9 ส.ค. 2021 เวลา 07:40 • ธุรกิจ
#ตกผลึกจากโอลิมปิก
จบลงไปแล้วครับกับอีเว้นต์กีฬาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
“โอลิมปิกเกมส์ 2020” ณ กรุงโตเกียว ผมขอแสดงความยินดีกับประเทศสหรัฐอเมริกาที่ชิงชัยได้เหรียญทองอันดับหนึ่ง
และ กับทุกประเทศที่ได้โชว์สปิริตในเกมการแข่งขันทุกประเภท จากที่พวกเราได้ชมเกมกีฬา คุณเองตกผลึกอะไรกับการดู “โอลิมปิก” บ้างครับ นอกจากความสนุก และความเพลิดเพลิน สำหรับผม ผมได้ตกผลึกว่า ถ้าเราเอาแต่ละ “ประเทศ” ที่เข้าร่วมแข่งขันเปรียบเสมือนเป็น “องค์กร” และ “นักกีฬา” เปรียบเสมือน “พนักงาน”
แล้วเอา 2 ปัจจัยนี้มาวิเคราะห์ว่ากว่าจะถึงความสำเร็จในวันนี้
มีปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นอุปสรรคให้กับเหล่านักกีฬาระดับประเทศ และมันเชื่อมโยงอย่างไรกับมุมมองธุรกิจที่ผมจะนำมาเปรียบเทียบ รวมถึงอีกประเด็นที่สำคัญ คือ ถ้าเกมกีฬาผลลัพธ์มี ชนะ-เสมอ-แพ้ แล้วเรื่องของธุรกิจล่ะครับ ผลลัพธ์จะถูกตีความว่าอย่างไร?
ผมเชิญชวนคุณมาลองอ่านกันดูครับว่า 4 ปัจจัย ที่ผมตกผลึกในครั้ง มีปัจจัยอะไรบ้าง เรามาอ่าน และวิเคราะห์ไปพร้อมๆ กันครับ
ปัจจัยที่ 1 ความกดดัน
สรุปโดยสถิติจากโอลิมปิก “ความกดดัน” เป็นเหตุผลหลักที่สุดในการพลาดเหรียญทองของนักกีฬา เนื่องจากกรอบเวลาในการแข่งนั้นคือ 4 ปีมีครั้ง ไม่เหมือนรายการอื่นๆ ที่เล่นกันทุกปี พลาดปีนี้ ปีหน้าก็ยังมีโอกาส
.
ดังนั้น “นักกีฬา” ต้องแบกความคาดหวังในการคว้าเหรียญทองในฐานะนักกีฬาซูเปอร์สตาร์ของประเทศตัวเองไว้ที่บ่า หลายคนทำได้ดีในภาวะกดดัน แต่ก็มีนักกีฬาไม่น้อยที่ต้องตกม้าตายในระหว่างแข่ง ทว่า “ความกดดัน” ก็สอดคล้องในมุมของการทำงานในแบบที่ “พนักงาน”
ต้องพบเจอไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังของบริษัทที่ต้องปฏิบัติตาม KPIs ที่ถูกกำหนด ให้เป็นไปตามเป้า โดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานระดับผู้บริหาร ที่ต้องขับเคลื่อนบริษัท เพื่อสร้างผลลัพธ์ให้บรรลุเป้าหมายประจำปีของบริษัท
.
ในทางกลับกันถ้าพนักงานระดับบริหารไม่สามารถจัดการ หรือ ควบคุมความกดดันได้ ย่อมส่งผลต่ออารมณ์ และการตัดสินใจที่แม่นยำก็ยากที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายองค์กรได้
ปัจจัยที่ 2 ขาดการลงสนามเพื่อสั่งสมประสบการณ์
ปัจจัย “ขาดการลงสนามเพื่อสั่งสมประสบการณ์” ก็สำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากปัจจัยนี้สัมพันธ์กับปัจจัยแรกที่ส่งผลต่อการขาดการลงสนามจากการป่วยสะสมทางจิตใจที่มาจากความกดดันของ “นักกีฬา”
รวมถึงปัจจัยของการเกิดโรคระบาดที่เป็นวิกฤตโลกในปัจจุบันเหมือนการพลาดโอกาสการเก็บแต้มประสบการณ์ ในอุปสรรคข้อนี้สมาคมโค้ชการกีฬา ประเทศญี่ปุ่นได้แชร์ไอเดียเพื่อผลิตนวัตกรรมหุ่นช่วยซ้อม
.
ซึ่งสามารถใส่โปรแกรมกลยุทธ์การซ้อมได้หลากหลาย
ประเด็นนี้จะเกิดภาพชัดมากกับนักกีฬาในกลุ่มกีฬาที่ปกติจะมีการแข่งหลายฤดูกาลในหนึ่งปี ถ้ามองมาในส่วนของธุรกิจก็เหมือนองค์กรที่มีอายุไม่มากนัก “เจ้าของธุรกิจ” หรือ “พนักงาน” จะเจอกับปัญหาบุคลากรที่ใช้งานไม่ตรงความสามารถ หรือ “พนักงาน” ที่รับเข้ามายังไม่ผ่านการคัดกรองที่ดีพอ
เพื่อให้ทำงานได้อย่างเต็มความสามารถ ดังนั้นเจ้าของธุรกิจ
อาจต้องยอมจ่ายเพื่อจ้างพนักงานที่มีประสบการณ์ และความรู้ที่เหมาะสมกับ กิจการของตน เพื่อให้องค์กรได้เก็บเกี่ยวสั่งสมประสบการณ์ ศึกษาเพิ่มเติม และการเข้าอบรมต่างๆ เพราะนอกจากไอเดียที่ดีแล้ว ทักษะในการจัดการ การตลาด การเงิน และการพัฒนาบุคลากร รวมถึงการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วย “องค์กร” ก็เป็นปัจจัยเพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้ไหลลื่น
ปัจจัยที่ 3 สภาพอากาศ และคู่แข่ง
เนื่องด้วยการแข่งขันโอลิมปิก เป็นการเวียนเจ้าภาพในการจัดแข่งขันทั่วโลก ดังนั้นสภาพอากาศในแต่ละที่ก็จะแตกต่างกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ “นักกีฬา” จะต้องวางแผนกลยุทธ์เรื่องของความอดทนต่อสภาพอากาศที่ที่ไม่คุ้นชิน อย่างที่เราจะเห็นนักกีฬามีการพูดกันเรื่องอุณหภูมิ 40 องศา
ในบางวันของการแข่งขันในครั้งนี้ที่ทำให้นักกีฬาฟอร์มตกมากน้อยแล้วแต่สภาพร่างกายของนักกีฬา ส่วนคู่แข่งอันนี้ชัดเจนมาก แผนการแก้เกมของแต่ละประเทศจึงสำคัญเพราะทุกประเทศก็ต่างมีกลยุทธ์ในการฝึกซ้อม เพื่อพิชิตคู่แข่ง
ในส่วนของธุรกิจสภาพอาอากาศ และคู่แข่ง เปรียบเหมือน
สภาพเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ ที่มีขึ้นมีลง ซึ่งหมายถึงคู่แข่งทางธุรกิจก็จะมีการปรับตัวที่มีทั้งขึ้น และลงในสภาพเศรษฐกิจเดียวกัน แนวโน้ม และจำนวนของผู้อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองมีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน เพราะมีโอกาส รวมถึงช่องทางเพิ่มมากขึ้น หากเริ่มต้นทำแค่เพียงเพราะอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง โดยไม่คิดวางแผนให้รอบคอบแล้ว ก็อาจพลาดท่าเสียทีได้ เพราะการเป็น “เจ้าของธุรกิจ” ไม่ใช่การลุ้นโชค แต่เป็นการวางแผนเตรียมตัวให้พร้อมจริงเพื่อบรรลุเป้าหมายองค์รอย่างยั่งยืน
ปัจจัยที่ 4 การรวมที่สุดของที่สุดของการแข่งขัน “อันทรงคุณค่า”
.
ปัจจัยนี้เป็นเหตุผลเชิงจิตวิทยาเพราะโอลิมปิกแข่งขันทุกสี่ปี
อย่างครั้งนี้เป็นห้าปีแห่งการรอคอยเวลาเพื่อเป็น "สุดยอด"
ในการคว้าเหรียญทองถือว่า "ทรมาน" อยู่ไม่น้อย อีกทั้งต้อง
สู้กับความคาดหวัง ความสามารถของนักกีฬาเก่งๆ ทั่วโลก
.
นักกีฬาต้องเตรียมตัวดีพร้อมขนาดไหน แม้นักกีฬาอาชีพส่วนใหญ่มีทัวร์นาเม้นต์แข่งขันอยู่แล้ว แต่เมื่อเราพูดกันถึง "โอลิมปิก" มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ มันคือเชิงคุณค่า
แค่ได้ผ่านคัดเลือกเข้าแข่งขันก็ถือว่าเก่งระดับหนึ่งแล้ว
มันหมายถึงคุณคือ "ตัวแทน" ของแผ่นดิน ของประเทศชาติ
เข้าร่วมแข่งขันอีเว้นต์กีฬาที่สุดในโลกใบนี้ นั่นแหละครับ
.
คงพออธิบายเชิงจิตวิทยาถึงคุณค่า ถึงความขลังของกีฬาโอลิมปิก ยิ่งถ้าหากคุณชนะเลิศ คุณขึ้นโพเดียมรับเหรียญทอง, เงิน, ทองแดง ประกาศว่าคุณคือ “นักกีฬา” ดีที่สุดในโลก พร้อมทั้งยืนฟังเพลงชาติของคุณด้วยความปลาบปลื้ม เพราะคุณชนะทั้งใจตัวเอง และคู่แข่งขัน
.
มันคือที่สุดแล้วสำหรับเหรียญทองโอลิมปิก มันเป็นอะไรที่ "เงิน" ซื้อไม่ได้แน่นอนครับ ในส่วนของพนักงานก็คงจะหมายถึง Project ที่คุณดูแล สร้างผลดีและรายได้ให้กับองค์กร ก็ยิ่งทำให้คุณรู้สึกว่า คุณประสบความสำเร็จและมีคุณค่ากับองค์กรมากๆ
ยิ่งมีเสียงสรรเสริญชื่นชมจากเพื่อนร่วมงาน คุณก็จะยิ่งรู้สึกตัวสูงยืดอกได้เต็มที่ แต่คุณอย่าหลงลืมไปว่าสิ่งที่คุณทำมันสำเร็จนั้น มันอาจจะสร้าง #Ego ที่ทำให้คุณเข้าใกล้ความประมาทได้มากขึ้น ดังนั้นคุณควรเป็น
"พนักงาน" ที่ Work Hard ไปพร้อมกับ Work Smart ดีกว่าครับ
:
ดังนั้นถ้าเกมกีฬาผลลัพธ์มี ชนะ-เสมอ-แพ้ ในภาคธุรกิจก็คงจะไม่หนีจาก กำไร-เท่าทุน-ขาดทุน เป็นแน่แท้ แต่เนื่องด้วยผมอยู่กับการพัฒนาตนเอง และได้มีการโค้ชให้กับผู้อื่นมามากมาย ผมจึงมองว่า “โค้ช” ก็เป็นบุคคล
สำคัญของการสำเร็จของนักกีฬา รวมถึงนักธุรกิจเช่นเดียวกันด้วยครับ
:
ถ้าคุณผู้อ่านได้อ่านมาถึงจุดนี้แล้ว คุณตีความเหมือนผมไหมครับ
ถ้าไม่... คุณตีความอย่างไร ผมรออ่านความคิดเห็นทุกท่านอยู่นะครับ...
#OmeHarin #โอลิมปิก #พัฒนาตัวเอง
#LifeEnricher #สร้างองค์กรแบบนักกีฬา
โฆษณา