7 ส.ค. 2021 เวลา 06:16 • นิยาย เรื่องสั้น
ตำนาน สารทจีน (1/2)
สารทจีน เทศกาลที่คนจีนแต้จิ๋วในไทย 
มักจะเรียกกันแบบภาษาชาวบ้านๆ ว่า " ชิก ง๊วย ปั่ว " (七月半)
( ซึ่งแปลว่ากลางเดือนเจ็ด ) ( จีนแมนดารินออกเสียง “ชี เยวี่ย ปั้น” )
ซึ่งบางคนก็อาจจะเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า " กุย โจ๊ย " ( 鬼節 )
( แปลว่า เทศกาลผี ) ( จีนแมนดารินออกเสียง " กุ่ย เจี๋ย " )
แท้จริงแล้ว เทศกาลนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า
" ตง หง่วง โจ๊ย " ( 中元節 )
( แปลว่าเทศกาลตงหง๊วง ) ( จีนแมนดารินออกเสียง " จง เอวี๋ยน เจี๋ย " )
หากว่ากันตามวันในปฏิทินทางจันทรคติ ( ปฏิทินจีน ) แล้ว
เทศกาลสารทจีน จะตรงกับวัน 15 ค่ำ เดือน 7
ซึ่งคนจีนจะถือเป็นวันสำคัญ เป็นเทศกาลใหญ่ที่ลูกหลานชาวจีน
จะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษโดยผ่านพิธีเซ่นไหว้
เป็นอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญประจำปี อันดับ 2 รองจากเทศกาลตรุษจีน
ขอบคุณเครดิตภาพจากเว็ป Pixabay.com
คำว่า " ตง หง๊วง ( แต้จิ๋ว ) " หรือ " จง เอวี๋ยน (แมนดาริน) " ( 中元 )
หมายถึง " ดินแดนแห่งลุ่มแม่น้ำฮวงโห (หวง เหอ) (แม่น้ำเหลือง)
ทั้งตอนกลางและตอนล่าง อันเป็นศูนย์กลางแห่งอารยธรรมจีน "
และชื่อของเทศกาลว่า " ตง หง๊วง " หรือ " จง เอวี๋ยน "
ก็ได้มาจากพระนามของเทพประจำเทศกาลนี้ในศาสนาเต๋า ( 道教 )
เต๋า หรือ เต้าในภาษาแมนดาริน
เป็นศาสนาที่มีท่านเหลาจื่อ ( 老子 ) เป็นพระศาสดา
ขนมธรรมเนียมประเพณีและรวมถึงพิธีกรรมในศาสนาเต๋า
คล้ายคลึงและกลมกลืนจนแทบจะแยกไม่ออกกับขนมธรรมเนียมประเพณีและพิธีกรรม
ในศาสนาปราชญ์ หรือหยู ( 儒教 ) ของศาสดาขงจื่อ ( 孔子 )
และศาสนาพุทธ ( 佛教 )
ตามตำนานที่เล่าต่อๆ กันมาเนิ่นนาน
เทพตงหง๊วง ( แต้จิ๋ว ) หรือเทพจงหยวน ( แมนดาริน )
เป็นเทพประจำเทศกาลสารทจีนที่คนจีนเชื่อและเคารพสืบต่อกันมา
มีพระนามเต็มว่า " ตงหง๊วงไต่ตี้ ( แต้จิ๋ว ) " หรือ " จงหยวนต้าตี้ ( แมนดาริน ) "
( แปลว่ามหาราชแห่งตงหง๊วงหรือจงเอวี๋ยน )
หรือเรียกอีกพระนามหนึ่งได้ว่า " ตี่กัวไต่ตี้ ( แต้จิ๋ว ) " " ตี้กวนต้าตี้ ( แมนดาริน ) "
( แปลว่า ธรณิศเสนามหาราช ) ( บางคนเรียกสั้นๆ ว่า " ตี่กัว " หรือ " ตี้กวน " )
