7 ส.ค. 2021 เวลา 08:19 • ไอที & แก็ดเจ็ต
สวัสดีครับ ยินดีต้อนรับสำหรับเพื่อนๆที่กำลังมองหากล้องฟิล์มตัวแรกมาใช้งาน แต่ก็พบกับปัญหาที่ว่า ควรซื้อตัวไหนดี? ราคาควรเท่าไหร่? แบบไหนเข้ากับเรากันนะ? จะไปเดินในงานก็เขินๆเยอะแยะเต็มไปหมดเลือกไม่ถูก หรือหาตามกลุ่ม facebook หรือ instargram ก็ยังไม่ตอบโจทย์
วันนี้ผมจะพาเพื่อนๆ มารู้จักกับกล้องฟิล์ม เทคนิคการเลือกซื้อโดยอ้างอิงประสบการ์ณจากตัวผมเองนะครับ ย้ำ!! เป็นทัศนคติและมุมมองของผมเอง บางท่านอาจเห็นต่างจากผม ก็ไม่ว่ากันครับ
โดยผมขอแนะนำสำหรับมือใหม่โดยแบ่งเป็น “กล้องใช้แล้วทิ้ง” , “กล้องฟิล์มคอมแพค” , “กล้องฟิล์มออโต้โฟกัส” , “กล้องฟิล์มโฟกัสแบบ Rangefinder” , “กล้องฟิล์มแบบ SLR” นอกเหนือจากนั้นผมคิดว่าคงไม่เหมาะกับมือใหม่เท่าไหร่
ep.1 นี้จะแนะนำให้รู้จักกล้องฟิล์ม และ กล้องฟิล์มสำหรับมือใหม่สุดๆ ที่ใช้ง่าย น้ำหนักเบา พกพาสะดวก ใส่กระเป๋ากางเกงได้ เป็นหลักนะครับได้แก่ “กล้องใช้แล้วทิ้ง” , “กล้องฟิล์มคอมแพค”
รู้จักกล้องฟิล์มกันก่อน
ขั้นแรกก่อนที่เราจะไปผจญภัยเลือกซื้อน้อง เราควรรู้จักคร่าวๆ กับน้องก่อนนะครับ โดยกล้องฟิล์มคือ “กล้องถ่ายรูปอะนาล็อก” ที่ใช้ “ฟิล์ม” ในการบันทึกภาพ โดยทั่วไปแล้วภาพที่ได้จะขึ้นอยู่กับ “เลนส์” และ “ฟิล์ม” ที่เราเลือกใช้เป็นส่วนสำคัญ ที่เหลือก็เป็นเรื่องการตั้งค่ากล้องของแต่ละคนแล้วครับ
ฟิล์มที่นิยมในปัจจุบันจะเป็นขนาด 135 เป็นส่วนใหญ่อาจมีขนาด 120 บ้าง มีทั้งสีและขาวดำ โดยที่ราคาจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับข้อแตกต่างดังนี้
1.ISO ของฟิล์ม ยิ่งมี ISO ที่สูงก็จะมีราคาที่สูงขึ้น แต่ทำให้สามารถถ่ายกลางคืนได้ดีขึ้น สิ่งที่ต้องแลกมาก็คือ ข้อจำกัดการถ่ายรูปในที่แสงมากหรือกลางแจ้ง ถ่ายหน้าชัดหลังเบลอได้ยากมากขึ้น และ ภาพไม่ละเอียด(มีนอยส์เยอะ) กลับกันนะครับ ฟิล์มที่มี ISO น้อยๆ เช่น 50 100 จะสามารถถ่ายกลางแจ้งที่แสงมากได้ดี ภาพมีความละเอียด แต่ไม่เอื้ออำนวยในการถ่ายกลางคืน (แต่ไม่ได้บอกว่าถ่ายไม่ได้นะครับขึ้นอยู่กับกล้องและเลนส์ที่คุณใช้)
