12 ส.ค. 2021 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
อนาคตเศรษฐกิจอวกาศไทย อีกไกลแค่ไหนในเวทีโลก
ข่าวคราวการไปท่องเที่ยวอวกาศได้สำเร็จของบรรดามหาเศรษฐีในช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ ‘ริชาร์ด แบรนสัน’ แห่งบริษัทเวอร์จินกาแลคติค หรือกรณีของ ‘เจฟฟ์ เบโซส’ แห่งบริษัทแอมะซอน
เหมือนจะยิ่งฉายภาพให้เห็นชัดเจนขึ้นว่า ‘อวกาศ’ กลายเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวกับคนปกติทั่วไปที่ไม่ใช่นักบินอวกาศมากยิ่งขึ้น
มากไปกว่านั้นคือ การเข้ามาเทเม็ดเงินในการท่องเที่ยวอวกาศของภาคเอกชนเหล่านี้ ก็ยิ่งช่วยกระตุ้นให้อุตสาหกรรมอวกาศในเชิงพาณิชย์ตื่นตัวมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่การพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากเม็ดเงินของภาครัฐมากกว่า
ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระบุว่า เศรษฐกิจอวกาศในปัจจุบันมีมูลค่าสูงกว่า 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
และในอนาคตอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า จะมีมูลค่าสูงขึ้นจากปัจจุบันกว่า 1 ล้านล้านเหรียญ หรือประมาณ 33 ล้านล้านบาท
แต่คำถามคือ แนวโน้มเศรษฐกิจอวกาศของโลกเติบโตไปขนาดนี้ แล้วประเทศไทยเองอยู่จุดไหนถ้าเทียบกับนานาชาติ?
[ย้อนดูเศรษฐกิจอวกาศในไทย]
แม้ประเทศไทยจะไม่เคยมีการส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ หรือมีบริษัทเอกชนส่งจรวดขึ้นฟ้าพานักท่องเที่ยวไปแตะอวกาศ แต่ก็ใช่ว่าไทยจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้มาก่อน
เพราะอันที่จริงแล้ว สิ่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมอวกาศไม่ได้มีเพียงแค่ยานอวกาศ จรวด หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงดาวเทียมต่างๆ ที่อยู่ในชั้นบรรยากาศด้วย
ยกตัวอย่างในประเทศไทย ที่คุ้นเคยกันดีก็คือดาวเทียมสื่อสารอย่าง ‘ดาวเทียมไทยคม’ ดาวเทียมดวงแรกของไทยที่เป็นการดำเนินของบริษัท ชินวัตรแซทเทลไลท์ จำกัด (เปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.ไทยคม ในปี 2551) ภายใต้ระบบสัญญาสัมปทานกับรัฐ
โดยส่งไทยคมดวงแรกขึ้นสู่วงโคจรตั้งแต่ปี 2534 เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมบรอดคาสต์
หลังจากนั้นก็มีการส่งดาวเทียมไทยคมดวงอื่นๆ ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มเติม เพื่อรองรับบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ระบบทีวีดิจิทัล รวมถึงบริการอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีให้บริการอยู่ทั้งหมด 4 ดวง คือ ไทยคม 4 (ไอพีสตาร์), ไทยคม 6, ไทยคม 7 และไทยคม 8
นอกจากดาวเทียมสื่อสารแล้ว ไทยยังเคยส่ง ‘ดาวเทียมไทยโชติ’ หรือ ดาวเทียมธีออส (THEOS) ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทย ทะยานขึ้นสู่อวกาศในปี 2551 ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ ซึ่งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ประมาณการว่าตลาดเศรษฐกิจอวกาศของไทยมีมูลค่าอยู่ที่ราว 5 หมื่นล้านบาท
ซึ่งประเด็นก็คือ 90% ของมูลค่าตลาดนั้น เป็นการที่ประเทศไทยนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายชิ้นส่วนดาวเทียม ไปจนถึงการบำรุงรักษา
นำมาสู่คำถามที่ว่า ในอนาคตที่เทคโนโลยียังคงเดินหน้าพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น 5G ไปสู่ 6G และแน่นอนว่าเศรษฐกิจอวกาศก็ต้องขยายการเติบโตตามไปด้วยเช่นกัน
ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ไทยจะต้องปรับบทบาทให้เกิดความสมดุลในตลาดมากขึ้น พัฒนาโปรดักต์ของตัวเอง ลดการพึ่งพิงจากต่างชาติ และขยายการเติบโตของอุตสาหกรรมไปพร้อมๆ กับเวทีโลก
[ไทยยังแค่เริ่มต้น]
หากจะเทียบในเวทีโลกแล้ว เศรษฐกิจขอวกาศของไทยยังเรียกได้ว่าอยู่ในสถานะที่ ‘เพิ่งคลอด’ และเล็กจิ๋วเกินกว่าจะจัดเป็นอุตสาหกรรมได้ โดยความเคลื่อนไหนในวงการเศรษฐกิจอวกาศไทย เพิ่งเริ่มต้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
ไม่ว่าจะเป็นฝั่งภาครัฐ โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564 มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการอวกาศ
ซึ่งกว่าจะบังคับใช้ได้จริง ก็ยังต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณารายละเอียดด้านข้อกฎหมายโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และรัฐสภา ตามลำดับ
ขณะที่ในฝั่งภาคธุรกิจ ก้าวแรกที่เห็นเป็นรูปธรรมคือการจัดโครงการ Space Economy: Lifting Off 2021 โดย NIA ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนและส่งเสริมให้ ‘สเปซเทค’ (SpaceTech) หรือสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการทำเทคโนโลยี ระบบ หรือบริการด้านกิจการอวกาศ สามารถต่อยอดไอเดียไปสู่ธุรกิจจริงได้
โดยโครงการดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือน ก.พ. 2564 ซึ่งได้เฟ้นหา 10 สเปซเทคมาเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะและพัฒนา จนกระทั่งมานำเสนอรูปแบบเทคโนโลยี และแผนธุรกิจให้กับคณะกรรมการไปเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 และมีการตัดสินผู้ชนะกันไปเรียบร้อย
ซึ่งผู้ชนะในโครงการนี้ ได้แก่
-อันดับ 1 บริษัท NBSpace ผู้ออกแบบและพัฒนาดาวเทียมดวงเล็กเพื่อใช้สื่อสารกับภาคพื้นดิน
-อันดับ 2 บริษัท Irissar เรดาร์ อุปกรณ์ และระบบที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ
-อันดับ 3 บริษัท Plus IT Solution ระบบวิเคราะห์พื้นที่จากภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ และการใช้ประโยชน์อื่นๆ
เรียกได้ว่าเป็นความพยายามของ NIA รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง GISTDA ในการดึงความรู้ที่มีอยู่ในคนรุ่นใหม่ของไทย มาขัดเกลาไอเดียนวัตกรรม เสริมความรู้ด้านธุรกิจ แล้วเชื่อมเข้ากับโอกาสในการลงทุนจากภาคเอกชน นำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ
[หนทางยังอีกไกล]
แล้วถามว่าอีกไกลแค่ไหน กว่าที่อุตสาหกรรมอวกาศจะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างแท้จริง หรือมูลค่าตลาดมีสัดส่วนสัก 1% ของจีดีพีประเทศ
คำตอบคือ ยังไม่ใช่ในระยะอันใกล้นี้
อุปสรรคหลักๆ มาจากเรื่องของ ‘คน’ ที่จะมาพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและเริ่มต้นทำธุรกิจนี้อย่างจริงจัง ซึ่งในประเทศไทยยังมีจำนวนน้อยอยู่มาก
เพราะต้องไม่ลืมว่า คนที่จะมาทำงานในสายนี้ต้องเรียนสาขาฟิสิกส์, วิศวกรรมเครื่องกล หรือวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ซึ่งคนที่เรียนในสาขาเหล่านี้ก็มีจำนวนที่น้อยอยู่แล้ว ดังนั้น จำนวนคนที่ขาดแคลน ก็ทำให้เห็นภาพได้ไม่ชัดเจนว่าจะสร้างอุตสาหกรรมได้อย่างไร
ประกอบกับสตาร์ทอัพในวงการอวกาศจัดว่าเป็นสตาร์ทอัพที่อยู่ในกลุ่ม DeepTech หรือกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง ที่ต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุนสำหรับทำการวิจัยมากกว่ากลุ่มที่ทำแพลตฟอร์มเพื่อผู้บริโภคที่คุ้นเคยกัน เช่น ฟู้ดเดลิเวอรี่
มากไปกว่านั้นคือ สเปซเทคยังเป็นกลุ่มที่ใช้เวลาในการพัฒนาสินค้าหรือบริการให้ออกสู่ตลาดจริง มากกว่าแพลตฟอร์มเหล่านั้น 2-3 เท่า
ขณะที่สตาร์ทอัพไทยที่เข้าโครงการกับ NIA บางรายเพิ่งตั้งบริษัทเมื่อปีที่แล้ว และอาจต้องใช้เวลาราว 3-5 ปี ถึงจะเริ่มเห็นการขยายสเกลจากงานวิจัยไปสู่โปรดักต์จริง ดังนั้น จึงอาจต้องให้เวลาสตาร์ทเหล่านี้อีกสักนิด
ด้าน NIA วางเป้าไว้ว่าในช่วง 3 ปีนี้ NIA จะสามารถตั้งสเปซเทคได้ราว 10-15 ราย ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาจากนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนหลักสูตรเทคโนโลยีอวกาศ แต่ไม่อยากจบไปแล้วเป็นอาจารย์
ซึ่ง NIA จะดึงมาตั้งบริษัท แล้วชวนนักลงทุนมาลงทุนกับกลุ่มนี้ จากนั้นก็บ่มเพาะสตาร์ทอัพเหล่านี้ตั้งแต่ในมหาวิทยาลัย
ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะมาจากสตาร์ทอัพที่ข้องเกี่ยวอยู่ในวงการนี้อยู่แล้ว หรืออยู่ในวงการที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ มาร่วมก่อตั้งบริษัท
จากนั้นก็ไปปลั๊กอินกับ GISTDA ที่เป็นพันธมิตรกับบริษัทขนาดใหญ่อย่างเช่นแอร์บัส ให้มาช่วยขัดเกลาสตาร์ทอัพเหล่านี้ให้มีการพัฒนาในเชิงนวัตกรรมและธุรกิจ
นอกจากนี้คือทำให้เกิดดีมานด์ขึ้นมาทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่ง NIA คาดว่าในอีก 5-10 ปี ธุรกิจเหล่านี้ก็จะเติบโตพอที่จะรับคนที่อยู่ในสาขาอื่นๆ เข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมนี้อย่างจริงจังได้
พร้อมๆ กับการขยายตัวของตลาดธุรกิจอวกาศในไทย ที่ NIA คาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเติบโตขึ้นมาในระดับแสนล้านบาท
และแม้จะยังไม่ถึง 1% ของจีดีพีอยู่ดี รวมถึงยังคงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติอยู่บ้าง แต่การพัฒนาธุรกิจอวกาศในประเทศให้เข้มแข็ง ก็จะช่วยให้เกิดความสมดุลในตลาดมากขึ้น
และท้ายที่สุดในระยะไกลๆ คือการได้เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าเศรษฐกิจอวกาศของโลกในอนาคตนั่นเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา