5 ก.ย. 2021 เวลา 08:40 • ประวัติศาสตร์
ทำไมชื่อของ Julius Caesar ถึงไปโผล่อยู่ในคำว่า Caesarean?
1
Caesarean (ซี-ซา-เรียน) แปลเป็นไทยได้ว่า 'การผ่าเปิดหน้าท้องเพื่อคลอดบุตร' ถ้าคำนี้เป็นคำทั่วๆ ไป คงเดาได้ไม่ยากว่า รากศัพท์มันต้องเกี่ยวอะไรกับการตัดหรือการผ่าแน่ๆ ถึงได้แปลว่าการผ่าคลอด
แต่คงจะใช้คำว่าทั่วไปไม่ได้แล้วล่ะครับ เพราะเจ้า Caesarean คำนี้ดันไปคล้ายกับชื่อของสุดยอดรัฐบุรุษโรมันคนหนึ่งที่ชื่อ จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar)
ประเด็นคือ ซีซาร์เป็นนักรบ ไม่ได้เป็นหมอ ส่วน Caesarean ก็แปลว่าการผ่าคลอด ไม่ใช่หอกหรือดาบ ทำไมสองคำนี้ถึงมาเกี่ยวกันได้?
ทำไมชื่อของซีซาร์ ถึงไปโผล่อยู่ในคำว่า Caesarean ?
ทำไม Caesarean ถึงได้แปลว่าการผ่าคลอด ?
เรามาหาคำตอบนี้ไปพร้อมๆ กันครับ
ในวันที่เราใกล้จะคลอดเต็มที แม่เรามีออปชั่นในการพาเราออกมาอยู่สองทาง ทางที่หนึ่งคือพาออกทางธรรมชาติ และทางที่สองก็คือ ทางที่ผิดธรรมชาติ
ถ้าเลือกใช้ทางที่หนึ่งก็พอเข้าใจได้ เพราะญาติๆ เราในป่าอย่าง ชิมแปนซี โบโนโบ กอริลล่า ต่างก็ใช้วิธีนี้กันอยู่
แต่ทางที่สองนี่สิไม่รู้ว่าเกิดขึ้นได้ยังไง แถมไม่มีญาติๆ เรา (ตัว) ไหนใช้เส้นทางเดียวกับเราเลย เหตุผลที่พอจะเดาได้ก็คือ เพราะทางที่สองนี้คือการ 'ผ่า' เอาลูกออกทางหน้าท้อง ซึ่งผิดธรรมชาติ ล้วนตามมาด้วยสารพัดเสี่ยง
เสี่ยงติดเชื้อเอย เสี่ยงพิการเอย เสี่ยงเดินไม่ได้เอย จนสุดท้ายแล้วทั้งแม่และลูกจะไม่รอด
ที่น่าสนใจคือ ถ้าทางที่สองนี้มีแต่ความเสี่ยงที่จะไม่รอด แล้วไอ้การผ่าคลอดนี่มันเกิดขึ้นมาได้ยังไง ??
ย้อนกลับไปวันที่มนุษย์ยังไม่มีอารยธรรม ไม่ได้อยู่เป็นหลักแหล่ง เก็บของป่าล่าสัตว์ใหญ่ และคลอดลูกอย่างที่ญาติๆ เราเขาทำกัน
มนุษย์เราเจอปัญหาอย่างหนึ่งเมื่อต้องคลอดลูกตามธรรมชาตินั่นคือ ลูกออกลำบาก สืบเนื่องมาจากเชิงกรานแม่ที่แคบ เป็นผลมาจากการวิวัฒนาการเพื่อมาเดินบนพื้น คือจะทรงตัวได้ดีเชิงกรานต้องเป็นรูปกรวยและแคบ ทำให้มีโอกาสสูงมากที่บางครั้งจะเบ่งลูกไม่ออก ลูกหัวติด แม่หมดแรง หรือแม่ตายไปก่อนลูกจะคลอดออกมา
ประเด็นของเรื่องนี้อยู่ที่ เมื่อแม่ของเด็กตายไปมนุษย์เราไม่ได้ทำเหมือนญาติเราที่ หยุดและขุดหลุมจัดงานศพแค่นั้น แต่เราคิดต่อว่า เป็นไปได้ไหมที่เด็กน้อยจะยังมีชีวิตอยู่ เป็นไปได้ไหมที่ลูกในท้องจะยังมีโอกาสรอด
คิดได้ดังนั้น บรรพบุรุษเราก็หยิบมีดที่ตีจากหินขึ้นมา จ้วงไปที่หน้าท้องของแม่ผู้สิ้นใจ และใช่ ลูกยังมีโอกาสรอดครับ ประเพณีผ่าคลอดจึงเริ่มขึ้นนับแต่นั้น