2.เกรดของฟิล์ม ทุกอย่างมีเกรดของมัน ไม่ว่าจะเป็น รถ อาหาร เสื้อผ้า ฟิล์มก็เหมือนกันครับ ฟิล์มส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น “เกรดทั่วไป” และ “เกรดระดับมืออาชีพ” โดยฟิล์มเกรดมืออาชีพจะมีคุณภาพที่ดี ความละเอียดสูงแม้ ISO จะสูงก็ตาม สามารถแสดงสีสันออกมาได้ดีกว่าแบบทั่วไป เช่น kodak portra , kodak ektar 100 , fuji pro 400h (แต่ก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคนนะครับ อย่างผมบางครั้งลองของแพงแล้วกลับรู้สึกชอบฟิล์มเกรดทั่วไปมากกว่า เช่น kodak color plus , kodak gold , fuji c200 และอื่น ๆ) ทั้งนี้เพื่อนๆสามารถแยกออกได้ง่ายๆเลยครับ เพราะ “ราคา” ต่างกันเกือบเท่าตัว ฮ่าๆ
หลังจากที่เราถ่ายรูปเสร็จเราจะต้อง “กรอฟิล์ม” กลับและนำไปส่งร้านเพื่อ “ล้างและแสกน” ออกมาเป็น “เนกาทีฟฟิล์ม” และ “ไฟล์รูปดิจิตอล” นั่นเอง ซึ่งกระบวนการนี้นะครับ แต่ละร้านจะมีเทคนิคการล้างและเครื่องแสกนฟิล์มที่แตกต่างกันออกไป ทำให้สีที่ได้จากการแสกนจะแตกต่างกันในแต่ละร้าน ถึงแม้จะเป็นฟิล์มม้วนเดียวกันก็เถอะ (เอกลักษณ์สุดๆ) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะแตกต่างต่างกันขนาดนั้นนะครับ อาจจะแตกต่างกันในเรื่องของ “ความเข้มของสี” บ้างเล็กๆน้อยๆ
รู้จักสไตล์และจุดประสงค์ของตัวเอง
ต่อมาเราจะมาพูดถึงรูปแบบการใช้งานของเรา สไตล์ของเรากันนะครับ ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะตอบโจทย์ในการเลือกซื้อได้เยอะพอสมควร เพราะกล้องฟิล์มนั้น มีการพัฒนากันมาอย่างยาวนานก่อนจะเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่ดิจิตอล ซึ่งในแต่ละยุคสมัยก็จะมีเอกลักษณ์ของกล้องแต่ละแบบอยู่ครับเพื่อการใช้งานและงบประมาณที่หลากหลาย เพื่อนๆบางคนอาจจะชอบถ่าย “Street” ต้องการความไว ยกขึ้นมาถ่ายได้เลย โช๊ะ! โช๊ะ! หรือบางคนอาจชอบแบบเน้นความละเอียดหน้าชัดหลังเบลอแบบถ่าย “Portrait”
กล้องใช้แล้วทิ้ง
” อยากลองก่อน ถ่ายสนุก ๆ ในบางโอกาส ใช้กล้องมือถือหรือดิจิตอลเป็นหลัก”
ผมขอแนะนำให้ซื้อ “กล้องใช้แล้วทิ้ง” หรือบางท่านอาจจะเรียกว่า “กล้องป๊อกแป๊ก” มาใช้งานดูก่อนครับ เพราะกล้องมีราคาที่ไม่สูงมาก ราคาโดยทั่วไปจะอยู่ที่ 300 – 700 ไม่เกินพันบาท โดยกล้องจะมาพร้อมกับฟิล์ม สามารถขึ้นฟิล์มแล้วถ่ายได้เลย จากนั้นก็นำไปส่งให้ร้านล้าง หรือบางตัวที่มีราคาสูงขึ้นมาหน่อย สามารถใช้ต่อได้โดยซื้อฟิล์มใหม่มาใส่ครับทำให้ประหยัดเงินสุด ๆ ไม่ต้องลงทุนเยอะ เหมาะมากๆครับกับคนที่มีงบจำกัด หรือยังไม่แน่ใจอย่างลองถ่ายสนุกๆก่อน
แต่นี่ก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับมือใหม่นะครับ ทุกอย่างมีข้อดีต้องมีข้อเสียครับ บทความนี้ผมอยากจะชี้ให้คุณเห็นข้อเสียของเจ้ากล้องใช้แล้วทิ้งบ้าง เพราะคุณอย่าลืมว่าหัวใจหลักของภาพถ่ายของกล้องฟิล์มนั้น มันคือ “เลนส์!!!” และ “ฟิล์ม” ผมให้ค่าอย่างแรกมากกว่าอย่างหลังอีกครับ ด้วยความที่ราคาค่อนข้างถูก มันทำให้ “เลนส์” และ “ระบบกลไก” ของกล้องต้องลดต้นทุน ทำให้เกิดข้อจำกัดตามมาครับ
อย่างแรกเลยคือมันกำหนด “f” และ “shutter speed” ตายตัว ส่งผลให้เพื่อนๆต้องถอยห่างจากสิ่งที่จะถ่ายอย่างน้อย 1 เมตร!!! อะไรที่อยู่ใกล้กว่า 1 เมตร “เบลอหมด” และ อะไรที่อยู่ห่างจาก 1 เมตร “ชัดหมด” (ลืมหน้าชัดหลังเบลอไปได้เลย ฮ่าๆ)
ต่อมานะครับ ด้วยความที่กำหนดค่า f และ shutter speed ตายตัว หมายความว่า น้องถ่ายในที่แสงน้อยได้ลำบากมาก ต้องเปิดแฟลชตลอด ทำให้คนที่ไม่ชอบแฟลชอย่างผมคือเซ็งมาก
สิ่งเหล่านี้คือข้อจำกัดนะครับ อย่างมือใหม่อ่อนประสบการณ์อย่างผมเนี้ย จะรู้ได้ไงว่า 1 เมตรห่างเท่าไหร่? แสงแค่ไหนต้องเปิดแฟลช? เท่าที่ท่องมาอย่างมากก็แค่ “เปิดแฟลชในร่มนะ” (เศร้าแท้ สรุปมันเป็นกล้องสำหรับมือใหม่จริงไหมเนี้ย!) โดยที่กล่าวมาข้างต้น สำหรับบางคนอาจจะเป็นเรื่องขำๆ ธรรมดา ยอมรับได้ เป็นเสน่ห์แบบหนึ่ง แต่ในอีกหลายคนจะรู้สึกว่า ถ่ายไม่สนุกเลย รูปไม่สวย รูปเบลอเสียเยอะมาก ไม่ได้สัมผัสกับระบบกลไกอะไร รู้แค่ว่าข้างในมันมีฟิล์ม ทำให้หมดแพชชั่นในตัวน้องๆไป (กลับมาก๊อน!!! กล้องฟิล์มยังมีให้เล่นอีกเยอะน้า)
กล้องฟิล์มคอมแพค
” อยากใช้ง่ายๆ ได้ภาพสวย ถือเก๋ๆถ่ายรูป ถ่ายสลับกับกล้องมือถือหรือดิจิตอล “
ผมขอแนะนำให้รู้จักกับ “กล้องฟิล์มคอมแพค” พระเอกในบทความ ep นี้เลยครับ สาเหตุที่ผมแนะนำเพราะว่า น้องเป็นกล้องที่คล้ายคลึงกับกล้องดิจิตอลปัจจุบันเรามากที่สุด มีระบบอัตโนมัติ ทั้งโฟกัส วัดแสง เปิดแฟลช กรอฟิล์ม น้องเป็นทุกอย่างให้เราแล้ว(ฮ่าๆ) หน้าตาน้องก็หล่อเหลาเอาการ(ตามงบ) สามารถโฟกัสได้ใกล้ที่สุด บางรุ่นใกล้ได้ถึง 30cm ถือว่าใกล้มากนะครับสำหรับกล้องฟิล์ม หรือจะเอาไว้เดินถ่ายรูปเก๋ๆ หรือจะเป็นพร็อพถ่ายรูปก็ได้นะ ซึ่งเลนส์ของน้องจะมีคุณภาพที่ดีจนถึงดีมาก(ตามงบอีกนั่นแหล่ะ) แต่อย่างน้อยดีกว่ากล้องใช้แล้วทิ้งแน่นอน! น้องสามารถที่จะใส่ฟิล์มได้หลากหลาย ซึ่งหมายความว่าเราสามารถซื้อฟิล์มที่เราต้องการมาใส่ได้เองตามความชอบ แตกต่างจากกล้องใช้แล้วทิ้งที่ฟิล์มจะถูกกำหนดมาพร้อมกับกล้อง โดยทั่วไปแล้ว ราคาน้องในท้องตลาดจะเริ่มต้นที่ 900.- หรืออาจถูกกว่านั้น จนถึงหลักหมื่นบาท
