7 ส.ค. 2021 เวลา 07:20 • การเมือง
"เกมส์การเมืองภายในอิสราเอล: เกมส์แข่งชูธงความมั่นคงของรัฐ"
ความร้อนแรงของปัญหาปาเลสไตน์ยังคงขยับอยู่อย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ล่าสุดจับไปที่เกมส์การเมืองภายในอิสราเอลเองที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการได้ในที่สุด
การเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลสายเหยี่ยวภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูจากพรรคลิคูต ไปเป็นรัฐบาลผสมที่มีความหลากหลายทางแนวความคิดกันแบบสุดขั้ว นำโดยนายกรัฐมนตรี นาฟตาลี เบนเนตต์จากพรรคยามีนา ซึ่งมีแนวคิดขวาจัดไม่น้อยไปกว่ากัน
หากจะมองจากโครงสร้างพรรคร่วมรัฐบาลที่อาจจะมีการคานอำนาจกันมากขึ้นในระดับนโยบายจากพรรคฝ่ายซ้ายและพรรคของชาวอาหรับปาเลสไตน์สัญชาติอิสราเอลซึ่งเข้าร่วมรัฐบาลอยู่ด้วยแล้ว อาจพอคาดหวังถึงผลกระทบต่อปัญหาปาเลสไตน์ในเชิงบวกได้ แต่การขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองของนาฟตาลี เบนแนตต์ ผู้นำขวาจัดอีกคน ทั้งที่มีที่นั่งในสภา Knesset เพียง 7 ที่นั่งเท่านั้น ยังคงตอกย้ำให้เห็นถึงน้ำหนักเดิมๆที่อิสราเอลให้ความสำคัญต่อการคงอยู่ของความเป็นรัฐ ด้วยการนำความต้องการของประชากรยิวส่วนใหญ่ที่ยังคงนิยมแนวคิดฝ่ายขวาซึ่งจริงจังเรื่องหลักคิดการขยายดินแดนรัฐยิวตามแนวความคิดกลุ่มยิวไซออนิสต์สากลเพื่อนำไปสู่การสถาปนา “อาณาจักรอิสราเอล หรือมหานครรัฐอิสราเอล” (Greater Israel)
หลังชัยชนะเหนือบรรดาประเทศอาหรับในสงครามปี 1967 อิสราเอลได้พื้นที่ยึดครองเพิ่มเติม โดยเฉพาะพื้นที่สำคัญคือ เวสแบงค์และชนวนกาซ่า ซึ่งมีความสำคัญต่ออิสราเอลในมิติทางประวัติศาสตร์และความเชื่อทางศาสนาที่เป็นทุนเดิม กอปรกับความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์และความมั่นคงของรัฐใหม่ที่ต้องการให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพรมแดนกันชนจากการรุกรานของชาติอาหรับเพื่อนบ้าน
ผลของสงครามในครั้งนั้นจึงเป็นก้าวย่างสำคัญที่ปูทางให้กลุ่มนักการเมืองฝ่ายขวาสามารถนำหลักคิดเรื่องรัฐเกี่ยวกับ อาณาจักรอิสราเอล (Greater Israel) มาขยายไปสู่แนวทางปฏิบัติผ่านนโยบายความมั่นคงได้อย่างเป็นรูปธรรมซึ่งรู้จักกันในนาม “Sharon Plan” (1) (แผนขยายการก่อตั้งนิคมชาวยิวในเขตยึดครองเวสแบงค์ ปี 1977 โดยนาย เอเรียล ชารอน นักการเมืองฝ่ายขวา ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ก่อนที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา) และเริ่มได้รับการยอมรับจนขยับขึ้นมามีบทบาทในสนามการเมืองของอิสราเอล ด้วยแนวคิดและนโยบายที่แข็งกร้าวในการจัดการกับปัญหาในเขตพื้นที่ยึดครอง เวสแบงค์และชนวนกาซ่า
นับตั้งแต่พรรคลิคูตก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 1977 ด้วยแนวทางการดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงที่แข็งกร้าว ลิคูตให้ความสำคัญต่อนโยบาย “การขยายการก่อตั้งนิคมชาวยิวในเขตยึดครอง” เวสแบงค์และชนวนกาซ่า ด้วยการประกาศจะเดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียกัน ลิคูตเลือกใช้มาตรการที่เด็ดขาดและรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์ในเขตยึดครอง โดยการอ้างเหตุผลด้านความปลอดภัยของชาวยิวผู้ตั้งถิ่นฐานและเพื่อความมั่นคงของรัฐ การดำเนินนโยบายลักษณะนี้ส่งผลให้ลิคูตได้รับการสนับสนุนอย่างมากมาย ด้วยภาพของพรรคการเมืองซึ่งได้ชื่อว่าให้ความสำคัญต่อความมั่นคงเป็นหลัก
ความแตกต่างของแนวคิดการคงอยู่ของรัฐ ระหว่างพรรคฝ่ายขวากับพรรคฝ่ายซ้ายแสดงผ่านนโยบายด้านความมั่นคงได้ค่อนข้างชัดเจน การเปลี่ยนผ่านอำนาจและสลับกันขึ้นเป็นผู้นำระหว่างพรรคลิคูตฝ่ายขวาและพรรคเลเบอร์ฝ่ายซ้าย ได้ส่งผลให้นโยบายความมั่นคงของอิสราเอลปรับเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อ “นโยบายในเขตยึดครอง เวสแบงค์และชนวนกาซ่า” การเข้าสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์
ภายใต้การนำของพรรคลิคูต ทำให้ข้อตกลงต่างๆที่โน้มเอียงไปในทางประณีประนอมต่อประเด็นการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ที่ใกล้เคียงภาพความเป็นจริงมากที่สุดของอดีตนายกรัฐมนตรีราบินจากพรรคเลเบอร์ในปี 1993 ต้องหยุดชะงัก และแทนที่ด้วยแนวทางที่แข็งกร้าวจากการนำของพรรคลิคูตในเวลาต่อมาซึ่งมีความชัดเจนและยืนกรานในสิทธิของอิสราเอลเหนือเขตยึดครองเวสแบงค์และกาซ่า
การใช้มาตรการที่แข็งกร้าวและเด็ดขาดทางการทหาร เพื่อจัดการปัญหาการต่อต้านในพื้นที่เขตยึดครอง นับเป็น “จุดแข็ง” ของรัฐบาลลิคูต ที่ปูทางให้ลิคูตสามารถรักษาอำนาจและมีอิทธิพลในระดับนโยบายของอิสราเอลไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ทั้งนี้แนวทางของลิคูตปรากฏเป็นรูปธรรมและสอดรับกับความต้องการของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวในเขตยึดครอง และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่เห็นว่า “การคงอำนาจทางทหารอิสราเอล ในเขตยึดครอง เวสแบงค์และกาซ่า มีความจำเป็นต่อความมั่นคงของรัฐอิสราเอล”
แนวทางของลิคูตจึงเป็นเหมือนโมเดลสำคัญทางการเมืองให้กับพรรคการเมืองหรือการรวมตัวกันของกลุ่มการเมืองในอิสราเอล หากต้องการอำนาจในการเป็นผู้นำประเทศ จะต้องชูภาพของนโยบายที่แข็งกร้าวด้านความมั่นคงเพื่อเอาใจประชาชนชาวยิวที่ส่วนใหญ่ที่ยังคงนิยมแนวคิดด้านความมั่นคงของฝ่ายขวา ตัวเลข 58.69% (2) คือสัดส่วนของที่นั่ง ส.ส. รวมกันของบรรดาพรรคการเมืองฝ่ายขวาจากผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเสียงส่วนใหญ่ของชาวยิวผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งยังคงเทคะแนนให้กับพรรคการเมืองฝ่ายขวาได้เป็นอย่างดี แม้เกมส์การเมืองเรื่องผู้นำรัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แม้ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลผสมได้สำเร็จด้วยภาพของรัฐบาลที่หลากหลายทางแนวความคิดกว่ารัฐบาลที่ผ่านมาในอดีต แต่สิ่งหนึ่งที่นักการเมืองอิสราเอลแม้จะเป็นฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายกลางคำนึงถึงเพื่อเข้าสู่อำนาจการเป็นฝ่ายนำทางการเมืองก็คือ “เสียงประชาชนซึ่งสะท้อนต่อนโยบายความมั่นคงที่แข็งกร้าวเป็นสำคัญ”
การที่พรรคสายกลางค่อนซ้ายอย่าง เยช อาทิต ของนายยาอิร์ ลาพิด ที่มีความชอบธรรมในเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนใหม่มากกว่า เนื่องจากการได้รับที่นั่งมากเป็นลำดับสองในการเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่กลับเสนอตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิสราเอลให้พรรคร่วมฝ่ายขวาอย่างนายนาฟตาลี เบนแนตต์ ขึ้นเป็นไม้หนึ่ง ดูเหมือนว่านายยาอิร์ ลาพิด จะเข้าใจเกมส์การเมืองเรื่องธงความมั่นคงของรัฐได้เป็นอย่างดี
สำหรับการติดตามปัญหาปาเลสไตน์อย่างรอบด้าน การมองปัญหาปาเลสไตน์ผ่านมุมมองหลักคิดด้านนโยบายความมั่นคงของรัฐอิสราเอล จึงเป็นอีกหนึ่งแง่มุมที่น่าติดตาม
อ้างอิง
ผู้เขียน: ดร.สันต์ชัย ยุติกา หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยฟาฏอนี
ร่วมสนับสนุนและติดตามเราได้ทางช่องทางต่อไปนี้ :
โฆษณา