16 ส.ค. 2021 เวลา 01:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
การใช้ Big Data พลิกโฉมวงการเกมอย่าง Pokémon Go
“ออกไปจับโปเกมอนกันเถอะ!”
หลายปีก่อน หลายท่านคงจำได้ถึงเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวขวัญไปทั่วโลก เรื่องที่บริษัท Niantic Labs ได้ทำให้ประโยคนี้มีชีวิตขึ้นมาจริง โดยการทำให้ตัวละครในเกมออกมาโลดแล่นอยู่บนโลกเสมือนจริง ซึ่งเป็นการปฏิวัติวงการเกมไปอย่างสิ้นเชิงของ Pokémon Go เกมบนโทรศัพท์มือถือที่มียอดดาวน์โหลดแล้วมากกว่า 1 พันล้านครั้ง1 และยังทำรายได้ไปแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท2!
ซึ่งหนึ่งในเหตุผลเบื้องหลังความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่นี้ของเกม Pokémon Go ก็คือ เทคโนโลยีที่เกมนี้นำมาใช้ เช่น เทคโนโลยี AR : Augmented Reality และระบบ Location Based เพื่อให้ผู้เล่นรู้สึกเหมือนได้ออกเดินทางท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่าง ๆ ในโลกแห่งความเป็นจริงเพื่อเก็บสะสมโปเกมอนและทำภารกิจต่าง ๆ อีกทั้งยังสามารถแข่งขันกับผู้เล่นคนอื่น ๆ รวมถึงเพื่อนของตนเองได้อีกด้วย
นอกจากการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาผสมผสานสร้างสรรค์เกมแล้ว Pokémon Go ยังมี การใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data ได้อย่างชาญฉลาด ซึ่งช่วยดึงดูดเหล่า Pokémon Trainers ทุกช่วงวัย
จุดรวมพลยอดฮิตของเหล่า Pokémon Trainers (สยามสแควร์)
โปเกมอนกับเทคโนโลยี AR : Augmented Reality และ Location Based เพื่อให้ดูเสมือนว่าโปเกมอนอยู่ในสถานที่จริง
เรามาดูกันว่า Pokémon Go ใช้ประโยชน์จาก Big Data อย่างไรบ้าง
การใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางภูมิศาสตร์
Pokémon Go สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้เล่นในการจำลองแผนที่ในเกมให้สอดคล้องกับแผนที่ในโลกแห่งความจริง ทำให้ผู้เล่นเสมือนกำลังเผชิญหน้ากับเหล่าโปเกมอนต่าง ๆ ณ สถานที่ที่ผู้เล่นกำลังยืนอยู่จริง ณ ขณะนั้น โดย Pokémon Go กำหนดให้ผู้เล่นต้องเปิด GPS ไว้ตลอดเวลาตอนที่เล่นเกม
ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจและดึงดูดผู้เล่นก็คือการที่ Pokéstop* และ Pokémon Gym** ถูกเลือกสรรให้ตั้งอยู่อย่างเหมาะสมกับพื้นที่ต่าง ๆ โดยมีการเลือกใช้ประติมากรรมและแลนด์มาร์คที่สำคัญ ๆ ของแต่ละพื้นที่มาเป็นที่ตั้ง
* Pokéstop คือ เสาสำหรับหมุนเพื่อรับไอเทมต่าง ๆ ในเกม
**Pokémon Gym คือ เสาขนาดใหญ่หรือยิมที่ผู้เล่นสามารถนำโปเกมอนมาต่อสู้และยึดครอง
แผนที่ในเกมสอดคล้องกับโลกแห่งความจริง, Pokéstop, และ Pokémon Gym
คำถาม คือ “ในประเทศไทย จะเอาอะไรมาเป็นฐาน (Pokéstop และ Pokémon Gym) ให้ผู้เล่นเกมจะต้องเดินทางไปยังสถานที่จริงเพื่อทำการหมุนเสาดีล่ะ?”
ใครจะไปคิดว่าแลนมาร์คหลัก ๆ ที่ถูกเลือกให้มาเป็น Pokéstop แจกไอเทมต่าง ๆ ก็คือสถานที่สุดขลังอย่างศาลพระภูมิของเรานั่นเอง ซึ่งที่มาของการเลือกศาลพระภูมินี้ก็มาจากการที่ Niantic Labs ผู้พัฒนาเกม Pokémon Go ใช้ประโยชน์ของข้อมูลจากฐานข้อมูลที่มีอยู่เมื่อตอนที่สร้างเกม Ingress มาลองตลาด ซึ่งนอกจากการใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลเดิมแล้ว Niantic Labs ยังทำการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) แบบ real time ดูการกระจุกตัวของคนในแต่ละพื้นที่ประกอบกับ feedback ที่ได้รับจากผู้เล่นเพื่อกำหนดจุดยุทธศาสตร์ของเกม
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เกมนี้ยังใช้คุณลักษณะต่าง ๆ ของพื้นที่ให้เป็นประโยชน์อีกด้วย เช่น ถ้าต้องการจับโปเกมอนธาตุน้ำอย่าง Magikarp หรือ Goldeen คุณอาจต้องไปใกล้กับสถานที่ที่มีน้ำเพื่อเพิ่มโอกาสในการเจอ อีกทั้งยังอาจใช้ประโยชน์จากข้อมูลพื้นที่คู่กับข้อมูลด้านเวลา เช่น โปเกมอนธาตุผีหรือธาตุพลังจิตมีโอกาสเจอได้มากกว่าตอนช่วงกลางคืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งใกล้ ๆ บริเวณที่เป็นสุสาน นอกจากนี้ ยังมีการใช้ข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศ ทำให้โปเกมอนบางสายพันธุ์สามารถพบได้ในประเทศที่มีหิมะตกและจะออกมาตอนช่วงหิมะตกเท่านั้น เป็นต้น ซึ่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่สำคัญของเกมนี้
การใช้ประโยชน์เพื่อทำการตลาดและเพิ่มรายได้
Pokémon Go มีการใช้ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ประกอบกับข้อมูลแบบเรียลไทม์อื่น ๆ ของผู้เล่น ไม่ว่าจะเป็น ‘ระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้เล่นใช้เล่นเกม ระยะทางเฉลี่ยที่ใช้เดินทางในแต่ละวัน สถานที่ที่ผู้เล่นเดินทางไปประจำ โปเกมอนที่ผู้เล่นเลือกให้ไปยึด Pokémon Gym หรือไปสู้กับโปเกมอนของผู้เล่นคนอื่น หรือประวัติการซื้อของต่าง ๆ ในเกม’
ซึ่งทำให้ผู้พัฒนาเกมสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้เล่นและวางแผนได้ว่าเวลาใด สถานที่ไหน ที่จะมีอัตราการซื้อไอเทมแต่ละชนิดสูง และควรจะออกแบบกิจกรรมต่าง ๆ ในลักษณะใด ปล่อยโปเกมอนชนิดไหน คิดแคมเปญหรือโปรโมชั่นลดราคาสินค้าตัวใดเพื่อที่จะล่อให้ผู้เล่นมาจ่ายเงินซื้อของในเกมให้ได้มากที่สุดหรือก็คือ การใช้ประโยชน์จากข้อมูลพฤติกรรมเพื่อวางแผนการตลาดและสร้างรายได้ นั่นเอง
ตัวอย่างไอเทมที่สามารถซื้อได้ในเกม Pokémon Go
นอกจากการเลือกซื้อสินค้า ๆ ต่าง ๆ ในเกมแล้ว Pokémon Go ยังได้จับมือกับร้านค้าและแบรนด์ชั้นนำต่าง ๆ ที่ต้องการเกาะกระแสของ Pokémon Go ไปด้วยกัน เช่น การออกโปรโมชั่นร่วมกับร้านค้าที่ผู้เล่นหลายคนผ่านเป็นประจำ หรือแม้กระทั่งจับมือกับแบรนด์ชื่อดังระดับโลกอย่าง Gucci และ North Face ซึ่งนอกจากจะได้โฆษณาแบรนด์ร่วมกันแล้ว ยังเป็นการหลอกล่อให้ผู้เล่นที่อยากสะสมไอเทมเหล่านี้ไปหมุน Pokéstop ที่ตั้งอยู่หน้าร้าน Gucci เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าจากร้าน Gucci อีกด้วย
North Face x Gucci Pokéstop (ถนน Sloane เมือง London3) และ เสื้อ หมวกและกระเป๋า North Face x Gucci ภายในเกม
นอกจากนี้ Pokémon Go ยังจับกลุ่มแบรนด์สินค้าที่ราคาจับต้องได้มากกว่าอย่าง Uniqlo หรือ Longchamp โดยร่วมกันผลิตเสื้อผ้า กระเป๋าที่สวมใส่ได้จริงทั้งในเกมและนอกเกม โดยยังไม่นับรวมถึงสินค้าอื่น ๆ ที่ Pokémon Go ผลิตเองโดยตรงเพื่อให้เหล่าสาวก Pokémon Go ทั้งหลายมาเลือกซื้อกัน โดยสินค้าที่เลือกผลิตนี้ ก็มาจากข้อมูลในเกมที่บริษัทได้มาจากผู้เล่นเองโดยตรงนั่นล่ะ ว่าผู้เล่นชอบสะสมโปเกมอนตัวไหน
กระเป๋าลายโปเกมอนจากร้าน Longchamp4
บทส่งท้าย
ตอนนี้ผู้อ่านทุกท่านคงเห็นภาพแล้วว่า Big Data และการวิเคราะห์ข้อมูลสำคัญต่อการพัฒนาเกมอย่างไร นอกจากจะทำให้ผู้เล่นอยากเล่นเกมต่อแล้ว ยังทำให้ผู้เล่นเต็มใจในการจ่ายเงินซื้อของต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งก็มาจากการใช้ประโยชน์ของข้อมูลพฤติกรรมของผู้เล่นเองได้อย่างแนบเนียนประกอบกับข้อมูลรอบตัวอย่างข้อมูลภูมิศาสตร์ที่ผลักดันให้เกมน่าสนใจมากขึ้น ทำให้ถึงแม้เกม Pokémon Go จะเปิดตัวออกมาตั้งแต่ปี 2016 แต่ก็ยังคงมีผู้เล่นจำนวนมากขึ้นและทำรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
สุดท้ายนี้ อยากจะชวนให้ทุกท่านลองสังเกตดูว่า ทุกวันนี้เหล่าผู้ผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รู้ได้ยังไงว่าผู้บริโภคจะชอบอะไร มีข้อมูลอะไรที่ได้จากเราไปบ้างโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว และได้ข้อมูลไปทางไหนกันบ้างนะคะ
Writer และ Editor ก็ชื่นชอบเกม Pokémon Go และเป็นเหยื่อการตลาดด้วยนั่นเอง (ของที่ซื้อจาก Pokémon Center Tokyo และ Uniqlo)
3 https://www.dexerto.com/Pokémon /how-to-get-free-gucci-x-north-face-avatar-items-in-Pokémon -go-1489761/
อื่นๆ
โฆษณา