Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Inorbital
•
ติดตาม
14 ส.ค. 2021 เวลา 13:02 • ท่องเที่ยว
เหยียดผิว ด้านมืดของการเดินทางไปต่างแดน?
ผู้เขียนทำงานในบริษัทต่างชาติแทบจะตลอดชีวิตการทำงานยี่สิบกว่าปี ทั้งยังมีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติอีกจำนวนไม่น้อย ทำให้คุ้นชินและมองข้ามความแตกต่างทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ หรือภาษาไปแล้ว เพื่อนก็คือเพื่อน ไม่เคยนึกแยกว่าเพื่อนมาจากประเทศอะไร
เนื่องจากช่วงนี้ (2021) มีข่าว Asian Hate เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะที่อเมริกาที่มีคนเอเชียโดนทำร้ายร่างกายอยู่เนืองๆ บางรายถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาล แม้กระทั่งคนแก่รุ่นอากง อาม่า ยังไม่เว้น
เลยมองย้อนมาที่ตัวเองว่า จริงๆเราเคยเจอประสบการณ์เหยียดผิวรึเปล่า
แล้วมันเป็นยังไง?
Artist: Unknown Photo: Inorbital
ประสบการณ์เหยียดผิวแบบจริงจัง ที่โดนกับตัวเองโดยตรงเรียกว่าแทบไม่เคยเจอ (หรือความรู้สึกช้า ก็ไม่รู้เหมือนกัน) อย่างมากก็แค่มีคนตะโกนแซว หรือทักเราแบบกวนๆว่า หนีห่าว หรือ ตะโกนเรียกเราว่า Japanese ไม่ใช่เพราะหน้าเหมือนคนญี่ปุ่น แต่แถบที่ไปมีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเยอะ เขาเลยมองคนเอเชียเป็นคนญี่ปุ่นไปหมด มีแบบจอดรถกลางถนนเพื่อหยุดแซวก็เคย หรือมาเดินขนาบข้างเพื่อพยายามพูดด้วยก็มี (อันนี้ออกแนวโรคจิต) แต่ประเภทเหยียดผิวตรงๆ ไม่เคยเจอ
แต่ถามว่าเรารู้มั้ยว่ามันมีการเหยียดผิว ก็รู้ บางทีถ้าอยู่ละแวกนั้นนานๆเข้าเราจะรู้ได้เอง หรือบางทีก็รู้จากการพูดคุยกับคนในท้องถิ่นนั่นแหละ
ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เคยเจอ
ที่ Dresden, Germany
ตอนไปเที่ยวกับครอบครัว เจอม็อบของผู้ประท้วงกลุ่มใหญ่ น้องชาย(ที่ทำงานอยู่ที่นั่นจนได้สัญชาติเยอรมันแล้ว)เล่าให้ฟังว่า คนเยอรมันกลุ่มหนึ่งต่อต้านคนต่างชาติที่อพยพไปอยู่ที่เยอรมนีโดยไม่ทำงานและรับเอาเงินสวัสดิการของรัฐไปฟรีๆ โดยเฉพาะพวกที่มาจากยุโรปด้วยกัน หนักเข้าบางทีก็มีการทำร้ายกันด้วย เพราะเขาคิดว่าไม่ยุติธรรมที่เอาเงินภาษีไปช่วยเหลือคนพวกนี้ ก็เลยรวมตัวประท้วงก่อม็อบกันตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งบางครั้งก็เลยเถิดเป็นเหตุการณ์รุนแรงก็มี พวกเราก็ได้แต่เดินเลี่ยงๆกันมา แต่เขาไม่ทำร้ายนักท่องเที่ยวเพราะเห็นว่านำรายได้เข้าประเทศ
ที่ Hawai'i, USA