ซึ่งเป็นหนึ่งในสาม ของ ตรีเทพพิทักษ์มหาราช หรือ ซันกวนต้าตี้ ( 三官大帝 )
ตามความเชื่อของชาวจีน พระองค์ทรงได้รับพระโองการ
ให้ควบคุมดูแลเทพแห่งมหาบรรพตทั้งห้า ( ของจีน )
ภูเขาและแม่น้ำ เจ้าที่ประจำเมืองทุกเมือง เทพในเมืองที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์
ตรวจดูโชคเคราะห์ของสรรพสัตว์ ตรวจบัญชีความดีความชั่วของมนุษย์
และหน้าที่ที่สำคัญยิ่งอีกหนึ่ง นั่นก็คือให้อภัยโทษแก่ผู้รู้ผิด
ทุกวัน 15 ค่ำ เดือน 7
พระองค์จะลงมาตรวจบัญชีชั่วดีของมนุษย์ แล้วประทานอภัยให้ ( หากสมควรอภัย )
นอกจากนี้ พระองค์ยังเป็นประธานดูแลการไหว้วิญญาณผีที่ไม่มีญาติ
ซึ่งมีคนเป็นผู้ไหว้ โดยพระองค์จะไปเจรจากับ " ลี่ " ราชาของผี
ให้ช่วยควบคุม ดูแลบริวารไม่ให้ทำร้ายมนุษย์
ฉะนั้น ผู้คนจึงทานเจ ทำพิธีเซ่นสรวงบูชาพระองค์เซ่นไหว้บรรพชน
เพื่อให้พระองค์อภัยโทษให้ทั้งแก่ตนเองและวิญญาณบรรพชน
(( ปัจจุบัน ชาวจีนไต้หวันนิยมไหว้พระองค์ตั้งแต่ยามแรกของวัน 15 ค่ำ
จีนแบ่งวันคืนออกเป็น 12 ยามๆ ละ 2 ชั่วโมง
ยามแรกคือช่วง 5 ทุ่ม ถึง ตี 1 ( 23.00 - 01.00 น. )
ยามแรกของวัน 15 ค่ำ ก็คือช่วง 23.00 - 01.00 น. ของคืนวัน 14 ค่ำ
( เพราะชาวจีนเริ่มวันใหม่ ตอน 5 ทุ่ม )
หากไม่ได้ไหว้ตอน 5 ทุ่ม ก็จะไหว้ตอนเที่ยงวันของวัน 15 ค่ำ หลังจากไหว้บรรพบุรุษไปแล้ว ))
ส่วนชาวจีนในไทย ไม่มีพิธีไหว้เทพตงหง๊วงหรือเทพจงหยวนโดยเฉพาะ
แต่จะไหว้เจ้าและเทวดาทั้งหมดในตอนเช้า 
ไม่ว่าจะเป็น เจ้าที่ " ตี่จู๋เอี๊ย ( แต้จิ๋ว ) " " ตี้จู่เหยีย ( แมนดาริน ) " ( 地主爺 )
( ศาลเจ้าที่ตามความเชื่อชาวจีนในไทย 
ก็คือศาลเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในบ้านเกือบแทบทุกบ้านนั่นแหละ )
ตี่จู๋เอี๊ย หรือ ตี้จู่เหยีย เป็นเจ้าที่ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของ
ตี่กัว หรือ ตี้กวน (ธรณิศมหาราช)
และถือเป็นตัวแทนของพระองค์ที่อยู่ประจำแต่ละบ้าน
การไหว้ ตี่จู๋เอี๊ย หรือ ตี้จู่เหยีย ในความเชื่อชาวจีนในไทย
จึงเสมือนหนึ่งการไหว้เทพตงหง๊วงหรือเทพจงหยวนแล้วนั่นเอง
อีกหนึ่งตำนานความเชื่อที่ใกล้เคียงกับที่กล่าวมาข้างต้น
สารทจีน เป็นวันที่ท่านพญายม " เหงี่ยมล้อเทียงจื้อ ( แต้จิ๋ว ) 
" เหยียนหลัวเทียนจื่อ ( แมนดาริน ) " ( 閻羅天子 )
จะตรวจดูบัญชีวิญญาณคนตาย
ส่งวิญญาณดีขึ้นสวรรค์ และส่งวิญญาณร้ายลงนรก