ข้ามเวลามานับหมื่นปี มนุษย์เริ่มอยู่รวมเป็นอาณาจักร ประเพณีผ่าคลอดนี้ก็แพร่กระจายไปตามอาณาจักรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ เปอร์เซีย อินเดีย จีน กรีก และโรมัน และเป็นโรมันนี่ล่ะครับ ที่ดูจะน่าสนใจที่สุด
ผมไม่แน่ใจว่า คนอียิปต์ คนอินเดียเขามีคำเรียกการผ่าคลอดว่ายังไง แต่ที่โรมันมีอยู่สองคำที่ความหมายไปในเชิงนั้น นั่นคือ secare (เซก-แค) และ caedere (ซี-แด)
เจ้า secare นี่ มองเร็วๆ อาจจะเดาไม่ถูกว่ามันคืออะไร แต่ถ้าลองไล่ๆ เครือญาติมันดูก็จะพบว่ามันก็คือตระกูล sec ทั้งหลาย ไม่ว่าจะ section segment sector seclude โดยรวมแล้วแปลว่าแบ่งตัดเป็นสัดส่วน แต่นั่นไม่ใช่ตัวที่เราสนใจครับ ตัวที่เราสนใจจริงๆ คือเจ้า 'caedere'
ในยุคนู้นชาวโรมันมีธรรมเนียมคือ ถ้าแม่ตายแล้วจะต้อง 'ซีแด' หรือผ่าเอาเด็กออก ก่อนไปทำพิธีศพ เหตุผลที่ซีแดแม่ที่ซี้ม่องเท่ง ก็ไม่ได้หวังว่าเด็กจะรอดหรืออะไร แต่เป็นเรื่องของความเชื่อ
คนโรมันเชื่อเรื่องจิตวิญญาณ เรื่องโลกหลังความตาย เชื่อว่าการฝังแม่ไปพร้อมกับลูกอาจจะส่งผลร้ายต่อวิญญาณของพวกเขาได้ ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่มีข้อสรุป
แต่ที่มีแน่ๆ คือ เมื่อทำแบบนี้ไปหลายชั่วอายุคน เด็กในท้องก็เริ่มจะมีโอกาสรอด การซีแดที่โรมัน จึงเริ่มเปลี่ยนจากประเพณีกลายเป็นกฎหมู่บ้าน จากกฎหมู่บ้านขยับเป็นกฎเมือง (Lex Regia) และกฎเมืองที่ใช้กันทั่วอาณาจักรนี้เอง มีชื่อเรียกให้เหมาะและดูทางการกว่าเดิมว่า 'Lex Caesarea'
1
Lex Caesarea (ชื่อเดิม Lex Regia) ถูกประกาศใช้ตั้งแต่ยุคของ นุมา ป็อมปิลิอุส กษัตริย์คนที่สองของกรุงโรมราวๆ 600 กว่าปีก่อนคริสตศักราช
คำว่า Lex แปลตรงตัวก็คือกฎ ส่วน Caesarea ก็มีรากมาจาก 'ซีแด' ที่แปลว่าการผ่า กฎนี้จึงบังคับให้ทุกคนต้องผ่า (เพื่อให้เด็กมีโอกาสรอด)
เมื่อกฎนี้เริ่มจริงจังมากขึ้น เด็กก็รอดจากท้องแม่ที่ตายเยอะขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไปจนศตวรรษที่ 19 ถือกำเนิดยาชา การผ่าคลอดก็พัฒนาจนไม่ได้ช่วยได้แค่ลูก แต่แม่ก็รอดมาได้
Lex Caesarea จึงถูกหยิบไปใช้จนกลายเป็น Caesarea และเป็น Caesarean และเมื่อเติมคำว่า section ก็เลยออกมาเป็น Caesarean section ที่มีความหมายว่า 'การผ่าเปิดหน้าท้องเพื่อคลอดบุตร' นั่นล่ะครับ
คุยกันมาถึงตรงนี้ ยอมรับตามตรงเลยว่าผมตั้งคำถามผิด
เรารู้แล้วว่า Caesarean มาจากคำว่า 'ซีแด' ที่แปลว่าผ่า ซึ่งถูกใช้มาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของโรมัน ก่อนจูเลียส ซีซาร์จะเกิดนับร้อยปี คำถามที่ควรถามจริงๆ จึงไม่ใช่ Caesarean มาเกี่ยวอะไรกับชื่อของซีซาร์ . . .
แต่เป็นซีซาร์ต่างหาก มาเกี่ยวอะไรกับคำว่า Caesarean
1
กรณีที่พอไปได้คือ แม่ของซีซาร์อาจจะตายก็เลยโดนผ่าท้องตามกฎ เด็กน้อยที่รอดมาได้ก็เลยได้ชื่อล้อไปกับกฎนี้ว่า ซีซาร์ (Caesar) แต่สมมติฐานนี้ติดปัญหาอยู่นิดหน่อย คือแม่ของซีซาร์ไม่ได้ตายน่ะสิ
1
. . .
ออเรเลีย คอตตา แม่ของซีซาร์ อยู่กับซีซาร์ตั้งแต่วันที่เขาเกิด (100 ปีก่อน ค.ศ.) วันที่พ่อเขาตาย (ตอนเขาอายุ 15) จนถึงวันที่เขาเริ่มเติบใหญ่ จากทหารชั้นผู้น้อยกลายไปเป็นแม่ทัพแล้วเริ่มชนะสงครามมากขึ้นเรื่อยๆ ตีเผ่ากอล(ปัจจุบันคือฝรั่งเศส)ที่ว่าเก่งๆ จนแตก ตีอิยิปต์ ตีสเปน นำพาชื่อเสียงและอำนาจมาให้กับอาณาจักรโรมัน จนถึงวันที่ซีซาร์จะยกทัพไปตีเกาะบริเทนตอนอายุ 40 กว่าๆ(ปัจจุบันคือสหราชอาณาจักร) ออเรเลียก็ยังมีชีวิตอยู่
เมื่อออเรเลียอยู่จนซีซาร์อายุเข้าเลขสี่ การโดนผ่าท้องตัดทิ้งไปได้เลยเพราะเป็นไปไม่ได้ที่แม่จะรอด สมมติฐานอีกอันที่พอเป็นไปได้มากกว่าคือ ก็ซีซาร์นี่แหละที่เกิดจากการผ่าคลอด แต่ซีซาร์คนไหน ?
พูดถึงซีซาร์เราจะนึกถึงแค่จูเลียส คนสำคัญที่พาโรมันให้ยิ่งใหญ่ แต่จริงๆ แล้วซีซาร์เป็นชื่อตระกูลชนชั้นสูงของพวกขุนนาง ที่เกิดขึ้นเมื่อ 400 กว่าปีก่อน ค.ศ. และถ้าเราดูทามไลน์ของกฎ Caesarea ที่ออกมาราวๆ 600 กว่าปีก่อน ค.ศ. ถือว่าค่อนข้างใกล้เคียงกัน
ก็เป็นไปได้ว่าจุดตั้งต้นของตระกูลนี้จะมาจากลูกคนใหญ่คนโตสักคนที่รอดมาได้เพราะกฎนี้ จากนั้นก็ได้ชื่อล้อไปกับกฎว่า ซีซาร์ (Caesar) และซีซาร์คนนั้น (ที่นานจนไม่รู้ว่าคนไหน) ก็มีลูกมีหลานเรื่อยมาจนเกิดมาเป็นซีซาร์คนนี้ที่เรารู้จักกันนั่นล่ะครับ
1
แต่ทุกวันนี้พูดถึงซีซาร์ ถามว่าเรานึกถึงการผ่าคลอดไหม ก็คงไม่
เพราะวีรกรรมที่จูเลียส ซีซาร์ทิ้งไว้ให้กับอาณาจักรแห่งนี้ ส่งผลให้ชื่อของเขากลายเป็นคำที่มีความหมายห่างไกลไปจากความหมายเดิมเหลือเกิน ซีซาร์กลายเป็นคำที่สื่อถึงความยิ่งใหญ่ สื่อถึงกษัตริย์ สื่อถึงอำนาจ
เมื่อคำนี้ไปโผล่ที่เยอรมัน ก็เลยกลายเป็นไกเซอร์ (Kaiser)
1
เมื่อไปโผล่ที่รัสเซีย ก็เลยกลายเป็นพระเจ้าซาร์ (Tsar)
2
แต่ไม่ว่าจะเป็นคำว่าอะไร ผมก็หวังว่าทุกครั้งที่ทุกคนเห็นคำว่า ซีซาร์ (Caesar) จะไม่ลืมนึกถึงที่มาของการผ่าคลอด , ประเพณีที่กลายเป็นกฎ , Caedere ที่กลายเป็น Caesarean และ Caesarean ที่แปลว่า 'การผ่าเปิดหน้าท้องเพื่อคลอดบุตร' นะครับ
1
#ขอบคุณทุกคนที่อ่านจนจบครับ 😁
#WDYMean
#อ้างอิงจาก
โฆษณา