30 ก.ย. 2021 เวลา 08:02 • ปรัชญา
บทที่ 23 ทวีปบุปผาและสระกัณณมุณฑะ
เราได้ศึกษาสระฉัททันต์ไปแล้ว ต่อไปเราจะไปศึกษาสายน้ำที่ไหลออกมาจากสระฉัททันต์กันต่อ
1
Melting World of Kaldheim  Art by: Anastasia Ovchinnikova
ผืนแผ่นกุรุทวีปนั้นเป็นทองคำและรัตนะ ภูมิภาคเต็มไปด้วยภูเขาสูงต่ำสลับซับซ้อน แต่งดงามด้วยไม้ดอกนาๆพันธุ์ บริเวณตอนบนของทวีปนั้น เต็มไปด้วยต้นกัลปพฤกษ์อันมีกำเนินมาจากต้นปาริฉัตต์(ต้นทองหลาง) กัลปพฤกษ์นั้นหาใช้ชื่อของพืชชนิดใดชนิดหนึ่งไม่ แต่เป็นชื่อที่ใช้เรียกต้นไม้ที่มีคุณวิเศษในการมอบสิ่งของนาๆประการให้กับผู้ร้องขอ ต้นกัลปพฤกษ์จึงกำเนิดเป็นต้นไม้ได้หลากหลายชนิด ทั้งปาริฉัตต์(ทองหลาง) ชัยสุวัณณ์(ชัยพฤกษ์) ปาริชาติ(ทองกวาว) ปาตลี(แคฝอย) มะม่วง มะพร้าวและไม้ต่างๆมากมาย บางต้นออกผลเป็นทอง บางต้นออกผลเป็นเงินหรือแก้ว 7 ประการ ล้วนมีคุณวิเศษแตกต่างกันไปสุดจะพรรณนา ปาริฉัตต์กัลปพฤกษ์แห่งหิมพานต์แม้จะไม่สามารถทำให้หวนระลึกถึงอดีตชาติได้อย่างปาริฉัตต์กัลปพฤกษ์ในปุณฑริกวันแห่งดาวดึงส์ แต่กลิ่นหอมของปาริฉัตต์แห่งหิมพานต์ก็ทำให้ผู้สูดดมหลงมัวเมาจนไม่อาจควบคุมร่างกายและเผลอทำอะไรไปโดยที่ไม่รู้ตัวได้
2
三生三世枕上书(Three Lives Three) by Betobe Workshop on ArtStation
หมู่ไม้ดอกในกุรุทวีปต่างสลับกันเบ่งบานงดงามตลอดทั้งปี โดยเมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวช่วงเดือนธันวาคมของโลกมนุษย์ ปาริชาติและปาริฉัตต์ ตอนเหนือของโลกหิมพานต์ก็ผลัดใบแล้วผลิดอกสีแดงรุ่งโรจน์ราวกับเปลวเพลิงที่กำลังลุกไหม้ จากนั้นจึงไล่เบ่งบานจากตอนเหนือไปจรดตอนใต้ โดยใช้เวลาถึง 12 เดือนมนุษย์ ทำให้กุรุทวีปมีดอกปาริชาติและปาริฉัตต์เบ่งบานตลอดทั้งปี
1
เพราะยามเมื่อดอกปาริชาติและปาริฉัตต์เบ่งบานในตอนใต้ของทวีป ดอกปาริชาติและปาริฉัตต์ทางตอนเหนือก็เริ่มร่วงโรยพอดี เปิดทางให้ต้นปาตลีและต้นชัยสุวัณณ์ออกดอกอวดโฉมความงามแทน ปาตลีนั้นเป็นพืชวงศ์ Bignoniaceae งดงามด้วยดอกหลากหลายสีสัน มนุษย์ก็ช่างขยันตั้งชื่อหลากหลายให้กับมันเช่นกัน ต้นที่ออกดอกสีม่วงมนุษย์ตั้งชื่อให้ว่า”แคฝอย”ต้นที่ออกดอกสีชมพูอ่อนในยุคหลังตั้งชื่อให้ว่า”ชมพูพันธุ์ทิพย์”ต้นไหนออกดอกสีเหลืองก็ตั้งชื่อว่า”เหลืองอินเดีย”ต้นที่ออกดอกสีขาวก็เรียก”แครกฟ้า”และยังมีชื่ออีกมากมายตามกลุ่มของมนุษย์จะเรียก
1
ปาตลี (แคฝอย)
ดอกปาตลีและชัยสุวัณณ์นั้นบานสะพรั่งไล่ลงมาตั้งแต่เหนือจรดใต้ตลอดทั้งปี เช่นเดียวกันกับดอกปาริชาติ ปาริฉัตต์และไม้ดอกอื่นๆ เมื่อดอกปาตลีและชัยสุวัณณ์ไปเบ่งบานในแดนใต้ ดอกกรรณิการ์และดอกกามิณี(ดอกแก้ว)ก็เบ่งบานในแดนเหนือแข่งกับประกายของสายฝนแทน และไล่เบ่งบานเช่นนี้กับไม้ดอกอื่นๆอยู่ตลอดทั้งปี ทั้งนี้เป็นเพียงการยกตัวอย่างไม้ดอกที่พบเห็นได้ง่ายเท่านั้น กุรุทวีปนั้นยังเต็มไปด้วยไม้ดอกอื่นๆที่แข่งกันเบ่งบานตลอดกัป ยกเว้นมีเหตุอันสุดวิเศษเกิดขึ้นในโลกมนุษย์หรือโลกหิมพานต์ เช่น ในยามเมื่อสิทธัตถกุมารได้ยังหมื่นโลกธาตุให้หวั่นไหวแล้วบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จะไม่ใช่แค่ไม้ดอกในกุรุทวีปแห่งหิมพานต์ แต่ต้นไม้อันมีดอกทุกต้นทั่วหมื่นจักรวาลจะผลิดอกพร้อมกันให้เป็นเหตุอันน่ามหัศจรรย์นัก
1
Imgur: The magic of the Internet
สายน้ำที่ไหลออกมาจากสระฉัททันต์ ไหลผ่านช่องเขาสู่สระขนาดเล็กแห่งหนึ่งซึ่งมีปูทองยักษ์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก สระนี้จึงได้ชื่อวว่า"สระกุลีระ" อันหมายถึง สระปู สระกุลีระนั้นเต็มไปด้วยทรายทองเป็นประกายยามต้องแสงอาทิตย์งดงาม ก่อนที่ภัทรนทีจะไหลลงใต้ต่อไป เมื่อมาถึงรอยต่อของทวีป ภัทรนทีจึงแยกเป็นสองสาย ภัทรนทีสายหลักนั้นไหลลงใต้ออกสู่ปากแม่น้ำและพื้นที่มหาสมุทรตอนใต้ของกุรุทวีป อันเต็มไปด้วยพืชน้ำและสัตว์น้ำชนิดต่างๆ โดยเฉพาะฝูงโลมาที่อาศัยบริเวณนี้จำนวนมาก ส่วนอีกสายไหลลัดเลาะด้วยใจปรารถนาจะเข้าสู่ใจกลางกุรุทวีป สายน้ำสายนี้ได้ชื่อว่า "โกลิกินที" โกลิกินทีนั้นได้ไหลลัดเลาะเข้าสู่ทะเลสาบหรือสระแห่งหนึ่งชื่อว่า"สระกัณณมุณฑะ"
1
สระกัณณมุณฑะมีขนาดใกล้เคียงกับสระใหญ่ทั้ง 6 ในโลกหิมพานต์ สระถูกล้อมรอบด้วยภูเขาสูงต่ำสลับซับซ้อนอันเป็นรัตนชาตินาๆชนิด ภูเขารัตนะเหล่านั้นส่องแสงสว่างโชติช่วงราวกับยอดเขาจิตตกูฏขนาดย่อมและเต็มไปด้วยถ้ำทองและถ้ำรัตนะมากมาย ภายในถ้ำมีแก้วรัตนะอันงดงามเกลื่อนกลาดอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นบนภูเขารัตนะทั้ง 4 ทิศ ยังมีปราสาทเงินปราสาททองตั้งอยู่ประจำทิศทั้งสี่ แต่ละปราสาทถูกตกแต่งด้วยสวนและสระบัวอันมีดอกบานสะพรั่งงดงาม น้ำในสระบัวนั้นได้รับการเติมให้เต็มตลอดเวลาด้วยน้ำที่ไหลมาจากตาน้ำทองคำบริเวณยอดเขา ภายในปราสาททั้งสี่ก็เต็มไปด้วยแก้วรัตนะเลอค่านาๆชนิดเช่นกัน ปราสาททั้งสี่นี้ถูกใช้เป็นที่อยู่ของเหล่าเวมานิกเปรตแห่งสระกัณณมุณฑะ
บริเวณเชิงเขารัตนะลาดลงสู่หาดรอบสระกัณณมุณฑะนั้นรายรอบด้วยป่าอันอุดมสมบูรณ์ หมู่ไม้เต็มไปด้วยฝูงนกนาๆพันธุ์ต่างพากันมาอาศัยทำรังจนเสียงนกอื้ออึงไปทั่วผืนป่า พืชผลหลายชนิดในป่ามักมีฤทธิ์อันวิเศษในการย้อนคืนความหนุ่มสาวให้กับผู้กิน แม้แก่จนผิวหนังเหี่ยวหย่นขอแค่ได้ลิ้มชิมรสผลไม้นั้นก็กลับคืนความเต่งตึงเปล่งปลั่ง เส้นผมที่เคยหงอกขาวก็กลับดกดำดุจหนุ่มสาววัย 16 อีกครั้ง พืชผลเหล่านั้น เช่น มะม่วง ขนุนและน้ำเต้า เป็นต้น ไม้ผลต่างออกผลขนาดใหญ่กว่าโลกมนุษย์และมีรสหวานฉ่ำปานน้ำผึ้ง ก่อนพื้นที่จะลาดลงสู่หาดทรายทองผสมด้วยแร่รัตนะและหญ้าอ่อนๆนุ่มเท้าบริเวณริมน้ำรอบสระ
1
น้ำในสระกัณณมุณฑะนั้นใสสะอาดบริสุทธิ์ จนสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของหมู่ไม้น้ำนาๆพันธุ์ทำให้มองเห็นน้ำกลายเป็นสีเขียวดุจมรกต ผิวน้ำนั้นเต็มไปด้วยดอกบัวขาวและหมู่ดอกไม้น้ำส่งกลิ่นหอมไปทั่วทั้งสระ เหล่าหงส์และนกกระเรียนจึงพากันมาลงเล่นน้ำและหาอาหาร นกบางตัวพากันจับคู่คลอเคลียแต่งขนให้กันและกัน ช่างเป็นสถานที่รื่นร่มงามตาสำหรับสัตว์ผู้มีใจบริสุทธิ์ยิ่งนัก
ถึงแม้สระใหญ่ทั้ง 7 ในหิมพานต์จะมีนาคคอยดูแลน้ำและบันดาลฝนมิได้ขาด แต่สระกัณณมุณฑะยังมีแม่น้ำใหญ่ไหลเข้าออกถึง 4 สาย โดยสายน้ำที่ไหลเข้าสู่สระนั้นมี 2 สาย คือ โกลิกินทีไหลมาจากภัทรนทีทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและเขมานทีไหลมาจากสีทานทีจากทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จากนั้นจึงผ่อนน้ำออกทางตรีกูฏนทีทางทิศตะวันออกเฉียงใต้และเหมวดีนทีทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสระ แต่แม่น้ำรอบสระกัณณมุณฑะมีความแปลกประหลาดยิ่งนัก เพราะเมื่อถึงยามกลางคืน เขมานทีจะไหลย้อนกลับสู่สีทานทีและไหลเข้าไปไกลถึงสระรถการะของภัทรศวาทวีป ทำให้ตรีกูฏนทีซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามแห้งขอดจนกลายเป็นทางเดินเข้าสู่สระกัณณมุณฑะในยามกลางคืน จนเมื่อถึงยามเช้าสายน้ำจึงกลับมาไหลเป็นปกติ มีเพียงโกลิกินทีและเหมวดีนทีที่ยังคงทำหน้าที่ไปตามสายธารของตนไม่รู้หน่าย
1
น้ำในสระกัณณมุณฑะนั้นมีฤทธิ์วิเศษ หากผู้ใดเป็นผู้มีศีล สมาธิและปัญญา พึงกำหนดเอาน้ำในสระกัณณมุณฑะเป็นญาณ เมื่อดื่มน้ำจากสระกัณณมุณฑะแล้วให้ท่านปธานสังขาร คือ กำหนดจิตเพื่อความตั้งอยู่ เพื่อเจริญยิ่งๆขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญบริบูรณ์ของกุศลธรรมแห่งท่าน เมื่อทำเช่นนั้นแม้ท่านปรารถนาจะอยู่ถึงหนึ่งกัปหรือเกินกว่ากัปย่อมทำได้
1
แต่สระกัณณมุณฑะอันเป็นดั่งสวรรค์จะกลับกลายเป็นสระนรกสำหรับสัตว์ผู้มีบาปหนักติดตัว เช่น เวมานิกเปรตผู้เคยทำกรรมไว้กับผู้มีศีลธรรม เมื่อถึงยามเที่ยงคืนสระกัณณมุณฑะจะเงียบกริบ ไม่มีเสียงจิ้งหรีดหรือเสียงนกที่เคยอื้ออึงในยามกลางวัน บัดนั้นปีศาจหมาดำไร้หูตนหนึ่งจะเดินขึ้นมาจากสระกัณณมุณฑะด้วยความหิวโหย เพื่อขย้ำเวมานิกเปรตผู้ลงมาจากปราสาทสู่สระกัณณมุณฑะเพื่อรับกรรม มันฉีกกระฉากเนื้อหนังอันงดงามของเวมานิกเปรตกิน แล้วเหวี่ยงซากกระดูกโชกเลือดทิ้งลงสู่สระกัณณมุณฑะ ก่อนที่ฤทธานุภาพแห่งน้ำในสระกัณณมุณฑะจะทำให้เวมานิกเปรตหวนคืนความงดงามอีกครั้ง แล้วเดินกลับสู่ปราสาททองก่อนรุ่งเช้า สระแห่งนี้จึงได้ฉายาว่า"สระกัณณมุณฑะ" อันแปลว่า สระหูขาด
1
Buildings/Landscape #1 by TheWyvernRider
สายน้ำที่ไหลออกจากสระกัณณมุณฑะนั้นแยกเป็น 2 สาย เหมวดีนทีที่ไหลออกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ไหลผ่านภูเขาทองคำอันสลับซับซ้อน และงดงาม ส่วนตรีกูฏนทีนั้นไหลออกทางทิศตะวันออกเฉียงใต้สู่โคตรมะบรรพตซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่นานาพรรณ อันเป็นดินแดนของเหล่ายักษ์ทั้งหลาย และป่าเบื้องล่างโคตมะบรรพตก็เต็มไปด้วยสระน้ำและสวนที่เหล่ายักษ์ อสูร ไทตยะและทานพสร้างไว้คล้ายกับเกตุมาละทวีป แต่จะต่างกันตรงที่บริเวณนี้กุมภัณฑ์และรากษสมักจะไม่ค่อยมาอาศัยอยู่ ด้วยเหตุว่ามียักษ์และอสูรอาศัยอยู่มากแล้ว ก่อนที่สายน้ำจะไหลผ่านแนวป่าไผ่และไหลออกสู่หาดทรายริมมหาสมุทรหิมพานต์ด้านกุรุทวีปที่เกลื่อนกลาดไปด้วยทรายทองอันงดงามไปตลอดแนวทวีป
1
บทต่อไปเวียนขวาไปสำรวจทวีปสุดท้ายด้านคันธมาทน์หรือ"ภัทรศวาทวีป"กัน โดย ลามะน้อย
1
โฆษณา