Host family ที่ผู้เขียนไปอยู่ด้วยเป็นคนอเมริกันที่เป็นคนท้องถิ่นของที่นั่น ถึงแม้จะไม่ใช่ชาวพื้นเมืองแท้ๆแต่ก็ตั้งรกรากอยู่ที่นั่นมานานแล้ว เขาได้เล่าให้ฟังว่า ชาวพื้นเมืองบางส่วนยังมีความรู้สึกไม่ชอบคนอเมริกันที่มาจากแผ่นดินใหญ่ หรือที่เรียกกันว่าพวก Mainland เพราะพวกเขาฝังใจว่าเป็นพวกที่เข้ามายึดครองเกาะที่ชาวพื้นเมืองอยู่กันมาดั้งเดิม ดังนั้นจึงมักจะมีการเตือนกันว่าพวก Mainland ไม่ควรเดินทางท่องเที่ยวตามลำพังไปยังที่เปลี่ยวบริเวณทางฝั่งตะวันออกของเกาะ O'ahu เพราะเป็นฝั่งที่ชาวพื้นเมืองดั้งเดิมอาศัยอยู่ แม้ว่าชาวพื้นเมืองเหล่านี้จะมีการศึกษาที่ดีมากและถือเป็นพลเมืองอเมริกัน (อาจารย์ของผู้เขียนหลายท่านก็เป็นชาวพื้นเมืองเช่นกัน และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิมาก) หลายคนมีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เช่น Jack Johnson หรือ Jason Momoa แต่ชาวพื้นเมืองบางกลุ่มก็ยังมีความแค้นฝังใจอยู่ เลยเกรงว่าอาจถูกทำร้ายได้
ที่ Auckland, New Zealand
จริงๆแล้วนิวซีแลนด์ถือว่าเป็นประเทศที่ค่อนข้างสงบ ผู้คนไม่ค่อยวุ่นว่าย ยกเว้นตอนเช้าๆอาจมีรถติดบ้างถ้ามุ่งหน้าเข้าเมือง กฎหมายเรื่องการเหยียดผิวค่อนข้างเข้มงวด แต่ถามว่ารู้สึกได้ถึงบรรยากาศการเหยียดผิวมั้ย ก็มีบ้าง เช่นตามท้องถนนอาจจะเห็นคนขับรถฉุนเฉียวกันบ้าง ตามด้วยเสียงบีบแตรแล้วตะโกนว่า Asian! คือประมาณว่าชาวนิวซีแลนด์บางส่วนจะรู้สึกว่าชาวเอเชียโดยเฉพาะคนจีนมักจะขับรถไม่ค่อยมีมารยาท (อันนี้เพื่อนชาวกีวี่อธิบายให้ฟัง)
หรือร้านกาแฟที่ขึ้นชื่อบางร้านเป็นที่รู้กันว่าจะรับพนักงานเฉพาะชาวยูโรเปียนกีวี่เท่านั้น(คนนิวซีแลนด์ผิวขาว) ถ้าเป็นชาวเมารีกีวี่(คนนิวซีแลนด์ที่มีเชื้อสายเมารี)หรือชาวเอเชียไม่ต้องไปสมัคร แต่คุณสมบัติเหล่านี้จะเขียนในประกาศรับสมัครไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย
บ้านหรืออพาร์ตเม้นท์ ที่ค่าเช่ามีราคาสูงโดยเฉพาะในเมือง คนมักนิยมหาผู้เช่าร่วมมาช่วยแชร์ค่าเช่า หรือเรียกกันว่า flatmate บางที่ไม่รับคนอินเดียเพราะให้เหตุผลว่าตัวเหม็นและทำอาหารกลิ่นแรงรบกวนเพื่อนบ้าน หรือ flatmate คนอื่น (flatmate ของผู้เขียนเป็นคนเล่าให้ฟัง แต่เวลาปฏิเสธจะไม่ได้แจ้งเหตุผลตรงๆกับชาวอินเดียเหล่านั้นเพราะผิดกฎหมาย) แต่เวลาประกาศหา faltmate ก็จะไม่เขียนรายละเอียดเรื่องเชื้อชาติเช่นกัน