1
ชาวจีนหลายๆ คนรู้สึกสงสารวิญญาณร้าย จึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้
ดังนั้น เพื่อให้วิญญาณร้ายออกมารับกุศลผลบุญนี้ได้
ประตูนรกภูมิ ก็จะถูกเปิดกว้าง
หลายคนเชื่อว่า ช่วงวันที่ประตูนรกเปิดกว้าง
เริ่มตั้งแต่ต้นเดือน 7 นั่นคือวัน 1 ค่ำ เดือน 7
เป็นวันที่ท่านพญายม " เปิดยมโลก " ให้บรรดาผีทั้งหลายออกมารับการเซ่นสังเวย
และในวัน 15 ค่ำ เป็นวันไหว้ใหญ่ทั้งผีบรรพชนและผีไม่มีญาติ
( ซึ่งอาจมีพิธีทิ้งกระจาดหรือเทกระจาดอุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณผี เปรต ด้วย )
กระทั่งถึงวันสิ้นเดือน 7 ( 30 ค่ำหรือแรม 15 ค่ำ ) เป็นวัน " ปิดประตูยมโลก "
วิญญาณผีทั้งหลายที่ยังไม่ได้ไปผุดไปเกิด 
จะต้องกลับเข้ายมโลกอีกครั้ง เพื่อรับโทษทัณฑ์ต่อ
ซึ่งก็มีชาวจีนอีกหลายคน ที่มีความเชื่อแตกต่างจากนี้บ้างเล็กน้อย
เนื่องจากช่วงเดือน 7 ของจีน เป็นช่วงกลางปีที่มีอากาศร้อน
ในอดีต การทำเรื่องต่างๆ มักมีอุปสรรค มีปัญหามากมาย
ผู้คนมักเจ็บป่วย ไม่เว้นแม้กระทั่งสัตว์ ก็มักเจ็บป่วยด้วยในช่วงนี้
หลายๆ คนเซ่นไหว้ กราบขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้ช่วยคุ้มครองตนและสัตว์ที่เลี้ยงไว้
ให้แข็งแรง ปลอดภัย ไม่มีโรค ไม่เจ็บไม่ป่วย
ขณะที่สภาพอากาศที่ร้อน อาหารการกินที่บูดเสียง่าย
เป็นเหตุทำให้ผู้คนเจ็บไข้ได้ป่วย ติดต่อระบาดทั้งคนทั้งสัตว์
ฉะนั้นแล้ว ช่วงเดือน 7 จึงมักมีคนและสัตว์เสียชีวิตมากมาย
บางคนจึงคิดว่าเป็นช่วงเวลาปล่อยผี ปล่อยวิญญาณของภพนรก
ผีจะดุ และยิ่งทำให้คนตายมากขึ้น โดยเฉพาะวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 7
เป็นวันที่ทางนรก จะปล่อยพวกวิญญาณผีให้ออกมาหากินได้อย่างอิสระ
หรือที่เรียกว่า วันปล่อยผี
วิญญาณผี โดยเฉพาะที่ไร้ญาติ ออกมาระเหเร่รอน หาของกิน
และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งที่มาที่ไปที่คนจีน มักจะบอกกล่าวกัน
ตามความเชื่อที่สืบทอดต่อๆ กันมา ว่า
เดือน 7 เป็นเดือนผี  หากไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ควรจะไปไหน
โดยเฉพาะการเดินทางไกล เพราะผีอาจทำให้ตายได้
#สารทจีน #ชิกง๊วยปั่ว #เทศกาลผี #จงเอวี๋ยนเจี๋ย #七月半 #中元節 #鬼節

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา