารถเป็นอย่างภาพที่เราฝัน เราเห็นคนอื่นเป็นได้ แต่ทำไมเราทำอย่างนั้นไม่ได้บ้าง (หลายๆ คนคงเคยเป็นกันใช่ไหมครับ?)
เค้าบอกว่าให้เรายอมรับความเป็นจริงครับว่าคนส่วนใหญ่ก็คือคนธรรมดาทั่วไปตามค่าเฉลี่ยนั่นเองครับ คนส่วนมากไม่ได้พิเศษกว่าคนอื่น เพราะถ้าทุกคนพิเศษมันก็ไม่เรียกว่าพิเศษใช่มั้ยหละครับ
แต่มีหลายต่อหลายคนที่ยอมรับไม่ได้กับการที่เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง เพราะเค้าคิดว่าถ้าเค้าเป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่ง เค้าคงไม่สามารถทำอะไรให้ประสบความสำเร็จได้เลย ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่จริงเลยถูกมั้ยครับ
💡 การที่เราจะเป็นคนที่พิเศษหรือเก่งกว่าคนอื่นได้นั้น เค้าบอกว่าไม่ได้เกิดจากการเชื่อว่าเราเก่ง เราเจ๋งเลยนะครับ แต่มันต้องเกิดมาจากการที่เรา “ยอมรับ” ก่อนว่าเราไม่ได้เก่งกว่าคนอื่นแล้วก็พยายามพัฒนาตนเองขึ้นไปเรื่อย ๆ เพื่อเป็นคนที่เก่งขึ้น ดีขึ้น
2
“People who become great at something become great because they understand they’re not already great – they are mediocre, they are average – and they could be so much better”
……………..
“The Value of Suffering”
มนุษย์เราเกิดมาก็มีความทุกข์ความทรมานไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่งทั้งนั้น ผู้เขียนบอกว่าในเมื่อเราหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ เราก็ควรจะคิดอีกแบบว่าเราจะทนกับสิ่งนั้นไปเพื่ออะไรมากกว่า
📌 เค้าบอกว่าสิ่งสำคัญสำหรับทุกคนคือ “personal value” หรือคุณค่าที่เราให้นั่นเอง เช่น เราจะวัดความสำเร็จในชีวิตเราจากอะไร เงินทอง หน้าที่การงาน หรือ ครอบครัว แล้วเราวัดสิ่งเหล่านั้นเทียบกับอะไร ? ซึ่งคุณค่าที่เราให้สิ่งเหล่านี้จะทำให้เรายอมที่จะอดทนในเรื่อง ๆ นั้นได้ครับ
ในหนังสือเล่าเรื่องของนักดนตรีคนนึงที่ชื่อ Dave Mustaine ที่ในอดีตเค้าเคยเป็นสมาชิกของวงดนตรีที่ภายหลังโด่งดังอย่างมากในชื่อ “Metallica” แต่เค้าดันโดนไล่ออกจากวงก่อนที่วงจะโด่งดังในเวลาถัดมา
หลังจากที่ตัวเค้าโดนไล่ออกจากวงเค้าก็ได้ไปตั้งวงดนตรีวงใหม่ที่ก็โด่งดังเช่นกัน คือ “Megadeath” ซึ่งถึงแม้ว่าวงใหม่ของเค้าก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก มียอดขายสูงมากทั่วโลกแต่ก็ยังน้อยกว่าอดีตวงเก่าของเค้าอย่าง Metallica
ตัวเค้าได้ให้สัมภาษณ์กับที่หนึ่งไว้ว่าตัวเค้านั้นยังล้มเหลว เพราะเค้ายึดติดว่าความสำเร็จของเค้าต้องเทียบกับวงเก่า ซึ่งทำให้ตัวเค้านั้นไม่มีความสุขเลยไม่ว่าวงใหม่ของเค้าจะประสบความสำเร็จเท่าไหร่ก็ตาม ในขณะที่คนบางคนแค่ได้ออกอัลบั้มให้คนรู้จักทั่วโลกก็มีความสุขและถือว่าประสบความสำเร็จมากแล้ว
1
ผู้เขียนเลยบอกไว้ว่าหากเราต้องการมองปัญหาให้ต่างออกไป เราจำเป็นต้องเปลี่ยน “value” หรือ “คุณค่า” ของเราก่อน ซึ่งเค้าได้อธิบายเพิ่มเติมต่อไปว่าเราควรจะมี “Good Values” แทนที่จะเป็น “Bad Values”
👍🏻 Good Values ที่ผู้เขียนนิยามไว้ก็คือสิ่งที่เป็นจริง (reality based) สร้างสรรค์ (socially constructive) และเราสามารถควบคุมมันได้ (Immediate and controllable) เช่น ความซื่อสัตย์ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
1
👎🏻 ในขณะที่ Bad Values ก็คือสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ไม่สร้างสรรค์ และเราควบคุมไม่ได้นั่นเอง เช่น ต้องการเป็นที่ชื่นชอบของทุกคน การต้องการความเด่นดัง ต้องการเป็นศูนย์กลางจักรวาล
1
ซึ่งการที่เรามี Bad Values พวกนี้จะทำให้เราไปใส่ใจหรือสนใจแต่อะไรที่ไม่สำคัญ ไม่สามารถควบคุมได้ และสุดท้ายจะทำให้ชีวิตเราแย่ลงเรื่อย ๆ และไม่มีความสุขเนื่องจากสิ่งเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในการควบคุมของเราเลย
1
……………..
“You Are Always Choosing”
ผู้เขียนกล่าวไว้ว่าให้เราคิดว่าเราสามารถเลือกได้เสมอและเป็นคนเลือกเสมอ หมายความว่าอย่างไรกันครับ?
เช่น แม้ว่าเราจะเจอกับปัญหาที่เกิดจากสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้อย่างสถานการณ์โรคระบาดที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่สิ่งที่เราเลือกจะทำได้คือ เลือกที่จะคิดและตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้น ๆ อย่างไร
เราต้องมองว่าไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรก็ตาม ยังไงเราก็ยังเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตเราเอง เราเป็นคนที่ตีความ รวมทั้งคิดและเลือกเองว่าจะทำอะไร แก้ปัญหาอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งการที่เราจะตอบสนองหรือตีความปัญหาอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับ value ที่เราให้นั่นเองครับ
“Fault is the past, responsibility is present”
2
⭐️ ให้ระลึกไว้เสมอครับว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะมีความผิดพลาดอะไรมากมายกับชีวิตเรา สุดท้ายแล้วเราต้องรับผิดชอบชีวิตเราต่อไปเอง และเราก็เป็นคนเลือกครับว่าจะทำอย่างไรกับมัน
“It’s not what happens to you, but how you react to it that matters.”
ไม่ว่าปัญหาอะไรจะเกิดขึ้นกับคุณ สิ่งสำคัญที่สุดคือการตอบสนองของเราเอง
……………..
“You’re Wrong About Everything”
ผู้เขียนนั้นได้เล่าเรื่องของตัวเค้าสมัยเด็ก ๆ ครับว่าหลายต่อหลายครั้งคิดผิด ทำผิดมาตลอดมากมายแทบจะทุก ๆ เรื่อง แต่นี่เป็นเรื่องปกติครับ เพราะการที่คนเราเติบโตมาได้ก็มาจากการที่เราทำผิดพลาดนี่แหละครับ กระบวนการทดลอง ลองผิดลองถูกนี่ หรือที่เรียกว่า “iterative process” นี่แหละครับที่สำคัญต่อเรามาก ๆ
นอกจากนี้การที่เชื่อมั่นและมั่นใจในตัวเองมาก ๆ นั้นก็เป็นกับดักอันตรายอย่างหนึ่งต่อการพัฒนาของตัวเราเอง เค้าบอกว่าเราควรที่จะตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเชื่อ หรือตั้งคำถามกับคุณค่าที่เราให้กับสิ่งนั้นๆ ว่ามันยังเป็นสิ่งที่สำคัญกับเราจริง ๆ รึเปล่า ซึ่งเค้าบอกว่าในเรื่องนี้ทำได้ยากมาก ๆ นะครับ เพราะอะไร? 🧐
1
“The more something threatens your identity, the more you will avoid it”
ตามธรรมชาติของมนุษย์เราจะพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราเชื่อ หรือ หลีกเลี่ยงกับสิ่งที่จะมากระทบกับความเชื่อของเรานั่นแหละครับ เรามักจะมองหาแต่สิ่งที่ตรงกับความเชื่อของเรา หรือ “Confirmation Bias” นั่นเองครับ
💡 ดังนั้นผู้เขียนจึงแนะนำให้เราลองตั้งคำถามกับตัวเราเองเป็นประจำครับว่า “ถ้าสิ่งที่เราเชื่อหรือคิดอยู่นั้นผิดหละ?” แล้วถามต่อว่ามันจะเป็นอย่างไรถ้าตัวเราผิด? แล้วก็การที่เราคิดผิดแบบนี้นั้นทำให้ปัญหาที่มีอยู่นั้นดีกว่าเดิมหรือแย่กว่าเดิม (ถ้าเราจำได้ในตอนแรก ๆ เค้าได้บอกไว้ว่าปัญหาที่เรามีนั้นไม่หมดไม่สิ้น แก้ปัญหานี้ได้ก็จะเกิดปัญหาใหม่)
✅ ใจความสำคัญก็คือให้ตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเชื่อ หรือ สิ่งที่เราคิดว่าถูกบ่อย ๆ ครับ
……………..
“Failure Is the Way Forward”
“If you’re unwilling to fail then you’re unwilling to succeed”
คำกล่าวที่ว่า “ความล้มเหลวเป็นพื้นฐานสู่ความสำเร็จ” นี่เราคงได้ยินกันมากมายแล้วนะครับ ค่านิยมหลาย ๆ อย่างในสังคมนั้นทำให้คนเรากลัวความล้มเหลว ซึ่งเป็นเหมือนกับดักที่ทำให้เราไม่กล้าที่จะลงมือทำอะไรซักเท่าไหร่
👉🏻 แต่ผู้เขียนนั้นได้เน้นย้ำเลยว่า “ให้เราลงมือทำ” ซะเดี๋ยวนี้เลย ! แล้วเดี๋ยวเราจะเห็นคำตอบ หรือ หาทางออกได้เอง
1
ความเชื่อเก่า ๆ ที่เราเคยได้ยินมานั้นคือ ถ้าเรามี inspiration (แรงบันดาลใจ) เราจะเกิด motivation (แรงจูงใจ) แล้วก็จะเกิด action (การกระทำ)
Inspiration ->Motivation -> Action
แต่ผู้เขียนบอกว่าให้เราลองคิดกลับกันโดยลองมี action ก่อนเดี๋ยวมันจะช่วยทำให้เกิด inspiration แล้วก็เกิด motivation ต่อเอง
Action -> Inspiration -> Motivation 👍🏻
ซึ่งเค้าเรียกหลักการนี้ว่า “Do Something Principle” คือให้ลงมือทำอะไรซักอย่าง เพราะอย่างที่รู้กันดีครับว่าก้าวแรกยากที่สุดเสมอ
3
……………..
“The Importance of Saying No”
คนเราต้องรู้จักปฏิเสธให้เป็น กับสิ่งที่ไม่ได้สำคัญ หรือ ไม่ใช่ “คุณค่า” ที่เราให้ (แต่เราต้องเลือกที่จะให้คุณค่าในเรื่องที่ถูกต้องก่อนนะครับ)
หลายต่อหลายคนเป็นคนที่ปฏิเสธคนอื่นไม่เป็น (โดยเฉพาะคนขี้เกรงใจ) ซึ่งเค้าบอกว่าที่เราทำแบบนั้นเพราะมันทำให้เรารู้สึกดี ไม่รู้สึกแย่ต่อการปฏิเสธคนอื่น แต่จริง ๆ แล้วความรู้สึกดีนี้เป็นแค่ความสุขระยะสั้นเท่านั้นเอง การที่ต้องทำอะไรที่มันไม่ใช่คุณค่าที่เราให้นั้น แน่นอนว่ามันจะทำให้เราอึดอัด และไม่มีความสุขในระยะยาวครับ
นอกจากนี้เรายังต้องรู้จักยอมรับ และเคารพคำปฏิเสธจากคนอื่นด้วยเช่นกันครับ ไม่เช่นนั้นเราก็จะทุกข์อยู่คนเดียว เพราะอีกคนเค้าได้เลือกไปแล้วนั่นเองครับ
……………..
“…And Then You Die”
ในบทสุดท้ายที่ผู้เขียนกล่าวถึงก็คือ สุดท้ายแล้วเราทุกคนก็ต้องตายครับ ดังนั้นจงให้ยอมรับสิ่งนี้
มนุษย์นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวในโลกที่สามารถคิดจินตนาการได้ถึงอนาคต และหลายคนก็จินตนาการถึงความตายของตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้จะนำมาซึ่ง “การกลัวความตาย” ของเราครับ
สิ่งนี้มันโยงต่อไปให้คนเรามักจะเลือกสร้างตัวตนของเราหลังความตายไว้ เช่น พยายามทำตัวเองให้มีชื่อเสียงมากที่สุด เพื่อที่หลังจากที่ตายไปแล้วนั้นมีคนยกย่อง หรือพยายามหาเงินทอง สร้างสิ่งต่าง ๆ ไว้มากมาย เพื่อให้คนจดจำ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วเราเคยได้ยินประโยคนี้กันบ่อย ๆ ว่า ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้
💡 เมื่อเราได้เข้าใจและยอมรับเรื่องนี้แล้ว เราก็จะสามารถเลือกที่จะให้คุณค่ากับสิ่งที่สำคัญกับเราจริง ๆ ครับ
……………..
📌 หนังสือเล่มนี้นอกจากจะดีเกินความคาดหมายของผมแล้ว ยังใช้วิธีการเขียนแบบตรง ๆ ใครที่ได้อ่านเล่มภาษาอังกฤษก็น่าจะสัมผัสได้ถึงภาษาและสไตล์การเขียนของผู้เขียนอย่าง Mark Manson ได้เป็นอย่างดี 😅
แก่นของหนังสือเล่มนี้ถือว่าดีทีเดียวครับ ช่วยทำให้เราเลือกใส่ใจในสิ่งที่สำคัญกับเราจริง ๆ ก็พอ การที่เราอยู่ในโลกปัจจุบันที่มีข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ มากมายที่เราเข้าถึงได้ง่าย ทำให้เรารู้สึกได้ว่าทุกเรื่องก็สำคัญไปหมดจนบางทีเราลืมมองย้อนกลับมาที่ตัวเราเองว่า “value” หรือสิ่งที่เราให้คุณค่านั้นมันคืออะไรกันแน่ เป้าหมายในชีวิตของเรานั้นคืออะไรกันแน่ 🎯
⭐️ นอกจากนี้การได้อ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้เราไม่ลืมว่าเราเป็นผู้กำหนดชีวิตของเราเอง ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรก็ตาม เราควรที่จะยอมรับและหาทางแก้ไข เราสามารถที่จะเป็น “ผู้เลือก” ได้เองครับว่าเราจะเผชิญกับปัญหาเหล่านั้นอย่างไร...
#BookReview #รีวิวหนังสือ #สิงห์นักอ่าน
ป.ล. ถ้าไม่อยากพลาดการติดตามการรีวิวหนังสือดี ๆ แบบละเอียดยิบ ฝากกด Like กดติดตามเพจ รวมถึงยังติดตามได้อีกหนึ่งช่องทางทาง facebook : สิงห์นักอ่าน
โฆษณา