ย่านที่อยู่อาศัยบางแห่งจะแบ่งโซนค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นโซนที่ชาวยูโรเปียนกีวี่อาศัย (จะค่อนข้างหรูหราและแพง) หรือเป็นโซนของชาวเมารีกีวี่อาศัย ซึ่งไม่มีใครกำหนดแต่ก็รู้กันเอง
ชาวพื้นเมืองจากเกาะอื่น ที่เรียกรวมๆว่า Polynesia (ซึ่งจริงๆชาวเมารีก็ถือว่าเป็นหนึ่งในชาว Polynesian) เช่น Fiji หรือ Tonga มักจะอพยพเข้ามาอยู่ที่นิวซีแลนด์ ปัญหาจะคล้ายๆกับที่เยอรมนีคือ ชาวนิวซีแลนด์บางกลุ่ม โดยเฉพาะชาวเมารีกีวี่มักจะไม่พอใจที่ผู้อพยพเหล่านี้เข้ามาอยู่อาศัยและไม่ทำงานแต่ได้เงินสวัสดิการจากรัฐบาล บางคนถึงกับเรียกคนจากเกาะอื่นว่า Coconut ซึ่งถือเป็นคำเหยียดเชื้อชาติที่รุนแรงมาก นัยว่าดูถูกที่เกาะเหล่านั้นมีเพียงต้นมะพร้าว หรืออีกมุมหนึ่งคือเป็นคำเรียกในเชิงดูถูกคนที่ผิวกายดำแต่จิตใจภายในหรือกิริยาท่าทางเป็นคนขาว โดยเปรียบเทียบกับสีเปลือกและเนื้อของมะพร้าวนั่นเอง
เรื่องราวเหล่านี้มาจากการสังเกตและพูดคุยกับคนท้องถิ่น ซึ่งก็เป็นมุมมองของแต่ละบุคคลที่อาจจะมีที่มาที่ไปไม่เหมือนกัน แต่อาจสรุปได้ว่าการเหยียดผิวนั้นยังคงมีอยู่ บางที่อาจจะมีการแสดงออกอย่างชัดเจน บางที่อาจจะเป็นแค่ความรู้สึกภายในของผู้คน
เรื่องแบ่งแยกชนชาตินี่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและคงไม่หมดไปแบบ 100% แม้มีแนวโน้มที่จะลดลง การลดการปะทะในเรื่องแบบนี้อยู่ที่การกระทำของตัวเราเองด้วย ถ้าเรายอมรับและเข้าใจความแตกต่างของผู้คน เหมือนที่เขาว่าเข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม ไปที่ไหนก็ไม่มีใครเพ่งเล็งเราหรอก เพราะเราทำตัวกลมกลืนกับที่นั่นไปแล้ว
เราบังคับความคิดของคนอื่นไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะปฏิบัติตัวได้ ส่วนใครเขาจะคิดจะทำอะไร ถ้าไม่ได้ถึงกับเป็นอันตรายต่อตัวเราหรือคนรอบข้าง
ก็ช่างเขาเถอะ
บทความนี้มีเจตนาเพียงแค่เล่าประสบการณ์ที่ได้เคยพบเจอหรือพูดคุยกับคนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น เจอมาอย่างไรก็เล่าไปอย่างนั้น สำหรับตัวผู้เขียนเองแล้ว ผู้เขียนไม่สนับสนุนการเหยียดผิวหรือการแบ่งแยกใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม สีผิว หรือ เพศ ก็ตาม
อยากให้ลองอ่านที่ผู้เขียน เขียนเกี่ยวกับการเที่ยวคนเดียวไว้ ซึ่งแนะนำวิธีการเอาตัวรอดเมื่ออยู่ต่างถิ่น อาจมีประโยชน์ต่อผู้อ่านบ้าง ตามลิงค์ด้านล่างนี้
อยากเที่ยวคนเดียวบ้าง ทำยังไง?
https://www.blockdit.com/posts/610564fa06a29c0c90e0f990
ท่องเที่ยว
1 บันทึก
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย