9 ส.ค. 2021 เวลา 03:24 • ประวัติศาสตร์
ครั้งหนึ่งในการประจำการที่ประเทศลิเบียกับการอพยพแรงงานไทยออกจากสงครามกลางเมือง
 
เมื่อพูดถึงบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับการดูแลช่วยเหลือคนไทยที่ประสบปัญหาตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ ทำให้ผมนึกถึงคำกล่าวที่ว่า “การทูตเพื่อประชาชน ทุกหนทุกแห่ง เราดูแล” นั้น เป็นสิ่งที่เป็นจริงเสมอ ไม่ว่าดินแดนแห่งใดในโลกที่เผชิญกับภาวะวิกฤติและส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ของไทยมีหน้าที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือสนับสนุนดูแลทุกข์สุข หรือแม้แต่ช่วยอพยพคนไทยที่ตกอยู่ในอันตรายให้สามารถกลับสู่ประเทศไทยด้วยความปลอดภัย ไม่ว่าผลกระทบของปัญหาจะมาจากวิกฤติภัยธรรมชาติ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-๑๙) ที่กำลังเกิดขึ้น หรือการช่วยเหลือคนไทยอพยพหนีภัยสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในต่างประเทศในอดีตที่ผ่านมา
ในช่วงปลายปี ๒๕๕๕ ผมได้เดินทางออกไปประจำการที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงตริโปลี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศลิเบีย ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนั้นนับถือศาสนาอิสลาม และเป็นดินแดนที่มีแหล่งสำรองน้ำมันดิบ ติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ ของประเทศที่มีน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก ลิเบียกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองภายในภายหลังการปฏิวัติโค่นล้มระบอบการปกครองของพันเอกมูอัมมาร์ กัดดาฟี ประธานาธิบดีลิเบียในปี ๒๕๕๔ ที่ปกครองประเทศยาวนาน ๔๒ ปี โดยได้รับผลกระทบมาจากสิ่งที่เรียกกันว่า การปฏิวัติ Arab Spring หรือกระแสการปฏิวัติในภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางที่เริ่มลุกลามครั้งแรกจากการประท้วงขับไล่ผู้นำเผด็จการในประเทศตูนิเซียและขยายตัวออกไปอีกหลายประเทศในภูมิภาค สถานการณ์ทางการเมืองของลิเบียในเวลานั้นมีความเปราะบาง
ดังเห็นได้จากการมีกลุ่มทหารติดอาวุธประจำอยู่ในหลายจุดของเมือง บรรยากาศบ้านเมืองดูไม่ค่อยปกติและรู้สึกได้ถึงความไม่ปลอดภัย การจี้ปล้นและลักพาตัวบุคคลทั่วไปและนักการทูตเกิดขึ้นอยู่เสมอ เป็นช่วงที่กลุ่มการเมืองฝ่ายรัฐบาลต่อสู้กับกลุ่มการเมืองอื่น ๆ เพื่อผลักดันประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย และหวังว่าจะสามารถฟื้นฟูบ้านเมืองให้กลับมามีความมั่นคงปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงตริโปลี
ภายใต้สภาพการณ์ดังกล่าว สถานเอกอัครราชทูต และสำนักงานแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูตมีหน้าที่ดูแลสวัสดิภาพของแรงงานไทยด้วยการประสานงานกับบริษัทนายจ้างลิเบียที่จัดจ้างแรงงานไทยที่ส่วนใหญ่เข้าไปทำงานในภาคการก่อสร้างและอุตสาหกรรมน้ำมันในลิเบีย ซึ่งช่วงนั้นเริ่มเดินทางกลับเข้าไปทำงานในลิเบียอีกประมาณ ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ คน หลังจากที่แรงงานไทยจำนวนสองหมื่นกว่าคนได้อพยพออกจากลิเบียในช่วงการปฏิวัติโค่นล้มระบอบกัดดาฟี ในช่วงเวลานั้น หลายฝ่ายคาดหวังกันว่า เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองของลิเบียดีขึ้น ลิเบียคงกลับมาเป็นตลาดแรงงานที่สำคัญของไทยในแอฟริกาตอนเหนืออีกครั้งหนึ่ง
จตุรัสกรีนสแควร์ กลางกรุงตริโปลี กับปราสาทสมัย อาณาจักรออตโตมัน
นอกเหนือจากงานด้านการส่งเสริมและดูแลผลประโยชน์ของแรงงานไทยแล้ว สถานเอกอัครราชทูตยังมีงานสำคัญในการเพิ่มพูนความสัมพันธ์ด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนของไทยในลิเบียในฐานะตลาดใหม่ในแอฟริกา รวมทั้งการให้บริการด้านการกงสุลและงานอื่น ๆ ในระหว่างนั้นงานอีกด้านหนึ่งของสถานเอกอัครราชทูต คือ การเข้าไปช่วยดูแลเยาวชนไทยมุสลิมภายใต้โครงการสานสัมพันธ์กับนักศึกษาไทยในลิเบีย เพื่อสนับสนุนการศึกษาของนักศึกษาไทยมุสลิม และเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถานเอกอัครราชทูตกับนักศึกษาไทยซึ่งเป็นเยาวชนที่มาศึกษาต่อด้านศาสนา และภาษาอารบิก
เมืองเลปติส แมกนา ของอาณาจักรโรมันในลิเบีย
โดยในครั้งหนึ่ง สถานเอกอัครราชทูตมีโอกาสนำนักศึกษาไทยเรียนรู้และเสริมสร้างประสบการณ์นอกห้องเรียนเพื่อเปิดโลกทัศน์ด้วยการไปทัศนศึกษา ณ เมืองเลปติส แมกนา เพื่อเรียนรู้อารยธรรมและสถาปัตยกรรมของจักรวรรดิโรมัน ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของกรุงตริโปลี ประเทศลิเบีย ประมาณ ๑๒๐ กิโลเมตร
ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ในลิเบียยังพอเอื้ออำนวยต่อการเดินทางในระยะสั้น ๆ แต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นการเดินทางออกนอกสถานที่ ที่มีการ์ดสองคนของทำเนียบเอกอัครราชทูต พร้อมปืนกลมือเดินทางไปคุ้มครองความปลอดภัยด้วย เมืองโรมันโบราณแห่งนี้สร้างขึ้นในช่วงปี ๑๑๑ ก่อนคริสต์กาล โดยกษัตริย์โรมัน Septimus Severus จนกระทั่งถูกค้นพบอีกครั้งโดยนักโบราณคดี ชาวยุโรป และยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ต่อมาองค์การยูเนสโกได้ประกาศให้เป็นมรดกโลกในปี ๒๕๒๕ เป็นหนึ่งใน ๑๐ สิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก และน้อยคนนักที่จะได้เห็นหรือสัมผัสด้วยตัวเอง
ในช่วงต้นปี ๒๕๕๗ เป็นต้นมา ผมจำได้ว่า สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในลิเบียเริ่มมีความเข้มข้นมากขึ้นตามลำดับ เกิดเหตุการณ์ปะทะด้วยกำลังอาวุธหนักระหว่างกลุ่มกำลังทั้งฝ่ายรัฐบาล กลุ่ม Islamist และกองกำลังอิสระค่อนข้างบ่อยครั้งและต่อเนื่องมากขึ้น แนวโน้มของเหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจของลิเบียที่ย่ำแย่อยู่แล้วเริ่มหยุดชะงักลง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างต่าง ๆ และการผลิตน้ำมันที่ลดลงมาก ไม่ต้องพูดถึงความปลอดภัยในการดำรงชีวิต ดังนั้น โอกาสของแรงงานไทยที่จะกลับเข้าไปทำงานในลิเบียดูจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีก
ลิเบียค่อย ๆ ถลำลึกเข้าสู่สภาพกึ่งสงครามกลางเมือง และเมื่อสนามบินนานาชาติกรุงตริโปลี ซึ่งเราใช้เดินทางเป็นประจำถูกโจมตีเสียหายอย่างหนักจนไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากการสู้รบระหว่างกองกำลังฝ่ายรัฐบาลลิเบีย และกองกำลังกลุ่มต่อต้าน รวมทั้งกองกำลังอิสระที่ยังคงมีอำนาจหลังการเข้าไปช่วยต่อสู้ในการปฏิวัติพันเอกมูอัมมาร์ กัดดาฟี การสู้รบด้วยกำลังอาวุธขยายตัวไปหลายเมืองรอบนอก ทำให้ลิเบียมีสภาพเหมือนรัฐล้มเหลว (failed state) ขณะที่คณะทูตต่างชาติตกเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการลอบโจมตี การอพยพออกจากลิเบียของผู้คนกลุ่มต่าง ๆ เริ่มขยายตัวออกไปโดยรอบ จนกระทั่งรัฐบาลไทยและกระทรวงการต่างประเทศได้มีคำสั่งในวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ปิดทำการชั่วคราวและอพยพออกจากลิเบียภายในเวลา ๒๔ ชั่วโมง
การอพยพข้าราชการทั้งหมดออกจากกรุงตริโปลีจึงเกิดขึ้นในวันที่ ๓๑ กรกฏาคม ๒๕๕๗ โดยสถานเอกอัครราชทูตเริ่มอพยพออกในช่วงเก้าโมงเช้าโดยได้ใช้รถยนต์ที่มีอยู่ทั้งหมด ก่อนเริ่มอพยพ คณะของเราเห็นควันสีเทาพัวพุ่งในท้องฟ้าซึ่งเกิดจากการปะทะกันด้วยอาวุธหนักของกองกำลังหลายฝ่าย ขณะที่คณะของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และประเทศอื่น ๆ ได้อพยพออกจากลิเบียไปก่อนหน้านี้แล้ว สถานเอกอัครราชทูตได้ตัดสินใจอพยพโดยอาศัยเส้นทางทางบกที่เหลืออยู่มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือในระยะทางประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร เพื่อเดินทางออกสู่ชายแดนลิเบียเข้าสู่ประเทศตูนิเซีย โดยใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณกว่า ๑ ชั่วโมงครึ่ง ในการอพยพครั้งนี้เราได้จัดหารถบัสนำนักศึกษาไทยมุสลิมจำนวนสิบกว่าคนในกรุงตริโปลีเดินทางออกไปด้วย
1
โดยประสานงานล่วงหน้ากับกระทรวงการต่างประเทศลิเบียและตูนิเซีย เพื่อแจ้งสถานะและการดำเนินงานของสถานเอกอัครราชทูต และขอให้สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงตูนิส จัดหาที่พักและแนะนำสถานที่จัดตั้งสำนักงานชั่วคราวของสถานเอกอัครราชทูต ที่เมืองเจอร์บา ซึ่งมีสภาพเป็นเกาะทางใต้ของตูนิเซีย และเป็นจุดที่เหมาะสมเนื่องจากอยู่ใกล้กับพื้นที่ชายแดนลิเบีย ทำให้ง่ายต่อการเดินทางข้ามชายแดนตูนิเซียเข้าไปในลิเบียเพื่อประสานการอพยพแรงงานไทย
ในช่วงการอพยพไปยังชายแดนของลิเบีย ผมจำได้ว่า คณะของเราติดค้างอยู่ที่ด่านชายแดนลิเบียระยะหนึ่ง เมื่อต้องเจอกับเหตุการณ์กึ่งจลาจลที่เกิดจากแรงงานชาวอียิปต์จำนวนมากที่เข้าไปทำงานในประเทศลิเบียอย่างผิดกฎหมายและไม่มีเอกสารการตรวจลงตราสำหรับขอ exit visa พยายามกดดันด่านชายแดนลิเบียเพื่อเดินทางหนีภัยสงครามกลางเมืองในลิเบียเพื่อข้ามเขตแดนไปยังตูนิเซียจนเกิดการระดมยิงปืนสกัดกั้นจากฝ่ายลิเบีย ทำให้ต้องหาที่หลบกันจ้าละหวั่น
1
ต่อมาเมื่อคณะเราข้ามชายแดนลิเบียไปยังเขตตูนิเซียแล้ว ยังต้องใช้เวลารอการตรวจลงตราที่ด่านชายแดนนานหลายชั่วโมงเนื่องจากมีคนจำนวนมากที่อพยพออกมาจากลิเบีย กว่าที่คณะของเราจะเดินทางถึงโรงแรมที่พักก็เป็นเวลาค่ำแล้ว ผมรู้สึกชะงักไปเล็กน้อยเมื่อเห็นโรงแรมที่จะเข้าพักมีชื่อว่า ISIS ซึ่งมีชื่อเหมือนกลุ่มกำลังก่อการร้ายที่เราคุ้นเคยมากขึ้นในเวลาต่อมา แต่คณะได้เปลี่ยนไปพักที่โรงแรมอื่นในวันรุ่งขึ้นด้วยความไม่สะดวกบางประการ
เมื่ออพยพไปถึงประเทศตูนิเซียแล้ว เราได้จัดให้นักศึกษาไทยที่อพยพมาด้วย เดินทางกลับประเทศไทยทันทีเป็นกลุ่มแรกในวันรุ่งขึ้นด้วยเที่ยวบินที่จัดให้ที่กรุงตูนิส เมืองหลวงของตูนิเซีย หลังจากนั้น ภารกิจที่สำคัญเร่งด่วนเมื่อได้จัดตั้งสำนักงานชั่วคราวแล้ว คือ การวางแผนอพยพแรงงานไทยออกจากลิเบียโดยเร็วนอกเหนือจากภารกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเกี่ยวกับสถานเอกอัครราชทูตในกรุงตริโปลีที่ต้องทิ้งไว้เบื้องหลังก่อน
ผมจำได้ว่า ข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตและฝ่ายแรงงานเร่งช่วยกันประสานนัดหมายทันทีกับบริษัทจัดหางานในลิเบียที่มีแรงงานไทยทำงานอยู่ รวมทั้งกับกลุ่มคนไทยในลิเบียที่มีอยู่ไม่มาก การติดต่อประสานงานกับบริษัทจัดหางานในลิเบียจากสำนักงานชั่วคราวฯ มีอุปสรรคล่าช้าจากปัญหาของระบบสื่อสารโทรคมนาคมในลิเบียที่ยังล้าหลังอยู่ แต่ก็สามารถดำเนินการได้ค่อนข้างดีในช่วงการอพยพแรงงานไทยและคนไทยออกจากลิเบีย โดยคณะของเราใช้วิธีการนัดหมายวัน เวลาและสถานที่กับบริษัทจัดหางานในลิเบียช่วยจัดรถนำแรงงานไทยเดินทางมาพบกันในบริเวณพื้นที่ด่านชายแดนลิเบียเพื่อเดินทางเข้าสู่ตูนิเซีย
ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ หลังจากที่คณะสถานเอกอัครราชทูตได้จัดตั้งสำนักงานชั่วคราวที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองเจอร์บา ตูนิเซีย ผมและเพื่อนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของเรา รวมกัน ๓ คน ได้รับมอบหมายให้เดินทางไปยังด่านชายแดนตูนิเซีย โดยใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณหนึ่งชั่วโมง เพื่อประสานงานกับสำนักงานด่านชายแดนตูนิเซียและลิเบียเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกและขั้นตอนการอพยพของแรงงานไทยและคนไทยเข้าออกชายแดนสองประเทศ รวมทั้งการจัดทำเอกสารต่าง ๆ และการชำระค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา
เมื่อถึงเวลาที่คณะแรงงานไทยเดินทางมาถึงด่านชายแดนลิเบียตามกำหนดเวลาที่นัดหมาย ต้องใช้เวลาไม่น้อยในรอคิวการตรวจลงตรา กว่าจะสามารถข้ามแดนไปยังตูนิเซียเนื่องจากเป็นช่วงที่มีชาวลิเบียและชาวต่างชาติที่อาศัอยู่ในลิเบียนับหมื่นนับแสนเดินทางด้วยรถยนต์อพยพทะลักผ่านด่านชายแดนลิเบียและตูนิเซียตลอดทั้งวันทั้งคืน ซึ่งรวมถึงกลุ่มเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศบางหน่วยที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในลิเบียด้วย ในบางกรณีมีแรงงานที่อพยพมาโดยไม่มีหนังสือเดินทาง คณะของเราต้องแก้ปัญหาด้วยการนำกล้องถ่ายรูปโพลารอยด์ติดตัวเพื่อถ่ายรูปแรงงานไทยในพื้นที่ เพื่อให้ได้รูปถ่ายทันทีสำหรับการจัดทำหนังสือเดินทางชั่วคราวของไทยในพื้นที่ให้เสร็จพร้อมก่อนการตรวจลงตราที่ด่านชายแดนลิเบียและตูนิเซีย
แรงงานไทยกำลังอพยพข้ามชายแดนลิเบียเข้าตูนิเซีย
ผมจำได้ว่าตลอดทั้งเดือนนั้น คณะเราทำงานกันทั้งวันแบบไม่มีวันหยุด ในแต่ละวันต้องเดินทางไปกลับข้ามแดนตูนิเซียและลิเบีย เพื่อประสานขั้นตอนการอพยพ และรอรับกลุ่มแรงงานไทยและคนไทยที่ได้นัดหมายไว้ โดยต่างเดินทางมาถึงเป็นกลุ่ม ๆ มีจำนวนมากบ้าง น้อยบ้าง ไม่ขาดระยะ บางครั้งเจอปัญหาจากกรณีที่กลุ่มแรงงานไทยเดินทางมาล่าช้าหรือผิดเวลากว่าที่นัดหมายไว้เนื่องจากมีอุปสรรคในการเดินทางท่ามกลางผลกระทบจากการสู้รบและต้องผ่านด่านตรวจของกลุ่มกำลังทหารหลายฝ่ายในลิเบีย
ฝูงชนอพยพออกจากลิเบียมายังด่านชายแดนตูนิเซีย
ในบางโอกาส การเดินทางข้ามเขตไปยังด่านชายแดนลิเบีย คณะเราต้องพบกับเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ด่านชายแดนลิเบียทั้งชุดที่เคยประสานงานไว้หายไปทั้งหมด แต่มีเจ้าหน้าที่ด่านชายแดนลิเบียชุดใหม่ บางคนเป็นทหารได้เข้ามาควบคุมคณะของเราพร้อมแสดงอาวุธดาบประจำกายแบบของกลุ่ม ISIS ขึ้นขู่ เพื่อเข้าควบคุมการเดินทางของกลุ่มแรงงานไทยที่เดินทางมาถึงจุดนัดพบ ซึ่งต้องแลกด้วยเงินจำนวนหนึ่งก่อนได้รับอนุญาตให้เรานำกลุ่มแรงงานไทยผ่านด่านชายแดนลิเบียไปได้
ในการรับคณะแรงงานไทยที่อพยพเข้ามาในตูนิเซียแต่ละเที่ยว คณะของเราต้องช่วยกันประสานกับร้านอาหารเล็ก ๆ ที่พอมีอยู่บริเวณชายแดนก่อนเดินทางข้ามไปในเขตของลิเบีย เพื่อจัดซื้อเสบียงอาหารและน้ำดื่มไว้ล่วงหน้า ส่วนใหญ่จะเป็นขนมปังท่อนยาวใส้ปลาทูนา หรือใส้ไก่ หรือแป้งห่อไก่ ซึ่งเรียกกันว่า ชาวัรมา (Shawarma) ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองในเขตประเทศอาหรับ สำหรับแจกให้กับคณะแรงงานไทยที่อพยพมาจากลิเบียก่อนที่จะเดินทางต่อด้วยรถบัสไปยังกรุงตูนิส โดยใช้เวลาเดินทางจากชายแดนประมาณ ๘-๙ ชั่วโมง เพื่อขึ้นเครื่องบินจากกรุงตูนิสกลับประเทศไทย โดยการประสานกับสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงตูนิส ซึ่งได้จัดเตรียมที่พักและจัดหาบัตรโดยสารเครื่องบินสำหรับแรงงานไทย
แต่ละคณะภายใต้การดูแลของคณะข้าราชการจากกระทรวงการต่างประเทศที่รออำนวยความสะดวกอยู่ที่นั่น พร้อมกับบุคลากรทางการแพทย์ของไทยที่เชิญมาร่วมในภารกิจครั้งนี้เพื่อตรวจดูแลสุขภาพของแรงงานไทยที่อพยพออกมาจากลิเบีย
ในช่วงการอพยพแรงงานไทยจากชายแดนลิเบียเข้าไปยังกรุงตูนิส เราได้เรียนรู้ว่า ที่ตั้งของกรุงตูนิส คือ เมืองคาร์เธจ (Carthage)
เมืองคาร์เธจ เมืองโบราณในตูนิเซีย
เป็นเมืองโบราณศูนย์กลางการค้าในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันตกทางแอฟริกาตอนเหนือของชาวฟินิเชียน ในช่วง ๘๑๔ ก่อนคริสตกาล ต่อมาตกอยู่ภายใต้การยึดครองของจักรวรรดิโรมัน โดยองค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลกตั้งแต่ปี ๒๕๒๒
โคลิเซียม อาณาจักรโรมัน ในตูนิเซีย
ภายหลังการบริหารจัดการอพยพแรงงานไทยและคนไทยจำนวนมากในช่วงเดือนสิงหาคม ๒๕๕๗ สถานเอกอัครราชทูตยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ในลิเบียซึ่งยังคงเผชิญกับภัยจากการสู้รบและความไม่ปลอดภัยที่อาจกระทบต่อคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ติดค้างอยู่ และยังต้องให้ความช่วยเหลือในการอพยพออกมาเป็นระยะในเดือนต่อมา รวมแล้ว สถานเอกอัครราชทูตได้ช่วยอพยพแรงงานไทยและคนไทยออกมาทางบกผ่านด่านชายแดนประเทศลิเบีย-ตูนิเซียจำนวนมากกว่า ๗๐๐ คน ไม่นับรวมการประสานงานกับบริษัทนายจ้างลิเบียที่สามารถส่งแรงงานไทยที่อยู่ในเขตห่างไกลจากกรุงตริโปลีให้เดินทางอพยพออกนอกประเทศลิเบียในเส้นทางอื่นทั้งทางบกและทางอากาศเนื่องจากลิเบียซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยสามเท่า และด้วยข้อจำกัดของสถานการณ์ในพื้นที่ของลิเบียที่ได้รับผลกระทบในช่วงสงครามกลางเมือง และอุปสรรคอื่นนานัปการในการสัญจรออกนอกลิเบีย
ภารกิจในการอพยพแรงงานไทยและคนไทยออกจากภัยของสงครามกลางเมืองในลิเบียเป็นหนึ่งในภารกิจการช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศในหลากหลายเหตุการณ์ และเป็นงานด้านหนึ่งของงานการกงสุลและการทูตสาธารณะซึ่งกระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญ และต่างเป็นประสบการณ์ในความทรงจำและความท้าทายของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่คนไทยในต่างประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่แห่งใด
โดย รังสรรค์ มณีโรจน์
กรมสารนิเทศ
โฆษณา