10 ส.ค. 2021 เวลา 03:00 • อสังหาริมทรัพย์
อโศก ทำเลทอง ที่ทุกคนอยากสร้างตึกสูง บนถนนนี้
หากพูดถึงทำเลที่สามารถตอบโจทย์คนกรุงเทพฯ รอบด้าน
เป็นย่านธุรกิจสำคัญ มีอาคารสำนักงานมากมาย
เป็นย่านที่พักอาศัยของชาวไทยและชาวต่างชาติ
และยังเป็นย่าน Interchange ของรถไฟฟ้า MRT และ BTS
เชื่อว่า หนึ่งในทำเลที่หลายคนนึกถึงก็คือ “ทำเลอโศก”
1
พัฒนาการนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของ ทำเลอโศก เป็นอย่างไร ?
ปัจจัยส่งเสริมใด ? ที่ทำให้กลายเป็นหนึ่งย่าน CBD สำคัญของกรุงเทพฯ
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
1
รู้หรือไม่ว่า “ถนนอโศกมนตรี” เพิ่งได้รับชื่อเรียกนี้ในปี 2547
เพื่อเป็นเกียรติให้กับชายผู้ร่วมอุทิศที่ดินและบริจาคทุนในการขยายถนนสายนี้ ที่มีชื่อว่า พระอโศกมนตรี (เรียม เศวตเศรณี)
2
ซึ่งเดิมทีถนนอโศกมนตรีมีชื่อว่า ซอยอโศก หรือซอยสุขุมวิท 21
มีลักษณะเป็นถนนสายสั้น ๆ ราว 1.3 กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างถนนสุขุมวิท และถนนเพชรบุรี
ต่อมาในปี 2519 มีการตัดถนนรัชดาภิเษก หรือถนนวงแหวนรอบใน
เพื่อเชื่อมต่อกับถนนสายต่าง ๆ จนเป็นลักษณะวงแหวนรอบเมือง
โดยซอยอโศกก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของถนนวงแหวนรอบในนี้เช่นกัน
และด้วยความเป็นถนนที่มีขนาดกว้าง สามารถสร้างอาคารขนาดใหญ่สูง 23 เมตรขึ้นไปได้
จึงทำให้ถนนสายนี้กลายเป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานมากมายนับตั้งแต่นั้นเรื่อยมา เช่น
- อาคารอโศก ทาวเวอร์ส สร้างเสร็จในปี 2528
- อาคารซิโน-ไทย สร้างเสร็จในปี 2529
- อาคารโอเชี่ยน ทาวเวอร์ 2 สร้างเสร็จในปี 2536
- อาคาร GMM Grammy Place สร้างเสร็จในปี 2542
นอกจากนี้ ตลอดแนวซอยอโศก ยังมีเส้นทางเชื่อมต่อไปยังสถานที่และทำเลอื่น ๆ ของถนนสุขุมวิท
ซึ่งล้วนเป็นย่านสำคัญของกรุงเทพฯ เช่น
- ซอยสุขุมวิท 15 เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนานาชาตินิสท์ (NIST) และซอยสุขุมวิท 19 เป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ส่วนฝั่งซอยสุขุมวิท 23 เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว ประสานมิตร)
- ซอยสุขุมวิทเลขคี่ สามารถเชื่อมต่อไปยังย่านนานา (ซอยสุขุมวิท 3) จนถึงทองหล่อและเอกมัยได้
ซึ่งเป็นหนึ่งย่านยอดนิยมของชาวต่างชาติ ทั้งนักท่องเที่ยว และเหล่า Expat ที่มาพักอาศัยระยะยาว และเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแบบครบวงจรที่ใกล้ที่สุดอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ ทำเลอโศกจึงกลายเป็นย่านสำคัญที่เต็มไปด้วยความคึกคักของผู้คน
และยังเกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินรอบด้าน ทั้งในรูปแบบของแหล่งงาน, แหล่งศึกษา รวมทั้งรองรับชาวต่างชาติ นั่นเอง
แต่ความเจริญของทำเลอโศก ก็ยังไม่ได้หยุดแต่เพียงเท่านั้น..
เพราะเมื่อรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง เริ่มให้บริการในปี 2547
ได้เกิดสถานี Interchange เชื่อมต่อระหว่าง BTS และ MRT เพียง 3 แห่งเท่านั้น
นั่นคือ หมอชิต-สวนจตุจักร, ศาลาแดง-สีลม รวมทั้ง อโศก-สุขุมวิท นั่นเอง
ด้วยความเป็นหนึ่งในสถานี Interchange นี้เอง
กลายเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้ทำเลอโศก กลายเป็นทำเลมีศักยภาพโดดเด่น จนนับได้ว่าเป็นพื้นที่ย่านเศรษฐกิจสำคัญใจกลางเมือง หรือ Central Business District (CBD) ของกรุงเทพฯ
และยังเป็นจุดสนใจของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เช่น
1
- โครงการเชิงพาณิชย์ เช่น ศูนย์การค้า Terminal 21
- โรงแรมชั้นนำ เช่น Pullman Bangkok Grande Sukhumvit, Sofitel Bangkok Sukhumvit, The Continent Hotel และ Solaria Nishitetsu Hotel
ความเจริญที่เกิดขึ้นในทำเลอโศก ยังผลักดันให้เกิดการเติบโตของราคาประเมินที่ดินอย่างต่อเนื่อง
โดยราคาประเมินที่ดินล่าสุดปี 2559-2562 อยู่ที่ตารางวาละ 550,000 บาท
ขณะที่ราคาซื้อขายที่ดินในตลาดของทำเลอโศก เฉลี่ยตารางวาละ 950,000 บาท
เหตุจากต้นทุนราคาที่ดินสูงนี้เอง
จึงผลักดันให้การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยอย่างคอนโดมิเนียมในทำเลอโศก
มักจะเป็นโครงการระดับ High Class ขึ้นไปจนถึง Luxury
จับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังจ่าย รวมทั้งนักลงทุนและชาวต่างชาติ
เราจึงเห็นโครงการคอนโดมิเนียมในทำเลอโศกในปัจจุบันนี้
มีราคาขายต่อตารางเมตรอยู่ในระดับแสนบาท เลยทีเดียว
เช่น
- Noble BE19 บริเวณซอยสุขุมวิท 19 เริ่มต้น 148,484 บาท/ตร.ม.
- The ESSE Asoke บริเวณกลางซอยอโศก เริ่มต้น 192,000 บาท/ตร.ม.
- MUNIQ Sukhumvit 23 ซอยสุขุมวิท 23 เริ่มต้น 198,618 บาท/ตร.ม.
- Ashton Asoke บริเวณทางเข้าสถานี MRT สุขุมวิท เริ่มต้น 210,000 บาท/ตร.ม.
- CELES Asoke บริเวณช่วงต้นซอยอโศก เริ่มต้น 256,000 บาท/ตร.ม.
ซึ่งหลายโครงการก็ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคไปไม่น้อย
เพราะแม้จะเป็นทำเลคอนโดมิเนียมที่มีราคาสูง แต่ได้มาด้วยการอยู่อาศัยในย่าน CBD
ความเป็นทำเลสมบูรณ์ทั้งการอยู่อาศัย ทำงาน จับจ่าย หรือการเดินทาง
มาถึงตรงนี้ ก็น่าติดตามต่อไปว่า เมื่อแปลงที่ดินริมถนนสาธารณะที่มีอยู่อย่างจำกัดเริ่มหมดไปเรื่อย ๆ
 
แปลงที่ดินที่อยู่ในซอย ก็อาจจะถูกนำมาใช้ประโยชน์มากขึ้น จนอาจนำไปสู่การพัฒนาโครงการด้วยวิธีพิเศษ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายการก่อสร้าง
เหมือนอย่างประเด็นของคอนโดฯ Ashton Asoke ที่มีการใช้พื้นที่ของ รฟม. ในการเป็นทางเข้าออก เพื่อให้ก่อสร้างตึกที่สูงขึ้นได้
ทั้งหมดนี้ก็เพราะว่า อโศก เป็นที่ดินทำเลทอง ที่ผู้พัฒนาอยากได้พื้นที่ใช้สอยมากที่สุด ภายใต้ที่ดินที่จำกัด นั่นเอง..
โฆษณา