9 ส.ค. 2021 เวลา 13:42 • หนังสือ
จอร์จ ออร์เวลล์ และเส้นทางสู่ 1984
หากกล่าวถึงหนังสือที่เคยผ่านตานักอ่านผู้ศรัทธาในความเท่าเทียมทุกท่าน คาดว่า 1984 ผลงานจากจอร์จ ออร์เวลล์ จะต้องเป็นหนึ่งในนั้น ท่ามกลางยุคสมัยที่เต็มไปด้วยการปะทะกันของอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายและขวา แสงสว่างปลายอุโมงค์ที่แสนริบหรี่ ไม่อาจรู้ได้ว่าการต่อสู้จะจบลงที่ใด แต่สิ่งที่เราไม่อยากเห็นอย่างแน่นอนคือโลกใน 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ สถานที่แสนหม่นหมองไร้ความหวัง การใช้ชีวิตที่ถูกจับตาทุกย่างก้าว ความเห็นต่างที่ถูกกำจัดด้วยการโยนเข้าห้องหมายเลข 101 และสถานที่ที่ความจริงถูกบิดเบือนอย่างไรก็ได้ภายใต้เงื้อมือของผู้มีอำนาจ
จอร์จ ออร์เวลล์ และเส้นทางสู่ 1984 โลกที่ทุกคนหวังให้สถิตในเพียงหนังสือ
โลกที่มืดมนได้เพียงนั้น ถูกกลั่นออกมาในช่วงสุดท้ายของชีวิตของชายผู้ใช้นามปากกาว่า จอร์จ ออร์เวลล์ได้อย่างไร ชีวิตของเขาได้ผ่านเหตุการณ์แบบไหนมาบ้าง ถึงได้นำเขามาสู่บทสรุปของความคิดและอุดมการณ์นี้ เราลองมาสำรวจไปด้วยกันกับเพจ เขาคนนั้นในวันวาน ค่ะ
อีริค อาเธอร์ แบลร์ ลูกคนกลางผู้เปลี่ยวเหงา
สิ่งแรกที่ควรกล่าวถึงคือ “จอร์จ ออร์เวลล์” เป็นเพียงนามปากกาของชายที่ชื่อว่า อีริค อาเธอร์ แบลร์ โดยแบลร์เกิดที่รัฐเบงกอล ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของประเทศอินเดีย ในวันที่ 25 มิถุนายน ปี ค.ศ.1903 พ่อของเขาทำงานเป็นข้าราชการพลเรือนอยู่ที่นั่น ขณะที่แม่ของเขาเป็นชาวฝรั่งเศส บุตรีของพ่อค้าไม้สักที่ไม่ประสบความสำเร็จในพม่า ด้วยหน้าที่การงานของพ่อ ทำให้เขาได้เจอและพูดคุยกับพ่อของเขาน้อยมาก ถึงขั้นเติบโตมาโดยแทบปราศจากการพบเจอนี้จนกระทั่งวัย 8 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่ครอบครัวของเขาย้ายกลับไปที่อังกฤษ
ภาพแม่ของแบลร์ และแบลร์ในวัยทารก ที่มา https://ab3orwell.weebly.com/a-visual-history-of-orwells-life.html
นอกจากนี้เขายังเป็นลูกคนกลาง มีพี่และน้องที่อายุห่างกับเขา 5 ปีทั้งคู่ ซึ่งช่องว่างของอายุนี้ ส่งผลให้ในวัยเด็ก เขาแสดงพฤติกรรมที่ค่อนข้างต่อต้านสังคม และแน่นอนว่าไม่เป็นที่โปรดปรานของเพื่อนที่โรงเรียนเอาเสียเลย ยิ่งเป็นเหตุขับเน้นความรู้สึกโดดเดี่ยวในวัยเด็กของเขาให้ฝังลึกในใจ ซึ่งในจุดนี้เจ้าตัวเองก็รู้ดี ถึงกับเขียนบรรยายไว้ในเรียงความ Why I write
ทว่าท่ามกลางความเปลี่ยวเหงา แปลกแยก และการถูกมองข้าม มันกลับทำให้เขามีเวลาอยู่กับตัวเอง สร้างโลกใบเล็กๆของเขาขึ้นมาด้วยการเล่าเรื่องราวและการคุยกับเพื่อนในจินตนาการ ทักษะของการเป็นนักเขียนและจุดกำเนิดของ “จอร์จ ออร์เวลล์” จึงเริ่มต้นขึ้นท่ามกลางความคับข้องใจแบบนี้เอง แบลร์เริ่มเขียนกลอนสั้นๆตั้งแต่ช่วง 4-5 ขวบ และเขียนกลอนเล็กๆน้อยๆไปเรื่อย จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเขาได้ย้ายมาอยู่อาศัยและศึกษาเล่าเรียนที่อังกฤษแล้ว เขาได้เขียนกลอนแสดงแนวคิดชาตินิยมและถูกนำไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นครั้งหนึ่ง นอกเหนือไปจากนั้นเขาเคยลองเขียนเรื่องสั้นอีก 1-2 เรื่อง ซึ่งเจ้าตัวมองว่ามันล้มเหลวอย่างเลวร้าย ก่อนจะทิ้งความฝันในการเป็นนักเขียนนี้ชั่วคราว ไปสู่พม่าในบทบาทหน้าที่ตำรวจในหน่วย The Indian Imperial Police
กล่อมเกลาแนวคิดและอุดมการณ์
กว่าจะเป็นจอร์จ ออร์เวลล์ ผู้มีอุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตย แบลร์ใช้ชีวิตในแบบที่กล่าวได้ว่าลุ่มๆดอนๆ อันที่จริงขณะที่อยู่อินเดียครอบครัวของเขาไม่ได้ถือว่าร่ำรวย นับว่าอยู่ในระดับชนชั้นกลางค่อนไปทางล่างด้วยซ้ำ เกียรติยศที่มีช่างไม่สัมพันธ์กับรายได้ จนกระทั่งทั้งครอบครัวย้ายมาที่อังกฤษ แบลร์ถูกส่งไปเล่าเรียนที่โรงเรียนประจำในแถบซัสเซกส์ ที่ซึ่งแบลร์มีผลการเรียนที่ดีมาก แต่ก็ถูกเพื่อนบูลลี่จนกลายเป็นความทรงจำที่เลวร้าย (และถูกเขียนบันทึกไว้ใน Such, Such were the joys)
ต่อมาด้วยผลการเรียนอันดีเยี่ยม เขาได้ทุนจากทั้งวิทยาลัยเวลลิงตันและอีตัน ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมชายล้วนที่มีชื่อเสียง (และไฮโซมากกกก) เขาเริ่มไปเรียนที่เวลลิงตันก่อนที่จะย้ายมาเรียนที่อีตันในช่วงปี ค.ศ.1917 และเริ่มต้นเขียนบทความลงในนิตยสารของโรงเรียน ที่เจ้าตัวกล่าวว่าตัวเองทำแบบลวกๆและไม่ควรค่าจะอ่านเอาเสียเลย
ภาพแบลร์และเพื่อนร่วมชั้นในอีตัน ที่มา https://ab3orwell.weebly.com/a-visual-history-of-orwells-life.html
แม้ว่าจะเป็นเด็กเรียนดีชนิดที่ถ้าเกิดในประเทศไทย อาจารย์ที่ปรึกษาจะต้องคะยั้นคะยอให้เรียนต่อเป็นแพทย์ แบลร์กลับทิ้งโอกาสในการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ไปสืบทอดประเพณีของครอบครัวว่าต้องเป็นข้าราชการ ดังนั้นในปี 1922 แบลร์เดินทางไปยังพม่า รับใช้จักรวรรดิอังกฤษในฐานะตำรวจในหน่วย The Indian Imperial Police ระหว่างทำงานและใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น แบลร์สังเกตเห็นถึงความขมขื่นของชาวพม่าที่ถูกปกครองและกดขี่โดยจักรวรรดิโดยไม่เต็มใจ เขาไม่อาจทนที่ตนเป็นส่วนหนึ่งของระบบนี้ได้ จึงตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางชีวิตและใช้ปลายปากกาต่อสู้อีกครั้ง
ฤดูใบไม้ร่วง ปี 1927 แบลร์กลับมาขัดเกลาตนเองในฐานะนักเขียน แต่ด้วยการแบ่งแยกชาติพันธุ์และชนชั้นที่ชัดเจน แบลร์ไม่อาจคลุกคลีกับชาวพม่าได้อย่างใจหวัง เขาจึงทดลองใช้ชีวิตท่ามกลางเหล่าผู้ยากไร้ในยุโรปแทน ทั้งลองใช้ชีวิตย่านเดียวกับชนชั้นแรงงานขอทานในลอนดอน รวมถึงย่านสลัมในปารีส ถึงขนาดไปรับงานล้างจานในโรงแรมและร้านอาหารในปารีสด้วย จนเกิดเป็นผลงานนวนิยาย Down and Out in Paris and London และ Burmese Days ในเวลาต่อมา
แบลร์ยังคงใช้ชีวิตศึกษาความยากลำบากของผู้คน เขียนบทความ แต่งนวนิยายและวรรณกรรม เพื่อตีแผ่ความจริง ความยากลำบาก และความไม่เท่าเทียมที่พบเห็น เขาใช้ปากกาของเขมทวงถามความยุติธรรม จนแนวคิดสังคมนิยมของเขาเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเรื่อยๆ และถูกขัดเกลาจนชัดเจนในเหตุการณ์สงครามกลางเมืองของสเปน
ภาพแบลร์ขณะเข้าร่วมต่อสู้ในสงครามกลางเมืองของสเปน พร้อมเออร์เนส เฮมมิงเวย์ ที่มา https://ab3orwell.weebly.com/a-visual-history-of-orwells-life.html
เวลานั้นฝั่งสาธารณรัฐที่ต้องการเดินหน้าเพื่อสร้างรัฐสังคมนิยม ขณะที่ฝั่งชาตินิยม ซึ่งต่อต้านสังคมนิยมและต้องการระบอบกษัตริย์กลับมา แบลร์อาสาเข้าร่วมกับฝั่งสาธารณรัฐ ในฝั่งเดียวกันเองนี้ มีโซเวียตของสตาลินมาสนับสนุน (ซึ่งภายหลังถูกบิดไปเป็นสังคมนิยมแบบเผด็จการ) แบลร์ได้สัมผัสกับความน่ากลัวของสังคมนิยมเผด็จการที่นี่ เขาจำเป็นต้องหนีเอาตัวรอดจากกลุ่มของโซเวียตที่เริ่มไล่กำจัดคนที่เห็นต่างจากแนวทางของตน (แม้ในระดับน้อยนิด) อันส่งผลในระยะยาวให้แบลร์กลายเป็น Anti-Stalinist อย่างเต็มตัว
Animal Farm จึงเป็นผลงานที่ถูกเขียนขึ้นหลังจากนั้น เขาตั้งใจสะท้อนให้เห็นถึงการทรยศและบิดเบือนความจริงของพวกสตาลิน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อคนเราลุแก่อำนาจก็มักลืมคำสัญญาและใช้มันเป็นเครื่องมือผูกขาดอำนาจอย่างเจ้าหมูในเนื้อเรื่องกันอยู่เนืองๆ หรือหากเลวร้ายไปกว่านั้น ก็จะกลายเป็นโลก 1984 ที่ราวกับฝันร้ายอันไม่มีวันสิ้นสุด ความเห็นที่แตกต่างถูกควบคุมและกำจัด ไร้ซึ่งความหวังแม้เพียงริบหรี่
การเขียนและการเมืองคือเรื่องเดียวกัน
สำหรับแบลร์ เขาเลือกที่จะเขียนเพื่อสู้ เขียนเพื่อสะท้อน เขียนเพื่อสร้างสรรค์ร้อยเรียงคำอย่างเรียบง่ายสวยงาม และทั้งหมดคือสิ่งเดียวกัน เป็น 4 องค์ประกอบในการเขียนที่เขาคิดว่าสำคัญ และเป็น 4 องค์ประกอบที่ปะทะ ควบรวม ต่อสู้ และถูกกลั่นออกมาจากผู้เขียนจนเกิดเป็นผลงานชิ้นหนึ่ง
1. อัตตาที่ถูกถักทอของผู้เขียน ซึ่งเป็นความต้องการยกระดับอัตตาในตนเอง แสดงความฉลาดเฉลียว ต้องการเป็นที่สนใจถูกกล่าวถึง ไปจนการเป็นที่จดจำแม้จะตายจากโลกนี้ไปแล้ว
2. ความนิยมชมชอบความสวยงาม ทั้งในการสะท้อนความสวยงามรอบตัว การร้อยเรียงของถ้อยคำ ความกระชับของร้อยแก้ว จังหวะจะโคนในการเล่าเรื่อง ไปจนถึงความต้องการสะท้อนเรื่องราวที่มีคุณค่า
3. แรงผลักดันในการบันทึกเรื่องราว มีความต้องการที่จะมองให้ลึกถึงความเป็นจริงอย่างที่เป็น บันทึกความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เก็บไว้เป็นเรื่องราวให้แก่คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป
4. แนวคิดทางการเมือง มีแรงผลักดันที่จะเขียนถึงอุดมการณ์ ให้ผู้คนได้มองเห็นทิศทางและอนาคตที่พวกเขาควรไขว่คว้า
ซึ่งในข้อสุดท้ายนี้ แบลร์ได้สำทับว่า งานเขียนไม่มีวันแยกจากอุดมการณ์ทางการเมืองได้หรอก ในเมื่อเราเขียนเพื่อสะท้อนความคิดและความเชื่อ แฝงนัยยะและความหมาย สื่อสารแนวคิดให้ผู้คนผ่านสิ่งที่เขียนออกมา ไหนเลยจะขาดองค์ประกอบนี้ไปได้ ยุคสมัยที่วุ่นวายของผม สิ่งที่พอจะสะท้อนได้ ก็มีเท่านี้แหละ
หากชื่นชอบ ช่วยให้กำลังใจเล็กๆด้วยการกดแสดงอารมณ์ และคอมเม้นท์กันเข้ามาได้นะคะ ว่าอยากให้เขียนถึงนักเขียน นักคิดคนใดเป็นพิเศษ รวมทั้งสามารถกดติดตามเพจ เขาคนนั้นในวันวาน กันด้วยนะคะ ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่อยู่เป็นเพื่อนกันมาจนถึงตรงนี้ค่ะ
โฆษณา