ข้อแนะนำในการการเลือกซื้อ จุดสำคัญคือ “เลนส์” ต้องไม่มี “ฝ้า” , “รา” , “รอยขีดข่วนที่หน้าเลนส์” โดยรอยขีดข่วนอาจจะพอให้อภัยได้ แต่ก็ต้องทำใจนิดนึงเวลาถ่ายย้อนแสง ต่อมาต้องเช็คระบบการทำงานทั้งหมดว่าทำงานได้สมบูรณ์ไหม โดยอาจจะถามคนขายก็ได้ว่า “เต็มระบบ” ไหม? ต่อมาให้เช็คแฟลช ว่าสามารถใช้งานได้หรือไม่? เพราะกล้องฟิล์มคอมแพคส่วนมากจะพบปัญหาแฟลชเสีย แต่ถ้าเพื่อนๆไม่ชอบการใช้แสงแฟลชเท่าไหร่ก็พอรับได้เพราะส่วนมากราคาจะถูกลงเยอะ (แต่ซ่อมแฟลชที่หลังแทบไม่ได้นะ!) ส่วนอื่นๆโดยรวมแล้วดูจากสภาพบอดี้ เพราะทั่วไปแล้วกล้องฟิล์มคอมแพควัสดุจะทำจากพลาสติก มีโอกาสที่จะเกิดการการแตก รอยถลอก รอยขีดข่วนได้เยอะ
ต่อมาเราจะพูดถึงข้อเสียของพระเอกเรานะครับ แม้แต่ในหนังบางเรื่องพระเอกยังโดนด้านมืดครอบงำ ฮ่า ๆ
อย่างแรกต้องเข้าใจนะครับ ว่าน้องเป็นทุกอย่างให้เรา ถ้าเกิดระบบอย่างใดอย่างหนึ่งเสียเป็นอันจบครับ เช่น ระบบโฟกัสเสีย(รูปจะไม่ชัด) ระบบวัดแสงเสีย(รูปจะแสงเพี้ยน) ระบบกรอฟิล์มเสีย(ทำให้ถ่ายไม่ได้) ทั้งสามหากสิ่งใดสิ่งหนึ่งพังไปเตรียมตัวบอกลาน้องได้เลย ยังไม่นับจอ LCD เสียอีกนะครับ เพราะโดยทั่วไปแล้วน้องมีอายุพอสมควร อย่างน้อยก็เกือบ 10 ปี ช่างส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรับซ่อมกล้องฟิล์มคอมแพคครับ เพราะอะไหล่หายาก ต้องเอาของตัวอื่นที่ระบบอื่นเสียมาใส่ และบางครั้งซ่อมไปก็ไม่คุ้มกับราคาที่ซื้อมา ยกเว้นมันจะสำคัญจริงๆ แบบคนคุยเก่าให้มาอะไรทำนองนี้ ฮ่าๆ (หรือพังซะได้ก็ดีกันนะ)
เพื่อนๆที่สนใจและสงสัยว่าจะซื้อรุ่นไหนดี สามารถหารีวิวแนะนำได้ทั่วไปจากใน youtube , facebook , instargram โดยทั่วไปแล้วน้องจะรูรับแสงเริ่มต้นที่ f3.5 เลนส์ระยะ 35mm ยิ่งตัวเล็กก็จะยิ่งใหม่และมีราคาแพงครับ ภาพตัวอย่างก็สามารถหาดูได้จากการใส่ #ตามด้วยชื่อยี่ห้อรุ่น เช่น #minoltahimaticafd ใน facebook หรือ instargram
สรุป
กล้องฟิล์มที่ผมแนะนำใน ep.1 นี้เหมาะสำหรับเพื่อนๆที่ต้องการกล้องฟิล์มที่ใช้งานได้ง่าย พกพาสะดวก อ่านจบแล้วสามารถเปิดเว็บหรือออกไปเดินซื้อได้เลยนะครับ อย่างน้อยก็ต้องดูน้องเป็นบ้างแล้วแหล่ะ เลือกซื้อหยิบดูได้แบบไม่เขินหรือกลัวโดนหลอกแล้ว ฮ่าๆ
ในตอนต่อไปจะเป็นการพูดถึงกล้องฟิล์มที่มีความถึกทนขึ้น สวยงามขึ้น แต่ยังใช้งานได้ง่ายเหมาะสำหรับมือใหม่ ถ้าเพื่อนๆคนไหนอ่านแล้วถูกใจ ฝากกดไลก์กดแชร์ และเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ
ติดตามผลงานถ่ายรูปสนุก ๆ ได้ที่ instragram : @daylightniceshots
ขอบคุณค้าบ
โฆษณา