28 ก.ย. 2021 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
เรื่องเข้าใจผิดๆของลูกจ้าง
ผู้เขียนได้รับฟังปัญหา จากบรรดาพวกเราลูกจ้างทั้งหลายแล้วก็พบว่า มีคำถามจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นคำถามซ้ำๆ ที่แสดงให้เห็นว่าเราอาจจะยังมีความเข้าใจผิดๆ หรือไม่เข้าใจสิทธิของความเป็นลูกจ้างอยู่มาก จึงอยากจะรวบรวมไว้ เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านบ้าง โดยจะพยายามอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ไม่อ้างอิงกฎหมายมาตราใดๆให้ซับซ้อน ดังนี้
Photo: Inorbital
1. ลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้ค่าจ้างตามเวลาที่กำหนด
หลายๆครั้ง เราจะเห็นว่านายจ้างบางรายอาจจะจ่ายค่าจ้างตรงเวลาบ้างไม่ตรงเวลาบ้าง ซึ่งตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างตามเวลาที่ตกลงกันไว้ ถ้านายจ้างจ่ายค่าจ้างล่าช้า นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยผิดนัดในอัตรา 15% ต่อปี บวกกับต้องเสียเงินเพิ่มอีก 15% ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วันอีกด้วย (อัตรา ณ วันที่เขียนบทความนี้)
2. การที่ลูกจ้างจะลาออกไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากนายจ้างก่อน
การลาออกจากงานถือเป็นสิทธิของลูกจ้าง ไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากนายจ้าง แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงกันตามสัญญาจ้างด้วย เช่น ต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 เดือน หรือเงื่อนไขอื่นๆ เป็นต้น
3. นายจ้างไม่สามารถแก้ไขสภาพการจ้างโดยปราศจากความยินยอมของลูกจ้าง
สำหรับสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 20 คนขึ้นไป การกำหนดค่าจ้าง เวลาทำงาน จำนวนวันลา สวัสดิการ รวมทั้งเงื่อนไขในการจ้างอื่นใด ถือเป็น"สภาพการจ้าง" นายจ้างไม่มีสิทธิแก้ไขโดยปราศจากความยินยอมของลูกจ้างก่อน
4. นายจ้างไม่มีสิทธิหักกลบลบหนี้เอากับค่าจ้าง
บางกรณีลูกจ้างอาจมีหนี้ค้างจ่ายกับนายจ้าง เช่น อาจจะมีการกู้ยืมเงินจากนายจ้าง หรือ กรณีที่ลูกจ้างได้ทำทรัพย์สินของนายจ้างเสียหายและต้องชดใช้เงิน แต่นายจ้างจะถือสิทธิหักกลบลบหนี้ หรือพูดง่ายๆคือหักหนี้เหล่านั้นออกจากค่าจ้างหรือเงินเดือนไม่ได้ ถ้าจะทำต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน
5. ลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้รับใบรับรองการจ้างงาน
ไม่ว่าลูกจ้างจะลาออกเอง หรือถูกเลิกจ้างด้วยกรณีใดก็ตาม เป็นสิทธิของลูกจ้างและเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่ต้องออกใบรับรองการจ้างงานให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งควรมีรายละเอียดอย่างน้อยคือ ชื่อนามสกุลของลูกจ้าง ชื่อสถานประกอบการของนายจ้าง ตำแหน่งงานและรายละเอียดโดยย่อของงาน ระยะเวลาการทำงาน ค่าจ้างรวมถึงค่าตอบแทนต่างๆ ส่วนมากถ้าจากกันด้วยดีจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่กรณีจากกันไม่ดี นายจ้างมักจะไม่ยอมออกใบรับรองการทำงานให้ หรือออกให้แต่เขียนรายละเอียดในเชิงลบ ลูกจ้างควรรู้ถึงสิทธิของตัวเองในเรื่องนี้
6. มีปัญหาด้านกฎหมายแรงงาน ปรึกษาศาลแรงงานได้ฟรี สะดวกและไม่ยุ่งยาก
ศาลแรงงานมีบริการให้คำปรึกษาฟรี ทั้งสะดวกและง่ายลืมภาพเก่าๆในการติดต่อราชการไปได้เลย ขอเพียงแค่เรียบเรียงข้อมูล พร้อมกับเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆให้ชัดเจน ศาลแรงงานจะมีนิติกรที่ชำนาญด้านนี้ให้คำปรึกษาโดยเฉพาะ ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ช่วงโควิดนี่ไม่แน่ใจเรื่องเวลาเปิดบริการ ควรโทรไปเช็คก่อน
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เข้าใจถึงสิทธิพื้นฐานของลูกจ้างที่อาจจะยังมีความเข้าใจที่ผิดๆหรือคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง คงไม่ครอบคลุมทุกหัวข้อ เพราะเลือกมาเฉพาะเท่าที่โดนถามบ่อยๆเท่านั้น
ที่อยากแนะนำเพิ่มเติมก็คือ ควรอ่านสัญญาจ้างให้ละเอียด ถ้าไม่เข้าใจก็ต้องสอบถามให้ชัดเจน แล้วค่อยตกลงเซ็นสัญญากัน อันที่จริงไม่ใช่เฉพาะสัญญาจ้างเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นสัญญาหรือเอกสารอะไรก็ตาม
โฆษณา