13 ส.ค. 2021 เวลา 02:00 • สุขภาพ
New Normal กับความท้าทายของระบบการบริหารราชการ ในสถานการณ์โควิด - 19
วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถือเป็นความท้าทายต่อโครงสร้างการบริหารงานภาครัฐและระบบราชการ ที่ต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคระบาดที่ยาวนานและยังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 2 ปี จนทำให้การดำเนินงานต่างๆไม่สามารถดำเนินการได้เหมือนในภาวะปกติ
ในสภาวะดังกล่าว กลับเป็นบททดสอบครั้งสำคัญที่ทำให้เห็นสภาพความเป็นจริงของระบบราชการภายใต้วาทกรรมการพัฒนาสู่ความทันสมัยที่ถูกกล่าวถึงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ไทยแลนด์ 4.0 หรือ หรือ Government 4.0 ที่มุ่งพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐและเตรียมบุคลากรเพื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อให้เกิดความคล้องตัวที่เหมาะสมตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
แนวทางการพัฒนาระบบราชการในยุกต์ 4.0
แต่เท่าที่ผ่านมาในภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 เราอาจเห็นได้ถึงการวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาในการบริหารจัดการของรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนกลไกของระบบราชการที่ดูเหมือนจะยังคงมีความซ้ำซ้อน และล่าช้าไม่ทันกาลอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการวัคซีน การจัดระบบรองรับการรักษาผู้ป่วยโควิด -19 ตลอดจนการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเจ็บป่วย การขาดรายได้กลุ่มต่างๆ
ผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง กู้วิกฤตศรัทธาได้ ถ้าปฏิรูประบบราชการ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,142 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24 – 31 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา ของซูเปอร์โพล (SUPER POLL)
นอกจากยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสม ซ้อนทับมาอย่างยาวนาน จนเมื่อเกิดวิกฤตโควิด – 19 ก็ได้ถูกเร่งให้ปัญหาเหล่านั้นปรากฎออกมาอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาด้านการจัดการศึกษา ซึ่งถือได้ว่าเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงกว้างต่อครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครอง ที่ส่วนใหญ่ต้องปรับตัวเข้าสู่การบริหารงานในลักษณะ Work from Home และการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ อย่างเต็มรูปแบบ
สำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ เป็นที่รับรู้กันว่าต้องอาศัยความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งตัวสถานศึกษา ผู้สอนและผู้เรียน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ความพร้อมของผู้เรียนนั้นมีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านอุปกรณ์ การเข้าถึงสัญญาณการสื่อสาร ตลอดจน ตัวแปรด้านสภาพเศรษฐกิจของครอบครัว
นอกจากนี้ส่งผลให้เด็กนักเรียนจำนวนมากเกิดความเครียดและความกดดันของจากการเรียนที่ต่างไปจากการเรียนร่วมกับเพื่อนในห้องเรียนปกติ ยังไม่นับรวมถึงปัญหาในการบริหารจัดการหลักสูตรทั้งระบบที่ต้องปรับให้เข้ากับสภาพการเรียนที่เปลี่ยนไป
ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในด้านการจัดสวัสดิการด้านการศึกษาที่ให้เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละช่วงวัย ตลอดจนการบริหารหลักสูตรที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 อย่างเห็นได้ชัด จนเกิดกระแสเรียกร้องให้มีการหยุดเรียนทั้งระบบเป็นเวลา 1 ปี มาจากครูและนักเรียนบางส่วนที่มองว่าการเรียนออนไลน์ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
ขณะเดียวกันในด้านสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานก็พยายามเดินหน้าให้เกิดการนำร่องโรงเรียน Sandbox ที่พร้อมเปิดเรียนแบบ On Site ออกมาเป็นระยะ ซึ่งถือเป็นการเน้นย้ำความเป็นจริงที่ว่า รูปแบบการเรียนออนไลน์นั้นไม่ได้เหมาะกับผู้เรียนทุกกลุ่มอย่างที่คาดการณ์ไว้
นอกจากนี้ ในทามกลางภาวะที่เรียกว่า New Normal ซึ่งต้องอาศัยการบริหารระบบราชการที่รวดเร็ว ฉับไว ในลักษณะของ E-Government ที่มีการปรับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเน้นการดำเนินงานเชิงรุก เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและสารสนเทศได้รวดเร็วขึ้นนั้น กลับพบว่าบ่อยครั้งที่ภาครัฐเองกลับขาดการเชื่อมต่อฐานข้อมูล หรือ Big Data ที่เป็นระบบ ทำให้หน่วยงานในระบบราชการต่างๆ มีจึงมีภารกิจวนเวียนอยู่กับการสำรวจข้อมูลในกลุ่มเป้าหมายที่ซ้ำซ้อนกัน
เรียกได้ว่าเมื่อมีนโยบายใหม่ที่ต้องดำเนินการต้องมีการสำรวจข้อมูลเกือบทุกครั้ง และตามมาด้วยการทำเอกสารหรือรายงานขึ้นไปถึงหน่วยงานต้นเรื่องเป็นลำดับ เพื่อเป็นหลักฐานผลงานของตัวบุคคลที่ปฏิบัติหรือหน่วยงาน ดังเช่นที่เคยทำกันมาก่อนหน้านี้จนกลายเป็นระบบระเบียบ และความเคยชินจนยากที่จะเปลี่ยนแปลง
ภาพ หัวข้อสนทนาใน Clubhouse ของกลุ่มครูขอสอน เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 ที่สะท้อนปัญหาของระบบการทำงานที่ซ้ำซ้อนจากนโยบายรายวันจากหน่วยงานต้นสังกัดในช่วงสถานการณ์โควิด - 19
ลักษณะการดำเนินงานดังกล่าวส่งผลให้การแก้ปัญหาให้กับประชาชน มีความล่าช้าที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ เกิดความซ้ำซ้อน และยังเกิดความสับสนแก่ผู้ปฏิบัติในหน้างานต่างๆ ที่ต้องรองรับนโยบายสั่งการเร่งด่วน และขาดความชัดเจนรอบครอบในการปฏิบัติ จนต้องมีการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงกระทันหันอยู่บ่อยครั้ง
ทั้งที่ในทางเทคนิค ข้อมูลบ้างอย่างสามารถเชื่อมต่อกันได้จากฐานข้อมูลภาครัฐ ทั้งภายในกระทรวง หรือต่างกระทรวง ที่สามารถแชร์ร่วมกันได้ เช่นฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร หรือ ระบบ e-Payment ที่เป็นธุรกรรมทางการเงิน ตลอดจนฐานการข้อความรวมมือจากหน่วยงานเอกชน ซึ่งหากหน่วยงานราชการประสานและปรับในการวางแผนให้เป็นระบบได้จะช่วยในการดำเนินงานให้รวดเร็ว และบรรลุผลได้ดียิ่งกว่าที่เป็นอยู่
ข้อมูล Inforprapic การพัฒนาระบบราชการของ สถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร
Inforprapic สิ่งที่พัฒนาขึ้นของระบบราชการในปัจจุบัน
Inforprapic สิ่งที่ยังไม่พัฒนาของระบบราชการในปัจจุบัน
อาจกล่าวได้ว่า ภาวะของการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 นั้นเป็นบททดสอบของการพัฒนาระบบราชการ ในยุคไทยแลนด์ 4.0 แบบ New Normal ที่หลังจากนี้ภาครัฐเองคงต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่ จนถึงขั้นต้องมีการปฏิรูประบบราชการกันอีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้
ทั้งนี้เพราะต้องเร่งปรับปรุงระบบระเบียบต่างๆ ให้มีความเหมาะสมกับสภาพความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยมในการทำงาน ที่มุ่งไปยังผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยปรับใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด
และนี้คือความท้าทายครั้งใหญ่ของระบบราชการ ที่ถึงคราวต้องปรับตัวเพื่อให้ประเทศเดินต่อไปได้นับจากนี้
อ้างอิง
โฆษณา