13 ส.ค. 2021 เวลา 03:01 • ประวัติศาสตร์
Maritime Trade and Security
ตอนที่ 1
ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีเพื่อนท่านนึงขอให้ผมลองเขียนบทวิเคราะห์เกี่ยวกับท่าเรือพาณิชย์ในไทย เปรียบเทียบกับ Asian - โดยชี้ชวนในประเด็นที่ว่า ถ้าไทยต้องการที่จะเป็น HUB ในภูมิภาคนี้จริงๆ มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องพัฒนาศักยภาพด้านนี้ด้วย เพราะเท่าที่เห็นประมาณสินค้าที่เข้าสู่ ASIAN ไทยเรายังเป็นรองทั้งเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนิเซีย และสิงคโปรค์อยู่มาก - ต้องยอมรับว่า การขนส่งทางทะเลเป็นประเด็นที่น่าสนใจทีเดียว แต่ผมก็ต้องยอมรับว่ามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมันน้อยมาก จึงหมายใจอยู่ว่า ‘คงต้องลองค้นคว้า’ ดูบ้าง
ทำการบ้านได้พอควรครับ ต้องยอมรับเลยว่า maritime logistic นั้นยากและซับซ้อนกว่าทางอากาศมาก ด้วยความที่มันมีประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่กว่าพันปี และเชื่อมโยงกับการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศอย่างเป็นเนื้อเดียวตั้งแต่บรรพกาลจนถึงปัจจุบัน แตกต่างจาก การขนส่งทางอากาศ ที่มีอายุเพียงร้อยปี มีผู้เล่นหลักไม่มากและผู้เล่นทุกคนยอมรับในกฏสากลที่กำกับอยู่ จึงดูราวกับเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันเสรีอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ความใคร่ในการค้นคว้าครั้งนี้ กับพาผมไปพบประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่อยากจะเขียนถึง แต่ถ้าจะเขียนยิงตรงไปก็น่าจะทำให้เพื่อน ๆ อาจจะงงอยู่พอสมควร จึงขอเท้าความสักนิดครับ นั่นคือ ‘เส้นทางสายไหม’
หลักฐานทางโบราณคดีเชื่อว่า จีนได้ติดต่อค้าขายกับโลกตะวันตกตั้งแต่ 300 ปีก่อนศริสต์ศักราชแล้ว โดยเฉพาะสินค้าไหมจากจีนซึ่งเป็นที่นิยมในราชสำนักโรมัน ถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาแพง เนื่องจากเส้นทางขนส่งทางบกที่ห่างไกลและยากลำบาก อัตราภาษีที่สูง และค่าผ่านทางในพื้นที่ต่าง ๆ แต่ด้วยคุณภาพของสินค้าที่ดีจึงเป็นที่ต้องการ ดังนั้นไหมจึงมีค่ามาก จึงใช้บ่งบอกสถานะทางสังคมของผู้ครอบครอง
การค้าบนเส้นทางสายไหม มีหลายยุคหลายช่วงเวลา (รุ่งเรืองบ้างซบเซาบ้าง) หลายยุคที่จีนสามารถควบคุมเส้นทางสายไหมได้ เช่น สมัยราชวงศ์ฮั่น (ค.ศ.206 – 221) ราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618 – 907) และราชวงศ์มองโกล (ค.ศ.1200 – 1360) เดิมเส้นทางการค้าจากจีนไปยังยุโรปนี้ เรียกว่า “เส้นทางตะวันตก” ก่อนจะเสื่อมถอยลง (อย่างถาวร) จากสาเหตุการพัฒนาการเดินเรือของชาติตะวันตก และเทคนิคการเลี้ยงไหมที่ไม่ได้เป็นความลับและแพร่ขยายมากขึ้น รวมถึงการขยายอิทธิพลของรัสเซียเข้ามาในเอเชียกลางในช่วงศริสต์ศตวรรษที่ 19 มีเกล็ดน่าสนใจนิดนึง คือผู้ที่ขนานนาม ‘เส้นทางสายไหม-Silk Road’ คนแรกหาใช่ชาวจีน แต่กลับเป็น นักภูมิศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ เฟอร์ดินานด์ ฟวอน ไรซ์โธเฟน (Van Richthofen) เมื่อทศวรรษ 1870 นี้เอง
เส้นทางสายไหมที่มีระยะทางกว่า 8,000 ไมล์ หรือประมาณ 12,800 กิโลเมตร เต็มไปด้วยความยากลำบาก ต้องผ่านพื้นที่ทุรกันดาร เช่น ทะเลทรายโกบี ที่ราบสูงปามีร์ (Pamir) ที่เปรียบเสมือนเป็นหลังคาโลก และต้องเผชิญกับชนเผ่าเร่ร่อนมากมายระหว่างทางที่มักดักปล้นสะดมกองคาราวาน รวมไปถึงบางยุคจะมีพวกปาร์เธียน (ตะวันออกกลางในปัจจุบัน) และชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน อิรัก ปากีสถานในปัจจุบัน) ที่ดักเก็บภาษีในอัตราสูงด้วย การเดินทางไปค้าขายระหว่าง 2 ซีกโลก เหล่าพ่อค้าต้องลงทุนทั้งค่าสินค้า ค่ายานพาหนะ (ม้า ลา อูฐ) ค่าการรักษาความปลอดภัย ค่าใช้จ่ายอื่นระหว่างการเดิน และที่สำคัญต้องใช้เวลาในการเดินทางหลายปี แม้ว่าเส้นทางการค้าสายไหมจะเต็มไปด้วยอุปสรรค ความเสี่ยง และมีค่าใช้จ่ายสูง แต่กองคาราวานของเหล่าพ่อค้าก็พร้อมที่จะเสี่ยงเพื่อแลกกับผลตอบแทนที่คุ้มค่า
นอกจากเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญแล้ว ความสำคัญของเส้นทางนี้อีกด้านนึงคือใช้เพื่อเผยแพร่ศาสนา แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และองค์ความรู้ระหว่างสองซีกโลกเสมอมา เช่น จีนได้เรียนรู้พุทธศาสนา การทำน้ำตาลจากอ้อย และการใช้ฝ้ายทำเครื่องนุ่งห่มจากอินเดีย การทำเหล้าองุ่นจากอัฟกานิสถาน นอกจากนี้ ความรู้ ศิลปะ วัฒนธรรม และอารยธรรมจากจีนถูกเผยแพร่สู่โลกนอกเช่นกัน เช่น การเลี้ยงไหม การหลอมเหล็ก การทดน้ำ การทำกระดาษ การดื่มชา งานช่างฝีมือ ดนตรี ระบำ และดินปืน เป็นต้น
อย่างที่เกริ่นไปแล้ว ความยิ่งใหญ่และยาวนาน ทำให้’เส้นทางสายไหม’ มีหลายเส้น แล้วแต่ยุคสมัย แต่อย่างที่บอก คือ สิ่งที่ผมสนใจ คือ ทางทะเลไม่ใช่ทางบก - จึงไม่ได้อยากจะพาท่านไปในรายละเอียดทางบกมากกว่านี้
โฆษณา